อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดตัว “ชุดสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้รูปแบบใหม่” ในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็กพร้อมผลักดัน “TK park ยะลาเป็นแม่ข่าย” เพื่อขยายความร่วมมือสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้านโดย ‘TK park ยะลา’ จะเป็นพี่เลี้ยงในการขยายผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มีชีวิตและเป็นแหล่งกระจายสื่อที่ทันสมัยในพื้นที่ภาคใต้
เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับเทศบาลนครยะลา และ TK park ยะลา จัดงานแถลงข่าวและเปิดตัวชุดสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้ ภายใต้ชื่องาน “เวาะรือเต๊าะ...ลูกยางจอมซน” สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้รูปแบบใหม่ โดยได้เปิดตัวสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็ก เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย รวมทั้งให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับความรู้และมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยนำเรื่องราวของภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นซึ่งคนในท้องถิ่นเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันจนชินตา ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็กจำนวน 7 เล่ม พร้อมสอดแทรกเรื่องราวของคุณธรรมจริยธรรมลงไปในหนังสือด้วย
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) กล่าวว่า สื่อการเรียนสาระท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้จัดทำขึ้นครั้งนี้ ทาง สอร.ได้ร่วมกับนักวิชาการและนักเขียนสร้างสรรค์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากนายกเทศมนตรีนครยะลา เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปในภาคใต้ ได้รับความรู้และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและท้องถิ่นตน รวมทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
“สื่อชุดนี้เป็นสื่อท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบันและทันสมัยมากขึ้น แม้ภาพรวมอาจจะดูเหมือนหนังสือเด็กทั่วไป แต่มีความแตกต่างในส่วนของของวัฒนธรรมบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือชุดนี้ เช่น ของกิน ของเล่น หรือเรื่องราวภูมิปัญญาสาระท้องถิ่นใกล้ตัว และการดำเนินชีวิต สอร.จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือชุดนี้ จะเป็นสื่อการเรียนรู้อีกชุดหนึ่งที่จะส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงเป็นหนังสือที่ผู้อ่าน อ่านอย่างมีความสุข สนุกในการอ่าน และก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่นตนเองได้อย่างแท้จริง”
ผอ.สอร.กล่าวอีกว่า “หลังจาก สอร.ได้มอบชุดสื่อสาระท้องถิ่นให้กับทางเทศบาลนครยะลาแล้ว ต่อไปบทบาทของ TK park ยะลา นอกจากเป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกของภูมิภาคแล้ว จะเป็น “แม่ข่าย หรือ Hub ภาคใต้” เพื่อขยายผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มีชีวิต การถ่ายทอดกระบวนการในการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต องค์ความรู้ และกระจายสื่อที่ทันสมัย รวมถึงการขยายผลความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะถึงในปี 2558”