10 เรื่องเมืองในฝัน ชวนเปลี่ยนเมืองด้วยกันไม่ยากเกิน
11 กันยายน 2565
1,785
เมืองในฝันที่เรารู้จักกันหลายเมืองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่ดูเป็นนามธรรมอย่างคุณธรรม ระเบียบวินัย หรือจิตสำนึก แต่เกิดขึ้นเพราะการร่วมกันออกแบบเมืองให้คนในสังคมได้มีพื้นที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามร่วมกันต่างหาก แต่ทำอย่างไรเราถึงจะเปลี่ยนเมืองของเราได้บ้าง วันนี้ TK Park ได้รวบรวมลิสต์หนังสือเกี่ยวกับเมืองน่าอยู่มาให้ลองติดตามกัน จะมีเล่มไหนบ้างไปดูกันเลย
1. สถาปัตยกรรม: ความรู้ฉบับพกพา (Architecture : A Very Short Introduction)
ผู้เขียน : Andrew Ballantyne ผู้แปล : อนุสรณ์ ติปยานนท์
หนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์อย่างอาคารบ้านเรือนนั้น บางครั้งถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อปกป้องให้เราสุขสบาย ไม่ต้องทนตากแดดหรือตัวสั่นเพราะความหนาวเย็น แต่สำหรับบางอาคาร เรากลับรู้สึกถึงความหมายอะไรบางอย่างเมื่อได้สัมผัส ในโบสถ์แบบโกธิกซึ่งโอ่โถงกว้างใหญ่ มองขึ้นไปเห็นหลังคาสูงเสียดฟ้า บนเพดานประดับประดาด้วยกระจกสีสะท้อนภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์ ราวกับว่าเมื่อเข้ามาในที่แห่งนี้เราจะสัมผัสถึงพระเจ้าได้ ขณะที่แสงระยิบระยับแวววาวที่สะท้อนจากไทเทเนียมซึ่งหุ้มอยู่รอบพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แห่งเมืองบิลเบา รูปทรงอาคารที่ผสมผสานกันระหว่างรูปร่างของเรือ โรงงานอุตสาหกรรม และประภาคาร ทำให้เรารู้สึกถึงการเดินทางไปสู่อนาคตของเมือง สถาปัตยกรรมจึงมิได้เป็นเพียงการประกอบกันของโครงเหล็กและก้อนหิน หากแต่สะท้อนเรื่องราวทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติให้เห็นเป็นรูปธรรม
“สถาปัตยกรรม : ความรู้ฉบับพกพา” นับเป็นหมุดหมายแรกที่สำคัญหากจะเริ่มต้นของการค้นหาความหมายของคำว่า “สถาปัตยกรรม” โดยผู้เขียน แอนดรูว์ บัลแลนไทน์ ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล จะพาเราเดินทางย้อนอดีตกลับไปนับตั้งแต่แรกเริ่มอารยธรรมมนุษย์ การก่อกำเนิดและการพัฒนาของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ก้อนหินแต่ละก้อน การวางตำแหน่งของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดล้วนมีความหมายชวนให้ตีความและเปิดมุมมองทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยรับรู้มา
2. รู รัง เรือน
ผู้เขียน : ยรรยง บุญหลง
มนุษย์ใช้พื้นที่มากแค่ไหนในการดำรงชีวิต? บางครั้งอาจต้องการแค่ “รู” สำหรับซุกหัวนอนให้ผ่านพ้นหนึ่งคืนไป แต่หากสถานที่นั้นมีความถาวรมากขึ้น ก็คงเป็นเหมือน “รัง” แบบเดียวกับที่นกน้อยหวนคืนมาพักผ่อนเมื่อตะวันลับฟ้า ต่อเมื่อมนุษย์ต้องการสร้างอารยธรรม พวกเขาจึงเลือกปักหลักสร้าง “เรือน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่อะไรจะตัดสินว่าสถานที่ที่มนุษย์อยู่นั้นคือรู รัง หรือเรือน ในเมื่อความหมายของที่อยู่อาศัยในนิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รถตู้คันโปรดของสตีฟ จ๊อบส์ ซึ่งเคยใช้ซุกหัวนอนและเดินทางในยุคบุปผาชนช่วงทศวรรษ 1960 สำหรับเขาแล้วอาจเป็นเรือนที่สำคัญยิ่งกว่าคฤหาสน์หลังโตในช่วงบั้นปลายชีวิต ย่านซิลิคอนวัลเลย์ซึ่งควรจะเป็น “รัง” เล็ก ๆ เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศสหรัฐอเมริกา กลับกลายเป็น “เรือน” ที่สร้างนักคิดนักประดิษฐ์นวัตกรรมระดับโลกอย่าง Hotmail Youtube หรือ eBay ซึ่งเป็นก้าวใหม่ของอารยธรรมขึ้นมาได้
