ให้ความฝันเป็นของฝาก
“ศุ บุญเลี้ยง”
ตลอดการเดินทางในวงการของ ศุ บุญเลี้ยง ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม ล้วนสร้างมาจากความฝันแล้วค่อยๆ แปรให้เป็นความจริง แม้ว่าบางความฝันจะกินเวลายาวนานกว่าจะออกมาปรากฏอยู่ตรงหน้าให้ชื่นใจ แต่เขาก็ยังจะก้าวต่อไปด้วยเหตุผลว่า...
กว่าจะไหวทัน ความฝันก็ล้อมไว้หมดแล้ว
กว่าจะรู้ตัวว่าเรื่องที่คิดไว้นั้นช่างยากเย็นที่จะทำให้เป็นจริง ภาพฝันความสำเร็จก็ก่อขึ้นมาในความคิดจนยากจะถอนตัวแล้ว
ถ้าเราคือหนึ่งในผู้ที่ถูกความฝันห้อมล้อม และพร้อมฝ่าฟัน ขอให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมนำวิธีแปลงฝันของ ศุ บุญเลี้ยง ไปเป็นตะเกียงนำทาง
ยังฝันดีกันอยู่ไหม?
เป็นคำถามที่พี่จุ้ยมักถามคนรู้จักที่เคยมาเล่าความฝันให้เขาฟัง หากคำตอบนั้นยังคงเป็นฝันดี และยืนยันว่าพร้อมที่จะทำตามฝันนั้นต่อ แม้จุ้ยจะบอกเล่าอุปสรรคของความฝันนั้นเพื่อพิสูจน์ใจคนช่างฝันไปแล้วก็ตาม เขาก็จะให้กำลังใจพร้อมแนวทางสานฝัน 4 ข้อ “ลอกเลียน สะสม ศึกษา สร้างสรรค์” ที่เขาใช้มาถึงทุกวันนี้
ลอกเลียน
พี่จุ้ยยิ้มรับว่างานของเขามาจากการลอกเลียน ครั้งนึงเขาเคยกลับไปอ่านงานยุคแรกๆ ที่เขียนแล้วพบว่าสำนวนเหมือนงานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร พี่จุ้ยบอกว่าไม่ได้เกิดจากการซึมซับอย่างเดียว แต่การเขียนในตอนนั้นเป็นการเลียนแบบ ก่อนที่เขาจะเริ่มงานเขียนแบบของตัวเองในเวลาต่อมา
“การลอกเลียนเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่งานเขียน ทุกอย่างเกิดจากการลอกเลียน หรือการเรียนรู้จากคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีใครหรอกที่อยู่ดีๆ เก่งขึ้นมาเอง คิดอะไรขึ้นมาได้เอง แต่เกิดจากประสบการณ์ การเรียนรู้ ลองทำตาม แล้วค่อยเอามาปรับใช้”
การลอกเลียนคือเอาสิ่งที่คนอื่นเขาทำแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว ถูกย่อยแล้ว มาเรียนรู้ เพราะสิ่งเหล่านั้นผ่านการทดสอบมาแล้วว่าดีจริง หลังจากนี้เราจะต้องเข้าสู่การทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง นี่เองคือก้าวแรกของการสานฝันให้เป็นจริง
สะสม
ถ้าลองยกตัวอย่างความฝันสักหนึ่งฝัน อย่างการเป็นนักเขียน พี่จุ้ยซึ่งอยู่ในวงการเขียนมานาน เป็นครูที่สร้างศิษย์ในค่ายนักเขียนมามาก มักถามนักอยากเขียนว่า ชอบอ่านหนังสืออะไร ลองเขียนหรือยัง แต่หลายคนกลับตอบไม่ได้ มีเพียงความรู้สึกอยากเขียนเพราะมั่นใจว่ามีความคิดดีๆ ที่รอกลั่นมาเป็นตัวหนังสือ นักอยากเขียนเหล่านั้นคงพอรู้ว่าขั้นตอนการนำความคิดออกมาเขียนเป็นเรื่องยาก ส่วนวิธีที่จะทำให้ความยากนั้นง่ายลงได้นั้น จะต้องรู้จักการสะสม
พี่จุ๋ยเล่าเพิ่มเติมว่าสมัยที่เขาหัดเขียนหนังสือใหม่ๆ เขาจะถามตัวเองก่อนว่าอยากเขียนงานประเภทไหน ถ้าคำตอบคือเรื่องสั้น เขาจะหาซื้อนิตยสารเก่าๆ เลือกเอาเฉพาะหน้าที่มีเรื่องสั้น แล้วนำมาเย็บรวมกันเป็นเล่ม จากนั้นก็อ่าน อ่าน และอ่าน เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องสั้นมีเทคนิคการเขียนอย่างไร สำนวนภาษาที่เขาใช้กันเป็นแบบไหน เป็นวิธีการสะสมสิ่งที่มืออาชีพทำไว้ คลังความคิดก็จะมากพอที่จะมาใช้กับงานของตัวเอง
ถ้าฝันอยากเป็นอะไร ให้คลุกวงในอยู่ในสิ่งนั้น นั่นจะทำให้เราเริ่มมีความคุ้นเคย และค่อยๆ มีวัตถุดิบสร้างฝันมากขึ้น
ศึกษา
เมื่อเริ่มลอกเลียนเพื่อเรียนรู้ สะสมผลงานของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งต่อไปที่จะทำคือการ “ศึกษา” หรือการมองสิ่งที่จะทำในเชิงลึกขึ้น มีการวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เรารอบรู้และเลือกใช้เพื่อจะนำมาสร้างสรรค์งานตัวเองต่อไป
