สังคมกับการเรียนรู้เป็นสิ่งควบคู่กันและต่างก็เป็นตัวกำหนดซึ่งกันและกัน ในอดีตมนุษย์รู้จักเรียนรู้เอาชีวิตรอดอยู่ในป่าในเขา จนกระทั่งศตวรรษที่ 14 ก็เริ่มต้นมีการตั้งรกราก ทำการเกษตร ซึ่งนำมาสู่การสะสมสร้างความมั่งคั่ง การสะสมความมั่งคั่งมักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเสมอ เพราะว่าเมื่อก่อนนี้เราเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่พอมาปี ค.ศ. 1300 ผู้คนในโลกส่วนใหญ่เริ่มตั้งรกรากทำการเกษตร คนที่ร่ำรวยก็คือคนที่มีที่ดินมีน้ำและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเพาะปลูก อีก 500 ปีต่อมาประมาณ ค.ศ. 1800 โลกก็เปลี่ยนแปลงอีก เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงนี้ระบบความมั่งคั่งก็คืออุตสาหกรรม ใครที่เข้าใจเรื่องอุตสาหกรรม ใครที่มีวิธีการผลิตที่แตกต่างจากชาวบ้าน คนๆ นั้นก็รวยขึ้นมา แต่การปฏิวัติความรู้ครั้งใหญ่ในโลกเราเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1965 ซึ่งไม่เคยมีครั้งใดเลยในประวัติศาสตร์ของโลกที่มีการก้าวกระโดดทางด้านความรู้ที่มากมายอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องโทรคมนาคม และเรื่องไอที ความรู้เกิดการโดดข้ามสาขา เกิดเป็นนาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) เป็นต้น ตรงนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมขนานใหญ่ ดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา คนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าเป็น Digital Native กลายเป็นพวกที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดเรื่องของการเรียนรู้ แต่วิถีชีวิตกับเทคโนโลยีหรือการเรียนรู้มันต้องไปด้วยกัน สมัยก่อนที่เราไม่มี Tablet ไม่มี Smart Classroom เรามีแต่กระดานชนวน ใช้หินชนวนเขียน ทำไมถึงเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ได้ล่ะครับ สุนทรภู่แต่งกลอนได้เพราะมากเลย ไม่ได้ใช้ Tablet ไม่ได้ใช้ Smartphone ไม่ได้เสิร์ชความหมาย ไม่ได้หาคำเหมือน ก็ยังแต่งกลอนได้ นั่นก็เพราะต้องใช้วิธีการสอนแบบดั้งเดิม ต้องรู้จักผสมคำ กออะกะ กออากา พอมาถึงยุคสมัยนี้คนมี iPad คนมี Smartphone ที่ใช้เรียนรู้ด้วย e-Learning ก็ต้องเป็นการเรียนรู้ที่แตกต่างกับการเรียนในลักษณะดั้งเดิม การถ่ายทอดความรู้แบบที่เรียกว่า Transmissive Education คือลุกขึ้นยืนแล้วก็สอน สอน สอน สอน เหมือนที่ทำกันมาในศตวรรษที่ 19 และ 20 มาถึงยุคปัจจุบันทำไม่ได้แล้วครับเพราะว่าการเรียนรู้ผ่าน Tablet ด้วยการสอนแบบดั้งเดิมหรือวิธีการยืนหน้าห้องแล้วบรรยายมันไม่ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นมา จะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมเข้าไปด้วยหรือที่เรียกว่า Participatory Education
ถามกันต่อไปว่า ถ้าต้องการจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา จะต้องปฏิรูปอะไรและทำอย่างไร ผมขอพูดถึงสังคมที่พึงปรารถนาก่อนนะครับ ผมคิดว่าสังคมที่พึงปรารถนานั้น ประการแรกต้องเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพ เราจะทำอะไรกันอย่างเดิม ใช้จอบ ใช้เสียมขุดดินกันอย่างเดิม ใช้วัวใช้ควาย มันไม่ได้แล้วครับ ถ้าสังคมเราจะมีอาหารให้ทุกคนบริโภคมากขึ้นต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ต้องใช้เทคโนโลยี