“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้นั้นมีขอบเขตอยู่เพียงสิ่งที่เรารับรู้และเข้าใจในปัจจุบัน ทว่าอ้อมแขนแห่งจินตนาการนั้นโอบอุ้มความลับของโลกทั้งใบเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือสิ่งสำคัญที่เราควรจะเรียนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง”
Imagination is more important than knowledge. For knowledge is limited to all we now know and understand, while imagination embraces the entire world, and all there ever will be to know and understand.
ทุกคนคงเคยได้ยินคำพูดอันโด่งดังของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่แสดงให้เห็นความสำคัญของจินตนาการ และคงไม่มียุคไหนอีกแล้วที่ต้องการ “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” มากเท่ายุคปัจจุบันซึ่งกล่าวกันว่าเป็นยุคแห่งนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายทยอยเกิดขึ้นมาพลิกหน้าประวัติศาสตร์ไม่หยุดหย่อน เช่น สมาร์ตโฟน เอ.ไอ. หุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ความรู้เป็นสิ่งที่ค้นหาและเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วในปัจจุบัน แต่จินตนาการมิใช่สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ แต่ต้อง “สร้าง” หรือ “ปลูกฝัง” ให้งอกงามขึ้น และไม่มีวัยไหนอีกแล้วที่เหมาะสมแก่การ “ปลูก” จินตนาการให้เติบโตได้มากเท่าวัยเด็ก ดังที่ศาสตราจารย์จอร์จ แลนด์ นักวิจัยของนาซ่าได้ศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในวัยเด็กจากเด็กกว่า 1,600 คน พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 5 ขวบ มีผลคะแนนความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Scores) สูงถึง 98% ทว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาจนถึงอายุ 15 ขวบ คะแนนดังกล่าวกลับลดลงเหลือเพียง 12% เท่านั้น ยิ่งเมื่อนำแบบทดสอบเดียวกันนี้ไปทดสอบกับกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 280,000 คน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอายุประมาณ 31 ปี พบว่าผลคะแนนความคิดสร้างสรรค์เหลือเพียง 2% เท่านั้น
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ คุณครูของเด็ก ๆ หรือผู้สนใจอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วอย่ารอช้า วันนี้ TK Park มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วย “ลับคม” จินตนาการให้แก่เด็กๆ ไม่แน่ว่าเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เขาอาจจะกลายเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกก็เป็นได้ ส่วนเคล็ดลับจะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
1. สร้างนิสัยรักการอ่าน
เคล็ดลับที่เหมือนไม่ลับในข้อแรก เพราะไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแบบไหนต่างก็พูดตรงกันว่าการอ่านหนังสือเป็นเครื่องมือเสริมสร้างจินตนาการได้ดีที่สุด การตีความและนึกภาพ รูป รส กลิ่น เสียง การจินตนาการความเคลื่อนไหวของตัวละครจากตัวอักษร ภาพที่กระโดดโลดเต้นในหัวของเด็กน้อยย่อมเสริมสร้างจินตนาการได้ดีกว่าการดูภาพยนตร์ การ์ตูน หรือภาพเคลื่อนไหวที่คนอื่นกำหนดหน้าตาและการเคลื่อนไหวของตัวละครมาให้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เด็กๆ เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย การดูการ์ตูนในยูทูปสักเรื่องยังง่ายกว่าการเดินไปอ่านหนังสือในห้องสมุด การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านจึงกลับกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นผู้ปกครองหรือครูผู้ดูแลเด็กอาจจะต้องแยกสื่อภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกจากเด็กเล็กๆ เป็นลำดับแรก หมั่นอ่านหนังสือพร้อมกับเด็กๆ ให้เป็นกิจวัตร หาหนังสือชุดหรือ “ซีรีส์” หลายเล่มจบมาไว้ใกล้มือเด็กๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการอ่าน เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตำนานแห่งนาร์เนีย เดอะลอร์ดออฟเดอะริง เป็นต้น พาเด็กไปเที่ยวห้องสมุดหรือร่วมกิจกรรมการอ่านในวันหยุด เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าห้องสมุดเป็นสถานที่แห่งความสนุกสนาน เมื่อเขาเริ่มสนุกกับตัวหนังสือแล้ว อาจช่วยกันทำกิจกรรมกระตุ้นจินตนาการพร้อมกับเด็ก เช่น ฝึกวาดภาพตัวละครจากคำบรรยายในนิทาน แล้วให้เด็กๆ แลกกันดูว่าจินตนาการของแต่ละคนเป็นอย่างไร
ที่สำคัญที่สุด อย่าลืมว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เด็กคงไม่คิดจะรักการอ่านถ้าเห็นผู้ปกครองหรือคุณครูนั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์เพื่อเสพสื่ออย่างอื่นทั้งวัน ดังนั้นอย่าลืมถือหนังสือติดมือและหยิบอ่านให้เขาเห็นด้วยตาตัวเองว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่สนุกจริงๆ
2. ร่วมกันเล่านิทานก่อนนอนเรื่องใหม่ๆ ด้วยกัน
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหนูน้อยหมวกแดงอาศัยอยู่ในป่า...” นิทานจำนวนมากเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับโครงเรื่อง ฉาก และตัวละครที่ถูกกำหนดไว้แล้ว แน่นอนว่านิทานคลาสสิกเหล่านี้มีพล็อตเรื่องที่น่าตื่นเต้นสนุกสนาน เล่าทีไรก็ชวนให้ติดตามไปจนจบเรื่องเสมอ แต่บางทีการปล่อยให้เรื่องราวไหลไปตามหน้ากระดาษซ้ำๆ อาจทำให้เด็กเบื่อที่จะฟังนิทานเรื่องเดิมๆ และไม่เพียงพอสำหรับการเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็กๆ แต่หากนิทานก่อนนอนถูก “เล่าใหม่” ด้วยฝีมือของเด็กๆ เอง รับรองว่านอกจากจะทำให้เด็กๆ ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้อ่านนิทานเรื่องเดิม ยังเป็นการสร้างจินตนาการให้เด็กไปอีกระดับหนึ่งด้วย
การฝึกเล่านิทานเรื่องใหม่ อาจเริ่มได้จากการอ่านนิทานเรื่องเดิมที่เด็กเคยอ่าน ฝึกให้เด็กจินตนาการตัวละครหรือฉากอย่างละเอียดขึ้น เช่น เจ้าหญิงมีดวงตาสีเขียว สีเขียวเหมือนอะไร? เหมือนกบหรือเหมือนใบไม้ เจ้ายักษ์ตัวใหญ่ ใหญ่ขนาดไหนนะ? ใหญ่เท่ารถบรรทุกหรือเท่าตึกสิบชั้น ชายหาดแสนสวยมีอะไรบ้าง? มีฝูงนกบินอยู่ทางซ้ายมือ พระอาทิตย์ครึ่งดวงจมน้ำ เรือใหญ่สองลำแล่นมาตรงเส้นขอบฟ้า ฯลฯ หรือลองตั้งคำถามใหม่ ๆ เพื่อนำพาเรื่องไปสู่พล็อตใหม่ เช่น ถ้าเจ้าชายไม่มีดาบวิเศษ จะปราบมังกรร้ายได้อย่างไร ถ้าแม่มดเลิกโกรธแค้นพยาบาท จะกลับมาเป็นเพื่อนกับเจ้าหญิงได้ไหม เมื่อเด็กได้ฝึกสร้างจินตนาการด้วยวิธีดังกล่าว แม้เป็นนิทานเรื่องเดิมก็จะทำให้เด็ก ๆ ตื่นเต้นได้เหมือนเรื่องใหม่ทุกครั้ง