พี่จุ้ยสมมติว่าถ้าเราอยากทำเรื่องหนึ่งขึ้นมา เช่น อยากเขียนเรื่องของ สุวรรณี สุคนธา เรื่องของเขาก็จะมีหลายมุม เราก็ต้องไปอ่านงานเกี่ยวกับสุวรรณีที่หลายๆ คนเขียน ว่าเขาเขียนด้านไหน มีข้อมูลอะไรบ้าง ประเด็นไหนที่น่าสนใจ ประเด็นไหนที่ยังขาด เพื่อเอามาพัฒนางานของเรา
นอกจากการศึกษาด้วยตัวเองแล้ว แต่หลายคนยังไปไม่ถึงฝันสักที ทั้งที่ใจมีความมุ่งมั่นที่จะทำ และเริ่มลงมือทำไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ พี่จุ้ยเฉลยว่านั่นเป็นเพราะเขายัง “ขาดทักษะและไม่มีความตั้งใจจริง" เขาเล่าถึงตอนที่เป็นวิทยากรค่าย TK Band ค่ายเยาวชนคนรักดนตรีของอุทยานการเรียนรู้ TK park ว่ามีเด็กมาสมัครมาก เขารับเด็กทั้งหมดมาแล้วให้การบ้านไปเรื่อยๆ จำนวนเด็กจะค่อยๆ ลดลงไปเองจนเหลือแต่คนที่มีความมุ่งมั่นจริงๆ
“ฝันได้แต่ไม่มีทักษะก็จบ อยากเปิดร้านกาแฟ แต่ยังไม่เคยรู้ว่ากาแฟมีกี่แบบ ชงแบบไหน ไม่เคยได้ลงมือทำอะไรมาก่อนเลย อยากเล่นดนตรีแต่ไม่เคยฝึกฝน โอกาสที่จะล้มเหลวมันก็มีสูง ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็ต้องเพิ่มทักษะให้ตัวเอง แล้วอย่างลืมมุ่งมั่นว่าจะทำมันจริงๆ เพราะทำได้ไม่ได้ไม่ใช่เพราะสังคมคัดสรร แต่เพราะคนคนนั้นคัดสรรตัวเอง”
สร้างสรรค์
การสร้างสรรค์ หรือการลงมือทำอย่างจริงจัง เป็นก้าวสำคัญที่จะสานฝันให้เป็นจริง
แน่นอนว่าการสร้างสรรค์เกิดที่ตัวเรา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่ทันคิดคือ ไม่มีใครเป็นพหูสูตที่เก่งไปทุกอย่าง เพราะฉะนั้นในการลงมือทำตามความฝัน ระหว่างทางจะต้องหาคนเก่งในเรื่องที่เราไม่ถนัดมาคอยช่วยเหลือ เพราะเราไม่มีเวลามากพอที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง หรือถนัดในทุกสิ่ง
นอกจากรู้จักคนเก่งแล้ว พี่จุ้ยได้บอกเคล็ดลับง่ายๆ ในการสร้างสรรค์งาน นั่นคือหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธศาสนา คือ ฉันทะ เลือกทำในสิ่งที่ชอบ วิริยะ มีความเพียรพยายาม จิตตะ มีใจจดจ่อมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ วิมังสา ไตร่ตรองทบทวนงานของตัวเอง สิ่งที่ทำได้ยากที่สุดแต่มีประโยชน์ต่อการทำฝันให้เป็นจริงอย่างมาก คือ วิมังสา เพราะการทบทวนงานของตัวเองนั้น ไม่ใช่แค่ตัวเราอย่างเดียวที่ต้องกลับมาไตร่ตรอง แต่รวมไปถึงการรับคำวิจารณ์ของคนอื่นด้วย
“เป็นเรื่องปกติที่เราคิดว่างานเราน่ะดีที่สุด งานเจ๋ง แต่พอเอางานให้คนอื่นวิจารณ์ มันแน่นอนว่าจะต้องมีอะไรที่ต้องกลับมาแก้ไข งานผมทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องให้แก้ อย่างปกหนังสือเล่มล่าสุดก็ถูกติว่าไม่สวย หรือเพลงที่แต่งมาก็ยังไม่สนุก ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันดีแล้วนะ”
พี่จุ้ยหมายถึงหนังสือ “ความฝันของหญิงสาวที่นั่งหาวอยู่ริมหน้าต่าง” และเพลง “บุญบั้งไฟ” ผลงานล่าสุดของเขา ที่เขาคิดว่านี่คืองานที่ดีที่สุดแล้ว แต่เมื่อมาถึงกระบวนการทบทวน ก็ยังพบที่ติอยู่ดี เขารู้ว่าไม่มีใครชอบถูกติ และก็รู้ว่าสิ่งที่ตินั่นแหละจะทำให้งานของเขาดีขึ้น แม้จะรู้สึกแย่ที่ถูกติก็ตาม
“การถูกทบทวนเหมือนการออกกำลังกายน่ะแหละ ตอนแรกๆ จะเมื่อยแต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะแข็งแรง ...ใจก็เหมือนกัน”
“ยังฝันดีกันอยู่ไหม?”
มาถึงตอนนี้ถ้าคำตอบยังคง “ใช่” จงก้าวต่อไปพร้อมรับของฝากจากใจ ศุ บุญเลี้ยง เป็นข้อความสั้นๆ ว่า
“ถ้าก้าวเดินแล้วไม่ถึงดวงจันทร์อย่างน้อยก็ยังอยู่ในมวลหมู่ดาว”
พี่ตองก้า