“รู รัง เรือน” คือหนังสือรวมบทความว่าด้วยสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์จากปลายปากกาของ “ยรรยง บุญ-หลง” สถาปนิกและสมาชิกของสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ที่ชี้ชวนให้เห็นว่าบ้าน ตึก แฟลต รถตู้ หรือแม้แต่เรือค้าทาสที่มนุษย์พยายามออกแบบเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นมีภูมิหลังและแนวคิดอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อความคิดของผู้คนในยุคนั้น การ “คิดนอกกรอบ” “ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพ” หรือ “ยอมจำนนต่อชะตากรรม” จึงไม่ใช่ความคิดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา แต่พฤติกรรมของมนุษย์นั้นถูกหล่อหลอมและปรับเปลี่ยนจากสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวมาทุกยุคทุกสมัย
3. CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น
ผู้เขียน : สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
เคยบ้างไหมกับการถอนหายใจในการใช้ชีวิตใน “เมือง” ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นไฟแดงบนห้าแยกที่สว่างยาวจนแทบหลับ ทางเท้าที่ถูกมอเตอร์ไซค์และแม่ค้าหาบเร่จับจองจนแทบไม่มีที่ขยับตัว อากาศบริสุทธิ์จากต้นไม้สีเขียวก็เหลือน้อยจนต้องดั้นด้นไปแย่งสูดอากาศกับคนอีกนับล้านที่สวนสาธารณะยามเย็น ทำไมเมืองที่ควรจะเป็นบ้านหลังใหญ่ให้เราได้ผ่อนคลายอย่างมีความสุข กลับสร้างแต่เสียงถอนหายใจและใบหน้าบูดบึ้งทั้งจากเราและผู้อยู่ร่วมเมืองได้มากขนาดนั้น
“CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น” คือหนังสือรวมบทความสั้น ๆ กว่า 30 บทความของสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “พี่อ้อย” ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ที่จะพาเรากลับไปทบทวนสถานะความเป็น “เมือง” ที่เราอาศัยอยู่ ความจริงบางข้อที่ “คนในเมือง” อาจมองข้ามไป เช่น กรุงเทพฯ คือเมืองที่กลืนกินทรัพยากรอย่างมหาศาล เฉพาะในเมืองนั้นใช้น้ำประปาถึง 54% ไฟฟ้าใช้ 30% ของทั้งประเทศ รวมทั้งทรัพยากรอื่น ๆ และงบประมาณแผ่นดินมหาศาลที่เทมาสู่เมือง บางครั้งเมื่อเกิดความขัดแย้งกับต่างจังหวัด คนเมืองจึงอาจไม่เข้าใจ หรือในบางบทผู้เขียนก็ได้นำเสนอตัวอย่างของเมืองอื่นที่ทำให้เรากล้าที่จะฝันว่าเมืองของเราจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นแบบนั้นได้ เช่น โครงการบทกวีบนรถไฟใต้ดินที่ลอนดอน ซึ่งคัดสรรมาทั้งบทกวีคลาสสิกและร่วมสมัย ทำให้คนทั่วไปได้ฟังบทกวีที่ไพเราะแทนที่จะทนนั่งฟังโฆษณาแสนหนวกหูไปตลอดการเดินทาง แม้เมื่ออ่านจบ เงยหน้าขึ้นจากหนังสือมาพบใบหน้าของเมืองแบบเดิม ยังไม่พบเมืองในฝันสมกับชื่อหนังสือที่ว่า “เมืองที่มองไม่เห็น” แต่อย่างน้อยเราก็คงพอมองเห็นหนทางว่าจะช่วยกันสร้างเมืองในฝันที่จะค่อย ๆ มองเห็นด้วยกันได้อย่างไร
4. LIVABLE JAPAN ใส่ใจไว้ในเมือง
ผู้เขียน : ปริพนธ์ นำพบสันติ
