การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมใหม่ในยุคหลังโควิด 19 เพื่อความยั่งยืนของชีวิตคนเมือง นับเป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ซึ่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นการมองหาคำตอบว่าเมืองในอนาคตแบบไหน ที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อ
ในงาน Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้วิเคราะห์ถึงการสร้างเมืองแห่งอนาคต ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนกับคนรุ่นปัจจุบัน และรุ่นถัดไปในอนาคต
ปัญหาเมืองที่ต้องเปลี่ยนแปลง
จากสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเกิดความวิตกกังวล และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงมีการพูดถึงการจัดการเมืองในอนาคต ที่จะทำให้คนในเมืองปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค
ซึ่งปัจจัยภัยคุกคามจากการแพร่ระบาด ส่วนหนึ่งเกิดจากความแออัดภายในเมือง ทั้งการตั้งบ้านเรือน และการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีการกระจุกตัวของผู้คน จะต่างจากพื้นที่ชนบทที่มีการตั้งบ้านเรือนห่างไกลกัน ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อเป็นไปได้ยากกว่า
ในการออกแบบเมืองอนาคต นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วยังมีประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศ เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คนไทยเจอปัญหาฝุ่น pm 2.5 , ไฟป่า, อากาศร้อนจัด, น้ำแล้ง ดังนั้นการออกแบบเมืองอนาคต จะต้องทนทานต่อความผันผวนของสภาพแวดล้อม
อีกปัญหาที่พบแน่ๆ คือความเครียดของคนในเมือง เพราะเมืองมีสิ่งเร้าที่หลากหลาย ทั้งจากการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคนในเมืองมีปริมาณการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น เมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความผ่อนคลาย แต่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิต
ยิ่งในโลกอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI จะทำให้การทำงานของมนุษย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่คอมพิวเตอร์ หรือหุ่นยนต์ ไม่ได้มาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เกิดจากข้อมูลเชิงปริมาณ แต่มาจากความรู้สึกและสัญชาตญาณที่ไม่เป็นระบบตายตัวด้วย การขาดหายไปของความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคต เพราะเราจะมีแต่ประสิทธิภาพ ความแม่นยำ หากคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาจนกลายเป็นระบบควบคุมความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ยิ่งระบบ AI พัฒนาไปไกล มนุษย์ยิ่งจำเป็นต้องพัฒนาในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้น คนก็จะตกงานมากขึ้น เพราะมีทักษะที่แพ้คอมพิวเตอร์ ดังนั้นเมืองจึงควรช่วยทำให้มนุษย์ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย
ขณะเดียวกัน การออกแบบเมืองต้องคำนึงถึงคนในทุกระดับชั้น เพราะที่ผ่านมาการออกแบบเมือง มักจะเอื้ออำนวยให้กับคนที่มีรายได้มากหรือภาคธุรกิจ แต่อย่าลืมว่า สังคมเราอยู่ได้ เพราะมีคนหลายระดับอยู่ร่วมกัน คนรายได้น้อยทำงานให้คนรายได้มาก ฉะนั้นการพัฒนาเมืองในอนาคต จะลืมคนรายได้น้อยไม่ได้ ซึ่งเมืองที่ดีต้องมีการออกแบบ เพื่อที่จะช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำ ให้มีสุขภาวะที่ดีด้วย ไม่ใช่เราปล่อยให้พื้นที่อาศัยของคนเหล่านี้เป็นสลัมแล้วค่อยมาแก้ไข เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากขึ้นและเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ยิ่งในอนาคต คนจะมีความคิดที่ขัดแย้งกันมากขึ้น ทำให้เกิดการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นการออกแบบเมืองที่ดีควรคำนึงถึงพื้นที่เหล่านี้ ที่จะรองรับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งฉุกเฉินและเรื้อรัง เช่น รองรับการประท้วงได้อย่างเป็นระบบ ไม่ส่งผลต่อการจราจรภายในเมือง หรือรองรับผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาประกอบอาชีพในเมือง
เช่นเดียวกับมิติความไม่มั่นคงทางอาหารของเมือง หรือ Food Insecurity เป็นอีกปัจจัยที่การออกแบบเมืองในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญ เพราะเมืองต้องมีศักยภาพในการเลี้ยงคนในเมืองได้บ้างในยามฉุกเฉิน อาจมีการจัดพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อหล่อเลี้ยงคนในเมือง
โดยเฉพาะในพื้นที่ว่างเปล่า เช่นใต้เสาไฟฟ้า หรือใต้ทางด่วน หากมีการจัดการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่การเกษตร มีการติดตั้งแสงไฟที่ทำให้พืชเจริญเติบโต ไม่หวังพึ่งพิงแสงธรรมชาติ ถือเป็นอีกพื้นที่ ซึ่งจะสร้างแหล่งอาหารใหม่ๆ ให้กับเมือง
ส่วนประเด็นปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ก็เป็นอีกปัจจัยที่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจภายในเมือง ยิ่งตอนนี้ในพื้นที่เจ้าพระยาจะเจอกับปัญหาน้ำกร่อย เนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งการออกแบบเมืองที่ดีต้องคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้
