ในช่วงวิกฤติโควิด 19 สื่อออนไลน์ถือเป็นช่องทางสำคัญ ในการสื่อสารและให้ความรู้ ซึ่งโลกของสื่อ ที่จะสอดคล้องกับวิถี New normal หลังจากนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในกิจกรรม Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ คุณจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ได้ขยายความให้เห็นถึงทิศทางสื่อออนไลน์ ซึ่งท้าทายไม่แพ้กับวงการอื่นๆ
สื่อยุค Digital Marketing
สำหรับทิศทางสื่อออนไลน์ในช่วงโควิด 19 และหลังจากนี้ ที่หลายคนเรียกว่า New normal ถือเป็นมิติที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทักษะ Digital Marketing ที่เป็นสิ่งจำเป็นมาก สำหรับทุกๆ แบรนด์ที่ต้องการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค ซึ่งจริงแล้ว Digital Marketing เป็นเรื่องที่ฮิตมาสักพักใหญ่แล้ว เพียงแต่ว่าบางองค์กร หรือบางแบรนด์อาจจะยังไม่เห็นถึงความสำคัญนัก
คุณจิตสุภา กล่าวว่า ขณะที่บางองค์กรยังคิดไม่ออกว่า จะปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน Digital Marketing ภายในหน่วยงานอย่างไร จนถึงตอนนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นตัวบังคับ ทำให้ช่องทางการขายแบบปกติถูกปิดลง หรือถูกจำกัดมากขึ้น ดังนั้นช่องทางการขายออนไลน์ และทักษะด้าน Digital Marketing จึงถูกหยิบยกมาทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม
ในส่วนของแบรนด์ต้องมองความต้องการของลูกค้าผ่าน Digital Marketing อย่างรอบด้าน ทั้งการซื้อโฆษณา ที่จะต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ตลอดจนการทำแคมเปญ โปรโมชั่น เพื่อรองรับลูกค้าแบบออนไลน์โดยเฉพาะ
ทักษะเหล่านี้แม้จะได้รับความนิยมมาสักพัก แต่หลังเกิดโควิดทุกแบรนด์ จะเริ่มเข้ามาปฏิวัติแนวความคิดในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับแนวทาง Digital Marketing ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
ด้านของแบรนด์ การต้องการทักษะด้านดิจิทัลที่มีความชาญฉลาดมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งคนที่ขายสินค้า ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ Content Creator ต้องเร่งสร้างทักษะเพิ่มขึ้น เพราะช่วงวิกฤติโควิด มีหลายแบรนด์ ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดออนไลน์ แต่ความเชี่ยวชาญในแพลตฟอร์มต่างๆ ของแบรนด์ที่เพิ่งเข้ามาอาจยังมีไม่มาก ดังนั้นฝั่งผู้ขายต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อแนะนำความรู้เทคนิค ที่แบรนด์จะนำไปปรับใช้ ให้สอดคล้องกับ Marketing Objective ของแบรนด์นั้น
ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การออกสินค้าใหม่ หรือการทำโปรโมชั่น เป็นไปด้วยความระมัดระวัง รวมถึงค่าโฆษณา ที่หลายบริษัทต้องตัดงบ เพื่อรักษาสภาพคล่องขององค์กร ฉะนั้นการทำการโฆษณาจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่ทุกแบรนด์ก็มุ่งหวังกับผลตอบรับจากเงินโฆษณามากขึ้นด้วย
ดังนั้นเรื่องรูปแบบการขายโฆษณาบนออนไลน์ จากเดิมที่ขายแบบ CPM (การคิดค่าโฆษณาต่อการแสดงโฆษณาออนไลน์ 1,000 ครั้ง โดยผู้ลงโฆษณาจ่ายตามจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณาเท่านั้น) หรือ CPC (คิดค่าโฆษณาต่อการคลิกโฆษณา 1 ครั้ง โดยไม่สนใจว่าโฆษณาได้แสดงต่อผู้ชมไปแล้วกี่ครั้ง) จะเปลี่ยนเป็นแบบ CPA (การคิดค่าโฆษณาต่อ 1 การกระทำ เช่น การสมัครสมาชิก การลงทะเบียน การสั่งซื้อสินค้าเป็นต้น)