ขั้นตอนต่อไปในการฝึกเล่านิทานเรื่องใหม่ อาจจะใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนของตัวละคร ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กเล่าว่า ตัวละครตัวนี้เป็นใคร กำลังจะทำอะไร มีใครมาขัดขวาง เขาต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคไปได้อย่างไร เมื่อเด็กเล่าได้จนคล่องแคล่วแล้ว ตุ๊กตาอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เราเพียงเริ่มด้วยคำว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” เพียงเท่านี้จินตนาการของเด็กก็จะสร้างตัวละครและเติมเต็มเรื่องราวสุดมหัศจรรย์อย่างที่เราคาดไม่ถึง
3. ชวนเล่าชวนคิดเรื่องชีวิตประจำวัน
“ชีวิตที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง” คำถามที่ดูเหมือนไม่แตกต่างจากคำถามทั่วไปอย่าง “กินข้าวหรือยัง” “กำลังจะไปไหน” แต่สำหรับเด็กแล้ว คำถามที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่าถึงชีวิตใหม่ในแต่ละวันมีความสำคัญมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เด็กๆ ได้ผละจากอ้อมอกของพ่อแม่ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้พบคนใหม่ๆ ได้เห็นคนรุ่นเดียวกันที่มีบุคลิกลักษณะแตกต่างจากตนเองและได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น จึงมีทั้งความตื่นเต้นและความเครียด การได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจึงเป็นการระบายความเครียดในใจของเด็ก การซึมซับภาพของเพื่อนๆ ในฐานะ “ตัวละครใหม่” ทำให้เกิดจินตนาการ อีกทั้งยังได้ฝึกเรียบเรียงความคิดในสมอง นอกจากนี้การถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดยังเป็นการฝึกใช้ภาษาทางอ้อมอีกด้วย
สำหรับเคล็ดลับข้อนี้ สิ่งที่ผู้ปกครองหรือครูจะต้องทำก็คือ “การฟัง” ไม่ใช่แค่ฟังผ่านๆ หู แต่ฟังอย่างตั้งใจทุกรายละเอียด ถามกลับบ้างบางครั้งเพื่อแสดงให้เด็กเห็นถึงความตั้งใจในการฟัง ยิ่งใส่ใจมากเท่าใด ยิ่งทำให้เราได้รับรู้เรื่องของเด็กมากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมถาม “ความรู้สึก” เมื่อเขาได้พบคนใหม่ๆ หรือสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน และที่สำคัญคือ พยายามอย่าตัดสินถูกผิด ให้คำแนะนำแต่อย่าบังคับ เช่น หากเด็กของเราไปตีคนอื่น แทนที่จะออกกฎห้าม เราอาจถามกลับว่า หากมีเด็กคนอื่นที่ตัวใหญ่กว่าเรามาตีเรา เราจะเจ็บไหม เราจะชอบไหม เราจะโกรธไหม ความโกรธดีหรือไม่ ถ้าเราอยากให้คนที่โดนเราตีกลับมาชอบเราจะทำอย่างไร เพื่อให้เด็กได้คิดและวางกฎด้วยตนเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีกฎของผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือ “บังคับ” พฤติกรรมจากประสบการณ์ในวัยเด็ก กฎดังกล่าวจะหวนกลับมาเมื่อเขาได้พบเจอเรื่องใหม่ ๆ ในตอนที่เป็นผู้ใหญ่ และเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ไปโดยปริยาย
