นิทานภาพคือเครื่องมือที่ทรงพลังในการพัฒนาเด็ก เพราะการเรียนรู้ด้วยภาพเป็นแนวทางที่เข้ากันได้มากที่สุดกับธรรมชาติของเด็ก สามารถนำพาเด็กๆ ไปสู่โลกแห่งจินตนาการและการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ก่อให้เกิดการพัฒนาที่บูรณาการทั้งด้านสติปัญญา ภาษา สังคม อารมณ์และจิตใจ การเลือกนิทานภาพที่ดีให้เด็กๆ จึงเป็นประตูก้าวแรกสู่การเติบโตของพวกเขา
ทุกประเทศในโลกล้วนมีหนังสือนิทานภาพดีๆ หลายเล่มได้รับรางวัลการันตีในระดับโลก จากเรื่องเล่าผ่านภาพและตัวหนังสือ หลายเล่มสามารถนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ช่วยทำให้เด็กๆ มีโอกาสเปิดมุมมองและฝึกทักษะใหม่ในหลากหลายรูปแบบ บางกิจกรรมอาจใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพียงเล็กน้อย ก็สามารถมาเสริมสร้างและต่อยอดแรงบันดาลใจและเปิดพื้นที่ทางความคิดของเด็กได้อย่างไม่สิ้นสุด เพราะการลงมือปฏิบัติและฝึกฝนนั้นทำให้เด็กได้ใช้พลังแห่งความคิด ได้เรียนรู้ และค้นพบศักยภาพของตัวเองในแบบที่เป็นธรรมชาติที่สุด
นิทานภาพวันนี้จะชวนไปสถานที่ที่เป็นที่โปรดปรานของทุกครอบครัว นั่นคือสวนสัตว์ โดยปกติเมื่อไปสวนสัตว์ เรามักไปดูสัตว์ที่เราไม่เคยเห็นในอิริยาบถต่างๆ หรือให้อาหาร วันนี้อยากจะชวนดูกิจกรรมที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ การชั่งน้ำหนักสัตว์นั่นเอง
วันนี้เป็นวันชั่งน้ำหนักของสัตว์ในสวนสัตว์
เป็นสัตว์ก็ต้องเข้าคิวและรอให้เป็นระเบียบด้วยนะคะ
คุณหมีแพนด้า, คุณหมู, คุณช้าง,คุณแกะ, คุณสิงโต, คุณฮิปโป เจ้านกยูงก็มาด้วย
ทั้งหมดนี้ใช้เครื่องชั่งอันเดียวกันหรือเปล่านะ?
“วันชั่งน้ำหนักในสวนสัตว์” หนึ่งในหนังสือนิทานภาพที่นำเสนอความสนุก แปลกใหม่และให้อารมณ์ขัน นิทานเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย มีมุขตลกและคำถามเล่นๆ แต่ชวนให้เด็กๆขบคิดถึงมุมมองของสัตว์ที่ไม่เคยคิดมาก่อน นั่นคือน้ำหนักของมันนั่นเอง
ก่อนฟังนิทาน ลองให้เด็กๆทายดูก่อนว่า สัตว์ตัวไหนมีน้ำหนักโดยเรียงจากน้อยไปหามาก
“คุณหมีแพนด้า คุณหมู คุณแกะ คุณนกยูง คุณสิงโต คุณฮิบโปและคุณช้าง”
เล่นกับน้ำหนักผ่านคำถามชวนคิด
ฟังนิทานแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองตั้งคำถาม “เมื่อคุณหมูไม่ยอมชั่งน้ำหนัก” เช่น
1. คุณหมูน่าจะหนักเท่ากับคุณแกะที่ยังไม่ได้ตัดขนไหมนะ?
2. ระหว่างคุณสิงโตกับคุณหมีแพนด้า คุณหมูน่าจะมีน้ำหนักใกล้เคียงกับใคร?
3. คุณหมูรู้สึกอย่างไรกันนะ ถึงไม่ยอมขึ้นเครื่องชั่งสักที?
คำถามอื่นๆ
1. สัตว์อะไรนะที่น่าจะหนักกว่าคุณช้าง?