ความเข้มข้นของ Data Analytics
อีกสิ่งที่จะทำให้เกิดพลวัตมากขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์คือ เรื่อง Data Analytics ที่เป็นพลพวงมาจากการที่ทุกคนใช้เงินอย่างระมัดระวัง ดังนั้นการจะใช้เงินแต่ละครั้งในการสร้างโฆษณา จะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อจะทำให้เงินโฆษณาที่มีอยู่จำกัดทำประสิทธิภาพมากสูงสุด
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง เมื่อผู้บริโภคและผู้ขายโฆษณามากระจุกตัวอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จนเกิดความแออัด ในด้านข้อมูลข่าวสาร ที่แสดงผลในหน้าแพลตฟอร์มออนไลน์เยอะและเร็วมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ต้องพยายามทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นๆ เพื่อจะสร้างความสะดุดตาให้แก่ผู้บริโภค
ส่วนต่อมาที่ต้องคำนึงถึง เมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะมีการป้อนข้อมูลในปริมาณมาก จนเกินความต้องการของผู้บริโภคที่รับโฆษณา จึงต้องคำนึงถึงความพอดี ที่เป็นผลตอบรับกลับมายังแบรนด์ และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะถ้ากำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แคบไปอาจไม่เกิดผลตอบรับตามที่ตั้งใจไว้ คุณจิตสุภา กล่าวเพิ่มเติม
การทำงานที่เปลี่ยนไป
โดยสิ่งที่จะเป็นนิวนอร์มอล ของคนทำสื่อออนไลน์หลังจากนี้คือ การทำคอนเทนต์ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่ใช่ข่าว หรือ Online Publisher เจ้าใหญ่หรือเล็ก รวมถึงยูทูปเบอร์ บล็อกเกอร์ ที่เดิมหลายบริษัทมีกองการทำงานที่เล็กกะทัดรัดอยู่แล้ว แต่ในยุคโควิดที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน กองถ่ายจะต้องลดขนาดลง รวมถึงลดจำนวนคนที่จะออกกองลง เพื่อลดความแออัดหน้างานเมื่อออกไปถ่ายทำข้างนอก และต้องลดต้นทุน ควบคุมรายจ่ายในการถ่ายทำ
ด้านการคิดคอนเทนต์ ที่จะทำรายการ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่นอกกรอบมากขึ้น เพราะช่วงโควิด ถือเป็นช่วงที่ท้าทาย ที่ทุกคนต้องพลิกแพลงหาวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่าง และผลลัพธ์ที่เกิดจากสถานการณ์นี้ เช่น มีดารา ยูทูปเบอร์ ที่คิดรายการใหม่ขึ้นมาเฉพาะช่วงโควิด อย่างรายการเล่นเกม หรือชวนทำอาหาร รีวิวอาหารที่บ้าน
บางรายการให้นักแสดงถ่ายทำตัวเองอยู่ที่บ้าน โดยมีผู้กำกับคอยควบคุมอยู่เบื้องหลัง หรือการใช้วีดีโอคอล และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในการสัมภาษณ์บุคคล ที่มีหลายรายการทำ โดยเฉพาะสื่อใหญ่ๆ อย่างทีวีและออนไลน์
ส่วนอีกสิ่งที่กลายเป็นนิวนอร์มอลคือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก เมื่อเกิดโควิด จะมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน เพราะทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถออกมาทำงานที่ออฟฟิศได้ ดังนั้นเครื่องมือ หรือแอปพลิเคชัน ต่างๆ จะถูกนำมาใช้ เพื่อรองรับการทำงานที่เปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยน Culture ภายในตัวเอง เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ต้องมีกฎระเบียบในการทำงานมากขึ้น เพราะเราสามารถแอบอู้ได้ ซึ่งตอนนี้หลายคนทำงานแบบ Work from Home ที่อาจถูกคาดหวังจากหัวหน้าว่า งานที่ทำจะมี productivity ที่มากขึ้น จึงทำให้หลายคนมีระเบียบวินัยในการทำงานของตัวเองมากยิ่งขึ้น