อีกเคล็ดลับหนึ่งที่จะทำให้เด็กกล้าเล่าเรื่องของตนเองมากขึ้น คือผู้ใหญ่เองก็ต้องลองเล่าเรื่องของตัวเองให้เด็กฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับประสบการณ์ที่เด็กเพิ่งจะเคยพบมา เช่น ตอนที่อายุเท่ากับหนู แม่เคย... รับรองว่าเด็กจะชอบฟังไม่น้อยกว่านิทานก่อนนอนเลยทีเดียว แต่จะต้องระวังอย่าใช้การมองและตัดสินแบบผู้ใหญ่เข้าไปในเรื่องเล่า โดยเฉพาะการพูดว่าสิ่งใดถูก-ผิด ดี-ไม่ดี ควรเล่าในลักษณะของความคิด-ความรู้สึก เช่น ตอนนั้นแม่คิด-แม่รู้สึกว่า...จึงทำอย่างนั้นไป... และเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดตาม
4. ชวนเล่นเกมง่ายๆ และสร้างสรรค์
ขึ้นชื่อว่าเด็กไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องชอบเล่นเกม และเกมก็มิใช่สิ่งที่ไร้สาระอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนชอบกล่าวหา แต่เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้รู้จักกฎระเบียบ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ของตนเอง อิ่มเอมต่อชัยชนะ และยอมรับความพ่ายแพ้ รู้จักการเริ่มต้นใหม่ เกมที่ดีสำหรับเด็กควรเป็นเกมที่ง่าย กติกาไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นานในการหาผู้ชนะ เช่น เกมโยนเหรียญ (Pitching Penny) แจกเหรียญให้เด็กเท่าๆ กัน ใครโยนเข้าไปในถ้วยได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ เกมนักแขวนคอ (Hangman) ทายคำศัพท์โดยใบ้ตัวอักษรหรือสระบางตัวไว้ หากทายผิด รูปคนถูกแขวนคอจะค่อยๆ ถูกวาดจนสมบูรณ์ เป็นต้น
ความง่ายของกติกาไม่ใช่เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสามารถปรับเปลี่ยนโจทย์หรือกติกาได้ง่าย เช่น เกมโยนเหรียญ อาจเปลี่ยนเป็นวัสดุอย่างอื่นหรือเปลี่ยนทิศทางการโยน เช่น เปลี่ยนเป็นลูกปิงปอง ใช้การโยนกระดอนกับพื้นก่อนเข้าถ้วย เพื่อให้เด็กได้ลองใช้วิธีการโยนแบบใหม่ ๆ เกมนักแขวนคอ หากยากเกินไป อาจเปลี่ยนเป็นชื่อของเล่นหรือภาพยนตร์สุดโปรดของเด็ก แต่หากง่ายเกินไป ก็เปลี่ยนระดับของคำศัพท์ให้คาดเดาได้ยากขึ้น การเปลี่ยนโจทย์ของเกมก็เพื่อฝึกให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดแนวทางแก้ปัญหาและเอาชนะเกมด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพราะหากให้เด็กเล่นแต่เกมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่ช้าเด็กจะรู้วิธีการเอาชนะ โจทย์ในเกมแทนที่จะเป็นความท้าทายในการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์กลับกลายเป็น “กฎ” ที่เด็กจะต้องปฏิบัติตามเพื่อรับรางวัลแห่งชัยชนะแทน
นอกจากนี้พื้นที่สำหรับเล่นเกม (Play Space) ที่ผู้ใหญ่ควรจัดให้เด็ก ๆ สำหรับฝึกความคิดสร้างสรรค์ ควรมีของเล่นที่ไม่มีข้อกำหนดตายตัว เช่น ดินน้ำมัน ลานทราย ตัวต่อรูปทรงอิสระแทนที่จะเป็นตัวต่อแบบตายตัว หรือของเล่นที่สามารถใช้เล่นหลายคนได้เพื่อเอื้อให้เกิดกิจกรรมกลุ่ม รูปทรงและสีสันของของเล่นควรมีสีสันที่โดดเด่นและหลากหลาย เพราะสีคืออีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้
5. สร้างศิลปะในหัวใจ
“ศิลปะ” กับ “จินตนาการ” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอด การสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะทางศิลปะของตัวเอง ผลที่ได้รับไม่ใช่เพียงการเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอรัม ประเทศอังกฤษยังชี้ให้เห็นว่าการฝึกฝนด้านศิลปะตั้งแต่เด็กยังเป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การควบคุมและจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่ไม่เคยฝึกฝนทักษะทางศิลปะเป็นเท่าตัว
