อะไรคือสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเรา เป็นคำถามของเด็กมัธยมส่วนใหญ่ที่กำลังจะก้าวข้ามไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ว่าเขาควรจะเลือกเส้นทางสายไหน และถ้าเส้นทางที่เขาเลือกคือคนละทางกับที่พ่อแม่ต้องการ เขาจะหาทางออกอย่างไร นนน (นะ-นน) – กรภัทร์ เกิดพันธุ์ ศิลปิน GMM TV และเจ้าของ YouTube Channel TRIPLE N ในวัย 19 ปี ที่ทำงานในวงการบันเทิงควบคู่ไปกับการเรียนระดับปริญญาตรี วิชาเอกการแสดงและกำกับการแสดงภาพยนตร์ ณ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็เคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน ว่าเขาอยากจะเรียนอะไร สิ่งไหนคือตัวตนของเขา และเมื่อเขาพบสิ่งที่ใช่แต่พ่อแม่กลับสนับสนุนให้เลือกเดินอีกเส้นทาง เขามีวิธีรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ลองค้นหาตัวตนที่ใช่ในแบบของเขาดู ในกิจกรรม TK Park เปิดตำราวิชาแนะให้แนว ตอน ชีวิตจริงต้อง JOURNEY รู้จักนักแสดงหนุ่มชื่อเท่ ‘นนน’ ชื่อ ‘นนน’ มาจาก ณ นนทบุรี เพราะบ้านอยู่นนทบุรีครับ แต่ลุงผมเปลี่ยนให้เขียนเป็น นนน แทน ตอนอยู่มัธยมผมเลือกเรียนสายวิทย์คณิต เพราะเพื่อนชวนเรียนวิศวกรรมศาสตร์ แล้วผมก็ชอบเรียนเลข เรียนวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าเรียนสายวิทย์คณิตนี่แหละ แต่สุดท้ายก็มาเข้านิเทศศาสตร์แทนเพราะพอได้ค้นหาตัวเองแล้วรู้ว่าเราชอบงานสายนิเทศมากกว่า การค้นหาตัวตนในแบบ ‘นนน’ เป็นอย่างไร ผมให้เวลากับสิ่งนั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราชอบจริงๆ ไหม ซึ่งทำให้ผมรู้ว่าผมรักงานนิเทศ ทุกวันนี้โอกาสในการลงมือทำหาง่ายมากครับ เช่น ถ้าอยากเรียนนิเทศ แล้วรู้จักคนที่ทำงานนิเทศอยู่ก็ลองขอเขาไปทำงานในกองถ่าย จะได้รู้ว่าการทำงานจริงเป็นยังไง ถ้าต้องทำงานนี้ เราทำได้และมีความสุขกับมันไหม ถ้าไม่ใช่ก็ถือว่าได้ตัดตัวเลือกออกไป ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ผมเลือกเรียนสายวิทย์คณิตเพราะคิดว่าสายนี้กว้างกว่า สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคณะ แต่จริงๆ แล้วถ้าเรารู้ตัวเองว่าชอบอะไรจะดีกว่า เพราะจะได้มุ่งไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการเรียนหรืออาชีพในอนาคต ไม่ต้องไปเสียเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่ได้นำไปใช้ ส่วนจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ ต้องคิดว่าถ้าเราต้องทำสิ่งนั้นทุกวันเป็นเวลาสิบปีทำได้หรือไม่ ถ้าได้อาจเป็นสิ่งที่ชอบหรือรัก เพราะเรามีความสุขกับมัน คิดว่าการเรียนตรงสายกับอาชีพที่ทำเป็นเรื่องจำเป็นไหม ถ้าอาชีพนักแสดงไม่จำเป็น ผมคุยกับตากล้อง ช่างไฟ ผู้กำกับ บางคนก็ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์มา แต่เขามีความรู้ทางด้านนี้เพราะขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้ บางคนก็มาฝึกงานที่กองถ่าย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนนิเทศก็ทำได้ แต่ที่ผมเลือกเรียนนิเทศเพราะผมอยากมีความรู้ในด้านนี้ให้ถึงที่สุด เพราะถ้าเรียนมายังไงก็ต้องมีความรู้ที่ลึกกว่า ผมอยากเรียนในสิ่งที่ผมอยากรู้ อยากทำ ต่อยอดได้ ผมอยากเอามาใช้ประกอบการทำงานของผม เลยเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ การเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไหม อย่างแรกต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าชอบการเรียนรู้การสอนแบบไหน ถ้าอ่านแล้วเข้าใจก็เลือกอ่านเอง ถ้าเรียนออนไลน์รู้เรื่องดูวิดีโออย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าต้องการคนสอนก็ไปเรียนพิเศษ เพราะธรรมชาติการเรียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างผมอ่านเองไม่ได้ ต้องมีคนมาสอนเพราะถ้าสงสัยจะได้ถามเลย ส่วนเพื่อนผมชอบอ่านคนเดียวจนเข้าใจ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าตัวเองเรียนแบบไหนแล้วรู้เรื่อง ไม่ฝืนเราเกินไป แล้วเลือกเรียนแบบนั้น ต้องเรียนและทำงาน (หลายอย่าง) มีวิธีบริหารจัดการเวลาอย่างไร ผมเริ่มเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุสามเดือนเองนะ ได้ถ่ายโฆษณาเพราะพ่อเป็นนักแสดงอยู่แล้ว แม่เลยอยากให้ผมทำงานวงการบันเทิงด้วย หลังจากนั้นก็ได้ลองทำอีกหลายงาน ทำแล้วสนุกดี ได้เจอเพื่อน ได้ทำอะไรใหม่ๆ แม่ก็พาไปแคสติ้งงานอยู่เรื่อยๆ ส่วนการบริหารจัดการเวลาถ้าตัวผมเองชอบทำงานมากกว่าเลยจะให้ความสำคัญกับงานก่อน แต่แม่จะเป็นคนเคยบอกว่าต้องเรียนไปด้วย แม่จะพยายามจัดตารางทำงานให้ผม คือวันธรรมดาจะไม่รับงาน นอกจากเป็นงานที่จำเป็นจริงๆ
อาชีพนักแสดงต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างไร บทที่ผมได้รับจะค่อนข้างไกลตัวเป็นส่วนใหญ่ เป็นบทที่จะต้องใช้ความรู้สึกข้างในเยอะ คิดเยอะ พูดน้อย สื่อออกมาทางสายตา ผมเข้าวงการบันเทิงมาไม่เคยเรียนแอคติ้งมาก่อนเลย มีแต่เวิร์กช้อปเป็นเรื่องๆ ไป อาศัยเก็บประสบการณ์ระหว่างทางไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีศึกษาด้วยตัวเอง อย่างหนังดู ศึกษาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ว่าจะต้องแสดงออกมาเป็นยังไง เพราะเราไม่มีประสบการณ์แบบเดียวกับตัวละคร อย่างเรื่อง Turn Left Turn Right สมองเลี้ยวซ้าย หัวใจเลี้ยวขวา ในเรื่องผมทำผู้หญิงท้อง ซึ่งผมไม่มีประสบการณ์เรื่องแบบนี้ เป็นอะไรที่ไกลตัวเรา ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม คุณสมบัติของนักแสดงที่ดีเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบครับ รับผิดชอบต่อสามอย่างคือ เวลา งาน ตัวเอง ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ถ้ากองนัดผมตอนหกโมงเช้าผมก็ต้องไปถึงตามเวลาที่เขานัด ไม่ควรไปสาย ควรทำการบ้านมา ท่องบทมา คุยกับผู้กำกับว่าจะให้ผมเล่นอะไรบ้าง จริงๆ ผมเองก็เคยมีประสบการณ์มากองสายเหมือนกัน มันเป็นความผิดพลาดในการทำงานที่ต้องมีเกิดขึ้นบ้างอยู่แล้ว เพราะบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างแม่ผมจำวันผิด จำเวลาผิด ซึ่งพอผิดพลาดครั้งแรกแล้วต้องไม่มีครั้งต่อไป เราจะไม่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก นักแสดงถือว่าเป็นอาชีพในฝันที่คนจำนวนมากอยากเป็น มองเรื่องนี้อย่างไร สำหรับผมนักแสดงคือคนทั่วไป ผมแค่ทำอาชีพเป็นคนเบื้องหน้า มีหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อความหมายของเรื่องตามที่บทเขียนไว้ ตามที่ผู้กำกับบอก ผมก็คือคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตปกติ วันที่มีงานทำก็ไปออกกอง นักแสดงก็คือตำแหน่งหนึ่งเท่านั้นเอง