“เธอห้ามดวงอาทิตย์
ไม่ให้ส่องแสงไม่ได้
เธอห้ามฝนบนฟ้า
ไม่ให้โปรยลงมาไม่ได้”
ประโยคข้างต้นคือเนื้อเพลงท่อนเปิดของเพลง ‘ไม่รู้สึก (Unspoken)’ จาก Tilly Birds ซึ่งเขียนโดยเติร์ด - อนุโรจน์ เกตุเลขา นักร้องนำของวง ตอนฟังเพลงนี้ครั้งแรกพวกเราชาว TK Park รู้สึกว่าทำไมเล่นคำสวยจัง มีความกวีนิดๆ ดูเจ้าบทเจ้ากลอน และเปรียบเปรยความรักได้หวานเจี๊ยบ แม้ฟังทั้งเพลงจบจะรู้สึกเศร้ามาก พาน้ำตาไหลด้วยความอัดอั้นก็ตาม รวมถึงเพลงล่าสุด ‘เพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน’ ที่ครองชาร์ตเพลงอยู่ในขณะนี้ก็มีประโยคสนุกๆ ชวนจั๊กกะจี้อย่าง “ถ้าฉันเล่นเกินเส้นไป เธอรับได้ไหม ช่วยบอกฉันสักที ว่าที่ฉันยืน เธอยืนที่เดียวกันไหม หยุดเล่นเกินเพื่อนเล่น” เป็นคำที่อ่านแล้วรู้สึกว่าคลังคำศัพท์ของเติร์ดนั้นเยอะจัง ซึ่งน่าสนใจว่าเขาจะอ่านหนังสืออะไรบ้างนะ
ด้วยเหตุนี้ TK Park จึงชวนเติร์ดมาคุยเรื่องหนังสือที่เขาอ่าน หนังสือแต่ละเล่มส่งผลอย่างไรต่อความคิด ความสนใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของ Tilly Birds บ้าง
หนังสือวัยเด็ก และการอ่านช่วงวัยรุ่น
เติร์ดเล่าเรื่องราววัยเด็กให้ฟังว่า เขาโตมากับการอ่านการ์ตูนภาษาอังกฤษฝั่งอเมริกันของมาร์เวลคอมิกส์ โดยมีเอ็กซ์เมน (X-MEN) เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ชอบที่สุด “เราได้รู้จักตัวหนังก่อน ในปี 2000 รู้สึกว่ามันสนุกจังเลย เท่จัง มันเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักซูเปอร์ฮีโร่ พอรู้ว่าสร้างมาจากการ์ตูน ก็ไปหาการ์ตูนอ่าน ซื้อมาสะสมบ้าง แต่ไม่ได้ซื้อทุกเล่มนะ เพราะราคามันค่อนข้างสูง”
ส่วนฝั่งไทย เติร์ดชอบอ่านรามเกียรติ์ ถ้าเห็นรามเกียรติ์ฉบับการ์ตูนหรือฉบับวรรณกรรม มักจะซื้อเก็บสะสมไว้
ตลอด “มันเป็นวรรณคดีไทยไม่กี่เรื่องที่รู้สึกสนุกจัง มันน่าติดตาม ได้ข้อคิด แล้วมันแฟนตาซีมาก เลยค้นพบว่าตัวเองชอบแฟนตาซี ชอบเรื่องที่มันเหนือจินตนาการ” เขาบรรยายความรู้สึกให้ฟัง
นอกจากนี้ในระหว่างเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย English Program เติร์ดได้อ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น 1984 วรรณกรรมคลาสสิกของจอร์จ ออร์เวลล์ รวมถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง เขาอ่านหนังสืออีกมากมาย เพื่อดูว่าเรื่องไหนสามารถพัฒนาเป็นบทหนังได้ อีกทั้งยังได้อ่านบทละครขณะเรียนโทศิลปะการละคร อักษรฯ จุฬาฯ เช่น อุโมงค์ผาเมือง ที่ดัดแปลงมาจากราโชมอนของอากิระ คุโรซาวา หรือ อีดิปุสจอมราชันย์ (Oedipus the King) ของซอเฟอคลีส นักเขียนบทละครและโศกนาฏกรรมชาวกรีกโบราณ
