หอยกับมนุษย์ ความสัมพันธ์ในหลากมิติ
เมื่อเอ่ยถึง ‘หอย’ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีเปลือกแข็งเนื้อนุ่ม เราอาจคุ้นเคยในฐานะของอาหารเลิศรส แต่รู้หรือไม่ว่า หอยเป็นสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมากว่า 550 ล้านปีแล้ว ที่สำคัญคือมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์เราในหลากหลายมิติอย่างไม่น่าเชื่อ
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการได้จัดกิจกรรม นิทรรศการปริศนาแห่งเปลือกหอย (Secret of Shells) ชวนเรียนรู้เรื่องราวของหอยชนิดต่างๆ ผ่านตัวอย่างเปลือกหอยหลากหลายชนิดและกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ทำให้รู้จักสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น และก็นับเป็นโอกาสดีที่ได้ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมเล่าเกร็ดความรู้ว่าด้วยหอยกับมนุษย์ที่ผูกพันเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่อดีต
หอย เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในไฟลัม ‘มอลลัสกา (Mollusca)’ มาจากคำว่า Mollis ในภาษาละตินแปลว่า เนื้อนุ่ม ซึ่งหอยเป็นสัตว์ที่ลำตัวอ่อนนุ่มและมีเปลือกแข็งไว้ป้องกัน เปลือกจะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในไข่ มีส่วนประกอบคือเปลือกนิ่มจะมีหน้าที่ในการสร้างเปลือกแข็งเพื่อปกป้องจากอันตรายภายนอก จะขยายโดยการหมุนออกเป็นวงกลมหรือที่เรียกกันว่า วงก้นหอย โดยเปลือกหอยจะสร้างขึ้นมาจากสารไบคาร์บอนเนตที่อยู่ในน้ำทะเล จนเกิดปฏิกิริยาทางชีวภาพ คล้ายกับการโบกปูนซ้อนทับไปเรื่อยๆ และมีการเรียงผลึกเป็นชั้นๆ เปลือกหอยจึงมีความแข็งแรงมาก หอยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล จะมีบางส่วนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและบนบก นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบสัตว์จำพวกหอยมาแล้วมากกว่า 120,000 ชนิด นับเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแมลงเลยทีเดียว
“ตั้งแต่อดีตมา มนุษย์เห็นหอยเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา และมองว่าหอยเป็นทรัพย์สมบัติของโลก หอยจึงเป็นเครื่องประดับหรูหราของชนชั้นสูง เพราะเปลือกหอยมีสีสันสวยงาม” ดร.สมศักดิ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหอย มีการค้นพบ ‘หอยตีนช้างสีแดง (Cypraecassis rufa)’ ในถ้ำอัลตามีรา ประเทศสเปน ซึ่งหอยชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย แต่กลับมีการค้นพบในยุโรป แสดงถึงการเดินทางไกลของมนุษย์ที่พกหอยติดตัวไปด้วย
นอกจากหอยจะเป็นเครื่องประดับแล้ว ก่อนที่มนุษย์จะใช้เหรียญและธนบัตรแทนเงินตราอย่างทุกวันนี้ มนุษย์เคยใช้หอยแทนเงินตรามาก่อน โดยจะพบในแถบจีน อินเดีย ยุโรป แอฟริกา และตะวันออก รวมถึงในไทยเองก็ค้นพบหลักฐานที่มีการใช้หอยเบี้ยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา ทำให้การขุดค้นทางโบราณคดี มักมีการค้นพบหอยอยู่ด้วยเสมอ
“หอยยังเกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อ มีการค้นพบในประเทศอียิปต์ที่มีการฝังเปลือกหอยไว้ในหลุมศพ เพื่อใช้กันภูติผีปีศาจได้ ทางฝั่งบ้านเราเองก็มีเรื่องแก้ฟันผุ หรือหอยบางชนิดที่ใช้คล้องคอเด็กเพื่อไม่ให้น้ำลายไหล” หอยที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของไทยเรามีชื่อเรียกว่า ‘เบี้ยแก้’ ซึ่งเป็นเปลือกหอยที่นำมาปลุกเสกตามความเชื่อทางไสยศาสตร์