การเตรียมพร้อมรับมือ
สำหรับการเตรียมพร้อม และรับมือเพื่อปรับตัวเองหลังโควิดต่อจากนี้ ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์ได้เตรียมความพร้อม ในการทำ Digital Transformation ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด จึงมีการทำงานที่เข้มข้นขึ้น เช่นการทำงานแบบ Work from Home การประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และการใช้เครื่องมือ ที่สามารถเข้าถึงไฟล์งานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้แต่ระบบที่ช่วยเหลือการทำงานอย่างการเขียนข่าว และนำข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ และการขอลาหยุดที่ผ่านระบบออนไลน์ สามารถทำที่ไหนก็ได้ ดังนั้นในมุมการทำงานของไทยรัฐออนไลน์ เมื่อเจอวิกฤติโควิด เราเลยไม่ต้องปรับตัวหนักมากนัก แต่สำหรับบางบริษัทที่เพิ่งทำอาจต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่โดยส่วนตัวยังคิดว่ามันเป็นเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้น ในภาวการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้ทุกคนมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤติ
แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ พฤติกรรมของคน ที่พอคนอยู่บ้านมากขึ้น มีเวลามากขึ้น ที่จะออกไปท่องโลกอินเทอร์เน็ต แสวงหาความรู้ หรือไปหาทำสิ่งที่อยากทำใหม่ๆ แต่บางคนกลับไปทำสิ่งที่ตัวเองทำค้างไว้ให้สำเร็จ เลยทำให้คนเริ่มมีพฤติกรรมเป็น Internet Explorer ไปในยุคนี้ ซึ่งจะเห็นว่า มีคอนเทนต์ ที่ผลิตขึ้นมากกมาย เพื่อจะแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ทั้งเรื่องการทำอาหาร วาดรูป ร้องเพลง ออกกำลังกาย
และด้วยความที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเป็น Internet Explorer จึงทำให้สื่อหลายๆ ค่ายเริ่มออกคอนเทนต์ รูปแบบใหม่ๆ ออกมา เพื่อทดลองตลาด ซึ่งพอดแคสต์ เป็นหนึ่งในกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นในยุคนี้ อย่างไทยรัฐออนไลน์ ก็ทำรายการพอดแคสต์ ออกมาชื่อว่า จอมคุยกับจอมขวัญ ที่เนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤติโควิด
ซึ่งการคิดหลายคอนเทนต์ ก็ใช้วิกฤตินี้ที่เป็นโอกาสทดลองปล่อยออกมา เพื่อเป็นเพื่อนกับคุณผู้ชม และเราก็ได้ความรู้จากการทำงาน เพราะผู้บริโภคมีความคิดที่เปิดกว้างมากขึ้นในการเสพสื่อ ซึ่งหลังจากโควิดเริ่มซาลง เราจะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ ปล่อยออกมาอีก
ดังนั้นทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายๆ แม้การหารายได้หรือเศรษฐกิจจะมีภาวะที่บีบคั้น แต่ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ฉะนั้นเพียงแค่เรากลับหัวคิด พลิกมุมมอง แล้วหาให้เจอว่า ความต้องการของผู้บริโภคคืออะไร เราก็สามารถทำคอนเทนต์ ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชมออกมาได้ในยุคนี้เช่นกัน
ทิศทางของสื่อออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัว ที่ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้คล้องกับสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า