แม้ปัจจุบันเติร์ดจะบอกว่าอ่านหนังสือน้อยลง แต่การอ่านในช่วงเวลาวัยเด็กและวัยรุ่นก็ช่วยซึมซับเข้ามาภายในจิตใต้สำนึก กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงอย่างไม่ทันรู้ตัว อย่างการเขียนเพลงที่ดูเป็นบทกวีนั้นมีที่มาจากสมัยเรียนชอบ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย
“ผมคิดว่ามันมาจากตัวเองที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนนิดหนึ่ง ในวิชาภาษาไทยอาจารย์สอน กาพย์ กลอน โคลง ร่าย ฉันท์ ก็ชอบมาก ผมเคยได้โจทย์ให้แต่งกลอนแล้วมีชื่อเพื่อนในห้องทั้งห้อง เราเอาชื่อเพื่อนมาใส่ในกลอนทั้งหมด แล้วบรรยายว่าใครชื่ออะไร ทำอะไรบ้าง กลายเป็นว่ามีผลต่อการเขียนเพลงนะ ในการอ่านพวกวรรณกรรมเก่าๆ พวกมัทนะพาธา หรือรามเกียรติ์”
สำหรับแรงบันดาลใจในการเขียนเพลง เติร์ดเล่าให้ฟังว่ามีแรงบันดาลใจมาจากสองทาง หนึ่งคือ โจทย์ ถ้าได้หัวข้ออะไรมาก็เขียนไปตามนั้น สองคือ สิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน
“จากที่ผมเรียนฟิล์มมา ทุกอย่างในชีวิตที่เจอ บางเหตุการณ์มันน่าจดจำ เฉพาะเจาะจงมาก จนมีคุณสมบัติบางอย่างที่สามารถไปอยู่ในหนังหรือในเพลงได้ อย่างหนังสั้นที่ผมทำ หรือเพลงที่เขียนก็มาจากชีวิตจริง หรือมาจากเรื่องเล่าของคนอื่น หรือว่าเรื่องที่เราพบเจอในโลกนี้ ในสังคม ในมีเดียต่างๆ มันมีเรื่องแบบนี้ด้วยนะ มันมีความเป็นเพลงอยู่ มันมีความเป็นหนังอยู่ มันน่าเอามาทำ” เติร์ดบอกเล่าเรื่องราวกว่าจะเป็นเพลงออกมาได้อย่างน่าสนใจ เขาเสริมว่ากว่าจะได้เนื้อเพลงนั้นใช้เวลาเขียนนานพอสมควร “ตอนเขียนเสร็จดร๊าฟท์ 1 ก็มาดูกันอีกที แต่ละคนจะไปตกตะกอนความรู้สึกว่า ท่อนนี้มันต้องเปลี่ยนไหม รู้สึกว่าคำนี้มันไม่ได้ เนื้อหาโดยรวมตอนนี้ยังพูดแค่เรื่องเดียว มันยังพูดไม่กว้างพอ ยังพูดซ้ำๆ เรื่องเดียว เราต้องแก้กัน แล้วทำให้มันกลมมากที่สุด”
สำหรับคนที่อยากแต่งเพลง เติร์ดแนะนำว่าให้เริ่มต้นจากตัวเอง เรื่องไหนที่อยากเล่า เรื่องไหนที่กำลังอิน เรื่องที่รู้สึกพิเศษ มีผลต่อความรู้สึกเราก็นำมาแต่งเพลงได้เลย
“เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันพิเศษ มีผลต่อเราระดับหนึ่ง แล้วมันจะค่อยๆ ไปต่อได้เรื่อยๆ หากบางครั้งเราไม่รู้จะเล่าอะไรกับตัวเอง เพราะไม่ได้เจออะไรเลย ก็อาจหยิบยืมเรื่องของคนอื่นมาใช้ในการเริ่มเขียนได้ การไปอ่านหนังสือก็ช่วยนะ ถ้ามีเวลาพอ เบื่อโซเชียลมีเดีย อะไรที่เป็นจอก็ลองอ่านหนังสือสักเล่ม การอ่านทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ แล้วอาจคิดอะไรได้ก็ได้” เติร์ดสรุปให้ฟัง
เมื่อถามถึงหนังสือที่เติร์ดอยากแนะนำให้อ่าน เขาแนะนำหนังสือมา 4 เล่มดังนี้
