“องค์ชายสาม 'ฉีเยวี่ยน' ย้อนอดีตกลับมาเกิดใหม่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อให้ชาตินี้มีชีวิตยืนยาวนาน เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับศึกชิงบัลลังก์มังกรอีก” คำโปรยของนิยายวายเรื่อง องค์ชายสามช่างไม่เอาไหน โดยนักเขียนนามปากกา D-Dindin ที่ได้รับการตอบรับจากนักอ่านบนโลกออนไลน์ จนได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของนิยายวายทำให้นักอ่านหลายคน อยากจับปากกามาเขียนนิยายวายตามสไตล์ของตัวเอง ซึ่ง D-Dindin นักเขียนสาววัย 25 ปี ที่นำนิยายจีนมาผสมผสานกับนิยายวาย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับนักอ่าน และยกระดับการเขียนนิยายวายให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
ความหมายนิยายวาย
D-Dindin เริ่มเล่าถึงความหมายของนิยายวาย มาจากคำว่า “ยาโอย (yaoi)” มีความหมายว่า ชายรักชาย ส่วนคำว่า “ยูริ (Yuri)” หมายถึงหญิงรักหญิง นิยายแนวนี้ตัวละครจะมีความชอบเพศเดียวกัน ซึ่ง 2 – 3 ปีมานี้ มีนักอ่านไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อนอ่านกันแบบใต้ดินบนโลกออนไลน์ แต่ตอนนี้สังคมไทยเปิดรับความคิดหลากหลายทางเพศมากขึ้น และมีซีรี่ส์วาย เข้ามาฉายมากขึ้น ทำให้ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง จนนักเขียนหลายคนมีรายได้และงานตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก
สำหรับวงการนักเขียนนิยายวายไทย ส่วนใหญ่เขียนโดยให้ตัวละครเป็นแบบชายรักชาย การที่นิยายวายเป็นที่นิยมขึ้นมา ส่วนหนึ่งอาจเพราะนักอ่านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงเริ่มจากความต้องการทราบความรักในแบบของผู้ชาย ซึ่งเสน่ห์นิยายแนวนี้ คนอ่านจะเหมือนคนที่เฝ้าดูตัวละครอยู่ห่างๆ และนักอ่านจะค่อยๆ เติบโตไปกับตัวละครนั้น โดยไม่เอาตัวตนของเราลงไปใส่แทนตัวละครหลัก
ส่วนตัวด้วยความที่อ่านนิยายวายมาตลอด ทำให้อยากเริ่มเขียนตามแบบที่ตัวเองชอบ เริ่มแรกจึงเขียนลงบนออนไลน์ และเริ่มจริงจังขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ครั้งแรกที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เขียนลงบ้างเป็นงานอดิเรกในช่วงว่างงานหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย
ช่วงแรกหัดเขียนแนวแฟนฟิค ไอดอลเกาหลี เพราะส่วนตัวก็ติดตามศิลปินเกาหลีอยู่ คนอ่านส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับของไอดอล แต่ด้วยตัวละครที่มีตัวตนจริง ทำให้การสร้างสรรค์ตัวละครมีข้อจำกัด ด้วยความเคารพในตัวศิลปิน เลยหันมาเขียนนิยายวาย ที่สามารถวางโครงเรื่องและออกแบบตัวละครได้อิสระมากขึ้น
ด้วยความชอบอ่านนิยายแฟนตาซี เลยอยากนำไอเดียมาผสมผสานในนิยายวาย เพราะนิยายวายยุคแรก เนื้อหาเน้นเรื่องความรักใคร่ของตัวละคร พอลองเขียนเรื่อง องค์ชายสามช่างไม่เอาไหน ลงในเว็บไซต์ ReadAWrite ก็มีคนอ่านเข้ามาติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ทำให้มีแรงผลักดัน จนทยอยเขียนจบ 105 ตอน ซึ่งใช้เวลาเขียน 6 เดือน หลังจากนั้นก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมาเพื่อนำไปตีพิมพ์ ทำให้มีรายได้จากการเขียนมากขึ้น
ผสมผสานนิยายจีน
แต่การเป็นนักเขียนนิยายวาย ที่ได้รับการยอมรับจากนักอ่านไม่ใช่เรื่องง่าย D-Dindin ยอมรับว่า สิ่งที่ยากคือการเขียนให้จบ เพราะตอนนี้ตามเว็บไซต์ต่างๆ มีนักเขียนมากมาย แต่หลายคนพอเขียนไปแล้วไม่มีเสียงตอบรับจากนักอ่านก็เลิกเขียน ทำให้นิยายที่เขียนค้างไว้ไม่จบสมบูรณ์
การจะเขียนนิยายได้นอกจากต้องเป็นนักอ่านงานที่หลากหลายแล้ว การเป็นนักเขียนนิยายวายที่ได้รับการตอบรับจากคนอ่าน ในระยะแรกต้องหาแนวทางของตัวเองให้เจอก่อน เพราะจะทำให้เราเขียนง่าย ทั้งในเรื่องของการวางโครงเรื่อง รวมถึงพฤติกรรมของตัวละครที่จะทำให้เรื่องราวชวนให้ผู้อ่านติดตาม
โดยก่อนที่จะมาเขียนเรื่ององค์ชายสามช่างไม่เอาไหน ได้เขียนนิยายเรื่องรังหนูรูกระต่าย ที่เป็นนิยายแฟนตาซี โดยตัวละครทั้งหมดเป็นสัตว์ตัวผู้ แต่เขียนจบช้ากว่าเรื่ององค์ชายสามฯ เพราะมีคนอ่านติดตามน้อยกว่า จึงมีกำลังใจในการเขียนเรื่ององค์ชายสามฯ มากกว่า แต่สุดท้ายก็กลับมาเขียนจนจบ และมีนักอ่านมาตามดูย้อนหลัง
น่าสนใจว่า ตอนเขียนเรื่ององค์ชายสาม ตอนแรกๆ ยังมีคนอ่านไม่มาก แต่พอมีคนไปรีวิวในทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค ทำให้มีคนเข้ามาอ่านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา และด้วยความที่ธีมเรื่องเล่าถึงการกลับมาเกิดใหม่เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเองในอดีต ซึ่งเป็นธีมนี้ได้รับความสนใจจากคนอ่านอย่างมาก เพราะตอนนั้นมีทั้งกระแสของละครบุพเพสันนิวาส และซี่รี่ส์จากต่างประเทศทำให้ได้รับความสนใจ
ที่ผ่านมาเคยคุยกับคนอ่านผ่านออนไลน์ หลายคนบอกว่า สิ่งที่ชอบคือสำนวนภาษาที่อ่านง่าย และการดำเนินเรื่องของตัวละครที่น่าติดตาม เน้นการพัฒนาของตัวละครไปพร้อม ๆ กับการดำเนินเรื่อง นักอ่านจึงรู้สึกผูกพันไปกับตัวละคร เพราะจริงๆ แล้วนิยายวายที่ดี โดยส่วนตัวไม่จำเป็นต้องเน้นแค่เรื่องรักใคร่ แต่ยังมีมุมมองอื่นๆ ที่คนอ่านจะได้รับรู้ผ่านตัวหนังสือ โดยเฉพาะนิยายจีนโบราณ ที่แม้จะไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรง แต่ชอบอ่านนิยายจีน ทำให้มีทักษะในการเล่าเรื่อง ประกอบกับการค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก จึงทำให้เรื่องนี้จบลงอย่างเป็นที่น่าพอใจในที่สุด
“หลังจากนิยายวายเรื่ององค์ชายสาม ได้รับการตอบรับอย่างดี ก็เขียนเรื่อง Dunes 'Neath Arabian moons ที่เป็นแนวอาหรับในทะเลทราย และเรื่องสมุดพกของปีศาจลวงฝัน ที่เป็นฉากแนวยุโรป ซึ่งการเขียนหลากหลายแนวไม่ซ้ำกัน ถือเป็นการยกระดับการเขียนของตัวเอง แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากคนอ่านให้กลับมาเขียนนิยายวายแนวจีนโบราณอีกครั้ง” D-Dindin เล่าถึงกระแสตอบรับ
เปิดใจลองอ่านนิยายวาย
ตอนนี้กระแสนิยายวาย ของนักเขียนจีนที่แปลเป็นไทยได้รับการตอบรับดี เพราะนักเขียนจีนมีความแตกต่างในด้านเนื้อหาและพล็อตเรื่อง ที่มีความยาวอย่างต่ำ 4 – 5 เล่ม ขณะที่การดำเนินเรื่องละเมียดละไมในการเล่าถึงวัฒนธรรมจีนโบราณ
ขณะที่นักเขียนนิยายวายของไทยก็มีความโดดเด่น เขียนพล็อตเรื่องดีไม่แพ้นักเขียนต่างชาติก็มีเยอะ โดยนิยายวายที่ได้รับการตอบรับส่วนใหญ่มีความยาวของเรื่องอยู่ที่ประมาณ 1-2 เล่ม
สำหรับคนที่อยากเริ่มอ่านนิยายวาย อยากให้เริ่มอ่านจากแนวที่ตัวเองชอบก่อน เพราะนิยายวายมีทั้งแนวสืบสวนสอบสวน , สังคม , ผี , ตลก ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่แนวรัก หรือเรื่องเพศ เพราะถ้าลองเปิดใจอ่าน เราจะเห็นมุมมองอีกหลายด้านที่แตกต่างจากนิยายทั่วไป
“สำหรับคนที่อยากเขียน ลองวางโครงเรื่องแล้วค่อยๆ เขียนทีละตอนลงออนไลน์ เพราะตอนนี้มีหลายเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนหน้าร้านให้คนเข้ามาอ่าน เช่น readawrite , Dek-D , thaiboyslove , joylada ถ้าเรื่องที่เราเขียนได้รับความสนใจจากคนอ่านจะมีเงินปันผล หรือมีสำนักพิมพ์ติดต่อมาเพื่อขอพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งการที่นิยายของเราได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นความภูมิใจของคนเขียน”
ก้าวต่อไปของนิยายวาย
อนาคตของวงการนิยายวายไทย คาดว่าจะมีคนอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา และวัยทำงาน เพราะมีสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ลงมาจับงานวายมากขึ้น อีกทั้งมีนิยายแปลและซีรีย์วายจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงมีอิทธิพลสร้างกลุ่มนักอ่านที่มากขึ้น และถือเป็นเรื่องดีของนักเขียนไทย
นิยายวาย ถือเป็นปรากฏการณ์การอ่านของสังคมไทยและทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย และเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่นักอ่านจะได้เป็นส่วนหนึ่งในแรงผลักดันให้นักเขียนไทยสร้างผลงานอันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต