นอกจากกิจกรรม App Story ฉลาดอ่าน รู้เรียน เซียนแอพฯ สร้างสรรค์ จะประกอบไปด้วยนิทรรศการแห่งการเรียนรู้ที่นำทุกคนเข้าไปรู้จักกับโลกแห่งแอพลิเคชันแล้ว ยังมีการเสวนาดีๆ ที่เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่โลกแห่งแอพฯ
ทำความรู้จักกับ App Star
เริ่มต้นกับเสวนาแรกในวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา กับหัวข้อ “เปิดโลก App Star” ว่าด้วยเรื่องราวความสามารถของดาวเด่นผู้สร้างแอพลิเคชัน ซึ่งเป็นดาวรุ่งของวงการไอทีที่ยังเป็นเด็กน้อยทั้งสิ้น แต่กลับสามารถสร้างสรรค์แอพฯ ได้ยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับผู้ใหญ่เลยทีเดียว ดำเนินการเสวนาโดย คุณพรชัย จันทรศุภแสง บรรณาธิการจากนิตยสาร Computer.Today และ คุณทวีรัชต์ ตั้งชาญตรงกุล จากบริษัท ARIP
“App Star มีความหมายคล้ายๆ The Star แต่ไม่เหมือน เพราะนั่นต้องใช้ความสามารถและหน้าตา แต่สำหรับ App Star หน้าตาไม่สำคัญ อยู่ที่ความสามารถเป็นหลัก” คุณพรชัยกล่าวถึงนิยามสั้นๆ ของคำว่า App Star ซึ่งย่อมาจากคำว่า Application Star
โฉมหน้าของน้อง Robert Nay
“ในโลกนี้มีเด็กเก่งๆ อยู่เยอะ ไม่จำกัดว่าผู้ที่สร้างแอพฯ ได้ต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น การที่มีคนสร้างแอพฯ กันมากมาย สิ่งที่ได้กลับมาคือทำให้เรามีเครื่องมือใช้เพื่อประโยชน์มากขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือทำให้ตัวแท็บเล็ตเป็นมากกว่าอุปกรณ์ ทำให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” คุณพรชัยเริ่มต้นกล่าว ก่อนจะเล่าถึงน้อง Robert Nay อายุ 14 ปี ผู้สร้างแอพฯ เกมชื่อ Bubble Ball ขึ้นมา เป็นเกมสไตล์ฟิสิกส์ โดยให้วางแท่นต่างๆ เพื่อให้ลูกบอลไหลไปถึงจุดหมายได้ โดยได้รับการบันทึกจาก Guinness World Records ในฐานะนักพัฒนาแอพฯ ฟรีของไอโฟนที่สร้างยอดดาวน์โหลดได้มากที่สุดถึง 2 ล้านครั้ง ซึ่งสามารถชนะยอดดาวน์โหลดของ Angry Birds เกมยอดนิยมลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และน้องอีกคนชื่อว่า Thomas Suarez เด็กน้อยชาวอเมริกันอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น ซึ่งได้ตั้งบริษัทชื่อ Carrot Corp พัฒนาแอพฯ ขึ้นมา 2 ตัว ชื่อว่า Earth Fortune และ Bustin Jieber มาจากคำผวนของชื่อนักร้องชื่อดัง Justin Bieber ซึ่งเป็นแอพฯ เกมที่โด่งดังมาก มีลักษณะเป็นเกมให้ตบหน้าของ Justin Bieber ที่ลอยมาเพื่อระบายอารมณ์ และสามารถเปลี่ยนหน้าเป็นรูปอะไรก็ได้ แม้จะเป็นแอพฯ ที่เสียค่าดาวน์โหลด แต่ก็มีผู้สนใจดาวน์โหลดเป็นจำนวนมากทั่วโลก หลังจากนั้นคุณพรชัย จึงสาธิตลองเล่นให้ดู เป็นเกมที่ฝึกทักษะความไวของนิ้วมือ คุณพรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ทำให้เกมเหล่านี้ได้รับความนิยม เพราะว่าความง่ายของมันนั่นเอง ของอะไรที่ใกล้ตัวหรือเป็นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ง่าย เหมือนอย่างการฟังเพลง เพลงที่อินดี้มากไปก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เพลงป๊อปทั่วไปกลับได้รับความนิยม เวลาสร้างแอพฯ จึงไม่ควรคิดอะไรมากเกินไป
สองพี่น้องเจ้าของแอพฯ MathTime