2. คุณฮิปโป 10 ตัว จะหนักกว่าคุณช้าง 1 ตัวไหมนะ?
3. ถ้าคุณนกยูงขี่คอคุณแกะ คุณแกะขี่คอคุณหมีแพนด้า คุณหมีแพนด้าขี่คอคุณสิงโต คุณสิงโตขี่คอคุณฮิปโปแล้วชั่ง จะหนักเท่าคุณช้างไหมนะ?
รู้น้ำหนักของคุณสัตว์ทั้งหลายแล้ว ลองมาทายน้ำหนักของในบ้านดูบ้าง
วิธีการเล่น
“วันชั่งน้ำหนักของในบ้าน” กิจกรรม Early Math เพื่อพัฒนาการคิดแบบละเอียด (วิเคราะห์, สังเคราะห์คาดเดา, ความเป็นเหตุเป็นผล) ผ่านการตั้งคำถาม, การค้นหาคำตอบ, เลือก, ทดลองและเล่นกับน้ำหนักในรูปแบบต่างๆ
กิจกรรมเหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. เครื่องชั่งน้ำหนัก (ที่มีในบ้านซึ่งอาจจะมีมากกว่า 1 แบบ)
2. วัสดุหรืออุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน ซึ่งอาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น ของใช้ในครัว, ของใช้ในห้องน้ำ, ของในตู้เย็น, ของเล่นของลูก, ของใช้ของแม่ หรือของอื่นๆ ภายในบ้าน
เล่นกับน้ำหนักผ่านการสร้างคำถามและค้นหาคำตอบ
ให้พ่อแม่เล่นด้วยกันกับลูก
1. หาอุปกรณ์การเล่นก่อนโดยอาจแบ่งตามหมวดหมู่ เช่น ของที่อยู่ในครัว, ของกินในตู้เย็น, ของเล่นของลูก, ของใช้ของแม่
2. เล่นทายน้ำหนักผ่านคำถาม และชั่งน้ำหนักเพื่อหาคำตอบ เช่น
2.1 ของที่แม่หามา ลองทายซิ ชิ้นไหนหนัก (หรือเบา) ที่สุด……… ลูกทาย ลองชั่งดู (เล่นสลับกัน) เล่นซ้ำ แต่เปลี่ยนหมวดของภายในบ้าน
2.2 ของที่หามา ลองเรียงน้ำหนักของจากน้อยไปหามาก (หรือจากมากไปหาน้อย) ลองเรียงของดูก่อนชั่งน้ำหนัก ชั่งของแล้ว เรียงดูใหม่ เล่นซ้ำ แต่เปลี่ยนหมวดของภายในบ้าน
2.3 แม่เลือกของ 1 ชิ้น ให้ลูกหาของที่มีน้ำหนักใกล้เคียง (เอาของมาชั่งดูแล้วเล่นสลับกัน)
2.4 แข่งกันหาของในบ้านที่มีน้ำหนักเบาที่สุด
2.5 ระหว่างของ 2 ชิ้น ลองทายดู ชิ้นไหนหนัก (หรือเบา) กว่ากัน ลองชั่งดู
2.6 ลองทายดูซิ ของในบ้านชิ้นไหนที่น้ำหนักใกล้เคียงกับน้ำหนักของลูก ฯลฯ
กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ
1. ทำซ้ำๆ ในทุกกระบวนการเล่น ตั้งคำถาม และชั่งเพื่อหาคำตอบ โดยเปลี่ยนอุปกรณ์การเล่นตามหมวดหมู่อย่างหลากหลาย
2. ให้เด็กๆ เลือก ตั้งคำถาม คิดและตอบอย่างอิสระ
3. ให้พ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กเล่นด้วยกันกับลูก แลกเปลี่ยนคำถามระหว่างกัน
ลองเล่นกับน้ำหนัก เลือก ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ ของในบ้านคือแหล่งและสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญกิจกรรมฝึกคิดง่ายๆ ที่เป็นฐานการคิดใหญ่ๆในอนาคตค่ะ
อุษา ศรีนวล
ฝ่ายกิจกรรมการเรียนรู้
สถาบันอุทยานการเรียนรู้