ขณะที่ปริมาณขยะในเมืองเพิ่มมากขึ้นโดยขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนการระบาดของโควิด คนเมืองสร้างขยะเกือบ 2 กิโลกรัม/คน แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ขยะในเมืองเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 40 เช่นเดียวกับด้านพลังงาน ในเมืองที่ผู้คนอาศัยหนาแน่น มีความเสี่ยงในการขาดแคลนพลังงาน การวางระบบพลังงานสำรองเพื่อรองรับจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
แนวทางแก้ไขสู่เมืองอนาคต
จากปัญหามากมายที่คนเมืองต้องเผชิญ จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาโครงสร้างเมืองที่เรียกว่า Healable & Wellness Infrastructure ที่จะออกแบบพื้นที่พื้นฐานของเมืองให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น การออกแบบเมืองให้คนสามารถเดินได้ใต้ร่มไม้ มีจุดพักผ่อนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีพิพิธภัณฑ์ให้เข้าฟรี มีสนามกีฬาให้เล่นระหว่างทางกลับบ้าน หรือมีที่ริมทะเลสาบให้นั่งพักผ่อน ดื่มกาแฟกินขนม แล้วค่อยเดินทางกลับบ้าน นี่คือสิ่งที่เราต้องวางแผนในเมืองแห่งอนาคต
ในแนวทางการแก้ปัญหาภัยคุกคามจากการแพร่ระบาด จำเป็นจะต้องออกแบบเมืองให้รองรับกับแนวคิด Physical Distancing ที่จะทำให้คนเว้นระยะห่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะเช่น บนรถเมล์ รถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเริ่มคิดใหม่ วางแผนการออกแบบ เช่น จากเดิมที่ดีไซน์พื้นที่ให้คนเข้าไปแออัดได้ 90 คน ใน 100 ตารางเมตร ก็ต้องออกแบบใหม่ให้กว้างขึ้นเป็น 25 คนต่อ 100 ตารางเมตร เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างกัน และเป็นการควบคุมโรคที่อาจติดต่อกันได้บนรถโดยสารสาธารณะ
เช่นเดียวกับทางเดินสาธารณะ ที่จะต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม เพราะปัจจุบันทางเดินเหล่านี้ค่อนข้างคับแคบ และยิ่งในพื้นที่ไหนมีคนที่เดินเยอะๆ ก็จะเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อได้ เพราะระยะห่างที่ปลอดภัยคือ 1.5 เมตร ดังนั้นพื้นที่ต้องออกแบบให้กว้างขึ้น เฉลี่ย 1 คน ต้องการพื้นที่ 4 ตารางเมตร
ส่วนพื้นที่พักอาศัยในเมือง ต้องมีการออกแบบใหม่ ให้มีระยะห่างของตัวบ้านมากขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต ขณะเดียวกัน ต้องมีดีไซน์เมืองให้ล็อคดาวน์พื้นที่บางส่วนของเมืองได้ เพื่อจำกัดคนในโซนอาศัยของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เดินทางไปมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้เลย และเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้าง
ซึ่งโมเดลการออกแบบบ้านเรือนไทยสมัยก่อนเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการออกแบบบ้านในเมืองอนาคต เพราะเรือนไทยจะไม่ปิดบ้านให้ทึบทั้งหมดแล้วเปิดแอร์ แต่จะมีการแบ่งโซน เป็นเรือนรับรอง ชานบ้าน และเรือนนอน ซึ่งอนาคตแนวคิดนี้จะถูกนำกลับมาใช้กับบ้านที่เป็นอาคารมากขึ้น
ยิ่งตอนนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 การเปิดแอร์ครั้งเดียวทั้งตึกอาจจะไม่เหมาะสม เพราะถ้ามีผู้ที่ป่วยอยู่ในตึกก็จะแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจะมีการแบ่งโซนที่จะติดตั้งระบบปรับอากาศ ตามการใช้งาน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และยังช่วยให้ประหยัดพลังงานไปในตัวด้วย
สำหรับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต และเมืองต้องวางแผนการดูดซับน้ำไว้ในเมืองให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งแต่ก่อนเราออกแบบให้ภูเขาคอยดูดซับน้ำเอาไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมาตามแม่น้ำ แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะภูเขาเราไม่สมบูรณ์เหมือนอดีต ดังนั้นเมืองแห่งอนาคตต้องดีไซน์การจัดการน้ำให้เหมือนฟองน้ำ ที่จะต้องมีพื้นที่สีเขียวรองรับน้ำ เพื่อนำไปใช้ในหน้าแล้ง
ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการน้ำที่ชัดเจนภายในเมือง โดยแบ่งแยกพื้นที่น้ำดี กับน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากอาคาร เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การปล่อยให้ที่บำบัดแล้วกับน้ำเสียไหลมารวมกันอย่างที่เป็นอยู่ การนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จะยากมาก และต้องเสียต้นทุนในการบำบัดน้ำเพิ่ม
นอกจากนี้ ควรมีการออกกฎหมายที่ให้เมืองมีพื้นที่ในการทดลอง ตัวอย่างเช่น เมืองไอนด์โฮเฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จะมีการทดลองอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่างรถบัสของผู้สูงอายุ จะทดลองที่เมืองนี้ก่อนจะนำไปปรับปรุงและวิ่งทั่วประเทศและหน่วยงานรัฐควรมีการเปิดเผยข้อมูล เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมต่อในการทำงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้นภายในเมือง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย
ในอนาคตคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คนในเมืองใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งถ้ามีการออกแบบเมืองที่ดี และสร้างความสุขให้กับผู้ที่อยู่ภายในเมือง ก็จะทำให้การพัฒนาประเทศไปได้ไกลมากขึ้น
ทั้งนี้ การสร้างเมืองอนาคต อาจไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ หรือคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนในเมืองจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง ที่จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างศักยภาพของเมืองให้แข่งขันได้ในระดับโลก