คาซูมะ อาเนะซากิ ช่างภาพธรรมชาติชาวญี่ปุ่นที่มีความหลงใหลในเสน่ห์ของป่าไม้เป็นพิเศษ เดิมทีงานหลักของเขาคือการถ่ายภาพพืชพรรณธรรมชาติประกอบสารานุกรม ซึ่งเมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่งเขาก็รู้สึกว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้การถ่ายทอดเสน่ห์และความสำคัญของป่าไม้ทำออกมาได้ยาก เขาจึงมองหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอ ให้ดึงดูดความสนใจและเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปยิ่งขึ้น โดยการทำเป็นหนังสือภาพที่มีต้นไม้ใบหญ้าเป็นตัวละครหลัก เน้นนำเสนอเรื่องราวเรียบง่ายลึกซึ้งแฝงคติสอนใจ ทั้งยังปลูกฝังให้เด็กๆ หันมาสนใจธรรมชาติและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย
นอกจากนี้เบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นผลงานแต่ละเล่มยังมีความน่าสนใจ ทำให้เราได้เรียนรู้ 5 สิ่งเหล่านี้จากการฟังบรรยายหัวข้อ ‘เรื่องเล่าจากภาพถ่ายสู่นิทานภาพ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบรรยายระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ ‘Open World through Children’s Picturebooks’ ที่จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
1.คิดต่อยอดจากสิ่งที่ถนัด
จุดเริ่มต้นในการทำนิทานภาพของคุณอาเนะซากิ มาจากความถนัดในเรื่องการถ่ายภาพโดยเน้นธรรมชาติที่เป็นป่าไม้ ที่มีอุดมสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้อยากถ่ายทอดเสน่ห์และความสำคัญของป่าไม้ให้ทุกคนได้รู้จัก
คุณอาเนะซากิเล่าเพิ่มเติมว่า ในตอนแรกเมื่อคิดถึงเรื่องข้อจำกัด ป่าไม้กลายเป็นเรื่องที่ที่ถ่ายทอดได้ยาก ก็พยายามคิดว่ามีสื่ออะไรก็ตามที่ทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ซึ่งเขามีทักษะและอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว พอใส่ไอเดียใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไป โดยเลือกนำเสนอในรูปแบบนิทานภาพที่มีเรื่องราวชวนติดตาม ผลงานของเขาจึงมีความโดดเด่นน่าสนใจและได้รับความนิยมในวงกว้าง
สมัยนี้การถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น เพราะสามารถใช้สมาร์ทโฟนถ่ายได้ง่ายๆ ในบางกรณีสมาร์ทโฟนที่พกพาสะดวกและหยิบขึ้นมาถ่ายได้ทันทีอาจตอบโจทย์ได้ดีกว่ากล้องใหญ่ด้วยซ้ำ การสร้างสรรค์ผลงานจากภาพถ่ายจึงน่าจะแพร่หลายมากขึ้นและเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้
2. ผลงานที่ดีต้องใช้เวลาและความทุ่มเท
はるにれ (Harunire) นิทานภาพเล่มแรกของคุณอาเนะซากิ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1978 ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของต้นเอล์ม (Elm Tree) ต้นหนึ่งในระยะเวลาหนึ่งปี โดยกว่าจะออกมาเป็นผลงานเล่มแรกใน ขั้นตอนแรกคุณอาเนะซากิ ลองใช้ดินสอร่างรายละเอียดคร่าวๆ เรื่องการวางภาพ และเริ่มหาต้นไม้อยู่ที่ไหน ตอนแรกก็คิดว่าต้นไม้ในอุดมคติจะมีไหม อยากได้ต้นใหญ่ๆ ที่มีกิ่งก้านแผ่ขยายในทุ่งกว้าง
ด้วยภูมิประเทศของประเทศญี่ปุ่น ทำให้คุณอาเนะซากิต้องเดินทางไปทั่วภูมิภาคโทโฮกุและฮอกไกโด และใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีครึ่งเพื่อตามหาต้นไม้ใหญ่บนทุ่งกว้างในอุดมคติ โดยต้นไม้ที่เป็นตัวละครหลักอยู่ในภูมิภาคฮอกไกโด
หลังจากนั้นเมื่อได้ต้นไม้ต้นใหญ่ตามที่ต้องการแล้ว ใช้ระยะถ่ายภาพประมาณสองปีกว่า มีการถ่ายช่วงเวลาที่แตกต่างกันและใช้ต่างฤดูกาล และบางครั้งก็ต้องรอถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิติดลบถึง 30 องศา ซึ่งตอนนั้นเขายังใช้ชีวิตเป็นช่างภาพอยู่ที่โตเกียว พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งค่อยเดินทางไปถ่ายภาพที่ฮอกไกโดจึงใช้ระยะเวลานาน
ในระหว่างที่ถ่ายภาพในตอนแรกที่มีการวางแผนต้นไม้ใหญ่เป็นตัวเอก และคิดว่าจะรวมธรรมชาติอื่นๆ รอบตัวด้วย แต่ระหว่างถ่ายทำไอเดียเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วก็เลยมีตัวละครเอกเป็นต้นเดียวคือต้นไม้ใหญ่