“ญี่ปุ่น” นับเป็นช้อยส์อันดับต้น ๆ ของหลายต่อหลายคนเมื่อพูดถึงคำว่า “เมืองในฝัน” ทั้งอาหารอร่อย ของฝากสุดคิ้วต์ ผู้คนมีระเบียบวินัย ทั้งที่มีประชากรจำนวนมากเมื่อเทียบกับขนาดของพื้นที่ แต่ทำไมทุกครั้งที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเราจึงรู้สึกว่าสะดวกสบายทั้งการเดินทางและที่อยู่อาศัย บางคนอาจจะกล่าวว่าเพราะคนญี่ปุ่นมีจิตสำนึกที่ดีเป็นพื้นฐาน แต่ผู้เขียนอย่างปริพนธ์ นำพบสันติ จะพาเราไปค้นพบว่า ไม่ว่าจะเป็น “จิตสำนึก” หรือ “ระเบียบวินัย” ที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนเมืองญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิตวิญญาณหรือวิถีซามูไรแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นเพราะกลไกการออกแบบเมืองที่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักต่างหาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นการต่อแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านค้าหรือในสถานีรถไฟฟ้า หากเราก้มหน้ามองพื้นก็จะเห็น “เส้น” หรือ “จุด” ที่ขีดคั่นแนะทางให้คนต่อแถวอย่างถูกต้อง ฟังดูเป็นวิธีการเรียบง่ายแต่กลับได้ผลมานานนับทศวรรษ ดังนั้นทุกที่ในญี่ปุ่นจึงมักมีเส้นนำทางให้คนได้เดินตามอย่างเป็นระเบียบวินัยเสมอ หรือบางเรื่องก็อาจต้องใช้ยาแรง เช่นกฎหมายบังคับให้ผู้ที่มีรถจะต้องมีที่จอดเสมอ ทำให้ไม่มีปัญหาการจอดรถเกะกะฟุตบาธ หรือการออกแบบเมืองแบบ “ซูเปอร์บล็อก” ที่ถนนทุกสายเชื่อมต่อกันด้วยตรอกซอกซอยจนแทบไม่มีซอยตัน เมื่อจะเดินเท้าหรือเดินทางไปด้วยพาหนะใดก็ไม่ต้องไปกระจุกอยู่ที่ถนนสายเดียวเหมือนในหลายประเทศ
เมื่อเข้าใจที่มาที่ไปของ “ระเบียบวินัย” ของเมืองในญี่ปุ่น เราก็คงเริ่มมองเห็นแล้วว่าปัญหาร้อยแปดประการที่ชวนให้หดหู่ของคนเมืองบางครั้งอาจไม่ใช่เพราะการขาดจิตสำนึก แต่เพราะเมืองที่เราอยู่ไม่ได้ออกแบบให้เอื้อต่อการมีจิตสำนึกต่างหาก คงไม่สายเกินไปหากเราจะกลับมาช่วยกันออกแบบเมืองให้เหมาะแก่การที่พวกเราจะ “เอื้อเฟื้อ” ต่อกันได้อย่างแท้จริงเสียที ดังที่ผู้เขียนโปรยไว้ที่ปกในว่า “ระเบียบวินัยเริ่มต้นได้จากการออกแบบ”
5. THE OTHER CITIES เมืองน่าอยู่ที่รู้สึก
ผู้เขียน : Little Thoughts
เมื่อพูดถึงคำว่า “เมือง” จินตนาการของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนนึกถึงตึกใหญ่สวยงาม มีร้านค้ามากมาย ผู้คนเดินขวักไขว่ บางคนอาจรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออกจากมลพิษ รถยนต์มหาศาลติดกันเป็นตังเมในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ไม่ว่าจะชอบหรือชัง เมืองทุกเมืองก็มีแง่งามให้เราได้ค้นพบเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านสายตาของ “Little Thoughts” หรือคุณก้อย-กิรญา เล็กสมบูรณ์ นักเขียนเจ้าของผลงานอย่าง Cool Japan เยอรมันซันเดย์ Dutchland แดนมหัศจรรย์ ที่ไม่ว่าจะเมืองไหนก็หยิบแง่มุมของแต่ละเมืองมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับ “เมืองน่าอยู่ที่รู้สึก” เล่มนี้ที่หยิบเอาเมืองในฝันที่เอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วแทบทุกคนต้องร้องว้าวอย่างเซี่ยงไฮ้ อาโอโมริ โยโกฮามา สิงคโปร์ เวียนนา ฯลฯ มาเล่าในแง่มุมด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ และวัฒนธรรมได้อย่างกลมกล่อม
