หลังจากที่โลกเราได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอลเป็นที่เรียบร้อย นวัตกรรมเหล่านี้ได้ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ที่ทุกวันนี้การสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นช่องทางสำคัญที่ขาดไม่ได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ชีวิตประจำวันของคนเราจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งวงการการศึกษาเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเช่นกัน เพราะเชื่อว่าการศึกษาของเด็กไทยยุคใหม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีเข้าช่วย
และในยุคที่โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนครองเมือง สิ่งที่เรียกว่า Application หรือเรียกสั้นๆ ว่า แอพฯ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งหมายถึงโปรแกรมที่ใช้ติดตั้งในอุปกรณ์โทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟน โดยมีคุณสมบัติการใช้งานแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่แอพฯ เพื่อความบันเทิงอย่างเกม ไปจนถึงแอพฯ เพื่อการเรียนรู้ แอพฯ เปิดตัวครั้งแรกโดยบริษัท Apple ในระบบปฏิบัติการ iOS เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 ประมาณ 500 แอพฯ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2012 ที่ผ่านมา แอพฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 550,000 แอพฯ และมียอดดาวน์โหลดกว่า 25,000 ล้านครั้ง ซึ่งยังไม่รวมถึงแอพฯ บนระบบปฏิบัติการ Android ที่บริษัท Google เป็นผู้พัฒนาอีกจำนวนมาก
นิทรรศการ App Story
ด้วยเหตุนี้เอง อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม App Story ฉลาดอ่าน รู้เรียน เซียนแอพฯ สร้างสรรค์ในวันเสาร์ที่ 16 อาทิตย์ที่ 17 และเสาร์ที่ 23 อาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2555 บริเวณลานสานฝัน นำเสนอนิทรรศการแห่งการเรียนรู้นำทุกคนเข้าสู่ยุคของแอพฯ ทั้งความหมายและการใช้งานแอพฯ ต่างๆ และกิจกรรมการเสวนาที่ให้ทุกคนในครอบครัวได้ทำความรู้จักถึงประโยชน์ของแอพฯ ไปพร้อมๆ กัน
เกมต่อโลโก้แอพฯ
ในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน วันแรกของกิจกรรม เริ่มต้นด้วยเกมสนุกๆ ด้วยการให้น้องๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงมือต่อตัวต่อขนาดยักษ์ให้เป็นรูปโลโก้ของแอพฯ ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการตอบคำถามง่ายๆ จากนิทรรศการที่จัดอยู่บริเวณรอบๆ ลานสานฝันอีกด้วย
เข้าสู่ช่วงของการเวิร์คช็อป “แอพฯ ง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้” ที่ชวนน้องๆ มาใช้ไอเดียสร้างสรรค์แอพฯ อย่างง่ายให้เสร็จได้ใน 10 นาที โดยวิทยากรอย่าง คุณทวีรัชต์ ตั้งชาญตรงกุล จากบริษัท ARIP ผู้ผลิตนิตยสาร Computer.Today มาให้ความรู้ในเรื่องนี้กัน
คุณทวีรัชต์เริ่มต้นด้วยการให้วางแผนขั้นแรกก่อน คือหาไอเดียก่อนว่าต้องการสร้างแอพฯ เพื่อประโยชน์อะไร หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.andromo.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทำแอพฯ แบบง่ายๆ และฟรีในระบบ Android ซึ่งตามปกติเราจะดาวน์โหลดแอพฯ ผ่าน Google Play Store แต่แอพฯ ที่จะสอนให้ทำต่อไปนี้ สามารถติดตั้งลงในโทรศัพท์สมาร์ตโฟนได้ทันที เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของระบบ Android ที่สามารถติดตั้งแอพฯ ที่เราพัฒนาขึ้นมาเองได้ โดยที่ไม่ต้องผ่านการรับรองจาก Google ก่อน มีลักษณะเป็นไฟล์นามสกุล .apk
ขั้นตอนต่อมาให้ยืนยันผ่านอีเมลที่สมัครไว้ เมื่อถึงขั้นตอนการสร้างก็กรอกรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อแอพฯ, ผู้พัฒนา, ประเภท, ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแอพฯ เพื่อเชิญชวนให้ผู้อื่นอยากโหลดมาใช้งาน ก่อนจะเลือกปุ่มฟังก์ชันต่างๆ ที่จะไปปรากฏบนหน้าแอพฯ ของเรา เช่น Youtube, Google map, Twitter, Facebook คุณทวีรัชต์บอกว่าข้อจำกัดของแอพฯ ที่สร้างนี้จะไม่สามารถพัฒนาไปขั้นสูงๆ ได้ แต่จะมีรูปแบบสำเร็จรูปให้เราเลือกสร้างสรรค์อย่างง่ายๆ ให้ นอกจากนั้นเรายังสามารถปรับสีต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหน้าแอพฯ ของเราได้ แต่จะมีความยากตรงที่ต้องปรับเป็นค่ารหัสสี ใครที่มีความรู้เรื่องการแต่งภาพอยู่แล้วอาจจะง่ายๆ แต่ถ้าใครยังไม่รู้คงต้องศึกษาสักนิด
คุณทวีรัชต์สอนทำแอพฯ แบบง่ายๆ
เมื่อเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว เราสามารถกดปุ่มสร้างแอพฯ โดยเว็บไซต์จะใช้เวลาสร้างประมาณ 5-10 นาที แล้วจะมีอีเมลจาก www.andromo.com ส่งมาให้ พร้อมลิงค์สำหรับดาวน์โหลดแอพฯ ที่เราสร้างเมื่อครู่ให้เราดาวน์โหลดเป็นไฟล์ .apk เพื่อติดตั้งลงบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในระบบ Android และสามารถเปิดใช้งานตามที่เราสร้างสรรค์ไว้ได้ทันที
เมื่อเราต้องการจะปรับปรุงหรือพัฒนาแอพฯ ในภายหลัง ก็สามารถเข้าไปพัฒนาในเว็บไซต์เดิมได้ ซึ่งขั้นตอนดาวน์โหลดก็เหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงเท่านี้เราก็สามารถมีแอพฯ เป็นของตนเองได้แล้ว
ทดลองใช้ TK App
พักจากกิจกรรมบนเวที แล้วมาสำรวจกิจกรรมรอบๆ ลานสานฝันกันดีกว่า นอกจากนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องแอพฯ แล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีการเปิดตัวเป็นทางการของ TK App แอพฯ ของอุทยานการเรียนรู้ของ TK park มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้กับเยาวชน ผู้ปกครอง และครู ให้เข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างรวดเร็วผ่านแอพฯ ในอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟน ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เลยทีเดียว สามารถใช้งานทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ คือสามารถดาวน์โหลดข้อมูลความรู้มาเก็บไว้ศึกษาต่อในภายหลังได้ และที่สำคัญที่สุดคือไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดแต่อย่างใด
ภายใน TK App จะประกอบไปด้วยฟังก์ชัน หนังสือเสียง เป็นนิทานภาพเคลื่อนไหว พร้อมเสียงพากย์ และมีคำถามเพื่อทบทวนความเข้าใจท้ายเรื่อง เครื่องดนตรีไทย ฟังเสียงเครื่องดนตรีไทยท้องถิ่นที่หาฟังได้ยากกว่า 120 ชนิดพร้อมประวัติ ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน อ่านหนังสือและเอกสารหายาก จากหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมข้อมูลค้นคว้าเพิ่มเติม วัตถุเล่าเรื่อง เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยต่างๆ จากวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ เกมบุ๊ค หนังสือประกอบเกมสร้างสรรค์ในชุดวิถีไทยและวิทยาศาสตร์ไทย ที่มีถึงสองภาษาไทย-อังกฤษด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาของฟังก์ชันในส่วนอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะพัฒนาให้ใช้กันเร็วๆ นี้
เสวนาเลี้ยงลูกด้วยแท็บเล็ต
กลับมาที่กิจกรรมบทเวทีกันต่อกับการเสวนา “พ่อเรียน-แม่รู้-ลูกเล่น แท็บเล็ต” ร่วมพูดคุยจากประสบการณ์จริงของพ่อแม่ลูกที่ใช้ แท็บเล็ต (Tablet) เป็นสื่อกลางของกิจกรรมภายในครอบครัว โดยคุณพ่อจรัล ยศตรีสรณ์, คุณแม่วรรณนิภา ยศตรีสรณ์ และน้องโดเมน - เด็กชายวรรณธัช ยศตรีสรณ์ ดำเนินการเสวนาโดยคุณพรชัย จันทรศุภแสง บรรณาธิการจากนิตยสาร Computer.Today