はるにれ (Harunire) เป็นหนังสือที่ปราศจากถ้อยคำบรรยายใดๆ มีเพียงภาพถ่ายที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ในแต่ละฤดูกาล เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านสร้างเรื่องราวขึ้นเองในใจ ถือว่าเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในยุคสมัยนั้น และหันมาสนใจธรรมชาติยิ่งขึ้น ผลงานของเขาจึงได้รับความสนใจในวงกว้างและเป็นหมุดหมายที่ดีในการปูทางไปสู่ผลงานเล่มต่อๆ ไป
เล่มที่สอง คือ ふたごのき (Futago no ki : เจ้าต้นแฝด) คุณอาเนะซากิยังใช้พื้นที่เก็บข้อมูลในภูมิภาคฮอกไกโด ใช้เวลาในการเก็บภาพสองปีครึ่ง และมีการนำเสนอโดยถ่ายภาพจากจุดเดิมองศาเดิมแต่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล ในบางครั้งต้องมีการถ่ายภาพอุณหภูมิ -25 องศา มีคำบรรยายภายในตัวเล่ม โดยคุณอาเนะซากิ ได้ร่วมมือกับนักเขียนท่านอื่น ซึ่งเนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่าง 2 ต้น ผ่านฤดูกาลต่างๆ
3. แฝงคุณค่าในผลงาน
ผลงานของคุณอาเนะซากิ นอกจากจะหยิบเอาความสวยงามของธรรมชาติรอบตัวมามอบความเพลิดเพลินให้แก่เด็กๆ แล้ว เขายังพยายามปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเคารพธรรมชาติและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น きほんの木 花がきれい (ต้นไม้แรกเริ่ม ดอกไม้งดงาม) และきほんの木 大きくなる (ต้นไม้แรกเริ่ม เติบโตสูงใหญ่) หนังสือชุดต้นไม้พื้นฐานที่เล่าถึงต้นไม้ใหญ่และดอกไม้สิบประเภทที่อยากให้เด็กญี่ปุ่นรู้จัก เพื่อชักชวนเด็กๆ มาสัมผัสธรรมชาติในระดับหนึ่ง แล้วถ้าสนใจจึงค่อยหาความรู้เพิ่มเติม
โดยเน้นเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมที่กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือจรดใต้ เพื่อถ่ายทอดจุดเด่นของประเทศญี่ปุ่นที่มีภูมิอากาศแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาพรวมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศควบคู่ไปด้วย
4. ออกแบบวิธีนำเสนอให้เหมาะกับผู้รับสาร
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของหนังสือนิทานภาพส่วนใหญ่เป็นเด็ก คุณอาเนะซากิจึงออกแบบวิธีการนำเสนอให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดความอยากเรียนรู้ เช่น หนังสือนิทานภาพ はっぱじゃないよぼくがいる (ไม่ใช่ใบไม้นะ ตัวผมต่างหากที่อยู่ตรงนี้) รวบรวมภาพใบไม้หลากหลายแบบสามารถพบได้รอบตัว ที่ถูกหนอนและแมลงกัดกินใบจนเหมือนใบหน้าคนมานำเสนอ ทำให้เด็กๆ ดูแล้วก็จะรู้สึกว่าหน้าเหมือนเพื่อนหรือคนรู้จัก
หนังสือนิทานภาพ 森はオペラ (ผืนป่าคือโอเปร่า) เนื้อหาหลักเพื่อต้องการสื่อสารธรรมชาติ เสนอรายละเอียดของป่าเหมือนโรงละครโอเปร่าที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง มีพืชพรรณทั้งเล็กใหญ่
การสร้างสรรค์นิทานภาพเหล่านี้เพื่อปลูกฝังเรื่องธรรมชาติตั้งแต่เด็ก เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ถ้าเด็กๆ ไม่เข้าใจพื้นฐานและเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก ก็จะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ ทำให้เด็กๆ ตระหนักและสนใจธรรมชาติรอบตัว มีความช่างสังเกตยิ่งขึ้น
5. วางโครงเรื่องให้แข็งแรง
ข้อจำกัดของการทำนิทานภาพคือบางครั้งสิ่งที่คิดไว้ในหัวกับภาพที่กดชัตเตอร์ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนพอสมควร ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องวางสตอรี่ของเรื่องให้แข็งแรงตั้งแต่แรก โดยในระหว่างค้นหาสิ่งที่ต้องการถ่าย คุณอาเนะซากิจะคิดอยู่เสมอว่า ภาพถ่ายสำหรับนิทานภาพแตกต่างจากภาพถ่ายสำหรับสารานุกรม ภาพถ่ายที่ดีสำหรับนิทานภาพคือภาพถ่ายที่มีเรื่องราวลอยขึ้นมาอยู่ในนั้น ซึ่งบางทีเรามีไอเดียที่ต้องการนำเสนอ แต่ยังไม่สามารถถ่ายภาพอย่างที่ต้องการได้ทันทีก็ควรเผื่อเวลาเอาไว้ด้วย อย่างหนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ ก็มีบางภาพที่ถ่ายเก็บไว้มาหลายสิบปีแล้วจึงค่อยนำมารวมเล่ม