
เปิดโลกนิทานภาพท้องถิ่น สร้างพลังรักการอ่านและความภูมิใจในบ้านเกิด
ในวันที่เทคโนโลยีดิจิทัลไหลบ่า และเด็กยุคใหม่เติบโตมากับหน้าจอ “นิทาน” ในรูปแบบหนังสืออาจดูล้าสมัย แต่สำหรับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) หนังสือนิทานกลับเป็น “พลังเงียบ” ที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหานั้นมาจาก “หัวใจของชุมชน” และบอกเล่าเรื่องราวของถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างแท้จริง
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ TK Park จึงได้ริเริ่ม “โครงการจัดทำหนังสือนิทานภาพสาระท้องถิ่น 10 จังหวัด” ครอบคลุมภาคเหนือ กลาง ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น แพร่ ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี สระแก้ว พะเยา อุบลราชธานี สกลนคร ยะลา และสตูล โดยแต่ละจังหวัดจะร่วมกันผลิตหนังสือนิทานภาพจังหวัดละ 2 เรื่อง ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของเมืองจาก “เสียงของคนในพื้นที่” ไปสู่เด็กทั่วประเทศ
“โครงการนี้ไม่เพียงทำให้เกิดหนังสือนิทานภาพที่มีคุณภาพ 20 เล่ม แต่ยังทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงคุณค่า และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม” นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กล่าวถึงเจตนารมณ์ของโครงการนี้

จากรากวัฒนธรรม สู่นิทานในหัวใจเด็ก
ในกระบวนการจัดทำหนังสือนิทานภาพสาระท้องถิ่นครั้งนี้ หนึ่งในกลุ่มที่ประสานพลังจากหลายภาคส่วนได้อย่างโดดเด่น คือกลุ่มที่นำโดยพี่อ๋อง ทัทยา อนุสารราชกิจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเนื้อหาและภาพประกอบของนิทานท้องถิ่นใน ขอนแก่น แพร่ และประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้หัวใจหลักของการทำงานคือ “ร่วมมือเพื่อให้เด็กได้รัก รู้จัก และภาคภูมิใจในบ้านเกิด”

แต่ละจังหวัดมีภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีการเล่าเรื่องเฉพาะตัว เช่น ที่ขอนแก่น กระบวนการพัฒนาเนื้อหาเริ่มต้นจากคำถามว่า “เด็กขอนแก่นจะรู้ไหมว่าบ้านตัวเองมีอะไรให้น่าภูมิใจ” นำไปสู่การร้อยเรียงนิทาน “ฮักแพง” และ “สินไซอยู่ไส” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราววรรณกรรมพื้นบ้าน ศิลปะท้องถิ่น และสายสัมพันธ์ในครอบครัวชาวอีสาน โดยมีทีมศิลปินจากมหา’ลัยไทบ้าน และ Tis Studio มาร่วมถ่ายทอดจินตนาการผ่านลายเส้นที่มีกลิ่นอายอีสานร่วมสมัย

ในขณะที่จังหวัดแพร่ ผู้คนท้องถิ่นเลือกบอกเล่าความเป็นเมืองเหนือด้วยเสียงเบา ๆ แต่ลึกซึ้ง ผ่านนิทาน “ศุกร์แสนสุข ของน้องซอมพอ” และ “ภารกิจพิชิตห้อม” ที่หยิบยกวัฒนธรรมสิ่งทอ การทำล้อเกวียน และความฝันของเด็กในเมืองเล็ก ถ่ายทอดออกมาอย่างละมุนละไม เพื่อเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างรุ่น และปลุกความทรงจำของชุมชนเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในมือของคนรุ่นใหม่