อ่านหนังสือของTUNA Dunn
เริ่มต้นจากกราฟิกโนเวล หรือวรรณกรรมภาพ เขายกงานของ TUNA Dunn หรือ ตุลย์—ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต ศิลปินที่ชื่นชอบลายเส้นและสไตล์มาเป็นหนังสือที่อยากแนะนำสองเล่มแรก
BEST BEFORE หนังสือที่บอกเล่าว่าทุกความสัมพันธ์มีวันหมดอายุ ภายในเล่มพูดถึงคู่รักคู่หนึ่ง ‘เอียน’ ไปเจอเครื่องไทม์แมชชีน แล้วใช้มันข้ามเวลาไป 6 สัปดาห์ข้างหน้า จึงเห็นตัวเองกำลังโดน ‘มาร์โก้’ แฟนสาวบอกเลิก เมื่อกลับมาเวลาปัจจุบัน เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ไหม หรือการกระทำเพียงเล็กน้อยจะทำให้เรื่องราวอีก 6 สัปดาห์ไม่เหมือนเดิมได้หรือเปล่า
“พูดถึงคู่รักที่ฝ่ายหนึ่งไปเจอไทม์แมชชีน ทำให้เขาสามารถรู้อนาคตได้ว่าเขากับตัวนางเอกจะเลิกกัน แล้วผู้ชายก็อยู่กับความกระสับกระส่ายจะทำยังไงให้คบกันต่อได้ โดยไม่ต้องเลิกกัน ไม่อยากสปอยนะ สนุกมาก ชอบมาก อย่างที่บอกว่าการเขียนเพลง มันอาจจะซึมซับผ่านจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว สำหรับ BEST BEFORE อาจได้มองความสัมพันธ์ปัจจุบันกับอนาคตว่าเราอย่าเพิ่งไปมองอนาคต เราซึมซับกับปัจจุบันก็พอ มีเพลง Tilly birds ที่พูดประมาณนี้ว่าเราไม่รู้ว่าวันหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เราทำวันนี้ให้ดีที่สุดก่อน แล้วอยู่กับปัจจุบัน อดีตเป็นสิ่งที่สวยงาม ไม่กลับไปมองอดีต แต่อยู่กับปัจจุบัน”
MISSED การ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของ TUNA Dunn ว่าด้วยเรื่องราวระหว่างตัดสินใจฆ่าตัวตายของ ‘ลีออน’ ชายหนุ่มที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดและอยากบอกลา ‘จูดิธ’ หญิงสาวผู้ติดอยู่ในใจเขามาเสมอ
“เรื่อง MISSED พูดถึงความหมายของชีวิต ค่อนข้างล้ำลึกเหมือนกัน พูดถึงคนที่สูญเสียคนรักไป แล้วตัวเองกำลังจะตาย เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มันมีค่า ผมชอบหนังสือของ TUNA Dunn นะ เห็นเขาทำเพจของตัวเองก็มาติดตาม รู้สึกว่าเขาเก่ง ผมเห็นภาพ เห็นงานของเขา นึกว่ามาจากฝรั่ง อาจจะมาจากอเมริกัน อังกฤษ หรือญี่ปุ่น แต่เขาเป็นคนไทย บ้านเรามีศิลปินแบบนี้ ช่วยกันรันวงการ”
อ่านหนังสือของนิ้วกลม
เติร์ดเล่าว่า เขาอ่านหนังสือยาวๆ ไม่เก่ง เลยมักชอบอ่านหนังสือภาพ หนึ่งในนั้นคือ สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยเฉย หรืออุดนุนหมายเลข 1 และ กาลครั้งหนึ่งทุกสถานที่เคยมีความรัก หรืออุดนุนหมายเลข 2 เป็นหนังสือที่นิ้วกลมรวบรวบมาจากทวิตเตอร์ช่วงปี 2552-2553 ภายใต้กรอบจำกัดของ 142 ตัวอักษร ในหลายบทอุดนุนช่วยสะกิดความทรงจำให้ฟุ้งกระจาย คิดถึงคนรัก ความรัก ความสัมพันธ์ ความผูกพัน อ่านแล้วหลายคนรู้สึกอบอุ่น และช่วยเยียวยาหัวใจ
