Local Alike เป็นกิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยก่อตั้งมานานกว่า 7 ปี ซึ่งปีนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 8 จุดมุ่งหมายสำคัญคือการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเชื่อมต่อคุณค่าและประสบการณ์ของผู้คนผ่านการท่องเที่ยว จากดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมีมูลค่ามากกว่า 54 ล้านบาท
แต่หลังจากเกิดวิกฤติครั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวก็กลายเป็นศูนย์ แล้วพวกเขาจะปรับตัวอย่างไรต่อไป ลองมาฟังโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จาก "สมศักดิ์ บุญคำ" Founder & CEO แห่ง Local Alike ในกิจกรรม “Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม” จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้
ความจริงใหม่ที่ไม่มีใครอยากเจอ
Local Alike ทำงานร่วมกับ 100 กว่าชุมชนทั่วประเทศไทยใน 42 จังหวัด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Local Alike ได้ส่งนักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนมากกว่า 40,000 คน และขยายขอบเขตการทำงานเพิ่มขึ้นในทุกปี แต่แล้วโควิดก็ทำให้มีโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าทุกๆ ครั้งที่เคยผ่านมา เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวจากเดิมหายไปมากกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่ชุมชนท่องเที่ยวก็ขาดรายได้กลายเป็น 0% เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวหรือการเดินทาง รายได้ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวก็ไม่เกิด
Local Alike และอะไรคือเรา?
คุณสมศักดิ์ บุญคำ เล่าว่า วิกฤติครั้งนี้ทำให้ต้องกลับมาทบทวนการทำงานว่าที่จริงแล้ว Local Alike คืออะไร งานของ Local Alike มีหลักๆ 4 ด้าน คือ การพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ เทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยแต่เดิม Local Alike จะพานักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชน ส่วนตอนนี้ โจทย์ของการทำงานหลังจากนี้ คือจะทำอย่างไรให้ชุมชนยังอยู่ได้ สินค้าชุมชนหรือการบริการใดที่จะสามารถส่งออกให้นักท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง โดยเริ่มปรับธุรกิจโมเดล จนเกิดเป็น โลเคิล อร่อย และ Local Alot
จากแต่เดิมที่เรามีแค่ไกด์พาทัวร์ชุมชน มีตลาดที่ขายของในชุมชน แต่เมื่อปีที่แล้ว Local Alike ได้ลองเริ่มทำธุรกิจใหม่โดยที่เราเริ่มทำ "โลเคิล อร่อย" มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งเราสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลที่ว่าเราเห็นว่าไม่ได้มีทุกชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยว เราจึงต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเหล่านั้นด้วยโมเดลธุรกิจผลิตสินค้าในชุมชนและพบว่าอาหารคือสินค้าที่สามารถนำเสนอชุมชนได้ด้วย นี่คือสิ่งที่เราเริ่มทำเมื่อกลางปีที่แล้ว
ก่อนโควิดเข้ามาอาหารของ "โลเคิล อร่อย" ยังเป็น Chef Table คือการนำพ่อครัวแม่ครัวในชุมชนทำอาหารในร้านอาหาร 4-5 ดาวและก็ให้นำเสนอเมนู ให้คนที่อยากทานได้มีโอกาสมาทานในเมือง เช่นแกงอ่อมปูนาที่จะมีกินเฉพาะหน้าทำนาเท่านั้น ที่คนทั่วไปอาจงงๆ ไม่กล้าชิม เราก็ปรับตกแต่งกันใหม่เพื่อให้เข้ากับรูปแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย คุณสมศักดิ์กล่าวเสริม
หลักของ "โลเคิล อร่อย" คือการพัฒนาฝีมือของเชฟในชุมชน ยกระดับเชฟในชุมชนให้สามารถสร้างสรรค์อาหารให้คนทั่วไปทานได้ง่ายๆ พร้อมซึมซับไปกับสตอรี่ของอาหารจานนั้นๆ เกิดเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
แต่พอวิกฤติโรคระบาดมาทุกอย่างมันหายไปหมด เราไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป จนเกิดเป็นโจทย์ใหม่ที่ต้องร่วมกันคิดต่อว่า เราจะสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปในสถานการณ์แบบนี้อย่างไรได้บ้าง จนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ "โลเคิล อร่อย ดี หรือ Local Aroi Delivery"
คุณสมศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่สามารถเอาพ่อครัวแม่ครัวในชุมชนมาทำอาหารในร้านอาหารให้คนทั่วไปมาทานได้ แต่เราสามารถส่งวัตถุดิบประสบการณ์หาคนถึงที่บ้านผ่านอาหารพื้นบ้าน เช่น สปาเก็ตตี้ปาลาฉ่องที่คนทั่วไปอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ปาลาฉ่องเป็นน้ำพริกของชาวอาข่า เป็นน้ำพริกที่คล้ายๆ น้ำพริกพม่าที่อร่อยมากและเมื่อนำมาผัดกับสปาเก็ตตี้เป็นฟิวชั่นฟู้ตที่น่าสนใจ, ไก่ทอดรากชู รากชูเป็นพื้นสมุนไพรของชาวเชียงราย รากชูเป็นเครื่องปรุงรสธรรมชาติคล้ายๆ ผงชูรส เป็นต้น