ซีรีส์เรื่องหนึ่งจะสำเร็จออกมาได้ก็เพราะทุกคนร่วมแรงร่วมใจทำออกมา ผมเป็นแค่ส่วนหนึ่งในงานชิ้นนี้ เหมือนกับผู้กำกับ ช่างกล้อง ช่างไฟ ทีมเสียง พี่ต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) เคยพูดว่าถ้าทั้งกองมีเขาเล่นคนเดียวไม่มีทีมงานเขาก็เล่นไม่ได้ ผมก็เป็นแค่ทีมงานคนหนึ่งในกอง ทุกคนเหนื่อยเหมือนกันหมด ไม่ได้แปลว่านักแสดงจะต้องพิเศษกว่าคนที่ทำงานในหน้าที่อื่น และไม่ใช่อาชีพที่สบาย ต้องใช้ความอดทนและความรักในอาชีพนี้จริงๆ การเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้มีความคิดที่โตกว่าคนรุ่นเดียวกันไหม เมื่อก่อนผมเคยเสียดายที่ตัวเองต้องทำงานตั้งแต่เด็ก เสียดายชีวิตวัยรุ่น ผมไม่มีชีวิตวัยเด็กเหมือนคนอื่น ไม่ได้เที่ยวเล่น นอนบ้านเพื่อน ความสุขตามวัยตรงนั้นหายไป แต่ความรู้สึกของผมตอนนี้คือรู้สึกโชคดีที่เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมีข้อดีตรงที่ทำให้ผมโตกว่าเพื่อนบางคน เรื่องบางเรื่องในวัยเดียวกันผมรับมือกับมันได้ สามารถแก้ไขได้ เพราะผมได้เจอเรื่องราวต่างๆ ระหว่างทำงาน มันให้บทเรียนที่ทำให้ผมโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้ทำงานกับผู้ใหญ่ที่เรารู้ว่าเขาแบกความรับผิดชอบไว้มาก ถ้าเขาเลือกให้เราทำงานกับเขาแสดงว่าเขาไว้ใจเรา เราก็ต้องรับผิดชอบด้วยการทำงานชิ้นนั้นออกมาให้ดี นอกจากการแสดงแล้ว ยังทำงานอย่างอื่นด้วยไหม ผมได้ลองทำงานหลายอย่าง กำกับซีรีส์ กำกับเอ็มวี เป็นประสบการณ์การทำกองด้วยตัวเอง ผมค่อยๆ เรียนรู้ไป ความรู้สึกที่ได้ทำงานเบื้องหน้ากับเบื้องหลังไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ มีจุดเหมือนกันตรงที่เราต้องสื่อสารให้คนดูรู้ว่าเราต้องการสื่ออะไรออกไป นักแสดงอ่านบทแล้วตีความตัวละครผ่านการแสดง ส่วนผู้กำกับต้องดูภาพรวมว่าเรื่องราวทั้งหมดต้องสื่อสารออกมายังไง นักแสดงสื่อออกมาอย่างที่ต้องการหรือเปล่า นอกจากงานการแสดงผมก็สนใจงานเพลงด้วย มีเขียนเพลง ร้องเพลง ผมเล่นดนตรีตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น มีรวมวงกันบ้างตามงานเฉพาะกิจ มีจัดงานด้วยผมก็เป็นคนที่จัดการทุกอย่างเอง รวบรวมคน จัดคิวการแสดง ดูสถานที่ ไฟ เวที รู้สึกดีเหมือนกันนะว่าเราอายุเท่านี้แต่ทำอะไรได้หลายอย่าง การได้ลองทำงานหลายๆ อย่างมีข้อดีอย่างไรบ้าง พอเราได้ลงมือทำอะไรเราจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราชอบหรือไม่ ถึงงานจะเหนื่อยแต่ถ้าเรามีความสุขกับมัน ทนกับความเหนื่อยนั้นได้แสดงว่าเรารักสิ่งนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราทนไม่ได้แสดงว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราชอบแล้ว เราจำเป็นต้องลงมือทำจริงๆ เพราะถ้าเราแค่คิดว่าจะเป็นอาชีพนั้นอาชีพนี้ เราจะเห็นแค่ปลายทางของอาชีพ อย่างโปรแกรมเมอร์ เราจะนึกถึงว่าคนที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ได้เงินเดือนเยอะ แต่ระหว่างทางโปรแกรมเมอร์จะต้องเรียนเลข เรียนเขียนโค้ด เป็นเรื่องที่หนักมากกว่าจะมาถึงจุดที่เรานึกภาพอาชีพนี้ในความคิด เพราะฉะนั้นเราต้องลงมือทำเหมือนกับคำพูดหนึ่งในหนังเรื่องสตาร์ วอร์ส “มันไม่มีหรอกว่าลองทำ มีแต่ทำกับไม่ทำเท่านั้นเอง” มีความคิดอย่างไรกับคนที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาส ผมเคยอยู่จุดที่มีความสามารถ มีความพยายามพัฒนาตัวเองจนมั่นใจว่ามีความสามารถในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ได้รับโอกาส นั่นอาจเพราะเรายังเก่งไม่พอ หรืออาจเป็นเพราะคนที่เขาต้องการไม่ใช่คนที่มีความสามารถแบบเรา เช่น เล่นฟุตบอล เขาอาจหาคนที่ทำประตูได้เยอะ อย่างอื่นไม่จำเป็นต้องเก่ง ผมเป็นประเภทที่เล่นได้หลากหลายกว่าแต่ผมไม่ได้เก่งที่สุดในแบบที่เขากำลังตามหา เขาต้องการคนที่เล่นสไตล์ที่เข้ากับแผนของเขา ส่วนความสามารถของผมอาจจะไปตรงกับอีกคนหนึ่งต้องการก็ได้ เพราะฉะนั้นเก่งอย่างเดียวอาจไม่พอต้องมีความเหมาะสมด้วย เวลาต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ หรือรู้สึกหมดไฟการทำงาน ควรทำอย่างไร เวลาที่ผมต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบ ผมจะหาความสนุกในวิชานั้นอย่างน้อยก็ในแง่มุมหนึ่งให้เจอ วิชาที่ผมไม่ชอบเลยคือวิชาสังคม แต่ถึงอย่างนั้นวิชานี้ก็มีเรื่องที่ผมสนใจอย่างเรื่องสงครามโลก ก็เลยพยายามมองความสุขจากการได้เรียนส่วนนั้น สำหรับเรื่องหมดไฟในการทำงาน ผมจะแก้ปัญหาด้วยการไปคุยกับคนที่มีไฟในการทำสิ่งที่เรากำลังหมดไฟ เพราะเวลาที่ได้คุยกับเขาเราจะได้พลังกลับมา ผมได้คุยกับคุณชายอดัม (หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล) เขาเป็นคนที่มีพลังเรื่องการกำกับหนังมาก ผมได้ฟังสิ่งที่เขาเล่าก็ได้รับพลังบางอย่างเข้ามาในตัวด้วย ทำให้ช่วยเติมไฟที่กำลังจะหมดจากตัวเรา นอกจากการพูดคุยแล้ว เราอาจจะใช้วิธีอื่นก็ได้ เช่น ฟังพอดแคสต์ อ่านกระทู้ หรือคำคม ก็ช่วยเติมพลังให้กับเราได้เหมือนกัน คำแนะนำให้กับน้องๆ ที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เล่าจากประสบการณ์ของตัวเองก่อนแล้วกัน ตอนอยู่มัธยมผมบอกกับแม่ว่าจะเรียนวิศวะ แม่ดีใจมากเพราะแม่เองเรียนนิเทศศาสตร์มา รู้ว่าถ้าผมทำงานอยู่ในวงการบันเทิงอยู่แล้วสามารถขวนขวายความรู้ด้านนิเทศจากงานที่ทำได้ เลยอยากให้เรียนสายอื่นที่ไม่ใช่นิเทศ แต่พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยจริงๆ ผมเปลี่ยนใจเลือกเรียนนิเทศ แม่ก็ไม่อยากให้เรียนนะ แต่ผมก็อธิบายให้แม่เข้าใจว่าที่ผมอยากเรียนนิเทศเพราะรู้ตัวเองว่าไม่ได้มีความสุขกับการเรียนเลข เรียนวิทยาศาสตร์เหมือนแต่ก่อน ถ้าผมสอบเข้าไปได้ก็ต้องทนเรียนอีกสี่ปีแล้วอาจจะต้องทนทำงานต่ออีกหลายปี ผมจะไม่มีความสุขแบบระยะยาว ผมเลยคิดว่าถ้าเรียนแล้วไม่มีความสุขก็ไม่อยากเรียน เกิดมาครั้งเดียวอยากทำอะไรที่เรามีความสุขที่สุด ผมแนะนำน้องๆ ว่าถ้าพ่อแม่ไม่สนับสนุนสิ่งที่น้องอยากเรียน ให้ไปคุยกับพ่อแม่ตรงๆ ด้วยเหตุผล จุดประสงค์เดียวของพ่อแม่คืออยากให้ลูกมีความสุข ผมว่ายังไงพ่อแม่ก็เข้าใจเรา ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกไม่มีความสุขหรอก ผมอยากฝากทางผู้ใหญ่ด้วยครับว่าไม่อยากให้มองว่าต้องเรียนหมอหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าเด็กเขาได้ทำอะไรที่ชอบ ทำอะไรที่รัก เขาจะทำในสิ่งนั้นได้ดี ไม่อยากให้เอาค่านิยมของคนรุ่นก่อนมาตัดสินกับสมัยนี้ อีกอย่างหนึ่งผมไม่อยากให้มองคนที่เปลี่ยนคณะที่เรียน ไม่ว่าจะเรียนไปแล้วกี่ปีก็ตามเป็นคนที่มีปัญหา ผมกลับมองว่าเขาเป็นคนที่กล้าด้วยซ้ำไปที่จะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ตัวเองลองทำแล้วไม่ชอบ