“ตอนนั้นไปเดินงานหนังสือกับเพื่อน ได้เห็นหนังสือสองเล่มนี้ของคุณนิ้วกลม พอเปิดอ่านแล้วรู้สึกว่าน่าเก็บสะสม อยากซื้อไปอ่าน อ่านแล้วมันเหมือนอ่านคำคมนะ แต่มันไม่ใช่คำคมไกลตัว มันใกล้ตัว เหมือนเขามาพูดกับเรา อ่านแล้วได้ข้อคิดเรื่องความรัก ได้รู้จักมุมของความรักจากพี่นิ้วกลมด้วย”
อ่านหนังสือของแดนอรัญ แสงทอง
เล่มสุดท้าย เติร์ดยกหนังสือ เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง ของแดนอรัญ แสงทอง เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2557 และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2561 ภายในเล่มได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีพระแม่กีสาโคตมีแห่งสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะบทบาทของนางกีสา ซึ่งออกมาจากก้นบึ้งแห่งสามัญสำนึกของความเป็นแม่ในช่วงเผชิญกับภาวะวิกฤติ อีกทั้งสายใยแห่งความผูกพันอันลึกล้ำของคนเป็นมารดา ซึ่งฉายชัดผ่านพฤติกรรมตะเกียกตะกายอยู่ในวังวนแห่งความวิปลาส กระทั่งผู้เป็นลูกทั้งหลายอาจต้องปาดน้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า
“เป็นเรื่องราวความลำบากยากเข็ญของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง แล้วต้องหอบลูกที่เพิ่งคลอดไปด้วย ซึ่งระหว่างทางเจอกับสัตว์ร้าย เจอเสือ เจออีกา เจอสัตว์ที่น่ากลัว แต่หนังสือมันสอนให้รู้ว่ามนุษย์น่ากลัวกว่าสัตว์ เขาเจอสัตว์แต่สัตว์มันไม่ได้ทำร้าย มันป้องกันตัวเอง แต่คนที่ทำร้ายเขาเป็นคนอื่นที่มีเจตนาไม่ดี มาหวังประโยชน์ เป็นเรื่องที่คุณแดนอรัญเขียนแล้วภาษาสวยมาก ตอนแรกผมอ่าน ก็ตกใจมากว่าจะอ่านรู้เรื่องไหม เพราะเป็นคนอ่านหนังสือช้า คนอื่นจะอ่านจบเร็วก่อนเสมอ แต่เล่มนี้ผมอ่านจบเร็วมาก สนุกครับ หดหู่นิดนึงนะ แต่อ่านแล้ววางไม่ได้ ผมว่ามันพูดถึงปรัชญา มันพูดในระดับที่เราเข้าใจได้ อ่านลึกได้ลึก อ่านตื้นได้ตื้น ผมว่าทุกคนอ่านแล้วน่าจะเข้าใจได้หมด ว่าเรื่องมันพูดถึงอะไร แล้วลุ้นตามตัวละครนางเอกว่า จะเดินทางยังไง จะรอดไหม ผ่านฝน ผ่านลม และมันไม่ยาวมาก กระชับกำลังดี ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ทำเป็นหนังเหมือนกัน”
เติร์ดส่งท้ายว่าสำหรับแฟนเพลง Tilly Birds ว่า หากอยากอ่านหนังสือที่เขาแนะนำ ก็เริ่มอ่าน BEST BEFORE หรือ MISSED ได้ก่อนเลย เพราะเป็นศิลปินที่เขาชื่นชอบส่วนตัวมากๆ ส่วนใครอยากอ่านเล่มไหน สามารถเข้ามาอ่านได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park
ภาพประกอบจาก Tilly Birds