“จงเข้าใจธรรมชาติ...อย่าคิดควบคุม...แต่ให้ปรับตัวเข้าหามัน” เป็นคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านภัยพิบัติจากทั่วโลกกล่าวไว้ เป็นที่ยอมรับว่า “ภัยพิบัติธรรมชาติ” ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปี ก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้… ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม รู้วิธีการป้องกัน และหลบภัย เพื่อเอาตัวรอดจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง
นิทรรศการ “ภัยพิบัติ...เตรียมตัว รู้ รอด ภาค 2: เตรียมรับมือ สู้ภัยพิบัติ” จัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้นำผลงานวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเตรียมรับมือภัยพิบัติในรูปแบบนิทรรศการเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อาทิ ภัยพิบัติ...ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป และภัยพิบัติ 9 ด้านใกล้ตัวคนไทย, รู้ รอด เตรียมรับมือ สู้ภัยพิบัติ, เผยข้อมูลภัยพิบัติครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ไทยและของโลก, เราจะเอาตัวรอดอย่างไรเมื่อภัย(พิบัติ)มาเยือน, งานวิจัย สกว.พร้อมรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ, เครือข่ายโซเซียลเน็ตเวิร์ค ช่วยเหลือเราได้อย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ ฯลฯ
ภายในนิทรรศการยังได้มีการจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติในรูปแบบ 4D เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองเดินผ่านอุโมงค์แห่ง “สติ” โดยการปิดตาเดินผ่านอุปสรรคต่างๆ ประกอบด้วย แสง เสียง อุณหภูมิร้อน และละอองน้ำ แบบ 4D ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมนี้จะต้องใช้สติในการเดินบนเส้นทางจำลองนี้เพื่อเอาตัวรอด..ที่จะทำให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปได้รู้ลึก เข้าใจ และลงมือแก้ไขปัญหาในยามที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม สร้างความรู้ ปลุกกระแสความตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีสติได้ด้วยรู้วิธีการเอาตัวรอดที่ถูกต้อง
ด.ช.กรวิชญ์ ดุษฎีวิจัย หรือน้องพั้นท์ อายุ 14 ปี กล่าวภายหลังเข้าร่วมกิจกรรมว่า กิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้ถึงต้นกำเนิดที่มา สาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ และยังได้รู้ว่าภัยพิบัตินั้นมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการเอาตัวรอดและวิธีการป้องกันตัวจากภัยพิบัติ และเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติที่ถูกต้อง เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งความรู้ และนำไปใช้ได้จริง
“ยอมรับว่าแม้จะได้รับความรู้เรื่องดังกล่าวและการเตรียมตัวในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติมาบ้าง แต่กิจกรรมนี้ให้รายละเอียดมากกว่า มีการจำลองสถานการณ์ และให้ทดลองปฏิบัติ ทำให้เราเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น ฐานที่ให้ทดลองเดินในเส้นทางจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติโดยการปิดตา ฐานนี้สอนให้เรารับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อย่างมี “สติ” ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ส่วนฐานแผ่นดินไหว ยังได้สอนวิธีการปฏิบัติ การป้องกันตัว และวิธีการหลบเมื่อเกิดแผ่นดินไหวตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นการให้ความรู้ได้ดีว่า เมื่อเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นเราจะเอาตัวรอดอย่างไร”
“ฐานกระเป๋าอพยพ ก็ถือว่าสำคัญ เราจะต้องเลือกสิ่งของจำเป็นติดตัวเพื่อการยังชีพ หากขาดของที่จำเป็นก็จะลำบากเมื่อต้องอยู่คนเดียว เช่น เสบียงอาหารที่จำเป็น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ยา เชือก และนกหวีด นอกจากนี้เอกสารที่จะแสดงตัวตนเช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สมุดบัญชี ถือเป็นสิ่งจำเป็นในลำดับต้นๆ ที่ต้องเตรียมและใส่ลงในกระเป๋าเมื่อต้องอพยพนับว่ามีประโยชน์มาก”
ด้าน ด.ญ.กชกร ศิลาวานิชยกุล หรือน้องติว อายุ 10 ปี กล่าวว่า กิจกรรมนี้ ได้สอนการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติ สอนให้รู้วิธีการหลบอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเพื่อไม่ให้ตัวเองได้รับบาดเจ็บ นอกจากได้ความรู้ว่าภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีกี่ประเภทแล้ว โดยเฉพาะในฐานการจำลองสถานการณ์ ทำให้เราเรียนรู้ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นเราจะต้องทำอย่างไร ที่สำคัญยังสอนให้รู้ว่าเราต้อง “ตั้งสติ” จะทำให้เราสามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้ และยังได้เรียนรู้วิธีการเลือกสิ่งของที่จำเป็นเมื่อต้องอพยพว่าจะต้องเตรียม หรือเลือกอะไรที่จำเป็นอะไรไม่จำเป็น ซึ่งฐานนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าควรจะเตรียมสิ่งของที่ถูกต้องอย่างมีสติ ภายใต้เวลาจำกัด
“ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ ตนเองก็จะนำไปบอกต่อถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ได้รู้ถึงวิธีการที่จะเราอยู่รอดได้อย่างไรเมื่อภัยมาด้วย แม้ที่ผ่านมาจะเคยได้ยินคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาบ้าง แต่ยังไม่เคยทดลองปฏิบัติเหมือนกับกิจกรรมที่ TK park จัดขึ้น จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นอีกบ่อยๆ เพราะมีประโยชน์มากและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ”
นายรัตน์เกรียงไกร เปาเล้ง นักศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของแผ่นดินไหวที่เริ่มใกล้ตัวเราเข้ามามากขึ้น แม้ไทยจะไม่ใช่ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวแต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งโครงการ “การเตรียมความพร้อมองค์อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรับมือแผ่นดินไหว” ของ รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นผลงานวิจัยเพื่อการออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหวที่ทำให้รู้ว่า โครงสร้างอาคารหรือตึกสูงต่างๆ ในบ้านเรานั้น มีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหนหากเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างอาคารอย่างไรให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและการป้องกันตัวเองขณะเกิดแผ่นดินไหว
การนำงานวิจัยดังกล่าวมาต่อยอดโดยการเผยแพร่ในรูปแบบของนิทรรศการและการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติผ่าน TK park ในครั้งนี้ นายรัตน์เกรียงไกร กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมาคนไทยยังไม่ให้ความสนใจเรื่องภัยแผ่นดินไหวเท่าที่ควร การที่เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ก็อาจนำไปบอกหรือถ่ายทอดต่อไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองหรือเพื่อนๆ ได้ว่า หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น ควรจะทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงได้อย่างถูกต้อง เช่น สิ่งที่ไม่ควรอยู่ใกล้โครงสร้างอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่ต้องให้ความรู้กัน”
นายรัตน์เกรียงไกร ยังได้ฝากคำแนะนำวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวว่า อันดับแรก “ตั้งสติ” และไม่ควรวิ่งออกจากอาคารในขณะที่มีแผ่นดินไหวเพราะสิ่งของบนศีรษะจะเริ่มหล่นใส่ อาจเกิดอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บ ในเบื้องต้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดไม่รุนแรง ให้รีบหมอบ (DROP!) จากนั้นหาที่ป้องกัน (COVER!) เช่น ใต้โต๊ะ และยึดหรือเกาะให้แน่น (HOLD ON!) จนกว่าเหตุการณ์จะสงบ เป็น 3 ขั้นตอน ที่สำคัญและต้องจดจำ
โดยการหลบที่ถูกต้อง คือ ก้มคอ งอเข่า ยึดจับหรือเกาะขาโต๊ะให้แน่น ไม่ควรหลบใต้เก้าอี้เพราะบอบบางเกินไป และควรอยู่ห่างเตาแก๊ส หรือบริเวณที่มีกระจกให้มากที่สุด และหากรู้สึกว่าแผ่นดินไหวมีความรุนแรงขึ้น (ระดับปานกลาง) ให้ออกจากใต้โต๊ะ หาที่หลบที่มีความแข็งแรง เช่น บริเวณข้างเตียง หรือเสา เพราะหากเกิดการยุบตัว (พังถล่ม) ของโครงสร้างอาคารแล้ว บริเวณด้านข้างของเตียง หรือมุมเสา ซึ่งมีโครงสร้างที่แข็งแรงก็จะเป็นตัวรับน้ำหนักและค้ำยันชิ้นส่วนของอาคารนั้นไว้ เกิดเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมขึ้น เรียกว่า “หลักการของสามเหลี่ยมชีวิต” ซึ่งพื้นที่นี้จะมีที่ว่างหรือช่องว่างพอให้ผู้ประสบภัยรอดพ้นจากการถูกอาคารถล่มทับ ถือเป็นหนึ่งจุดที่ค้นพบผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวจำนวนมาก
แม้ว่าจากสถิติในอดีตประเทศไทยจัดว่าอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ของโลก เนื่องจากอยู่ห่างจากแนวของ “วงแหวนไฟ (Ring of fire)” และ “แนวอัลไพน์ทางทิศตะวันตก” (ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิพัดทำลายชายฝั่งอันดามันของไทย) แต่ก็มิได้หมายความว่า ประเทศไทยจะปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหว เพราะแผ่นดินไหวคือภัยพิบัติใกล้ตัว ที่ไม่อาจคาดเดาได้!! ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรให้ความสำคัญหันมาสนใจและเตรียมตัวให้พร้อมรับมือ สู้ภัยพิบัติ ... เพราะ “ ผู้รู้ คือ ผู้อยู่รอด”