ส่วนที่ประจวบคีรีขันธ์ นิทานอย่าง “บ้านเล บ้านเขา บ้านเราหัวหิน” และ “มาดูดุ๊หัวหินบ้านเรา” บอกเล่าว่าทะเลไม่ใช่แค่ทิวทัศน์งามตา แต่เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ วิถีประมง ศิลปะเรือไม้ และธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นิทานจึงใช้เสียงคลื่นเป็นเหมือนบทเพลงที่เด็ก ๆ จะได้เติบโตมากับมัน พร้อมซึมซับความกล้าหาญ ความอบอุ่นของครอบครัว และรากวัฒนธรรมจากคลื่นลูกก่อนหน้า
ทั้งสามจังหวัดแม้จะต่างภูมิภาค ต่างบริบท แต่ต่างก็สะท้อนหัวใจสำคัญโครงการนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือความมุ่งหวังที่จะได้เห็นเด็กจะเติบโตขึ้นบนรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคง รักในบ้านเกิด และมองโลกด้วยสายตาที่รู้ว่าตนเองมาจากไหน และกำลังจะไปสู่ที่ใด

พลังเรื่องเล่าจากลายเส้นและเสียงหัวใจ
ในโลกของวรรณกรรมเด็ก การสร้างนิทานที่ “เข้าใจเด็ก และเชื่อในเด็ก” คือภารกิจที่ต้องใช้ทั้งความรู้ ความรัก และการฟังอย่างลึกซึ้ง กลุ่มจังหวัดพะเยา สุพรรณบุรี และสระแก้ว ภายใต้การนำของ พี่แต้ว ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสือเด็กอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นิทานท้องถิ่นไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดข้อมูลเชิงสารคดี หากคือศิลปะแห่งการฟัง และศิลปะแห่งการมองเห็นคุณค่าในชีวิตประจำวัน

ที่พะเยา กระบวนการเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ แต่ทรงพลังว่า “พะเยาในสายตาเด็กคืออะไร” คำถามนี้นำไปสู่การค้นหาความหมายของกว๊านพะเยา ผ่านวงเสวนาระหว่างครู ศิลปิน และนักกิจกรรมในท้องถิ่น และกลายเป็นแรงบันดาลใจของนิทาน “นิลน้อยวันลอยกระทง” และ “ขันโตกตกใจ” ซึ่งถ่ายทอดชีวิตประจำวันของชาวพะเยา การกินอยู่แบบพื้นบ้าน และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติด้วยถ้อยคำอบอุ่นและภาพประกอบที่มีบรรยากาศเฉพาะตัว
ที่สุพรรณบุรี พลังของนิทานไม่ได้อยู่ที่เรื่องเหนือจริง แต่กลับซ่อนอยู่ในความจริงอันอ่อนโยนของชุมชน นิทาน “ไข่ปลากับสาลี่” และ “เสียงแห่งแดนสุพรรณ ฉิ่งฉับ กรับ ตะโพน” สะท้อนภาพของวิถีเกษตรกรรม ชาวนา การเลี้ยงควาย และประเพณีพื้นบ้านผ่านสายตาเด็ก ๆ การทำงานครั้งนี้เต็มไปด้วยบทสนทนาระหว่างรุ่น ระหว่างคนเฒ่าคนแก่ ครู และนักสร้างสรรค์ ที่ช่วยกันกลั่นเรื่องราวออกจากความทรงจำ ให้กลายเป็นหนังสือที่เด็กสุพรรณจะอ่านและเห็น “ราก” ของตนเองชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกัน สระแก้วกลายเป็นพื้นที่ที่จินตนาการเติบโตเคียงข้างพรมแดน นิทาน “ผีเสื้อกับวุ้นเส้น” และ “จ๋อม แจ๋มเก็บมะขามป้อม” เกิดจากกระบวนการที่เปิดกว้างให้ผู้เขียนและนักวาดภาพประกอบได้ลองผิดลองถูก สนุกกับศิลปะฉีกกระดาษ การปั้น และการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ จุดแข็งของนิทานจากสระแก้วไม่เพียงอยู่ที่เรื่องราวของชุมชนชายแดน แต่ยังอยู่ที่ “น้ำเสียงของเด็ก” ที่กลั่นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความอ่อนโยน และความหวัง
ในกลุ่มของพี่แต้ว สามจังหวัดเผยให้เห็นสามบริบท ภายใต้ความเชื่อเดียวกันว่าเด็กควรรู้ว่าบ้านเกิดของตนงดงามอย่างไร กระบวนการเขียนนิทานในกลุ่มนี้จึงไม่ใช่แค่การผลิตหนังสือ แต่เป็นการฟื้นความทรงจำ บำรุงรากฐานความรู้ และเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่ของการเรียนรู้ลงในใจของเด็ก ๆ ทุกคน