นอกจากจะกล่าวถึงแง่งามของเมืองในฝันทั้งหลาย ยังมีบางเมืองที่เป็นกรณีศึกษาและแรงบันดาลใจให้คนเมืองได้ลองหาจุดเด่นเพื่อพลิกฟื้นเมืองของตนให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง เช่น บทที่ว่าด้วยเมืองบรูจ (Bruges) เมืองเล็ก ๆ ที่เคยผ่านความยากลำบากจากภาวะสงคราม จึงมีแนวคิดในการชูจุดเด่นของผ้าปักลายลูกไม้และศิลปะโกธิคแบบยุโรปตอนเหนือที่รักษาไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ปัจจุบันบรูจกลายเป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักและได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองมรดกโลก หรืออย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ที่เคยประสบปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 อย่างหนักหน่วง แต่ด้วยการออกนโยบายพลิกเมืองเพียงไม่กี่ปีก็สามารถขจัดปัญหาไปได้หมดสิ้น การจะเป็นเมืองในฝันจึงไม่ใช่แค่การฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่ต้องลงมือทำตามฝันด้วยวิสัยทัศน์ที่จับต้องได้ ดังคำที่โปรยไว้ที่ปกในว่า เมืองไม่ได้วัดกันด้วยความกว้างและความยาวของพื้นที่ แต่วัดด้วยความกว้างของวิสัยทัศน์และส่วนสูงของความฝันใฝ่
ผู้เขียน : ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
อิมเมจง่ายๆ ของ “ความเป็นไทย” ในอาคารบ้านเรือน หรือสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทย บางคนอาจนึกถึงบ้านริมน้ำ บ้านทรงไทย การห่มสไบพายเรือ ฯลฯ แต่ในสายตาของ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ ผู้เป็นสถาปนิกหรือ “อาคิเต็ก” ที่จะพาเราไปเที่ยว “เจอ” และชี้ชวนให้เห็น “สถาปัตยกรรมแบบไทย ๆ” ที่ซุกซ่อนอยู่ในสารพัดสิ่งของคุ้นตารอบตัวไม่ว่าจะเป็นซุ้มพักผ่อนสุดเจ๋งของพี่วินมอเตอร์ไซค์ ความกิ๊บเก๋ของศาลพระภูมิในที่ต่าง ๆ การมีอยู่ของกระถางต้นไม้ตึกแถว เหล็กดัด รถกับข้าว เรือโดยสารคลองแสนแสบที่ผู้เขียนเรียกว่า “เรือคลองแสนแซบ” และยกย่องให้เป็นงานดีไซน์ที่พัฒนาได้ในระดับ A-List เลยทีเดียว หรือแม้แต่วัฒนธรรม “ฟรีพาร์คกิ้ง” การจอดรถขวางหน้าบ้านที่ทำกันจนเป็นปกติวิสัยของคนไทย แนวคิดแบบไหนที่ซุกซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตเช่นนี้ ทำไมเราจึงยอมรับเรื่องราวเหล่านี้กันจนเป็นปกติ
ผู้เขียนกล่าวว่า เนื้อหาในเล่มคือสิ่งที่เรียกกันในทางวิชาการว่า “ความเป็นอยู่พื้นถิ่นที่เกิดขึ้นในเมือง” (Urban vernacular) นั่นคือการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกันในเมือง ทุกอย่างที่ดูเหมือนไม่เมคเซนส์กลับมีเหตุผลในแบบของมันเสมอ เช่น การวางกระถางหน้าบ้านที่มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเมือง การยกกันสาดบังหน้าบ้านอยู่เสมอเพราะสภาพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเกินจะคาดเดาได้ เป็นต้น อ่านเล่มนี้จบแล้วลองหันกลับมามองเมืองในมุมใหม่ มองสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมืองใหญ่ที่มีทั้งแง่งามและปัญหา เพี่อที่ว่าเราจะแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงแนวคิดของ “สถาปัตยกรรมแบบไทย ๆ” เหล่านี้ได้ในอนาคต
7. เราต่างเป็นนักออกแบบ : การออกแบบนวัตกรรมสังคม (Design Thinking, Design Theory)
ผู้เขียน : Ezio Manzini ผู้แปล : เจริญเกียรติ ธนสุขถาวร
คำว่า “นักออกแบบ” ฟังดูเหมือนเป็นอาชีพเฉพาะทางที่ไกลตัวเรา แต่ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนเป็นนักออกแบบมาตั้งแต่โบราณนับแต่การสร้างเครื่องมือชิ้นแรกเมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน ความหมายของการออกแบบไม่ได้จำกัดอยู่ที่สิ่งของหรือสิ่งก่อสร้างเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการหาวิธีการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอีกด้วย ปัจจุบันคำว่า “นักออกแบบสังคม” จึงเป็นคำที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสังคมเมืองทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษของเมือง และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเมือง
เราต่างเป็นนักออกแบบ : การออกแบบนวัตกรรมสังคม ผลงานของศาสตราจารย์ ดร.เอซิโอ มานซินี่ อาจารย์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมผู้ผันตัวมาทำงานด้านการออกแบบสังคมจะพาผู้อ่านย้อนไปถึงความหมายของการออกแบบที่มีมาตั้งแต่โบราณ โครงสร้างทางสังคมที่กำลังสร้างปัญหาให้แก่มวลมนุษยชาติ นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เชื่อมโยงมาถึงคำว่า “การออกแบบนวัตกรรมสังคม” ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะประสานการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากประเทศต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นเป็นกรณีศึกษาอีกด้วย
ชื่อหนังสือ “เราต่างเป็นนักออกแบบ” ไม่ใช่การขายฝันเลื่อนลอย แต่คือการเน้นย้ำความสำคัญของตัวเราและทุกคนในสังคมที่จะสร้างเมืองที่น่าอยู่ร่วมกัน เพราะการออกแบบสังคมไม่ได้เกิดจากคำสั่งของผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว แต่คือการร่วมมือกันของคนในสังคมผ่านกลไกต่าง ๆ ในการออกแบบสังคมที่นำเสนอในเล่ม ภายใต้คำถามที่ว่า เราอยากจะอยู่ร่วมกันในสังคมแบบใด
ผู้เขียน : Charles Montgomery ผู้แปล : พินดา พิสิฐบุตร
คำว่า “Happy City” หรือเมืองแห่งความสุข ฟังดูเป็นสิ่งที่คนเมืองทุกคนฝันถึง เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต คำว่าเมืองแห่งความสุขมีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มีนักปรัชญากรีกเสนอแนวคิดเรื่องเมืองในอุดมคติต่อสาธารณชน เช่นงานเขียนเรื่อง ‘อุตมรัฐ’ (The Republic) ของเพลโต (Plato) เมื่อ 375 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งกล่าวถึงต้นแบบของรัฐในอุดมคติที่ปกครองด้วยรัฐบาลผู้ทรงปัญญาและชอบธรรม หรือเมืองในยุโรปยุคกลาง มีการสร้างโบสถ์เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน และใช้ความเชื่อทางศาสนาสร้างความหมายที่เชื่อมโยงเมืองเข้ากับสวรรค์ จนกระทั่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนและรูปแบบของเมืองไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับ เมืองกลายเป็นพื้นที่แออัดหนาแน่น กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาสมัยใหม่มากมาย เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ โรคระบาด ดูเหมือนว่ายิ่งมนุษย์พัฒนาขึ้น คำว่าเมืองแห่งความสุขยิ่งห่างไกลไปทุกที
หนังสือเล่มนี้ของชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี (Charles Montgomery) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาเมืองชาวแคนาดา จะชี้ให้เห็นปัญหาของ “เมืองแบบกระจายตัว” ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกา และในเมืองสมัยใหม่ทั่วโลกที่มีรูปแบบการใช้พลังงานและเวลาอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของผู้อยู่อาศัยและมลพิษเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล นอกจากนี้ ยิ่งเมืองกระจายตัวมากเท่าใด ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนก็ยิ่งลดหายไปมากเท่านั้น
