|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
ในอดีตเมื่อต้องการค้นคว้าหาความรู้ อ่านหนังสือ หรือศึกษาวิจัย ทุกคนจะนึกถึงห้องสมุดเป็นอันดับแรกในฐานะศูนย์กลางของข้อมูลสารสนเทศ แต่ในยุคดิจิทัลผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ความต้องการพึ่งพาสารสนเทศจากห้องสมุดน้อยลง
มีผลการสำรวจพบว่า คนอังกฤษเข้าห้องสมุดลดลงจากร้อยละ 48.2 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 33.9 ในปี 2558 ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ามีเวลาน้อยลง และร้อยละ 17 ให้เหตุผลว่า สามารถซื้อหรือเข้าถึงหนังสือได้จากที่อื่น[1] ในปีเดียวกันยังมีการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันใช้ห้องสมุดร้อยละ 44 ลดลงจากปี 2555 ซึ่งมีผู้ใช้บริการห้องสมุดร้อยละ 53[2]
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการยืมคืนหนังสือที่ห้องสมุดลดลงประมาณ 1 เท่าตัวเหลือร้อยละ 8.3 และใช้ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเหลือเพียงร้อยละ 0.6 หรือลดลงเกือบ 8 เท่า คิดเป็นจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่อ่านประมาณ 2.98 แสนคนเท่านั้น นอกจากนั้นการอ่านหนังสือในห้องสมุดดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน แต่เมื่อพ้นจากวัยเรียนไปแล้วก็แทบจะไม่มีใครอ่านหนังสือในห้องสมุดกันอีก
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในรอบสิบปีนี้ห้องสมุดยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 70 แห่งในทุกภูมิภาค ทั้งที่เป็นการบูรณะอาคารเดิมและก่อตั้งห้องสมุดแห่งใหม่ การที่อุปสงค์และอุปทานด้านห้องสมุดกำลังสวนทางกัน น่าจะเป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาห้องสมุดได้เริ่มตระหนักถึงความท้าทายของยุคดิจิทัล จึงพยายามแสวงหาโมเดลใหม่ๆ ด้วยการสร้างสรรค์ห้องสมุดใหม่ให้แตกต่างไปจากห้องสมุดแบบดั้งเดิม (ที่คงจะเข้าไปปรับเปลี่ยนได้ยาก) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการยุคใหม่ให้มากที่สุด
ห้องสมุดกับบทบาทใหม่ที่เป็นไปได้
แนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ซึ่งริเริ่มผลักดันเผยแพร่โดยอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ส่งผลสะเทือนให้ห้องสมุดทั่วประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษแห่งการอ่าน (2552-2561) อย่างไรก็ตาม “ห้องสมุดมีชีวิต” ที่อุบัติขึ้นมานานเกินกว่าทศวรรษ ก็ยังเป็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือและสารสนเทศ ซึ่งนับวันผู้คนจะสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้เองผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ประเด็นที่น่าขบคิดต่อไปก็คือ ความสำเร็จที่ผ่านมาเพียงพอหรือไม่ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และห้องสมุดมีชีวิตจะเติมเต็มบทบาทที่ยังไม่เคยทำมาก่อนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ช่วง 10 ปีมานี้ ห้องสมุดของไทยหลายแห่งมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมอย่างเห็นได้ชัด ให้ความสำคัญกับการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม การให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต WiFi เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นคว้าสารสนเทศและความรู้ด้วยตนเอง แต่แนวคิดด้านการจัดการพื้นที่ (Space Management) ยังคงอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น บางแห่งเริ่มที่จะจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้สามารถใช้เสียงได้ มีการออกแบบพื้นที่ให้โปร่งโล่ง มีโซฟานั่งเล่น หรือมีกาแฟและอาหารว่างให้บริการ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ต่างๆ ตามที่ห้องสมุดเชี่ยวชาญ เช่น ห้องสมุดมารวย จัดเวิร์คช็อปให้ความรู้เรื่องการออมและการจัดการด้านการเงิน ห้องสมุดสีเขียวจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้สำรวจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในสวนสาธารณะซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสมุด
บทบาทในการสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ ปรากฏให้เห็นและน่าสนใจมากขึ้นกว่าในอดีต อาทิ หอประวัติเมือง ภายในศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา (KCC) ที่นำเสนอเรื่องราวคุณค่าในอดีตของจังหวัดได้อย่างมีชีวิตชีวา ห้อง “นิพพานชิมลาง” ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส เพื่อให้ผู้ใช้บริการลองสัมผัสประสบการณ์ที่สงบสุข และมีกิจกรรมบรรยายอย่างสม่ำเสมอในวันเสาร์และอาทิตย์ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องความสำคัญของการออมและการบริหารเงินตลอดช่วงชีวิต โดยใช้สื่อที่ทันสมัยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายทุกวัย ทำให้เรื่องที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย
กระแสเมกเกอร์ที่แพร่เข้ามาในช่วงกลางของทศวรรษแห่งการอ่าน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนบทบาทห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยการเรียนรู้จากการทดลองและลงมือทำ แต่พื้นที่ “เมกเกอร์สเปซ” ในห้องสมุดกลับไม่ปรากฏชัดเท่าไรนักเมื่อเทียบกับนอกห้องสมุดซึ่งผุดขึ้นมากมาย คงมีเพียงห้องสมุดในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยของแก่นที่สนับสนุนพื้นที่ให้นักศึกษาได้ริเริ่มสร้างสรรค์ถังขยะอัจฉริยะซึ่งควบคุมการทำงานด้วย IoT เป็นต้น
นอกเหนือจาก“สารสนเทศที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ” ซึ่งทำให้ห้องสมุดยังคงดำรงจุดแข็งอันเป็นข้อได้เปรียบสถาบันทางสังคมอื่นแล้ว ห้องสมุดยังมีสินทรัพย์อันล้ำค่าอยู่กับตัว นั่นคือ “พื้นที่” ที่สามารถรังสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับผู้คนและสังคมได้อีกมาก งานบริการด้านสารสนเทศถือเป็นงานปกติที่จำเป็นต้องทำแต่ยังไม่เพียงพอ (necessary but not sufficient) นวัตกรรมการบริการที่ออกจากกรอบห้องสมุดแบบเดิม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก ด้วยการเปลี่ยนมุมมองเรื่องพื้นที่ที่ไม่จำกัดเพียงแค่การเป็นคลังหนังสือหรือทรัพยากรและพื้นที่การอ่าน จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นดังที่เกิดขึ้นแล้วกับห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลก
Click เพื่อโหลดดูภาพใหญ่
Click เพื่อชมภาพใหญ่