เสียงของเด็ก คือสะพานเชื่อมความทรงจำ
ภายใต้การนำของนายชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ หรือ “พี่มู” ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และนักเล่านิทานมากประสบการณ์ การจัดทำหนังสือนิทานภาพในกลุ่มจังหวัดอุบลราชธานี และสกลนคร จึงเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งแรงบันดาลใจ สนุกสนาน และเปิดกว้างให้กับเสียงของผู้ใหญ่และเด็กอย่างเท่าเทียม โดยมีเป้าหมายร่วมคือ “หนึ่งเรื่อง อ่านทั้งเมือง” – การสร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เชื่อมโยงผู้คนทั้งชุมชนผ่านนิทานที่เด็กเข้าถึงได้ และภูมิใจได้

ที่อุบลราชธานี นิทาน “นานมาผาแต้มอุบล” และ “กินข้าวป่า” ถือกำเนิดจากเวทีเสวนาที่ครู นักวาด และนักเล่าเรื่องท้องถิ่นร่วมกันรื้อฟื้นความทรงจำอันอบอุ่นของครัวชนบท ภาพเขียนสีริมผา และวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติอย่างสมดุล เรื่องเล่าจึงถูกออกแบบให้มีมิติประวัติศาสตร์ล้ำลึก ในขณะที่ใช้ภาษาเรียบง่ายแบบที่เด็ก ๆ จะเข้าใจได้ และยังมีกระบวนการทดลองเล่าเรื่องกับกลุ่มเด็กในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่า “เสียงจากผาแต้ม” จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่เข้าถึงหัวใจคนตัวเล็กได้จริง

ขณะที่ชาวสกลนครยกเอาความเชื่อ ภูมิปัญญา และชีวิตชนบทมาไว้ในนิทานอย่างมีชีวิตชีวา นิทาน “สีสันของต้นผึ้ง” และ “หนึ่งวันของแจ้มปุ้น” ถ่ายทอดเรื่องราวของพิธีปราสาทผึ้ง เกลือภูเขา และตำนานผีฟ้าผีแถน ซึ่งแม้ฟังดูไกลตัวสำหรับเด็กยุคใหม่ แต่กลับมีพลังในการจุดประกายคำถามและจินตนาการ อีกทั้งกระบวนการระดมสมองช่วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้วิธีแปลงเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยเทคนิคกการสร้างคุณลักษณะให้ตัวละคร เช่น ควายผู้ภาคภูมิใจ หรือผึ้งใจดี ซึ่งช่วยให้เรื่องราวดำเนินไปได้อย่างกลมกลืน
ในกลุ่มนี้ พี่มูไม่ได้เพียงนำการอบรมเชิงเทคนิค แต่ยังช่วยเปิดใจให้ทุกคนฟังเสียงเด็ก ด้วยความเชื่อว่าเด็กไม่ใช่เพียงผู้อ่าน แต่คือผู้ฟังที่ยอดเยี่ยมที่สุด และนิทานภาพ ก็คือของขวัญจากชุมชนที่จะอยู่ในใจพวกเขาไปตลอดชีวิต

ปลายด้ามขวานเล่าเรื่อง
เมื่อพูดถึงนิทานจากชายแดนใต้ หลายคนอาจนึกถึงเรื่องราวที่แตกต่าง ห่างไกล หรือเข้าใจยาก แต่ภายใต้การนำของกลุ่มลูกเหรียงและภาคีท้องถิ่นในโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” นิทานภาพจากยะลาและสตูล ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องเล่าของชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิต สามารถกลายเป็นหนังสือที่เด็กอ่านด้วยตา และได้ยินด้วยหัวใจอย่างแท้จริง
ที่ยะลา กระบวนการสร้างนิทานเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เด็กยะลาอยากฟังอะไร? และเด็กอื่นควรรู้อะไรเกี่ยวกับยะลา” เวทีเสวนาได้ขับเคลื่อนด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเสียงจากปลายด้ามขวาน ผ่านเรื่องราวของประวัติศาสตร์มลายู วัฒนธรรมตลาดชายแดน ภูเขา น้ำตก และความสัมพันธ์ของผู้คนต่างศาสนา นิทาน “ลูกข่างวิเศษ” และ “เที่ยวเมืองนิบง” จึงเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการที่ไม่เพียงคัดสรรเรื่องดี แต่ยังทดลองจริงกับกลุ่มเด็กในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าภาษาที่ใช้ ภาพที่เห็น และเรื่องที่เล่า จะสะท้อนชีวิตจริงอย่างอ่อนโยนและเข้าถึงใจเด็ก ๆ ทุกคน

ขณะที่สตูล เมืองชายทะเลที่เปี่ยมด้วยธรรมชาติและมิตรไมตรี นิทาน “จีทำพรือนิ” และ “ย่าลาโตด” ได้ถือกำเนิดจากวงเสวนาที่ลงลึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม วิถีประมงพื้นบ้าน บ้านไม้เก่า และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม จุดเด่นของกระบวนการในสตูลคือการให้ความสำคัญกับพัฒนาการเด็กวัย 4–9 ปี และการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ภาพประกอบจึงไม่ได้มีไว้แค่สร้างความสวยงาม แต่ยังช่วยสะท้อนคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง
สำหรับกลุ่มลูกเหรียง นิทานไม่ใช่เพียงเรื่องเล่า แต่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรุ่น จากยายสู่หลาน จากชุมชนสู่ห้องเรียน และจากปลายด้ามขวานสู่หัวใจของเด็กทั้งประเทศ

นิทานที่เป็นมากกว่าหนังสือ
หนังสือนิทานที่เกิดจากโครงการนี้ ไม่ได้มีไว้เพียงให้อ่าน แต่ยังเป็นเครื่องมือพัฒนาครู พัฒนาโรงเรียน และสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน โดย TK Park จะมีจัดอบรมการใช้งานหนังสือนิทานภาพเหล่านี้ให้กับครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล และครูประถมศึกษา เพื่อให้สามารถใช้หนังสือเหล่านี้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
โครงการยังมีแผนกระจายหนังสือไปยังห้องสมุด ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และหน่วยงานท้องถิ่น พร้อมกับถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อใช้ต่อยอดในจังหวัดอื่น ๆ และขยายผลในระดับประเทศต่อไป

จากนิทานเล่มเล็ก สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่
การสร้างหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเพื่อให้พวกเขาทำความรู้จักกับท้องถิ่นอย่างกลมกลืนอาจดูเหมือนงานเล็ก ๆ แต่ที่จริงแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เด็กจะสามารถบอกเล่าเรื่องราวของบ้านเกิดด้วยความภาคภูมิใจและผูกพันกับชุมชนอย่างลึกซึ้ง
“เราเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งที่รักการอ่านและรู้จักรากเหง้าของตัวเอง จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีพลังสร้างสรรค์ต่อสังคมไทยในอนาคต” นายวัฒนชัยกล่าวปิดท้าย
โครงการ “จัดทำหนังสือนิทานภาพสาระท้องถิ่น” ที่ดำเนินไปพร้อมกันในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงมิใช่เพียงการผลิตหนังสือ แต่เป็นการปลุกพลังชุมชน กระตุ้นการเรียนรู้ และสื่อสารเรื่องราวจากท้องถิ่นสู่หัวใจของเด็ก ๆ ด้วยรูปแบบที่อบอุ่นที่สุด ซึ่งก็คือนิทาน