แต่ถึงอย่างนั้นการทำอาหารฟิวชั่นต้องอาศัยการเล่าเรื่องใช้เวลาในการซึมซับเรื่องราว ที่อาจไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเวลามาอ่านสตอรี่เรื่องราวที่เราเล่าไว้ จึงมีอีกโปรดักส์เป็นอาหารที่คุ้นเคยของคนทั่วๆ ไป เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ที่สั่งปลาทูจากแม่กลอง, ข้าวน้ำพริกแกงเขียวหวานที่สั่งเครื่องแกงเขียวหวานมาจากนครศรีธรรมราช, หรือปอเปี๊ยะคลองเตยที่มีน้ำจิ้มมะนาวดองเป็นน้ำจิ้มสูตรเด็ดขึ้นชื่อของชุมชนที่คนภายนอกอาจไม่เคยรู้มาก่อน เป็นอาหารที่ทุกคนเข้าถึงรู้จักแบบไม่ต้องอธิบายมากและนี่คือโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อชุมชนที่เกิดมาในช่วงนี้
อีกธุรกิจก็คือ "Local Alot" เพราะว่ามีสินค้าชุมชนมากมายที่อยากจะทำเสนอขายใน E-commerce โดยมี Local Alike เป็นตัวกลาง ในการปรับ Packaging เพิ่มสตอรี่ลงไป เช่น กลุ่มทอผ้าคุณภาพที่ส่งออกญี่ปุ่น แต่พอได้รับผลกระทบจากโควิด ออเดอร์ที่มีทั้งหมดก็หายไปเลย จึงมีแนวคิดอยากชวนผู้ผลิต ที่เคยทอผ้าส่งออก มาร่วมมือกับดีไซเนอร์ทำหน้ากากอนามัย ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งขายได้ 1,000 ชิ้นในเวลา 10 วัน หรือพวงมาลัยผ้าขาวม้าจากราชบุรี ตัวนี้แค่ปรับ Packaging หน่อยใส่โบใส่สตอรี่ลงไปก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หรืออย่างเมล่อนที่เราปรับใหม่เพิ่ม Packaging ให้น่ารักเป็นของฝากติดไม้ติดมือได้ ก็สร้างจุดขายใหม่ให้สินค้าเดิมได้มากขึ้น
ตัวสุดท้าย "Local Around" คือช่องทางในการทำคอนเทนต์ของเราเอง เป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญ และศักยภาพของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ที่สามารถโฆษณาชุมชนของตัวเองออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นภาพบรรยากาศที่สวยงาม ประเพณีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ เช่นที่เราเคยไลฟ์ให้ชาวไทยลื้อที่เชียงใหม่ นำเสนอเพลงวิถีชีวิตที่คนทั่วไปอาจไม่เคยเห็นมาก่อน หรือที่นครศรีธรรมราชทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวออกเรือไปจะเห็นพระอาทิตย์ตกสวยมาก เราอยากใช้โอกาสนี้ไลฟ์ให้คนภายนอกได้เห็นธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คนอยากมาท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น และนี่อาจเป็นการวางรากฐานการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนได้ในอนาคต
เปลี่ยนให้เป็น จะเห็นโอกาส
สิ่งหนึ่งที่ Local Alike ตั้งใจทำมาตลอด คือ การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน โดยที่จะปูพื้นฐานมาตั้งแต่แรกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้รองไม่ใช่รายได้หลัก เพราะฉะนั้นชุมชนอาจได้รับผลกระทบบ้างในวิกฤติครั้งนี้ แต่ยังอยู่ได้เพราะเขาจะมีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรมหรืออื่นๆ ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของคนในชุมชน ยกตัวอย่างชุมชนที่เชียงรายสามารถขายลิ้นจี่ได้ 20 ตันภายใน 2 วันผ่านการไลฟ์สดขายของ ซึ่งนับเป็นต้นแบบที่น่าสนใจในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน คุณสมศักดิ์กล่าว
Local Alike ยังให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีผลต่อการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา ซึ่งตอนนี้ก็มีกลุ่ม SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ที่เกิดจาการร่วมมือของ ททท. กับหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน ออกมาตรการป้องกันดูแลความปลอดภัย ที่เรียกว่าเป็น New Normal ทั้งชุมชนหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการรูปแบบใหม่ในสถานการณ์เช่นนี้ เช่น การจำกัดปริมาณคนบนรถตู้ การลดปริมาณความแออัดของโรงแรมหรือโฮสเทล และการอำนวยความสะดวกเรื่องความสะอาดและล้างมือ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในระยะยาว
แน่นอนว่าโควิดทำให้เกิดผลกระทบด้านลบกับหลายๆ ฝ่าย แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็คือโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยได้กลับมามองเรื่องการปรับตัวของสินค้าการท่องเที่ยว เมื่อเราเห็นธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูตัวเอง ทำให้เรามีธรรมชาติที่สมบูรณ์ขึ้น ทะเลที่สวยขึ้น ทำให้ทุกคนกลับมาคิดใหม่ว่า การท่องเที่ยวแบบไหนที่ทำให้ธรรมชาติไม่ทรุดโทรมลง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว เพราะการมุ่งเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลักอาจไม่ใช่ทิศทางการท่องเที่ยวในอนาคต ทำให้เรามองภาพแนวทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น
หากชุมชนเตรียมตัวเองให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีที่พักที่หลากหลายและกระจายตัวไปในชุมชนมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ยิ่งสามารถปรับได้เร็ว การพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่หลังจากนี้ ก็จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนฟื้นตัวกลับมาได้ในเร็ววัน