ปัจจุบันมนุษย์กับหอยได้เปลี่ยนความสัมพันธ์จากเรื่องความเชื่อกลายเป็นเรื่องของการบริโภคแทน มีการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับการบริโภคโดยเฉพาะ เห็นได้จากเมนูอาหารตั้งแต่เมนูพื้นบ้านไปจนถึงเมนูระดับภัตตาคารที่ใช้หอยเป็นวัตถุดิบ การบริโภคเนื้อหอยจะให้โปรตีน แต่ขณะเดียวกันก็มีคอเลสเตอรอลที่สูง อาจมีผลเสียต่อร่างกายได้ถ้าหากบริโภคมากเกินไป
“ปกติเราจะบริโภคหอยจากธรรมชาติ แต่เมื่อบริโภคมากเกินไปจนหมด จึงต้องมีการเพาะเลี้ยงไว้สำหรับบริโภค ซึ่งการเพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ก็เป็นไปในเชิงอุตสาหกรรม ต้องใช้พื้นที่เยอะและอาหารสังเคราะห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติได้ และอาจทำให้เกิดสารตกค้าง ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่สักเท่าไร” ดร.สมศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของระบบการเพาะเลี้ยงหอยแบบอุตสาหกรรม
หลายคนคงรู้จัก ‘ไข่มุก’ เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงหอยมุกเชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่ามหาศาลในอุตสาหกรรมอัญมณี ปกติแล้วหอยมุกทะเลจะผลิตมุกโดยการใช้ทรายใส่เข้าไปในตัวหอย เพื่อสร้างชั้นมุกขึ้นมาปกคลุมเป็นไข่มุก แต่หอยมุกน้ำจืดจะใช้วิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใส่เข้าไปในหอยแทน โดยสีของไข่มุกที่ได้จะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของหอย ซึ่งการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันในด้านธุรกิจความงาม ‘ครีมจากเมือกหอยทาก’ กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก มีหลากหลายแบรนด์ที่กำลังแข่งขันกัน ดร.สมศักดิ์ได้อธิบายถึงที่มาของเมือกหอยทากว่า “เมือกของหอยทากมาจากชั้นเดียวกับที่สร้างเปลือก การค้นพบเกิดจากความบังเอิญที่มือมนุษย์ไปจับโดนเมือกแล้วทำให้แผลหายไวขึ้น ซึ่งเมือกนี้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและผสานเนื้อเยื่อได้ จึงเกิดนวัตกรรมในการสกัดเมือกออกมาเพื่อประยุกต์ในการผลิตเวชสำอางค์ เมือกที่สกัดออกมาจะมีอานุภาคในระดับนาโน สามารถกระตุ้นเซลล์ผิวที่อ่อนคล้อยให้กระชับขึ้นได้และกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนในผิว”
แม้ว่าหอยจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากเพียงใด แต่ถ้าหากมนุษย์เองไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศความเป็นอยู่ของหอยแล้ว หอยก็อาจสร้างโทษได้เช่นกัน “หอยยังมีโทษคือเป็นพาหะของพยาธิบางชนิด การพัฒนาแหล่งน้ำอย่างการสร้างเขื่อนที่ไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ ทำให้น้ำนิ่งและส่งผลให้หอยบางชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเกินไป จนกลายเป็นแหล่งพาหะพยาธิ ซึ่งหวนกลับมาสร้างโทษให้กับมนุษย์ได้” ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงปัญหาที่มนุษย์เป็นผู้ที่ก่อขึ้นเอง
หอยกับมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันยาวนาน ซึ่งหอยก็ได้สร้างประโยชน์ในหลากหลายมิติให้กับมนุษย์มาโดยตลอด จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องช่วยกันดูแลเพื่อนร่วมโลกชนิดนี้ให้อยู่กับวิถีชีวิตของเราต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย