
ในโลกยุคใหม่ คำว่า “นวัตกรรม” ดูจะเป็นคำสามัญประจำยุคสมัยไปเสียแล้ว คำนี้นอกจากจะหมายความถึงสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดใหม่ที่พลิกโฉมหน้าของโลกแล้ว ยังหมายถึงวิธีการแก้ปัญหาที่โลกยุคเก่าได้สร้างขึ้นอีกด้วย เช่น การสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ลดการสร้างมลพิษให้แก่โลก ผู้คิดค้นนวัตกรรมแถวหน้าจึงได้รับการยอมรับในระดับโลกเสมอ เพราะยิ่งโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่าใด โลกยิ่งต้องการนักสร้างสรรค์นวัตกรรมมากขึ้นเท่านั้น
ข่าวดีก็คือ มีผลการวิจัยมากมายพบว่าความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นต้นกำเนิดแห่งนวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์ทั้งหมด แต่เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนการคิด ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไร ก็ยิ่งปลูกต้นไม้แห่งความคิดสร้างสรรค์ให้หยั่งรากงอกงามในใจเด็กได้เร็วเท่านั้น วันนี้ชาว TK Park มี 5 วิธีที่จะช่วย “ปั้น” เจ้าตัวเล็กจอมซนของเราให้กลายเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมยุคใหม่ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

1. ใส่ “ความสงสัยใคร่รู้” และกระตุ้นให้หา “วิธีการแก้ปัญหา”
มีคำกล่าวว่า โลกของผู้ใหญ่คือโลกแห่งคำตอบ แต่สำหรับเด็กแล้ว โลกใบนี้เต็มไปด้วยคำถาม และทุกๆ สิ่งคือสิ่งใหม่ที่เขายังคงสงสัยและแสวงหาคำตอบอยู่เสมอ ครูหรือผู้นำการเรียนรู้ที่ดีของเด็กๆ จึงไม่ควรทำตัวเป็นตำราที่พลิกหน้ากระดาษมาก็กลายเป็นคำตอบของทุกคำถาม แต่ควรกระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ คำตอบอย่าง “น้ำขึ้นน้ำลงเกิดขึ้นเพราะแรงดึงดูดของพระจันทร์” จึงไม่ควรรีบนำมาบอกเล่าในชั้นเรียน แต่ควรเริ่มด้วยคำถามอย่าง “ทำไมโลกนี้จึงมีน้ำขึ้นน้ำลงนะ” เพื่อฝึกให้เด็กได้ค้นหาคำตอบและความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ อย่างคำว่าดาวบริวาร แรงดึงดูด ฤดูกาล ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ นอกจากนี้เราอาจได้คำตอบจำพวกสัตว์ประหลาด สิ่งเหนือธรรมชาติที่เปี่ยมด้วยจินตนาการของเด็ก ๆ มาสร้างสีสันในชั้นเรียนอีกมากมาย
การกระตุ้นให้เด็กๆ คิดถึงวิธีการแก้ปัญหาก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรบรรจุไว้ในการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะจินตนาการแห่งการแก้ปัญหานับเป็นเสาหลักของการสร้างนวัตกรรม ประโยคคำถามอย่าง “โลกร้อนเกิดจากอะไร” จึงควรตามมาด้วยคำถามอย่าง “เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร” คำตอบที่ได้นั้นไม่สำคัญเท่ากับ “กระบวนการคิด” ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ครั้งนี้ อย่าลืมว่าเราคงไม่ได้อยู่เป็นตำราให้เด็กพลิกหาคำตอบได้ตลอด (และคำตอบจากตำราเก่าๆ อย่างเราก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ทั้งหมด) แต่เมื่อเด็กเกิดกระบวนการคิดและหาคำตอบด้วยตนเองเป็นอาวุธสำคัญติดตัวไป ไม่แน่ว่าสักวันเขาอาจแก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่แก้ไม่ได้มาเป็นทศวรรษด้วยนวัตกรรมที่เกินจินตนาการก็เป็นได้

2. “คิดถูก-คิดผิด” จุดเริ่มต้นของการสูญเสียความ “คิดเก่ง”
ระบบการศึกษาในปัจจุบันส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งที่ขัดกับการคิดสร้างสรรค์ วิธีการของ “เด็กเรียนเก่ง” คือการท่องจำคำตอบจากในหนังสือเพื่อไปทำข้อสอบที่วัดว่าใครจำเก่งกว่ากัน การคิดนอกเหนือไปจากตำราเรียนจึงกลายเป็นการ “คิดผิด” และถูกลงโทษด้วยเลขศูนย์ตัวโต ๆ ในกระดาษคำตอบ การตัดสินความถูก-ผิดของความคิดจากทัศนะของผู้ใหญ่จึงเป็นหนึ่งในการทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ อย่างไม่ตั้งใจ แน่นอนว่าเด็ก ๆ อาจไม่ได้มาพร้อมกับความคิดใหม่ที่แสนเลอเลิศ แต่กระบวนการคิดที่ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ นั้นต่างหากที่สำคัญ หากมีช่องโหว่หรือจุดบกพร่องของแนวคิดนั้น ครูหรือผู้นำการเรียนรู้ของเด็กจะต้องค่อย ๆ ชี้ให้เห็นอย่างระมัดระวัง ช่วยแก้ไขเพิ่มเติม ประคับประคองให้ความคิดใหม่ ๆ นั้นสามารถไปต่อได้ เพื่อให้เด็กไม่ท้อในการคิดเรื่องใหม่ ๆ จนกลายเป็นทักษะของการคิดเก่ง ซึ่งหาได้ยากเหลือเกินในสังคมที่ให้คุณค่าของการ “จำเก่ง” มากกว่า
ธรรมชาติของเด็กมักกลัวการทำผิดและการลงโทษจากผู้ใหญ่ หากมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขารู้สึกว่าความคิดของเขาผิด เด็กมักเกิดความกลัวและคิดสร้างสรรค์น้อยลง ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความยืดหยุ่น การไม่ตัดสินความถูก-ผิดของความคิด การยอมรับความคิดที่แตกต่างกัน หรือกระทั่งการนำข้อดีของทุกความคิดมาผสมผสานเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ช่วยกันเสนอไอเดียในการแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะในโรงเรียน หากแนวคิดของทุกคนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง เด็ก ๆ ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและไม่หยุดคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต

3. แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ไม่ใช่อาหารที่ดีของความคิดสร้างสรรค์
ร่างกายที่แข็งแรงย่อมสร้างจากการกินอาหารครบ 5 หมู่ ซึ่งเต็มไปด้วยผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์อุดมวิตามิน ฉันใดก็ฉันนั้น ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องการ “อาหาร” เพื่อมาหล่อเลี้ยงความคิดให้เกิดไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถืออาจเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของมนุษย์ในปัจจุบัน ความรู้และไอเดียต่างๆ ในโลกออนไลน์ล้วนค้นหาได้ง่ายจากการกดหาแค่ปลายนิ้ว และสำหรับเด็กๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีต่างๆ คงหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว การใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปกลับส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ในเชิงกายภาพนั้น แสงสีฟ้าส่งผลโดยตรงต่อดวงตาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีซึ่งกระจกตาและรูม่านตายังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมการรับรู้แสงที่ผิดธรรมชาติได้ แสงสีฟ้ายังส่งผลต่อฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับและฮอร์โมนควบคุมความเครียดในร่างกาย ทำให้เด็กนอนหลับได้น้อยลงและอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น ส่วนในแง่ของความคิดสร้างสรรค์นั้น เทคโนโลยีทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงความบันเทิงได้ง่ายกว่าในอดีต เด็กไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการมากมายในการดูภาพ แสง สี เสียง ที่ปรากฏบนหน้าจอเล็ก ๆ เหล่านั้น ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นจากการดูสื่อยิ่งทำให้เด็กไม่สามารถผละออกจากหน้าจอได้ เด็กจึงมักใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์นานเกินความจำเป็น การเล่นโซเชียลมีเดียที่ตอบสนองอารมณ์ได้โดยตรง ทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างรวดเร็ว เช่น การลงรูปสวย ๆ หรือโพสต์ข้อความแสดงอารมณ์รุนแรง และมีคนกดไลก์มากมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาให้เด็กเข้าใจความซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์ การให้เด็กใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ จึงเหมือนให้เด็กรีบกินอาหารฟาสต์ฟูดซึ่งมีรสชาติจัดจ้าน เสพติดได้ง่าย แต่มีคุณค่าในเชิงสารอาหารน้อยกว่ากิจกรรมอื่น ๆ
การวางโทรศัพท์มือถือลงและจูงมือเด็ก ๆ ออกไปเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสวนสีเขียว กระตุ้นให้ใช้ประสาทสัมผัสและความคิดไปกับธรรมชาติ การอ่านนิทานและฝึกให้เด็กจินตนาการถึงโลกใบใหม่ในความคิด หรือชวนอ่านหนังสือที่ไม่มีรูปภาพเพื่อให้ตัวอักษรสร้างจินตภาพให้โลดแล่นในสมอง สิ่งเหล่านี้คืออาหารชั้นเลิศของความคิดสร้างสรรค์ หมั่นป้อนอาหารเปี่ยมด้วยวิตามินทางความคิดเหล่านี้เพื่อสร้างให้กระบวนการคิดของเด็ก ๆ เติบโตและมั่นคง ดีกว่าที่จะให้รีบใช้เทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็กและเกิดผลร้ายในภายหลัง

4. ไม่หยุดคิดสร้างสรรค์ด้วยพลังแห่งการคิดบวก
เมื่อมีคนถามโธมัส อัลวา เอดิสัน ผู้สร้างแสงสว่างให้แก่โลกโดยการประดิษฐ์หลอดไฟว่าเคยท้อใจไหมเมื่อการทดลองประดิษฐ์หลอดไฟของเขาล้มเหลวกว่าหมื่นครั้ง เขากลับตอบว่า “ผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่ค้นพบว่ามี 10,000 วิธีที่ไม่ได้ผล” (I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.) ด้วยทัศนคติเชิงบวกเช่นนี้ ทำให้นักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกไม่หยุดการทดลองนวัตกรรมใหม่แม้จะล้มเหลวไปหลายพันครั้ง พลังแห่งการคิดบวกจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะคงไม่มียอดนักประดิษฐ์คนใดที่ทำสิ่งใหม่สำเร็จตั้งแต่การทดลองครั้งแรก แต่เด็กๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ก็มักจะเกิดความท้อถอยเมื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ตนเองมีแก้ปัญหาไม่สำเร็จเสียที
สิ่งที่ครูหรือผู้นำการเรียนรู้จะต้องฝึกฝนเด็กๆ ไม่ใช่การเอาประสบการณ์ที่เคยล้มเหลวของตนมาจำกัดจินตนาการของเด็กว่า “ฉันก็เคยทำแบบนี้แต่ทำไม่ได้” “ฉันว่าเธอล้มเลิกเถอะ” แต่ใช้ประสบการณ์ของตนมาเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กว่า “อาจจะทำได้ถ้า...” “ลองแบบนี้ไหม” หรือให้กำลังใจเพื่อให้เด็กลองหาวิธีใหม่ๆ เช่นว่า “ฉันก็เคยทำแบบนี้แล้วล้มเหลว แต่เธอเก่งกว่าฉันเมื่อตอนที่อายุเท่ากัน ฉันเชื่อว่าเธอจะหาวิธีทำจนสำเร็จ” เมื่อนั้นปัญหาจะไม่ใช่อุปสรรค แต่จะเป็น “ความท้าทาย” ที่ต้องเอาชนะสำหรับเด็กที่ยังมองไม่เห็นเพดานขีดจำกัดของตัวเอง
อีกหนทางหนึ่งในการเสริมสร้างพลังคิดบวกคือการฝึกให้เด็กระดมสมองเพื่อคิดวิธีแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ครูหรือผู้นำการเรียนรู้จะต้องระมัดระวังการโน้มเอียงไปหาวิธีการแก้ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือตัดสินด้วยการโหวตเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด แต่ปล่อยให้เด็กๆ ได้สนทนาและตัดสินใจร่วมกัน การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันทำให้เด็กได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ในการแก้ปัญหาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะเติบโตในใจเด็กกลายเป็นความไม่ย่อท้อในการคิดหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ

5. กล้าเสี่ยง กล้าล้ม เพื่อจะยืนหยัดอย่างยิ่งใหญ่
“เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” สำนวนไทยที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการทำตามสิ่งที่คนอื่นเคยทำและสำเร็จมาแล้ว การทำอะไรนอกเหนือไปจากกรอบที่กำหนดไว้อาจล้มเหลวหรือถูกลงโทษ การกากระดาษคำตอบผิดข้อทำให้ไม่ได้คะแนนในข้อสอบ แต่สำหรับโลกยุคใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ 4 ตัวเลือก ผู้สร้างนวัตกรรมจึงต้องยอมเสี่ยงในการทำสิ่งใหม่ๆ และอาจต้องทำใจยอมรับหากเกิดความล้มเหลวอีกด้วย ความฉลาดทางอารมณ์ในการรับมือกับความล้มเหลวจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่อความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาของเขาไม่ได้ผล ผู้ใหญ่ไม่ควรรีบสอนวิธีที่ถูกต้องหรือวิธีที่เคยทำตามกันมาในทันที แต่ควรชี้ให้เขาเห็นจุดบกพร่อง อุปสรรค หรือปัจจัยที่ทำให้วิธีของเขาล้มเหลว พร้อมกันนั้นก็กระตุ้นให้เขาได้แก้ไขวิธีของตนเองให้ดีขึ้น และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตอนที่เด็กร้องขอเท่านั้น
การสอนให้เด็กๆ รู้จักรับมือกับความล้มเหลวอีกวิธีหนึ่งคือนำบทเรียนจากความล้มเหลวของคนอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นประสบการณ์ของเด็กคนอื่นๆ หรือนักคิดนักประดิษฐ์นวัตกรรมระดับโลกก็ได้ แต่ควรนำมาแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ในลักษณะของความรู้ ชื่นชมในความกล้าหาญ ไม่ควรมีน้ำเสียงตำหนิหรือเย้ยหยันความล้มเหลวนั้น เพื่อให้เด็กเห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับความสำเร็จ หากอดทนจนผ่านช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวไปได้ อีกไม่นานความสำเร็จจะเดินทางมาทักทายถึงหน้าประตูบ้านแน่นอน
ในยุคก่อน ผู้คนอาจอยู่รอดได้แม้ไม่ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่สำหรับในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด วิธีคิดแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอในการเอาตัวรอดในโลกยุคนี้อีกต่อไปแล้ว การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นต่อไปได้มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ จึงสำคัญอย่างยิ่ง และการปั้นให้เด็กๆ เป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมคงไม่สำเร็จหากเราขาดศรัทธาต่อคนรุ่นใหม่ว่าคือคนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นในอนาคต ดังที่ เจ.เค โรลลิง นักเขียนชื่อก้องโลกกล่าวไว้ว่า “เราไม่จำเป็นต้องมีมนตราคาถาวิเศษเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เราทุกคนมีพลังวิเศษที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นอยู่ในตัวเอง นั่นคือพลังแห่งจินตนาการในการสร้างสิ่งที่ดีขึ้น”
(We don't need magic to change the world. We carry all the power we need in ourselves. We have the power to imagine better.)
รายการอ้างอิง
Dan Ebbett. (2019). How Blue Light Is Impacting Your Child's Development, Health, & Sleep. Retrieved March 17, 2021, from https://www.blockbluelight.com.au/blogs/news/blue-light-and-kids-development
Helen Al Uzaizi. (2017). Five Ways to Foster A Hunger for Innovation in Children. Retrieved March 17, 2021, from https://www.entrepreneur.com/article/302072
Jill M. Richardson. (2018). 10 Things You Should Do Now So Your Kids Know How to Deal with Failure. Retrieved March 17, 2021, from https://afineparent.com/strong-kids/how-to-deal-with-failure.html
Naomi Richards. (2019). 12 ways to encourage creativity in children. Retrieved March 17, 2021, from https://clevertykes.com/12-ways-to-encourage-creativity-in-children