5 เคล็ดลับวิธีคิดเนรมิตความคิดสร้างสรรค์ จาก TK band
“การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ถูกสอน เพราะเราไม่ได้อยากพัฒนาให้น้องๆ ไปประกอบอาชีพทางด้านดนตรี แต่อยากให้รู้ว่า ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ความคิดสำคัญที่สุด ทุกอย่างมีวิธีคิด เพราะการคิดเป็นเรื่องสนุกสามารถนำเอาไปใช้ได้กับทุกเรื่อง”
พี่จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง กล่าวกับเยาวชนคนดนตรี TK band ในงาน มินิคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม Then & Now ของ โครงการปฏิบัติการสร้างสรรค์คนดนตรี TK band ปี 6 โครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่รักในเสียงดนตรีได้บ่มเพาะทักษะและประสบการณ์ด้านดนตรีจากวิทยากรมืออาชีพ พร้อมทั้งได้ออกอัลบั้มเป็นของตนเอง ซึ่งจัดต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้ว
ในปีนี้เยาวชนคนดนตรี TK band ได้เดินทางไปบ่มเพาะวิชาสร้างสรรค์ดนตรีถึงจังหวัดเพชรบุรี เยาวชนทุกคนต้องลงพื้นที่ต่างๆ ภายในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเก่า, กลุ่มลูกหว้า กลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนของเพชรบุรี, โรงโขนเพชรบุรี, พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำเพชร และร้านขนมไทยลูกเจี๊ยบ เพื่อนำข้อมูลทุกอย่างมาสร้างสรรค์เป็นผลงานเพลงที่ออกมาเป็นอัลบั้ม ‘Then & Now’ นั่นเอง
ด้วยหลักสูตรของ ครูใหญ่จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง ที่ไม่ได้เน้นเรื่องดนตรีแต่เพียงอย่างเดียวตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่กลับให้ความสำคัญกับเรื่องวิธีคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับงานสร้างสรรค์ทุกประเภท ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งเพลงเท่านั้น
และต่อไปนี้คือสิ่งที่ตลกผลึกจากค่ายบ่มเพาะในปีนี้ จนออกมาเป็น 5 เคล็ดลับวิธีคิดเนรมิตความคิดสร้างสรรค์
1.เก็บเกี่ยววัตถุดิบให้มากที่สุด
ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่ดี มักไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่มักจะเกิดขึ้นจากข้อมูลและวัตถุดิบที่อยู่รอบตัวเรา วิธีการสำคัญคือการเข้าหาแหล่งข้อมูลและเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราสนใจในทุกแง่มุมให้มากที่สุด พร้อมเปิดใจให้กว้างรับข้อมูลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์บุคคล การสังเกต หรือการเข้าไปลองสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองก็เป็นวิธีการเก็บเกี่ยวข้อมูลที่ดีทั้งสิ้น
2.ตีความในมุมต่าง
หลังจากที่ได้วัตถุดิบมาแล้ว ก็มาถึงการตีความและสังเคราะห์ข้อมูลออกมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เคล็ดลับสำคัญคือการเลือกมุมต่างๆ มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ให้ไม่ซ้ำกับสิ่งเดิม โดยมองให้ลงลึกเพื่อคัดสรรแง่มุมที่ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมานำเสนอ ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์จึงจะสดใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะแฝงเอกลักษณ์ตัวตนของเราเข้าไปด้วย
3.มองทุกอย่างให้เป็นคอนเซปต์
เป็นเรื่องปกติที่ความคิดของเราจะกระจัดกระจายหรือแตกยอดออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด เมื่อคิดสิ่งหนึ่งได้ อีกสิ่งหนึ่งก็จะตามมา จนทำให้เราสับสนหรือยากต่อการตัดสินใจเลือก ทางแก้คือสร้างรูปแบบความคิดรวบยอดที่ชัดเจน เรียกง่ายๆ คือมองข้อมูลทุกอย่างให้เป็นคอนเซปต์ คล้ายกับการสร้างกรอบของเนื้อหาเพื่อควบคุมไอเดียของเราไม่เตลิดออกนอกเป้าหมายจนเกินไป จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น
4.กำหนดเส้นตาย
การปล่อยเวลาให้กับการคิดมากเกินไปก็อาจไม่เป็นผลดี เนื่องจากงานสร้างสรรค์ทุกชิ้นต้องมีระยะเวลาในการเผยแพร่ที่แน่นอนอยู่แล้ว หากผลงานเสร็จช้ากว่ากำหนดย่อมส่งผลเสียในทุกๆ ด้าน แม้ว่าผลงานชิ้นนั้นจะดีมากก็ตาม ควรกำหนดเส้นตายให้กับการคิดและการทำงาน ด้วยการวางแผนระยะเวลาการทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะบางครั้งความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นภายใต้กรอบเวลาที่บีบคั้นได้อย่างไม่เชื่อ
5.นำเสนอผลงานอย่างมั่นใจ
ไอเดียและความสร้างสรรค์ที่ดีล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจของเจ้าของผลงาน เมื่อเราได้ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์จนออกมาเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เราต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่เราต้องทุ่มเทอย่างหนักมาแล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อสารตั้งต้นแข็งแรง ปลายทางก็ต้องแข็งแรงด้วย การนำเสนอผลงานออกไปสู่วงกว้างจึงต้องเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา เชื่อมั่นและมั่นใจในผลงาน ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ เราก็ควรนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ชิ้นต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย