เมื่อวันเสาร์ที่ 26 - อาทิตย์ที่ 27เมษายน2557ที่ผ่านมา หากใครได้เข้าไปในอุทยานการเรียนรู้ TK park อาจหายเข้าไปในดงกล้วย!!! ไม่มีพลังงานลึกลับอะไรในนั้น แต่เป็นเพราะผู้ใหญ่ใจดีจาก 3 องค์กร คือ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ร่วมมือกันเนรมิตลานสานฝันให้กลายเป็นดงกล้วย แล้วนำขบวนพาเหรดกล้วยนับสิบสายพันธุ์หายากมาให้ได้ชมกัน พร้อมกับนำสาระความรู้เกี่ยวกับกล้วย พืชที่มีความใกล้ชิดกับวิถีคนไทยมาอย่างยาวนาน มาให้ได้เรียนรู้กันทีละฐานพร้อมกับความสนุกสนานเช่นเคยด้วยนิทรรศการที่ชื่อว่า “เรื่องกล้วย กล้วย”
ก่อนเข้านิทรรศการ เรามาดูกันก่อนว่า ความรู้เรื่องกล้วย เรารู้จักดีแค่ไหน?
น้องวิน- อายุ 5 ขวบ “กล้วยอร่อย เป็นผลไม้”
แป๋ม– นักศึกษาปีที่ 1 “เป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งต้น ผลกินได้ ใบใช้ห่อขนม ต้นมาทำกระทง ทำของเล่น”
คุณโจ้– พนักงานบริษัทเอกชน “ผลไม้ที่แปรรูปเป็นของกินได้หลายอย่าง เช่น กล้วยทอด กล้วยตาก กล้วยฉาบ”
จากเรื่องกล้วยที่เราคุ้นเคย นิทรรศการเรื่องกล้วย กล้วย จะพาเราไปรู้จักกล้วยที่หลากหลายและลึกซึ้งมากขึ้น ด้วยฐานความรู้ต่างๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้กล้วยตั้งแต่รากไปถึงปลายใบตองกันเลยทีเดียว
เริ่มจากฐานที่ 1 “ตะลุยดงกล้วย”
ฐานแรกต้อนรับเราด้วยดงกล้วยขนาดย่อมสีเขียวสวยงาม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วย “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล” อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้กันตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์ของพืชชนิดนี้ โดย“กล้วย” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร กล้วยจึงเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย และพบได้หลากหลายพันธุ์ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ กล้วยจึงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต เป็นพืชสืบต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมไทย
โดยกล้วยเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว สามารถแยกได้เป็น 3 สกุล คือ
1. สกุลกล้วย (Musa) เป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ ใช้หน่อยขยายพันธุ์ นิยมนำมาบริโภค เช่น กล้วยป่า และกล้วยปัตตานี
2. สกุลกล้วยโทน (Ensete) เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มักปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งสวน ไม่นิยมนำมาบริโภค เช่น กล้วยผา และกล้วยนวล
3. สกุลกล้วยดารารัศมี (Musella) ลำต้นเตี้ย มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้ง กลีบใบประดับสีเหลือง เช่น กล้วยคุนหมิง
อาจารย์ศศิวิมลให้ความรู้เด็กๆ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่นักโบราณคดีได้ค้นพบในเขต Kuk valley ที่ราบสูงทางตะวันตกของเกาะนิวกินี (จังหวัดปาปัว ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) ซึ่งมีอายุราว 8,000 ปีพบว่า กล้วยเป็นไม้ผลชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาปลูกไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยก่อนจะออกเดินทางไปรอบโลกเมื่อมนุษย์รู้จักเก็บผลกล้วยมารับประทานจากต้นกล้วยที่ขึ้นอยู่ในผืนป่าธรรมชาติ
กล้วยออกเดินทางไปไกล ตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย จนถึงเกาะนิวกินี โดยมนุษย์ได้นำกล้วยติดตัวไประหว่างการค้าหรือการอพยพย้ายถิ่นฐาน กล้วยเริ่มออกเดินทางไปแถบออสเตรเลีย และโพลีนีเซีย จากนั้นขึ้นเหนือไปยังฮาวาย และเดินทางไปยังตะวันออกสู่ชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะอีสเตอร์ราว 2,000-3,000 ปีที่แล้ว มนุษย์ได้นำกล้วยหลายพันธุ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปปลูกที่แอฟริกา และชาวตะวันตกได้นำกล้วยหอมจากเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปปลูกในทวีปอเมริกากลางและใต้ในลักษณะอุตสาหกรรม
จากประวัติศาสตร์ที่เล่ามาจะเห็นได้ว่ากล้วยไม่ใช่พืชที่ธรรมดา แต่เป็นพืชที่ใครๆ ในโลกก็รู้จัก ด้วยเหตุนี้อาจารย์ศศิวิมลจึงได้ศึกษาเรื่องกล้วยอย่างสม่ำเสมอ โดยได้ตัดส่วนต่างๆ ของกล้วยมาดองในขวดโหล หรือนำมาผ่านกระบวนการทำให้แห้งเพื่อศึกษาพืชชนิดนี้ต่อไป ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้มหัศจรรย์ใจกับกล้วยมากกว่าเดิม
ต่อด้วยฐานที่ 2 “ของกล้วย กล้วย”
หลังจากได้รู้จักประวัติศาสตร์ของกล้วยกันแล้ว เมื่อมาถึงฐานนี้เราจะได้พักสมองมาเล่นสนุกๆ กับของเล่นที่ทำมาจากกล้วย ฐานนี้ได้รับความสนใจจากเด็กๆ มากที่สุดเพราะนอกจากพี่ๆ ประจำฐานจะให้ความรู้แบบเรื่องกล้วยแบบทดลองให้เห็นเพื่อให้เข้าใจแล้ว ยังได้ประดิษฐ์ของเล่นวัยเยาว์ของผู้ใหญ่ และของเล่นแปลกใหม่สำหรับเด็กในเมือง ให้น้องๆ ตัวเล็กๆ ได้เล่นอย่างเพลิดเพลิน
สำหรับความรู้จากฐานนี้นั้น พี่ๆ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดลองแบบเข้าใจง่าย ให้เราได้เห็นว่าทำไมแต่ละส่วนของกล้วยถึงได้นำมาทำประโยชน์ได้ อย่างเช่น ต้นกล้วย ที่นำมาทำกระทง เนื่องมาจากลักษณะของลำต้นกล้วยนั้นมีช่องอากาศมากจึงสามารถลอยน้ำได้ ส่วนใบกล้วยหรือใบตองนั้น แม่ค้าจะนิยมนำมาห่ออาหารและขนม เพราะใบกล้วยจะมีลักษณะที่ขึ้นเงาเพราะมีสารแบบเดียวกับแวกซ์เคลือบไว้ ทำให้ป้องกันน้ำได้ จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ห่อของกินที่ส่วนใหญ่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ
โดยกล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์ 108 ประการเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากลำต้น ผล ใบ แล้ว น้ำจาก “ก้านใบ” มีสรรพคุณในการเป็นยาสมาน รักษาโรคท้องเสีย และอาการบิด “กาบกล้วย” ทำเชือกกล้วย หรือเส้นใยกล้วย เพื่อใช้ในงานหัตถกรรม หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ “รากกล้วย” มีสรรพคุณในการขับน้ำเหลืองเสีย และแก้อาการท้องเสีย “ปลี ดอก” มีธาตุเหล็กสูง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอและซี เป็นอาหารบำรุงน้ำนมของคุณแม่ในช่วงให้น้ำนม
เมื่อน้องๆ ได้รับความรู้เรื่องกล้วยกันเรียบร้อยแล้ว ใครอยากจะได้ของเล่นที่ทำจากกล้วย พี่ๆ ก็จะมาประดิษฐ์ให้ ทั้ง “ปืนกล้วย” “ม้าก้านกล้วย” “ธนูก้านกล้วย” โดยของเล่นทั้งหมดนั้นทำมาจากก้านกล้วย เป็นของเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งน้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นเต้นกับของเล่นเหล่านี้มากเพราะบางคนเพิ่งเคยรู้จัก หรืออาจรู้จักผ่านหนังสือหรือรายการโทรทัศน์ แต่เพิ่งมาได้เล่นม้าก้านกล้วย สะพายปืนกล้วย และยิงธนูที่ประดิษฐ์จากก้านกล้วยกันในวันนี้ ฐานนี้จึงแน่นขนัดไปด้วยเด็กๆ ตลอดทั้งวัน
กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์
ปิดท้ายด้วยฐานที่ 3 “งานวิจัยกล้วย กล้วย”
เมื่อกล้วยเป็นผลไม้ที่มีอยู่มากมายในเมืองไทย จนอาจจะกินกันไม่หมด หรือกินกันจนเบื่อ แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรให้กล้วยเป็นผลไม้ที่อยู่ได้นานขึ้น หรือมีรูปแบบแปลกใหม่ไม่น่าเบื่อ เรื่องเหล่านี้มีคำตอบในฐานที่ 3 งานวิจัยกล้วย กล้วย
ในฐานนี้มีกล้วยตากผลไม้ที่เป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลกมาให้ได้ลองชิมกัน แต่กล้วยตากยุคนี้เขาไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว ที่นำมาตากแดดแล้วบรรจุถุงก็จบกระบวนการกันแล้ว แต่ได้ได้นำกล้วยมาแปรรูปปรุงรสชาติ พร้อมทั้งเปลี่ยนหีบห่อให้สวยงามน่าซื้อ เพื่อแก้ปัญหากล้วยล้นตลาด โดยเปลี่ยนจากกล้วยตากธรรมดามาเป็นกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์
ความคิดในการแปรรูปกล้วยตาก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านแห่งนวัตกรรม หรือ Innovative House ภายใต้แนวคิด Shift & Go Beyond Boundaries เพื่อสร้างสรรค์ระบบการทำวิจัยรูปแบบใหม่ที่นอกกรอบ สำหรับกล้วยตากได้เปลี่ยนจากการตากแดดธรรมดา มาเป็นการใช้เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบกรีนเฮาส์ (พาราโบลาร์โดม) ทำให้ได้กล้วยตากที่มีคุณภาพ จากนั้นจึงนำมาผสมผสานกับของหวานชนิดอื่นๆ อย่างช็อกโกแลต ชาเขียว แล้วบรรจุในหีบห่อที่สวยงาม ทำให้กล้วยตากมีมูลค่ามากขึ้น และยังมีเอกลักษณ์แตกต่างจากกล้วยตากของเจ้าอื่นๆ อีกด้วย
ในเวลาต่อมา ได้มีการพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตจากกล้วยตากธรรมดา สู่น้ำเชื่อมหรือไซรัปจากกล้วยในระดับอุตสาหกรรม โดยไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากฐานความรู้ทั้ง 3 ฐานแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังได้ยกขบวนพาเหรดกล้วยหายากมาให้ได้ชม อาทิ “กล้วยเทพพนม” ที่มีลักษณะคล้ายมือประกบกัน มีถิ่นกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์ “กล้วยหิน” ซึ่งพบมากใน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นกล้วยเนื้อแน่นที่นิยมนำมาเลี้ยงนกเขา “กล้วยไข่พระตระบอง” ที่ปลูกกันมากในบริเวณชายแดนกัมพูชา โดยมีรสชาติออกเปรี้ยว “กล้วยร้อยหวี” กล้วยพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีรูปทรงสวยงามจนนิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับมากกว่ารับประทาน “กล้วยสายน้ำผึ้ง” รสชาติหวานสมชื่อ เป็นกล้วยที่ปลูกมากในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
จากนิทรรศการเรื่องกล้วย กล้วย จะเห็นได้ว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์สารพัด หากใครอยากรู้เรื่องกล้วยเพิ่มเติม สามารถค้นคว้าจากหนังสือของอุทยานการเรียนรู้ TK park หรือจากข้อมูลงานวิจัยของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านทางเว็บไซต์ www.trf.or.th แล้วจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของกล้วยในอีกหลายๆ มุม
พี่ตองก้า