ผลงานต่อไปเป็นของสองพี่น้องที่ชื่อว่า Owen Voorhees เจ้าของแอพฯ MathTime ที่เปิดบริษัทและพัฒนาแอพฯ ด้วยตนเอง จนกระทั่งตอนนี้ร่ำรวยจนมีเงินที่จะส่งตนเองเรียนถึงปริญญาเอกเลยทีเดียว คุณพรชัยอธิบายว่า ถึงแม้แอพฯ แต่ละแอพฯ จะราคาแค่ 0.99 เหรียญ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 30 บาท แต่มีผู้ดาวน์โหลดทั่วโลกเป็นล้านครั้ง ก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลได้จริงๆ คนต่อไปชื่อว่า Aaron Bond มีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น ผู้พัฒนาแอพฯ เกมที่ชื่อว่า Spud Run ซึ่งน้องคนนี้ก็เปิดบริษัทเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์เหมือนกัน แต่น่าสนใจตรงที่ว่าเขาเรียนไม่จบ เพราะว่าไปแฮกระบบคะแนนสอบของโรงเรียน จึงถูกไล่ออก คุณพรชัยจึงให้ความเห็นว่า “ถึงแม้จะฉลาดในเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าหากนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็ไม่สมควรทำตาม ควรจะใช้ความสามารถของตนเพื่อนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องดีกว่า”
คุณพรชัยปิดท้ายในช่วงแรก ด้วยคำแนะนำในการสร้างแอพฯ เพื่อหารายได้ ขั้นแรกคือต้องสมัครเป็น Developer ของบริษัท Apple โดยเสียค่าบริการายปีปีละ 3,000 บาท แล้วเราจะได้รับซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อพัฒนาแอพฯ ขึ้นมา หลังจากเราพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงส่งแอพฯ ไปให้ทาง Apple พิจารณา เมื่อผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถตั้งราคาต่อการดาวน์โหลดแต่ละครั้งได้ และสร้างรายได้จากการดาวน์โหลดได้ทันที
น้องเซนด์ เซียนคอมรุ่นเยาว์
กลับมามองที่เมืองไทยกันบ้าง เมื่อกล่าวถึงเด็กที่สามารถสร้างแอพฯ ได้นั้น ในเมืองไทยยังไม่มี แต่มีน้องคนหนึ่งชื่อ ณัฐนนท์ มหายนต์ หรือ น้องเซนด์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ตัวจิ๋วที่สามารถประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และลงโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ในวัยเพียง 6 ขวบเท่านั้น คุณพ่อของน้องเซนด์มีอาชีพประจำเป็นตำรวจ พอหลังเลิกงานก็เปิดร้านรับซ่อมคอมพิวเตอร์ น้องเซนด์จึงเป็นลูกมือช่วยคุณพ่อมาตลอดจนมีความชำนาญ โดยพื้นฐานน้องเซนด์เป็นเด็กที่ฉลาดอยู่แล้ว เรียนได้เกรด 4.00 ทุกเทอม จึงสามารถเรียนรู้อะไรต่างๆ ได้เร็ว คุณพรชัยให้ความเห็นว่าน้องเซนด์มีความสามารถในเรื่องของฮาร์ดแวร์ ถ้าหากในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปสู่ด้านซอฟแวร์บ้าง คงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนต่อไป
คุณพรชัยกล่าวต่อไปว่า ถ้าหากจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จเป็น App Star ตามเด็กหลายคนที่กล่าวถึงข้างต้น พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเป็นอย่างมาก คุณทวีรัชต์จึงตั้งคำถามว่าถ้าหากอยากให้เด็กเก่งเรื่องเทคโนโลยี ต้องให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเล็กหรือไม่ คุณพรชัยก็ได้เล่าว่านักวิจัยสหรัฐได้ทำการศึกษาเด็กชั้นมัธยมและประถม เกมทุกเกมที่ผลิตออกมาขายจะมีการออกแบบเกมให้มีความท้าทาย น่าสนใจ น่าติดตาม จนทำให้สุดท้ายเด็กจะติดเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมสร้างสรรค์หรือเกมแบบรุนแรงก็ตาม ซึ่งเกมเหล่านี้จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สนใจโลกภายนอก ชอบเถียง ชอบใช้กำลัง และอยากเอาชนะ เป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้มาจากเกมทั้งสิ้น