สีเทียนสักแท่ง สีน้ำสักชุดคือจุดเริ่มต้นที่ดี หรือถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ผู้ใหญ่อย่างเราควรเตรียมพื้นที่กว้างๆ สำหรับให้เด็กได้ละเลงสีลงไปบนกระดาษอย่างเต็มที่ ป้องกันความเลอะเทอะโดยอาจปูผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ไว้ให้ทั่วโต๊ะขนาดใหญ่ ปล่อยให้เขาวาดภาพอย่างอิสระ ไม่ชี้แนะหรือสั่งให้เด็กวาดภาพที่ตัวเองอยากเห็น สังเกตวิธีการวาดหรือการใช้สีของเด็ก หากมีลักษณะเฉพาะอาจลองถามเพื่อให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น ทำไมหนูใช้สีเขียวบ่อยๆ หนูคิดอย่างไร หนูรู้สึกอย่างไรกับสีเขียว และอย่าลืมสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่หลายคนมักจะเผลอทำร่วมกับเด็กคือ การวาดภาพไปพร้อมกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กอยากวาดภาพเลียนแบบเพื่อรับคำชื่นชมจนปิดกั้นจินตนาการของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว ทางที่ดีควรอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ เมื่อเด็กร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้เขารู้สึกว่าตนเองเป็นตัวเอกของการสร้างสรรค์งานศิลปะนี้อย่างแท้จริง
6. ออกไปไขว่คว้าจินตนาการนอกบ้านบ้าง
แม้ว่าจินตนาการจะสร้างจากที่ไหนก็ได้ แต่ก็อย่าลืมว่าความเคยชินนับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของจินตนาการ บ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน ในแง่หนึ่งก็เป็นสถานที่ปลอดภัยไร้กังวล แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำให้สมองขาดการกระตุ้นจากอุปสรรคและปัญหาที่คาดเดาไม่ได้ การออกไปทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน จึงเป็นหนทางหนึ่งในการกระตุ้นจินตนาการให้แก่เด็กๆ การออกไปข้างนอกอาจเริ่มง่ายๆ ที่สวนสาธารณะ พาเด็กๆ ไปดูกิจกรรมใหม่ๆ ในจุดที่คนพลุกพล่าน หรือพาไปมุมที่มีแต่ธรรมชาติเงียบสงบ สังเกตพฤติกรรมและการจัดการอารมณ์ของเด็กในแต่ละสถานที่ ชวนสังเกตผู้คนและธรรมชาติที่แตกต่างกัน ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องแปลกใหม่เหล่านี้จะคอยกระตุ้นเซลล์สมองของเด็กให้หาคำตอบอยู่ตลอดเวลา
การออกไปตั้งแคมป์นอกบ้านก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเด็กๆ ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันทั้งหมด ตั้งแต่การจัดเสื้อผ้าของตัวเอง การจินตนาการถึงชุดที่จะใส่ในวันต่างๆ การกินที่อาจจะต้องมาร่วมกันทำอาหารกับพ่อแม่ การเล่นในห้องก็จะเปลี่ยนเป็นการเล่นกับธรรมชาตินอกบ้าน การแก้ไขอุปสรรคในการตั้งเต้นท์นอน การเล่น การทำอาหาร ล้วนช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การเคยนอนในห้องเย็นสบายก็กลับกลายเป็นการนอนมองท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยหมู่ดาวเหมือนกระดาษที่มีรอยประให้จินตนาการได้เติมเต็มเป็นรูปต่างๆ จะดีแค่ไหนถ้ามีพ่อแม่มานอนอยู่ข้างๆ และคอยเล่านิทานดวงดาวให้เด็กๆ ฟังทั้งคืน และคงไม่ต้องบอกนะว่าแคมป์ปิ้งครั้งนี้นอกจากจะเป็นความประทับใจไม่มีวันลืมแล้ว สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการจะพัฒนาไปมากแค่ไหน
