ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องก้าวให้ทันนวัตกรรมการเรียนรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดนิทรรศการ นวัตกรรมเทคโนโลยีการเรียนรู้เพื่อคนพิการ และแท็บเล็ต ป.1 ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 13 และ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2555 เวลา 11.00-17.00 น. บริเวณลานสานฝัน ภายในงานประกอบไปด้วยนิทรรศการแห่งการเรียนรู้ที่นำทุกคนเข้าไปรู้จักกับโลกแห่งเทคโนโลยี รวมไปถึงกิจกรรมสำหรับคนพิการผ่านกิจกรรมเรียงร้อยเรื่องราวกับหนังสือเสียงจาก TK App เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ได้มากขึ้น
ให้ความรู้เรื่องราวกับหนังสือเสียงจาก TK App
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้วยังมีการเสวนาดีๆ ที่เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี ว่าด้วยเรื่อง “แท็บเล็ต ป.1 มีชีวิต” ดำเนินการเสวนาโดย คุณพรชัย จันทรศุภแสง บรรณาธิการจากนิตยสาร Computer.Today และ คุณต่าย - ศรีสุดา วินิจสุวรรณ นักข่าวช่องโมเดิร์นไนน์และผู้จัดรายการสาวคนเก่งในวงการ IT
เสวนาเรื่อง แท๊บเล็ต ป.1 มีชีวิต
เมื่อโลกเปลี่ยนไป ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง เราคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เรียนรู้เทคโนโลยี และในขณะเดียวกันการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กก็เป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังให้การสนับสนุน อย่างประเทศไทยเอง รัฐบาลก็มีนโยบายแจกแท็บเลตให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้เทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาขึ้นในสังคมไทย
คุณพรชัยจึงเริ่มประเด็นแรกด้วยเรื่องที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้เราไม่เขียนหนังสือในแผ่นกระดาษกันแล้ว แต่กลับเขียนในคอมพิวเตอร์แทน ซึ่งคุณต่ายเห็นด้วยพร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “เดี๋ยวนี้เวลาเขียนอะไร ต้องเอามือวางบนคีย์บอร์ด แต่ถ้าถามว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดกับเด็ก ป.1 ไหม ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ เพราะเขาเพิ่งเริ่มใช้ แต่เกิดปัญหากับตัวเองว่ากลับไปเขียนบนกระดาษไม่ได้แล้ว เขียนไม่ออก เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง และรู้ว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิด ควรช่วยกันหาวิธีป้องกันตั้งแต่ตอนนี้”
ด้านคุณพรชัยถามต่อทันทีว่า การแจกแท็บเลตกับเด็ก ป.1 จะช่วยให้เด็กไทยเก่งไอทีขึ้นหรือไม่ คุณต่ายแสดงความคิดเห็นว่า “โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะผู้ผลิตเขาพยายามผลิตอุปกรณ์ที่ทำให้คนที่ไม่เป็นไอทีก็ใช้ได้ แต่ถ้าถามว่าทำให้เด็กไทยสนใจเรื่องไอทีเพิ่มขึ้นไหมอันนั้นเป็นไปได้”
คุณต่าย - ศรีสุดา วินิจสุวรรณ นักข่าวช่องโมเดิร์นไนน์
ทั้งนี้โครงการแจกแท็บเล็ตไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยเพียงประเทศเดียว โดยคุณต่ายชี้แจงว่าประเทศอื่นๆ อย่างประเทศเกาหลี ก็ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีให้กับเด็กเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พ่อแม่ หรือครูแต่ละประเทศก็ต้องมีความพร้อมเช่นเดียวกันด้วย
กระแสการพยายามก้าวให้ทันเทคโนโลยีทำให้หลายครอบครัวมีการซื้อหาแท็บเลตให้กับลูกบ้าง ซึ่งคุณพรชัยแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นการเลือกซื้อแท็บเล็ตให้ลูกๆ หลานๆ ว่า “ควรศึกษาข้อมูลแต่ละรุ่นให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช้ของแพงถึงดี เราควรเลือกที่ถูกจริตกับตัวเอง วิธีการง่ายๆ คือต้องรู้ก่อนว่าซื้อไปเพื่ออะไร และดูงบประมาณของตัวเองด้วย”
ผู้ดำเนินรายการให้รายละเอียดเกี่ยวกับแท็บเล็ต
คุณพรชัยปิดการเสวนาด้วยการให้คุณต่ายฝากทิ้งท้ายให้กับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานได้รับแท็บเล็ต ซึ่งคุณต่ายกล่าวว่า “จริงๆ แล้วคุณลูกไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่เชื่อฟังผู้ปกครอง ส่วนคุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับแท็บเล็ตด้วย หรือร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกๆ ว่าควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เพราะผู้ใหญ่เป็นวัยที่เรียนรู้ได้เร็วกว่า แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกๆ อยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลาโดยไม่ดูแล ตรงนี้อาจเกิดปัญหาได้”
จากการเสวนาหัวข้อ “แท็บเล็ต ป.1 มีชีวิต” เทคโนโลยีนั้นคล้ายกับดาบสองคมสำหรับเด็กและทุกๆ คน มีทั้งประโยชน์ ความรู้ และในขณะเดียวกันหากเราใช้สิ่งเหล่านี้อย่างขาดสติ ไม่มีวิจารณญาณ หรือขาดคำแนะนำดูแลที่ดี ก็กลายเป็นผลร้ายได้เช่นกัน
ศศิกานต์ เอื้อวิทยาวุฒิกุล