นอกจากกล่าวถึงปัญหาแล้ว ผู้เขียนก็ได้นำเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้าง “เมืองแห่งความสุข” ให้เกิดขึ้น เช่น การสร้างพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมการเดินทางที่สะดวก รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยมีตัวอย่างโครงการระดับเมืองขนาดใหญ่มากมาย เช่นในประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เกาหลีใต้ แถมด้วยโครงการเล็ก ๆ ในหลายเมืองที่เริ่มต้นจากบุคคลเพียงคนเดียวที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ลงมือทำกิจกรรมสร้าง “เมืองแห่งความสุข” ในแบบของตนจนประสบความสำเร็จโดยที่เขาไม่ได้เป็นสถาปนิกหรือนักวางผังเมืองแต่อย่างใด ชาวเมืองอย่างเราอ่านจบแล้วอาจเกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำบางสิ่งเพื่อเมืองของเราได้เช่นกัน เพราะเมืองในฝันไม่ใช่แค่ฝัน แต่ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์และช่วยกันลงมือทำให้เกิดขึ้น
9. Smart City นวัตกรรมอัจฉริยะ
ผู้เขียน : อรรถพร จงรักศักดิ์ และ นสพ.กฤดากร คเชนทร์ชัย
เมื่อพูดถึงความทันสมัยในยุคนี้คงไม่พ้นคำติดหูอย่าง A.I. Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) Metaverse ยานยนต์ไร้คนขับ แน่นอนว่าทุกคนล้วนคุ้นเคยกับบรรดาเทคโนโลยีสุดแสนทันสมัยในโลกปัจจุบัน แต่จะมีใครจินตนาการได้บ้างว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองของเรา ได้อย่างไร และเราจะก้าวตามเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไรเมื่อหลายๆ เมืองในโลกเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ Smart City เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Smart City นวัตกรรมอัจฉริยะ คือหนังสือที่จะพาเราย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Reset) ที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤต Covid-19 ที่เปิดทางให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตประจำวันเหมือนคลื่นซึนามิทางดิจิทัล (Digital Tsunami) ที่พลิกชีวิตเราอย่างไม่มีวันหวนกลับ รวมถึงความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เริ่มขยายสเกลของเทคโนโลยีในระดับที่เชื่อมผู้คนทั้งเมืองไว้ด้วยกัน ภายในเล่มเราจะพบทั้งคีย์เวิร์ดที่คุ้นตาอย่าง Computing and AI, Edge computing, Mix reality กับคำอธิบายในฐานะเทคโนโลยีเปลี่ยนเมือง หรือคำที่เราอาจไม่เคยได้ยินแต่มีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัจจุบันอย่างระบบ Quantum Computer อย่าลืมหยิบเล่มนี้เตรียมอ่านเพื่อเติมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แน่นปึ้ก เพื่อรอรับ Smart City ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานเมืองแบบใหม่ของโลกในไม่ช้า
10. The Smart Enough City: Putting Technology In Its Place To Reclaim Our Urban Future
ผู้เขียน : Ben Green