7. หมั่นสังเกตสิ่งที่เด็กสนใจ สนับสนุนเขาไปให้สุดทาง
ในระหว่างการชวนทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างจินตนาการ อย่าลืมสังเกตว่าเด็กๆ มีความสุขกับกิจกรรมแบบใดมากที่สุด กิจกรรมใดที่เด็กมักจะชวนพูดคุยอยู่เสมอ กิจกรรมไหนที่เด็กใช้เวลาและความคิดอย่างเนิ่นนานไม่มีเบื่อ การวาดภาพ? การร้องเพลง? การเล่นกีฬา? เครื่องดนตรีประเภทไหนเล่นได้ดีที่สุด? หากพูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สิ่งที่เด็กสนใจและทำได้ดีที่สุดคือ “พรสวรรค์” หรือหากพูดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือสมองส่วนต่าง ๆ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ผลิดอกออกผลมากที่สุดจากการทำกิจกรรมนั้น ยิ่งค้นพบพรสวรรค์ได้เร็วเท่าใด เราก็ยิ่งช่วยสนับสนุนให้เขาเป็น “มืออาชีพ” ได้เร็วเท่านั้น
สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากคือความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่ รวมถึงการชี้นำเด็กๆ ให้เข้าใจผิดเรื่องพรสวรรค์ เช่น การยัดเยียดให้เด็กเรียนเปียโนวันละหลายชั่วโมง เมื่อเด็กเล่นได้ดีกว่าเด็กคนอื่นก็เหมารวมว่าเป็นพรสวรรค์ของเด็ก ส่วนเด็กก็ไม่โต้เถียงเพราะเคยชินกับการถูกสั่งและอยากให้พ่อแม่ยอมรับ แต่ที่จริงแล้ว เมื่อเด็กได้ใช้เวลากับสิ่งใดมากที่สุด ก็มีแนวโน้มจะทำได้ดีกว่าสิ่งอื่นเป็นปกติ ดังนั้นการให้อิสระแก่เด็กๆ ในการเลือกกิจกรรม รวมถึงการหมั่นถามเรื่องความคิด-ความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่าสิ่งนั้นคือความสนใจของเด็กจริงๆ หรือแค่สิ่งที่ถูกผู้ใหญ่บังคับให้เป็น
8. อดทน อย่าท้อ รอจนกว่าจะผลิบาน
เคล็ดลับข้อสุดท้ายเป็นเคล็ดลับที่ง่ายที่สุดและยากที่สุดพร้อมกัน การเฝ้ามองการเติบโตของเด็กคนหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ แต่กว่าจะถึงเส้นชัย มีอุปสรรคมากมายที่ต้องฝ่าฟันร่วมกับเจ้าตัวเล็ก ต้องยอมรับว่าทั้งเด็กและเราไม่ได้น่ารักทุกวัน อาจมีบางครั้งที่เราเหนื่อยและเครียดเกินกว่าจะทำใจเย็นๆ เมื่อเห็นลูกทำห้องเละเทะ หรือบางทีเจ้าเด็กน้อยเติบโตขึ้นและอยู่ในช่วงเปลี่ยนวัย ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปอาจทำให้อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เกินจะคาดเดา และตัวเด็กเองก็ยังขาดประสบการณ์ในการควบคุมอารมณ์
สิ่งสำคัญอย่างแรกคือเราจะต้องมีสติอยู่เสมอ วิธีง่ายๆ อย่างการสูดลมหายใจลึกๆ ยังเป็นวิธีที่ได้ผล เพราะทำให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียดได้รวดเร็ว การจินตนาการถึงอนาคตที่เด็กน้อยจะเติบโตขึ้นไปเป็นที่พึ่งของเราหรือของสังคมทำให้เรายังไม่สิ้นหวังในการดูแลเขา กำหนดระดับของกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันเอาไว้ เช่น การไม่ทำลายข้าวของในบ้าน แต่พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “ผิด” หรือ “ห้าม” แต่ควรพูดคุยด้วยเหตุผลหรือสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้าขว้างจานแตกทำให้ไม่มีภาชนะใส่ข้าว ทำแบบนี้ทำให้แม่เสียใจ เป็นต้น นอกจากจะต้องรับมือกับอารมณ์ของหนูน้อย การรับมือกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กบางทีก็ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ ยิ่งในวัยช่างเรียนรู้เป็น “เจ้าหนูจำไม” เด็กจะยิ่งมาพร้อมกับคำถามมากมายมหาศาลที่เกินกว่าเราจะคาดเดาหรือตอบได้ทั้งหมด
การตัดปัญหาด้วยคำสั่ง “ห้ามทำ” “ห้ามถาม” การแก้ปัญหาด้วยการสาดอารมณ์โกรธกลับใส่เด็ก การลงไม้ลงมือ หรือแม้กระทั่งการเมินเฉย ตอบคำถามเด็กแบบขอไปที ทั้งหมดนี้คือยาพิษที่กัดกร่อนกระบวนการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ความกล้าหาญในการคิดสิ่งใหม่ ๆ จะลดลงไปตามคำสั่งที่ผู้ใหญ่บังคับเด็กให้ทำตาม จนกระทั่งเขาไม่กล้าคิดและยอมทำตามคำสั่งของคนอื่นทั้งหมดเพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับตนเอง การหมดความอดทนของผู้ใหญ่ครั้งหนึ่งจึงอาจส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กคนหนึ่งมากกว่าที่คิด
การสร้างเด็กที่เปี่ยมจินตนาการสักคนอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากทำได้เพียงสักคนก็อาจเพียงพอจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะจินตนาการทำให้มนุษย์ทำสิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้มานักต่อนัก มนุษย์เคยฝันว่าจะบินบนฟ้าอย่างนก ด้วยจินตนาการก็ทำให้เกิดเครื่องบินขึ้นมาได้ ดังที่มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักมวยของโลกกล่าวว่า “ผู้ไร้จินตนาการย่อมไร้ปีก” (The man who has no imagination has no wings.) ยิ่งในยุคที่ปัญหาต่าง ๆ ผุดขึ้นมารุมเร้าโลกใบนี้ ก็ดูเหมือนว่าโลกยิ่งต้องการ “ปีก” ที่จะพามนุษยชาติข้ามพ้นปัญหาเหล่านั้น ก็มิใช่เพราะปีกนั้นหรือที่ทำให้มนุษย์โบยบินไปได้ไกลถึงในห้วงอวกาศอันไกลโพ้น และชาว TK Park เชื่อว่าปีกของคนรุ่นใหม่จะพามนุษยชาติบินไปได้ไกลมากกว่าที่เคยเป็นมา
รายการอ้างอิง
Bipasha Bhatia. (2019). 10 Easiest Ways to Sharpen Your Child's Imagination. Retrieved January 28, 2021, from https://www.moms.com/sharpen-encourage-children-imagination-easiest-best-creative-ways
Joanna Mazewski. (2019). Talking A Lot To Your Kids Has Benefits When They're Older. Retrieved January 28, 2021, from https://www.moms.com/benefits-of-talking-to-your-kids-according-to-science
Mehdi Toozhy. (2015). 6 Simple Steps to Handle Your Child's Mood Swings. Retrieved January 28, 2021, from https://www.huffpost.com/entry/6-simple-steps-to-handle-your-childs-mood-swings_b_7180944
Paula Bernstein. (2013). Why Art and Creativity Are Important. Retrieved January 28, 2021, from https://www.parents.com/toddlers-preschoolers/development/intellectual/why-art-and-creativity-are-important
Rutuja Chitnis. (2018). Top 40 Fun Indoor Games for Kids. Retrieved January 28, 2021, from https://parenting.firstcry.com/articles/top-40-fun-indoor-games-for-kids
Steve Brown. (2016). Want Your Child to Be Creative? Read a Bedtime Story. Retrieved January 28, 2021, from https://www.redapplereading.com/blog/2016/11/want-your-child-to-be-creative-read-a-bedtime-story