ซึ่งถ้าถามว่าเด็กกลุ่มนี้เก่งเรื่องคอมพิวเตอร์ไหม ก็ไม่เก่ง เป็นแค่การติดเกมเฉยๆ เพราะฉะนั้นจะทำให้เด็กเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์หรือเป็น App Star ได้ จำเป็นต้องสนใจเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะทำให้เด็กเกิดความคิดเข้าใจแบบเป็นเหตุเป็นผล เช่น 2+2 ทำไมถึงเป็น 4 แล้ว 4 ก็ไม่จำเป็นต้องมาจาก 2+2 เท่านั้น จะเป็น 1+3 หรือ 4+0 ก็ได้ ทำให้เด็กเกิดการคิดหลายรูปแบบ จนก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สังเกตได้ว่าเด็กที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์เก่ง จะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีและมีอีคิวสูง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจะส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาคณิตศาสตร์มากกว่าเรียนหรือเล่นคอมพิวเตอร์เยอะๆ พอถึงวัยประมาณหนี่งหรือในวัยที่สามารถพูดคุยได้ มีเหตุมีผลแล้ว จึงค่อยให้เรียนก็ยังไม่สาย
คุณพรชัยทิ้งท้ายไว้ว่าถ้าอยากจะให้ลูกเป็นนักพัฒนาแอพฯ ก็ไม่ควรให้ลูกเล่นแต่เกม เพราะอย่างสตีฟ จ็อบ และ บิลล์ เกต ก็ไม่ใช่คนชอบเล่นเกม แต่เขาเป็นคนที่ชอบคิด ชอบสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ นี่ต่างหากที่จะทำให้เด็กน้อยกลายเป็น App Star ได้ และหวังว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีแอพฯ ฝีมือของเด็กไทยเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
น้องๆ และพ่อแม่ให้ความสนใจปัญหาเรื่องติดเกม
ต่อด้วยการเสวนาในวันที่ 24 มิถุนายน 2555 อีกหัวข้อที่ชื่อว่า “เล่นเกมจนได้ดี: เปิดประสบการณ์ตรงจากคนดัง ที่เล่นเกมจนได้ดี” ว่าด้วยเรื่องราวของโลกยุคใหม่ที่เด็กๆ มีทั้งแอพฯ และเกมต่างๆ อยู่ข้างกายมากมาย จะทำอย่างไรให้แอพฯ และเกมเหล่านี้เกิดประโยชน์และไม่เป็นโทษ กับวิทยากรชื่อดังอย่าง คุณซี - ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรด้านไอที เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ และ 168 ชั่วโมง, คุณไนซ์ - สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และเป็นผู้บริหารบริษัท Debuz เจ้าของเกมออนไลน์อย่าง อสุรา และ ๔๐๐ และ คุณวิว - วิมลพร รัชตกนก นักออกแบบแอพฯ ไอโฟนและเว็บไซต์รุ่นใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย คุณแว่น - กิตติพล
คุณแว่นเปิดประเด็นด้วยการถามความเห็นของแต่ละคนถึงปัญหาเรื่องเด็กติดเกมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ “เป็นเพราะเด็กมีวิจารณญาณน้อย ไม่สามารถห้ามใจตัวเองได้ เล่นแล้วติด แต่ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ต้องลองเล่นดูก่อน ถ้าเล่นแล้วไม่ติด แล้วค่อยมาบอกว่าเด็กติดเกมเกินลิมิตหรือเปล่า” คุณซีให้ความเห็นเป็นคนแรก ก่อนที่คุณไนซ์จะให้ความเห็นในฐานะนักพัฒนาเกมว่า “ปัญหาของเด็กติดเกมอยู่ที่ความเข้าใจของสังคมมากกว่า การติดจะมีอาการเฉพาะอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าเล่นเป็นเวลานานต่อเนื่องจะถือว่าติด แต่ถ้าเล่นกลับไปกลับมาจะถือว่าไม่ติด ซึ่งจะแตกต่างระหว่างเล่นเกมเยอะกับติดเกม อยู่ที่ว่าเราใช้เวลากับสิ่งนั้นๆ นานเท่าไร ซึ่งถ้าเหมารวมว่าติดหมดเลย จะทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมเกมถูกมองในแง่ลบมากไปหน่อย” ทางด้านคุณวิวเองก็มองจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากครอบครัว “การที่เด็กอยู่กับอะไรได้นานๆ ไม่ได้หมายความว่าเกมทำให้เขาไม่สนใจสิ่งอื่น แต่เป็นเพราะสิ่งอื่นต่างหากที่ทำให้เขาต้องหนีมาหาสิ่งนี้ ซึ่งมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ครอบครัว เป็นต้น”
คุณไนซ์กล่าวในฐานะนักพัฒนาเกม
เมื่อต้นเหตุของปัญหาถูกมองว่ามาจากครอบครัวส่วนหนึ่ง คุณแว่นจึงตั้งคำถามว่าจะแนะนำให้พ่อแม่สอนลูกอย่างไรในเรื่องนี้ “สมัยนี้ไม่ต้องสอนอะไรลูกแล้ว เพราะเด็กเรียนรู้เร็วมาก แต่คุณพ่อคุณแม่ควรจะเรียนรู้ก่อนลูก อย่ากลัวที่จะใช้ ก่อนที่เราจะห้ามไม่ให้เด็กเล่น ต้องรู้ก่อนว่าที่เด็กเล่นอยู่คืออะไร เพราะเกมบางเกมเสริมทักษะด้านต่างๆ ได้ เช่น ภาษาอังกฤษ แต่บางเกมที่รุนแรงก็ไม่ควรให้ลูกเล่น” คุณซีให้คำแนะนำ “มันเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกัน โลกมันไปไกล สื่อก็เข้าถึงมือเด็กๆ ได้ง่ายขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะสามารถแนะนำให้เด็กใช้อย่างเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ต้องมีการแบ่งเวลาว่าถ้าเล่นเกมมาก จะสามารถนำไปต่อยอดได้ไหม” คุณวิวกล่าวถึงเรื่องการต่อยอด คุณไนซ์จึงอธิบายต่อว่า “ถ้าลองได้มาเล่นเกมดูแล้ว จะมีมุมมองต่างๆ มากมาย หลายคนได้ใช้เกมเป็นแรงบันดาลใจมากมาย แต่ในอีกมุม คนที่เล่นเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวก็มีไม่น้อย แต่อีกหลายส่วนก็นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมในอนาคตต่อไป”
คุณซีให้ความเห็นเรื่องแท็บเล็ต ป.1
และในขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลมีนโยบายในการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนชั้นป.1 ซึ่งมีความเห็นออกมาต่างๆ นานาจากหลายฝ่าย วิทยากรทั้งสามท่านก็มีมุมมองที่แตกต่างออกไปเช่นกัน “ผมคิดว่าตัวเนื้อหาสำคัญมากกว่าอุปกรณ์” คุณไนซ์แสดงความเห็น ส่วนคุณวิวก็เห็นด้วยในเรื่องคอนเทนต์เช่นเดียวกัน “เรามองว่าเป็นเรื่องของเนื้อหาเหมือนกัน ไม่อยากให้รัฐบาลมองแค่ว่าแจกมาเฉยๆ ควรจะมีใครที่สอนให้เด็กๆ รู้จักดาวน์โหลดใช้งาน มีหน่วยงานหรือศูนย์ใกล้บ้านให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแอพฯ หรือการใช้งานด้วย เพราะถ้าไม่สนับสนุนเรื่องเนื้อหาก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจริงๆ”
ส่วนทางด้านคุณซีได้เคยทดลองใช้แท็บเล็ตนี้แล้ว จึงมีความเห็นว่า “แรกสุดซีไม่เห็นด้วยเรื่องนโยบายนี้ ป.1 ซียังไม่ได้เรียนคอมพิวเตอร์เลย เราเพิ่งจะได้เรียนตอนป.4 ทุกอย่างกำลังเป็นพัฒนาการของเด็ก ทำไมต้องให้เด็กดูหน้าจอด้วย เพราะตอนเด็กๆ แม่ยังบอกเลยว่าอย่าดูหน้าจอทีวีนานๆ สายตาจะเสีย แล้วจอพวกนี้ ยังไม่มีใครวิจัยว่าจะมีผลต่อสายตาแค่ไหน แต่อย่างปกติที่ซีใช้เยอะ สายตาก็เสียลง แต่เหตุผลที่เขาเลือกมาให้เด็ก เพราะว่ามีผลสำรวจจากหลายประเทศที่เขาฟันธงแล้วว่า ถ้าจะสอนให้เด็กใช้อุปกรณ์ไอทีเป็น ควรจะสอนตั้งแต่เล็ก” ถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ข้อดีก็ยังสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง “ซีมองว่ามีก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะว่าใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเสริมการเรียนรู้ได้ สำหรับเด็กถ้ามีสื่อการเรียนรู้ที่ดีก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน”
จากการเสวนาทั้งสองหัวข้อจะเห็นได้ว่า โลกแห่งแอพลิเคชันนั้น คล้ายกับเป็นดาบสองคมสำหรับเด็กและทุกๆ คน ที่หากเรามุ่งหาประโยชน์จากแอพฯ หรือเกมต่างๆ ก็สามารถหาได้จริงและมีเยอะมาก ในขณะเดียวกันหากเราใช้สิ่งเหล่านี้อย่างขาดสติและไม่มีวิจารณญาณเพียงพอ หรือขาดคำแนะนำดูแลที่ดี ก็จะกลายเป็นผลร้ายได้เช่นกัน
และที่สำคัญ พ่อแม่และครอบครัวคือส่วนสำคัญมากที่สุดในการเรียนรู้ของลูกในโลกแห่งแอพลิเคชันนี้
App Man