TK Forum 2015
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) มีพันธกิจหลักในการร่วมสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ โดยดำเนินการผ่านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ด้วยแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” และกระบวนการส่งเสริมให้เกิดนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
การจัดสัมมนาวิชาการประจำปี เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดย สอร.ได้จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 อันเป็นปีก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ปี พ.ศ. 2552 สอร.ริเริ่มโครงการ TK Forum ในรูปแบบเวทีสาธารณะเพื่อถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักปฏิบัติ และสกัดองค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านจากองค์กรภาคีกว่า 50 แห่ง ในปี พ.ศ. 2553 โครงการ TK Forum ได้ขยายองค์ความรู้ในเรื่องประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านไปสู่การศึกษาแนวปฏิบัติของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการอ่าน ได้แก่ ประเทศสวีเดน ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ. 2554-2556 สอร.มีเป้าหมายให้การส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายใต้แนวคิด “Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading” เพื่อสร้างความรับรู้ที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศทางด้านนโยบายการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ จึงจัดการประชุมวิชาการประจำปีอย่างต่อเนื่องสามปีภายใต้แนวคิดดังกล่าว ถือเป็นการประชุมนำร่องเพื่อสำรวจความรู้และประสบการณ์ของหน่วยงานซึ่งดำเนินกิจกรรมโครงการและนโยบายด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ทั้งของประเทศไทยและอาเซียนครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศ
ปี พ.ศ. 2557 สอร.มุ่งขยายองค์ความรู้ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศและพฤติกรรมการแสวงหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการปรากฏตัวของชนรุ่นดิจิทัล (Digital Generation) ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า ภายใต้แนวคิดหลักของงานคือ”Learning in the Digital Era” เพื่อตอบคำถามว่าชนรุ่นดิจิทัลคือใคร มีลักษณะและพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างไร แนวโน้มของการเรียนรู้หรือรูปแบบการเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลจะเป็นอย่างไร ระบบหรือโครงสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชนรุ่นดิจิทัลควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตลอดจนตัวอย่างแนวคิดและรูปแบบสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่จะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชนรุ่นดิจิทัล
ปี 2558 เป็นห้วงเวลาครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งและเปิดให้บริการอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ ดังนั้น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สอร.จึงได้จัดนิทรรศการ “จุดประกายฝัน” และจัดพิมพ์หนังสือ “เต็มสิบ” เพื่อประมวลความรู้และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการส่งเสริมการอ่านของประเทศในรอบ 10 ปี พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และจัดงานประชุมวิชาการประจำปี หรือ TK Forum 2015 ในเดือนกรกฎาคม หัวข้อ “Library Futures: Challenges and Trends” โดยมุ่งที่จะชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ (space) ของแหล่งเรียนรู้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชน รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงที่มาและแนวคิดหรือองค์ความรู้ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนแนวโน้มของลักษณะการใช้พื้นที่แหล่งเรียนรู้ในอนาคตที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพคน ชุมชน และสังคม อันจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดแนวคิดและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทไทย
1. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการอ่าน การส่งเสริมการอ่าน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โครงสร้างและระบบการเรียนรู้
2. เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักกิจกรรมทางสังคม สามารถนำความรู้ แนวคิดและข้อเสนอแนะจากการประชุมสัมมนา ไปเผยแพร่ต่อยอดขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้บริหารแหล่งเรียนรู้ จากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. บรรณารักษ์ ครู นักวิชาการ
3. ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ผู้บริหารหน่วยงานภาคเอกชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรมทางสังคมที่มีบทบาทและทำงานด้านการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้
วัน เวลา และสถานที่จัดงาน
พฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องอโนมาแกรนด์ โรงแรมอโนมา ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ขยายองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ นำไปใช้พัฒนาต่อยอดการทำงานหรือการอ้างอิงทางวิชาการ
2. หน่วยงานด้านนโยบายและภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เกิดความตื่นตัวและนำเอาความรู้ แนวคิดและข้อเสนอไปปรับประยุกต์ดำเนินการ
3. ได้เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