นับตั้งแต่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม มนุษย์ก็ต่างใฝ่ฝันถึงเมืองที่ตอบสนองความต้องการได้ทุกอย่าง จึงมีงานเขียนอย่าง “ยูโทเปีย” ที่กล่าวถึงเมืองที่ทำให้ทุกคนอยู่อย่างเป็นสุขมาตั้งแต่ ค.ศ. 1516 เวลาล่วงมากว่าห้าร้อยปี ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้แก้ปัญหาแทนมนุษย์ซึ่งเรียกว่า “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) จะนำพาให้ “เมือง” ก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองในอุดมคติได้มากขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์นั้นฉลาดกว่าเรา ไม่มีความลำเอียง ตัดสินทุกอย่างตามข้อมูลที่ได้รับ จนดูเหมือนว่าอัลกอริทึมและเอไอทั้งหลายจะช่วยบรรเทาความแออัด ฟื้นฟูความเท่าเทียม ป้องกันอาชญากรรม และปรับปรุงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง แต่สำหรับคนวงในของการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้อย่างเบน กรีน นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิทยาศาสตร์ผู้เคยมีประสบการณ์ในแผนกนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเมืองบอสตันกลับชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ “ดีพอ” (Enough) เสมอไปสำหรับการทำให้สมาร์ทซิตี้ใกล้เคียงกับดินแดนยูโทเปีย
บางเทคโนโลยีในภาพรวมนั้นนับว่าสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้จริง กรีนได้ยกตัวอย่าง “ทางแยกอัจฉริยะ” (intelligent intersections) ที่ปล่อยให้เอไอเป็นผู้คำนวณการควบคุมการจราจรในวันที่รถติดเป็นตังเม ซึ่งด้วยข้อมูลมหาศาลและอัลกอริทึมที่แน่นอนย่อมบริหารจัดการการจราจรได้ดีกว่าการตัดสินใจของมนุษย์ แต่ก็อย่าลืมว่าอัลกอริทึมที่เขียนอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้คำนวณปริมาณคนเดินเท้าซึ่งอาจเป็นคนไร้บ้านหรือคนที่ไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์เทคโนโลยีบอกตำแหน่ง แต่สำหรับบางเทคโนโลยีก็ยังเต็มไปด้วยข้อกังขา เช่น โครงการ LinkNYC ซึ่งเปลี่ยนตู้โทรศัพท์ให้กลายเป็นตู้ไวไฟฟรีทั่วทั้งเมือง แม้จะกล่าวว่าต้องการเชื่อมต่อคนทั้งนิวยอร์กเป็นหนึ่งเดียว แต่บริษัทที่ทำสัญญากับเมืองนั้นคือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ จะเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกเก็บไว้ในระบบจำนวนมหาศาลนั้น?
ผู้เขียนจึงเสนอว่า การมองการบริหารจัดการเมืองผ่านมุมมองของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ ภายใต้หน้ากากของคำว่า “สมาร์ท” ที่ดูฉลาดเฉลียวอาจมีความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกันซ่อนอยู่ เราจึงควรยอมรับเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพเมื่อใช้ร่วมกับข้อตกลงร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มิใช่ปล่อยให้เทคโนโลยีควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่เติม “หัวใจ” ลงไปในการอยู่ร่วมกัน
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับ 10 เล่ม 10 เรื่องเมืองน่าอยู่ เบื้องหลังของผู้คนและตึกรามบ้านช่องที่ประกอบกันเป็นเมืองในฝันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจากความฝันที่ล่องลอย แต่คือทุกมือที่ร่วมกันออกแบบและเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ดังนั้นอย่าเพิ่งถอนหายใจท้อถอยไปเสียก่อน เพราะบางทีความคิดเรียบง่ายของใครคนหนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงแนวคิดของทั้งเมืองได้ ใครอ่านเล่มไหนแล้วเกิดแรงบันดาลใจ หรือมีเล่มไหนมาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมอย่าลืมมาแชร์กันนะ เผื่อว่าสักวันเราจะมาร่วมเปลี่ยนเมืองที่เคยเป็นฝันร้ายให้กลายเป็นเมืองในฝันอย่างแท้จริง