เป็นที่ทราบกันดีว่าการศึกษาในยุคใหม่มีการนำแท็บเล็ต อุปกรณ์ไอทีที่กำลังได้รับความนิยมมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งครอบครัวบางครอบครัวก็ซื้อแท็บเล็ตให้ลูกใช้โดยที่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์หรือโทษอย่างจริงจัง การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับครอบครัวยุคใหม่ที่ใช้แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์หนึ่งในการเรียนรู้ของลูก
คุณพ่อจรัลเล่าว่า ก่อนที่จะให้น้องโดเมนได้รู้จักกับแท็บเล็ตก็เลี้ยงปกติเหมือนครอบครัวทั่วไป วันหยุดก็ไปเที่ยวกัน มีของเล่นต่างๆ ให้เล่น มีหนังสือนิทานเล่าให้ฟัง “ตอนแรกตั้งใจจะซื้อแท็บเล็ตมาใช้เอง แต่ลูกอยากเล่นด้วย เพราะว่าอยู่ด้วยกัน จึงให้ลูกลองเล่นดู ซึ่งเวลาให้เล่นต้องเลือกแอพฯ ที่เหมาะสมให้กับเขา” คุณแม่วรรณนิภากล่าว
ซึ่งในส่วนของแอพฯ ที่เหมาะสมกับเด็ก คุณพ่อจรัลแนะนำว่า ถ้าใช้ไอแพด ให้เข้าไปใน App Store จะมีให้เลือกในหมวด Education เราสามารถเลือกดาวน์โหลดได้จากส่วนนี้ ซึ่งจะมีทั้งฟรีและเสียเงิน ยกตัวอย่างเช่น แอพฯ ABC จะแตกต่างจากหนังสือ ABC ของเด็กทั่วไป เพราะจะมีการเคลื่อนไหว เด็กสามารถแตะบนหน้าจอเพื่อให้ตัวการ์ตูนเกิดการเคลื่อนไหวและมีเสียง นอกจากนั้นก็มีแอพฯ สอนเด็กในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าห้องน้ำและระบบขับถ่ายของคนเรา หรือจะเป็นแอพฯ สนุกๆ ฝึกสมอง อย่างแอพฯ ให้ทดลองประกอบสร้างรถ โดยให้เด็กๆ เลือกอะไหล่ต่างๆ ด้วยตนเอง เป็นต้น
น้องโดเมนกับแท็บเล็ตคู่ใจ
หลังจากแนะนำแอพฯ ที่น่าสนใจไปแล้ว คุณพ่อจรัลได้เน้นย้ำว่า “ทั้งครอบครัวต้องเล่นด้วยกัน เพราะถ้าต่างคนต่างเล่น จะไม่เกิดปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่มีใครสนใจกัน เพราะฉะนั้นอย่าซื้อให้เล่นคนละเครื่อง ต้องเล่นด้วยกัน ที่สำคัญเราต้องให้เขาใช้ชีวิตอย่างอื่นเป็นปกติ ส่วนแท็บเล็ตเอาไว้เสริมการเรียนรู้เท่านั้น” ส่วนประเด็นที่ว่าลูกจะติดแท็บเล็ตจนเกินไปหรือไม่นั้น คุณพ่อจรัลได้แนะทางออกไว้ว่า “แรกๆ ลูกก็ติด แต่ตอนหลังไม่ติดแล้ว ต้องมองว่าแรกๆ เด็กทุกคนก็จะติดของเล่นใหม่ ผู้ใหญ่ก็ติดได้เหมือนกัน หลังๆ จึงหากิจกรรมอื่นๆ ให้เขาทำแทน อย่างเวลาไปเที่ยวทะเล เราจะไม่เอาแท็บเล็ตไปด้วย เพราะแทนที่จะไปเล่นน้ำทะเล ลูกจะไปนั่งเล่นแท็บเล็ตริมทะเลแทน”
กรณีล่าสุดที่รัฐบาลกำลังแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 นั้น หลายฝ่ายก็มีทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย ในฐานะที่คุณพ่อจรัลเป็นคนหนึ่งที่ใช้แท็บเล็ตในการเลี้ยงลูก จึงให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า “จะเป็นประโยชน์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแอพฯ ที่ทางรัฐบาลได้ลงไว้ในเครื่อง ถ้าเป็นแอพฯ เพื่อการศึกษาที่ใช้งานได้สมบูรณ์ ผมว่าก็โอเคนะครับ แต่พ่อแม่ก็ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย ไม่ควรทิ้งให้เด็กเล่นตามลำพัง”
จากการเสวนาจะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของแท็บเล็ตนั้นมีมากมายทีเดียว ทั้งพัฒนาทักษะความรู้ให้กับลูกและยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่จะเกิดประโยชน์เหล่านี้ขึ้นจริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและใส่ใจของผู้เป็นพ่อแม่ทั้งสิ้น
แม้แอพฯ จะเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจกันอย่างสูง แต่ก็อย่าลืมว่าแหล่งเรียนรู้นั้นไม่ได้มาจากโลกดิจิตอลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ในโลกความจริงรอให้เราเปิดประตูออกไปสัมผัสอีกมากมาย
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย