ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเงินทุน แนวคิดแบบบริโภคนิยม และเต็มไปด้วยความผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อิสรภาพทางการเงิน” กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งแสวงหา หรืออาจกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า อิสรภาพรูปแบบนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิยามความสำเร็จในโลกร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าประหลาดใจนัก หากเราจะเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน หรือเห็นเจ้าของธุรกิจที่มีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ รวมไปถึงผลวิจัยจากสถาบันต่างๆ ที่พบว่า ผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพต่างมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงานก่อนวัยเกษียณอายุมากขึ้นจนน่าตกใจ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะใครๆ ต่างก็อยากให้ “เงินทำงาน” และรีบสร้าง “ความมั่นคง” เพื่อที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้น ผู้คนที่เลือกใช้ชีวิตตรงข้ามกับค่านิยมดังกล่าว หรือเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่าง “คนพเนจร” หรือที่ตรงกับคำว่า “Nomads” ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ใครคือ Nomads และอะไรคือเหตุผล?
หากว่าตามความจริง วิถีชีวิตแบบร่อนเร่พเนจร หรือ Nomads เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยบรรพกาล ในห้วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนและการตั้งถิ่นฐาน และอาศัยการเดินป่าล่าสัตว์เพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางธรรมชาติ มนุษย์โบราณหรือสมาชิกของชนเผ่าส่วนใหญ่ต้องออกเดินทางไปทั่วเพื่อสั่งสมทรัพยากร กักตุนเพื่อการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีนี้เพื่อเอาตัวรอดจากชนเผ่าที่แข็งแกร่งกว่า และหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติไปด้วยในเวลาเดียวกัน
แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึง “Nomad” หรือวิถีแบบร่อนเร่พเนจรของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ย่อมไม่ได้หมายถึงการใช้ชีวิตในป่า หรือแยกตัวออกจากสังคมเพื่อออกไปพเนจรเหมือนกับมนุษย์ยุคโบราณ หากลองค้นหาแฮชแท็กคำว่า “Nomad” ในอินสตาแกรม ที่มีอยู่กว่า 2 ล้านโพสต์ คำๆ นี้จะเชื่อมโยงกับผู้คนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และหลายๆ ครั้งจะมาพร้อมกับแฮชแท็กคำว่า “Wanderlust” หรือกลุ่มคนที่หลงใหลในการเดินทางนั่นเอง
ในแง่นี้ การใช้ชีวิตแบบร่อนเร่พเนจรในปัจจุบัน จึงผูกโยงกับแนวคิดของชนชั้นขุนนางในยุโรปสมัยกลางเสียมากกว่า เพราะในช่วงนั้น การร่อนเร่พเนจรไม่ใช่รูปแบบการดำรงชีวิตพื้นฐาน หากได้กลายเป็นเรื่องของชนชั้นสูงที่รักอิสระ และมีเวลามากพอที่จะออกไปเปิดหูเปิดตาสัมผัสโลกภายนอก โดยไม่จำเป็นต้องกังวลกับการประกอบอาชีพ หรือสถานะทางการเงินของตัวเองมากเท่าไหร่นัก
ทำให้ความหมายของ “Nomad” ที่เชื่อมโยงกับคนที่เลือกใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจรในยุคสมัยใหม่ จึงเป็นเรื่องการให้คุณค่าแก่ความเป็นอิสระ มากกว่าที่จะเลือกสะสมทรัพย์สิน หรือแสวงหาความมั่นคง งานวิจัยของ Kira M. Newman บรรณาธิการบริหารศูนย์วิจัย Greater Good ที่สำรวจวิถีชีวิตของชาวอเมริกันระบุว่า ชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นฐานมากขึ้น โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ครั้งตลอดชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และ 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ยอมรับว่าพวกเขาไม่รู้ชื่อเพื่อนบ้านของตัวเองสักคนเลยด้วยซ้ำ จากตรงนี้หากลองวิเคราะห์ลึกลงไป แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูย้อนแย้งเอามากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนต่างเลือกใช้ชีวิตแบบร่อนเร่พเนจรมากขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กลับไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากแนวคิดเรื่องทุนนิยมและค่านิยมแบบบริโภคเอง เพราะแนวคิดแบบทุนนิยมเร่งเร้าให้ผู้คนต่างแข่งขันทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เพื่อนำรายได้มาตอบสนองความต้องการที่นอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ดำรงชีวิตระดับพื้นฐาน จนสุดท้ายพวกเขาจึงไม่มีอิสรภาพที่แท้จริง แต่กลับต้องใช้เวลาทั้งหมดขลุกอยู่ในออฟฟิศ ละทิ้งทั้งชีวิตครอบครัวที่ควรจะมี รวมถึงความสุขส่วนตัวของตัวเอง และเมื่อคนจำนวนหนึ่ง หรือพวก Nomads คิดว่ามีบางสิ่งขาดหายไปเนื่องจากรูปแบบชีวิตที่จำเจซ้ำซากแบบนี้ พวกเขาจึงปฏิเสธการทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น และเลือกที่จะเดินทาง เปลี่ยนถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อได้ใช้เวลา และมีความสุขในแบบที่ตัวเองต้องการ
ชีวิตของ Digital Nomads และทักษะที่จำเป็น
แม้พวก Nomads จะดูเหมือนมีอิสระกว่าคนอื่น แต่หากลองถาม Cedric หรือชาวฝรั่งเศสที่เลือกเดือนทางร่อนเร่มาเป็นระยะเวลาหลายปี คำตอบที่ได้อาจน่าฉงน และเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายอยู่พอสมควร เพราะแม้ Cedric จะเคยใช้เวลาร่อนเร่นานที่สุดถึง 17 เดือน เดินทางตั้งแต่กรุงปารีสไปจนถึงปาปัวนิวกินี แต่สำหรับเขา มีทักษะหลายๆ อย่างที่ชาว Nomads บางคนเลือกที่จะมองข้ามไป ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกดิจิทัล หรือในโลกที่เราต่างพึงพาเทคโนโลยี และเชื่อมต่อกันอยู่ตลอดเวลา และหากขาดทักษะเหล่านี้ ก็อาจทำให้ชีวิตร่อนเร่แบบ Nomads จืดชืด ไม่มีความสุขเหมือนกับที่หลายคนวาดฝันเอาไว้
รักษาสมดุล ปัจจัยหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ และทำให้จำนวนประชากรของ Nomads เพิ่มขึ้นมากก็คืออินเทอร์เน็ต หรือการเชื่อมต่อที่ทำให้คนหลายล้านคนสามารถทำงานได้จากทุกที่ และทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ แต่ข้อควรระวังก็คือ วิถีชีวิตแบบ Nomads มักจะทำให้ควบคุมเวลาลำบากกว่าการนั่งทำงานในออฟฟิศ ดังนั้น ชาว Nomads จึงควรสร้างกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับการทำงาน และแบ่งเวลาของตัวเองให้ดี มิเช่นนั้นการเดินทางแต่ละครั้งอาจจะกลายเป็นฝันร้าย และทำให้เครียดมากกว่าจะสร้างความทรงจำดีๆ ก็เป็นได้
วางแผนล่วงหน้า พึงระลึกไว้เสมอว่า หากเลือกวิถีแบบ Nomads สิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่าเงินในกระเป๋าคือแผนการสำหรับวันพรุ่งนี้ เพราะขณะที่ผจญภัยร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือต้องเอาตัวเองไปอยู่กับสถานที่แบบไหน และจะต้องรับมือยังไง เพราะฉะนั้นจึงควรเตรียมแผนของตัวเองให้ดี อย่างน้อยควรหาข้อมูลเกี่ยวกับ co-working space หรือคาเฟ่ที่พร้อมให้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนั่งทำงานเอาไว้บ้าง เพราะคงไม่ดีแน่ หากเพื่อนร่วมงานทุกคนรู้ว่าเรากำลังเดินทางเตร็ดเตร่ ทิ้งความรับผิดชอบ ขณะที่คนอื่นกำลังจดจ่อกับหน้าที่ของพวกเขา
ฝึกฝนทักษะเทคโนโลยีให้รอบด้าน การเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจทำให้ชาว Nomads มีเรซูเม่ที่ไม่คงเส้นคงวาอยู่สักหน่อย อีกทั้งอาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนงานตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละประเทศหรือแต่ละท้องถิ่นอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม งานที่ชาว Nomads เลือกทำมักจะมีลักษณะเป็นการทำงานทางไกล (Remote Working) ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอาศัยความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นจึงควรฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัว และโอกาสใหม่ๆ ที่อาจเข้ามาในอนาคต ทั้งทักษะทางด้าน Coding การออกแบบกราฟฟิก หรือการเขียน Digital Content ในรูปแบบต่างๆ เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และทำให้สามารถใช้เวลาท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
เปิดรับความสัมพันธ์อยู่เสมอ แม้ความเหงาจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบ Nomads แต่ไม่ได้หมายความว่าคนพเนจรทุกคนจะต้องล้มเหลวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ หรือไม่สามารถสร้างมิตรภาพที่ดีกับคนอื่นๆ ในทางตรงข้าม การเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ จะเรียกร้องการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นมากขึ้น เพราะชาว Nomads มักใช้ชีวิตแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลาสั้นๆ การเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสานสัมพันธ์ที่ดีกับคนท้องถิ่นอยู่เสมอจะช่วยให้การใช้ชีวิตในแต่ละช่วงเวลาราบรื่น และช่วยลดค่าครองชีพได้จากการพึ่งพาความช่วยเหลือจากพวกเขา
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตแบบ Nomads ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งครอบครัวของตัวเองไว้เบื้องหลัง ชาว Nomads ควรจัดเวลาสำหรับเทศกาลสำคัญๆ หรือกลับไปใช้เวลากับครอบครัวบ้าง อาจเป็นการรวมตัวช่วงวันขึ้นปีใหม่ หรือร่วมงานแต่งงานของใครบางคน เพราะคงไม่ดีแน่ หากจะเลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่พลาดช่วงเวลาสำคัญๆ ของครอบครัวหรือเพื่อนสนิท เพราะอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชาว Nomads รู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิต
หากอยากจะเริ่มลองใช้ชีวิต หรือเป็นส่วนหนึ่งของชาว Nomads ดูบ้าง ก็ควรใช้เวลาเก็บเงินสักก้อน มองหางานที่ใช่ หรืองานที่ทำให้สามารถแบ่งเวลาท่องเที่ยวและการทำงานได้อย่างลงตัว จากนั้นก็แบกเป้ออกไปสัมผัสโลกภายนอกกันได้เลย เพราะงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า นอกจากวิถีแบบ Nomads จะทำให้เรามีอิสระมากขึ้น รู้สึกมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นแล้ว คนที่ออกเดินทางบ่อยๆ ก็มักจะรู้จักตัวเอง และเข้าใจตัวเองได้มากกว่าคนอื่น
ซึ่งจากตรงนี้ การเข้าใจตัวเอง มักทำให้เหล่านักพเนจรสามารถค้นพบ “บ้าน” อันหมายถึง วิถีชีวิต วัฒนธรรม และผู้คน ที่พวกเขารู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ได้มากกว่าด้วย โดยไม่ต้องยึดติดกับสถานที่ หรือค่านิยมต่างๆ ที่พวกเขาเรียนรู้มาในอดีต ต่างกับคนที่เลือกอยู่ติดที่ตลอดเวลา เพราะในหลายๆ ครั้ง พวกเขาอาจไม่รู้ว่ามีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและรอให้เรียนรู้อีกมากมายขนาดไหนกำลังรอพวกเขาอยู่ และไม่แน่ว่า ประสบการณ์เหล่านั้นก็อาจช่วยเปิดมุมมอง และสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจ ทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขมากขึ้นก็เป็นได้
อ้างอิง
บทความ
Czarniawska, B. (2014). Nomadic work as life-story plot. Computer Supported Cooperative Work
(CSCW), 23(2), 205-221.
Kohl, I. (2010). Modern nomads, vagabonds, or cosmopolitans? Reflections on contemporary Tuareg
society. Journal of anthropological research, 66(4), 449-462.
เว็บไซต์
https://peteandrachaelherschelman.com/means-modern-nomad/
https://www.roam.co/blog/community/futureofwork/modern-nomad-breaking-rules/
https://www.roam.co/blog/community/futureofwork/sever-desk-trek-become-digital-nomad/
https://greatergood.berkeley.edu/article/item/loneliness_of_modern_nomad
https://www.theglobeandmail.com/life/travel/activities-and-interests/meet-a-modern-nomad---hes-travelled-non-stop-for-27-years/article4545095/
https://www.jetsetter.com/magazine/guide-to-living-the-life-of-a-modern-day-nomad/