รถไถจะต้องเป็นเครื่องไฟฟ้า ใช้เครื่องจักรเครื่องนวดข้าวต่างๆ แทนที่จะใช้ที่ดินจำกัดเท่าเดิมผลิตได้ 60 ถัง ต้องผลิตได้ 600 ถัง คนต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวเองได้ เปลี่ยนตัวเองได้ หาความรู้ใหม่ๆ มาเพื่อจะพัฒนาตัวเอง สังคมที่พึงปรารถนาจะต้องเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพ จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต้องมีแรงจูงใจ มีโครงสร้างของกฎหมาย มีโครงสร้างของสังคม และความสัมพันธ์ในสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นมา
ประการที่สอง ต้องเป็นสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่ไม่เป็นธรรมอยู่กันไม่ยั่งยืน เพราะว่าคุณปลูกคฤหาสน์ท่ามกลางสลัมไม่ได้ สังคมที่มีคนรวยกระจุกแต่ความยากจนกระจายมันอยู่กันไม่ได้ ความเป็นธรรมไม่ได้แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ว่าเป็นธรรมในเรื่องของระบบยุติธรรมด้วย คนรวยคนจนต้องมีความเท่ากันภายใต้กฎหมาย
ประการที่สาม เป็นสังคมที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม คือสังคมที่ชื่นชมในความดีความงามและความจริง สังคมที่มีคุณธรรมเหมือนเป็นเกราะกำบัง มีธรรมะก็เหมือนมีเกราะกำบังตัวเองไม่ให้ถูกทำร้ายได้ ถ้าคนเป็นคนดีอะไรก็ทำร้ายไม่ได้นะครับ สุจริตคือเกราะกำบัง เพราะฉะนั้นสังคมที่พึงปรารถนาเป็น 3 ลักษณะอย่างนี้
คราวนี้ถามว่า แล้วการปฏิรูปการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่สังคมดังกล่าวต้องเป็นอย่างไร ผมว่าต้องมี 4 ลักษณะด้วยกัน อย่างแรกต้องเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนรู้มีส่วนร่วม ผมว่าเรามาถึงยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงจาก Transmissive Education เป็น Participatory Education กล่าวคือวิธีการสอนด้วยการยืนพูดแล้วถ่ายทอดเพื่อให้ผู้เรียนจำไปแล้วมาตอบ ถ้าจำได้มากก็ตอบได้มาก ผมว่ามันมาถึงยุคที่เป็นจุดจบแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่พึงปรารถนานั้นจะต้องเป็นการผสมกันระหว่าง Transmissive Education และให้คนที่เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วย เหมือนอย่างที่สิงคโปร์ทำไปแล้วคือ Teach Less and Learn More นะครับ Teach Them Less and Let Them Learn More ก็คือสอนเขาให้น้อยลงและปล่อยให้นักเรียนได้เรียนรู้มากขึ้น คนที่อ่านออกเขียนได้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือออกแต่ต้องเป็นคนที่เรียนรู้ได้เรียนรู้เป็นหรือ Learn to Learn
คนที่เรียนรู้เป็นยังต้องรู้จัก Unlearn ด้วย เพราะความรู้บางอย่างที่เราเรียนรู้มาหรือเคยเชื่อเคยศรัทธามันอาจจะผิดก็ได้ ดังนั้นถ้าไม่ยอม Unlearn เราจะย้อนกลับมาทำเหมือนเดิม เพราะว่า Paradigm หรือความคิดของเราไม่ยอมเปลี่ยน มันกลายเป็นความเคยชิน เราจึงต้องรู้จัก Unlearn และไม่กลับมาทำตามความเคยชินเหมือนเดิมอีก
นอกจากนั้นยังต้องรู้จัก Relearn หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เข้ามาทุกวัน ไม่ใช่ปล่อยให้สิ่งที่เราเรียนรู้อยู่แล้วจมอยู่อย่างนั้น ทุกวันนี้ครูไม่ใช่ผู้สอนแต่เป็นโค้ช เป็น Facilitator ของการเรียนรู้ ไม่ใช่ให้ผู้เรียนจดไปท่องจำแล้วก็ตอบมาตามที่บอกจด แต่ต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ใช้เวลาสอนส่วนหนึ่ง แล้วให้เวลาอีกส่วนหนึ่งกับการแบ่งกลุ่มอภิปรายถกเถียง ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่เล่นเกมสมมติ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาซึมซับในส่วนที่ครูได้สอนไปเพื่อที่จะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเขาจะจำได้ไม่รู้ลืม
การเรียนรู้ลักษณะที่ 2 คือ จุดไฟ ผมคิดว่าการศึกษาโดยทั่วไปนั้นไม่ใช่การเติมน้ำในถังแล้ว แต่เป็นเรื่องของการจุดไฟแห่งความอยากรู้อยากเห็น ใส่อะไรเข้าไปในสมองเท่าไรไม่สำคัญเท่ากับเอาอะไรไปเพาะหว่านไว้ในสมองเขา ให้เขารู้จักคิด ได้เรียนรู้บางอย่าง ได้ซึมซับอะไรบางอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มี Quotation อันหนึ่งซึ่งคนไม่ค่อยได้ยิน เขาบอกว่าการศึกษาคือสิ่งที่คนเราลืมหมดแล้วที่เรียนมาจากโรงเรียน แต่คือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตัวคน ยกตัวอย่างตัวผมที่เป็นคนในยุคที่ต้องเรียนเรขาคณิต ต้องท่องจำพิสูจน์สูตรอะไรมากมาย สุดท้ายก็ไม่ได้เอาวิชานี้ไปใช้อะไรแล้วก็ลืมไปหมด แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตัวคือความสามารถในการใช้ตรรกะครับ ดังนั้นถ้าหากผู้สอนรู้จักจุดไฟความอยากรู้อยากเห็นในตัวผู้เรียน ให้ความใฝ่รู้เป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในชีวิตของเขา เด็กคนนั้นจะไม่มีวันอับจน เพราะเขาจะกลายเป็นคนที่กระตือรือร้นต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
การเรียนรู้ลักษณะที่ 3 คือมีการร่วมรับผิดชอบกัน คนไทยจำนวนไม่น้อยมองว่าการเรียนรู้และการศึกษาเป็นเรื่องของครู ครูก็บอกว่าไม่ใช่ คุณพ่อคุณแม่ร่วมกันนำเด็กคนนี้เข้ามาในโลก เพราะฉะนั้นพ่อแม่คือครูคนแรกของลูก ซึ่งเป็นความจริงนะครับ ผมเคยคำนวณวันเวลาที่เด็กอยู่กับครูในโรงเรียนปีหนึ่งประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่เหลืออยู่กับสังคมและอยู่กับพ่อแม่ เพราะฉะนั้นพ่อแม่หรือแม้แต่คนที่ไม่มีลูกแต่เป็นสมาชิกของสังคม ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะเด็กทุกคนเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของประเทศ สังคมจะปล่อยให้เฉพาะพ่อแม่ ปล่อยให้ครู รัฐบาล หรือใครรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ครับ มันต้องเป็นการเรียนรู้ที่รับผิดชอบร่วมกันทั้งสังคม
ลักษณะที่ 4 ก็คือจะต้องเป็นการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเราก็มีแหล่งเรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่หลายแห่ง และ TK park ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมคิดว่าการเรียนรู้ทั้ง 4 ลักษณะได้แก่การมีส่วนร่วมของผู้เรียน จุดไฟให้ผู้เรียน มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งสังคม และมีการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ จะนำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาคือมีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และมีคุณธรรมได้
การปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการเรียนรู้ คือการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม ถ้าสังคมคิดว่าวิธีการสอนแบบเดิม ไม่มีอะไรผิดพลาด ก็ทำต่อไป เพียงแต่ขอให้ครูได้ทำงานของครูอย่างแท้จริง แต่ว่าถ้าสังคมมีความเห็นพ้องตรงกันหรือมี Paradigm ร่วมกันว่าระบบการศึกษาที่จะต้องพัฒนาไปนั้นไม่ใช่การศึกษาแบบที่เคยทำกันมา แต่ว่าต้องมีรูปแบบใหม่ของการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้
ดังนั้นสิ่งซึ่งต้องปฏิรูปเพื่อการปฏิรูปสังคม ผมคิดว่ามีอยู่ 4-5 ประเด็นที่อยากนำเสนอก็คือ หนึ่ง ทักษะ โดยเฉพาะทักษะศตวรรษที่ 21 เช่นทักษะการคิด ทักษะการร่วมงานกับคนอื่น ทักษะด้านความคิดริเริ่ม ทักษะการสื่อสาร นี่เป็นสิ่งซึ่งจำเป็นต้องสร้างและส่งเสริม ประการที่สอง ความรู้ โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องของวิชาชีพ ประการที่สาม ทัศนคติ ซึ่งเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของคน คนที่มองโลกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ผลพวงของชีวิตก็ต้องเกิดขึ้นตามทัศนคติที่เกิดขึ้น คนที่มองโลกเป็นลบยากที่จะมีอะไรที่เป็นบวกขึ้นมาได้ในผลลัพธ์ของชีวิต แต่ถ้าคนที่มองอะไรที่เกิดขึ้นดีทุกอย่าง อนาคตก็ต้องดีขึ้นแน่ ประการที่สี่คือค่านิยม เป็นตัวที่ทำให้คนเราเกิดคุณธรรม เช่นค่านิยมเรื่องวินัย ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวที ประการสุดท้ายคือพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากทักษะ ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยม
พฤติกรรม 2 อย่างที่ผมคิดว่าสำคัญและจำเป็นที่คนไทยต้องมี อันแรกก็คือความเป็นมนุษย์ หรือความมีจิตใจที่ดีและสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ในฐานะที่แตกต่างกับเรา ผมขอเล่าตัวอย่างนิดหนึ่งว่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไรนะครับ มีนักศึกษาหญิงมาปรึกษาเพื่อนอาจารย์ของผมซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพื่อขอขยายเวลาการส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาโทไปอีกสักหนึ่งปี เหตุผลเพราะว่าเธอเพิ่งตั้งท้อง อาจารย์ที่ปรึกษาท่านนั้นตอบว่าท้องแล้วยังไง คุณก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จอยู่ดี กติกาก็ต้องเป็นกติกา สองปีต้องจบก็ต้องจบ เธอก็บอกว่าหนูไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะท้อง อาจารย์ที่ปรึกษาตอบว่าแต่สิ่งที่ต้องวางแผนแน่นอนคือคุณต้องจบภายใน 2 ปี ดิฉันต่อเวลาให้คุณไม่ได้หรอก แล้วสุดท้ายก็ไม่จบนะครับ ผมทราบมาว่าอาจารย์ท่านนั้นไม่ได้แต่งงานแล้วก็ไม่เคยท้องด้วย ผมก็ไม่เคยท้องแต่ผมรู้ว่าคนท้องนั้นลำบากแค่ไหน ในแง่นี้ผมมองว่าความเป็นมนุษย์ของอาจารย์ท่านนี้ต่ำมากเลย
อีกเรื่องหนึ่งคล้ายๆ กัน ผมเคยมีลูกน้องที่ทำหน้าที่รับสมัครคนเข้าทำงาน แล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำข้อสอบและสัมภาษณ์ได้ดีมากเลย แต่เขากลับไม่รับ ผมถามว่าทำไมไม่รับล่ะคนนี้มีความสามารถมาก คำตอบคือเพราะเธอท้อง ผมฟังแล้วโกรธมากเลย ผมอยากจะรู้ว่าเธอคนนี้จะท้องไปตลอดชาติไหม แล้วตัวคุณเกิดมาได้ไหมถ้าแม่ไม่ท้อง คือคนบางคนมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวน้อยไปหน่อยนะครับ
หรืออีกสักเรื่องนะครับ คนทำงานเกษียณอายุเป็นแค่พนักงานเล็กๆ รับเงินก้อนหลังเกษียณอย่างดีก็ไม่กี่แสนบาท แต่ฝ่ายงานที่ดูแลเรื่องประโยชน์ทดแทนให้กับพนักงานกลับพยายามจะตัดเงินของเขาให้น้อยลงไปอีก ผมก็ต้องติงไปว่าคนเรามีแค่ชีวิตเดียว เขาทำงานให้คุณมา 30 ปี ชีวิตของเขาเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว คุณจะหมุนเวลากลับไปเหมือนกดคอมพิวเตอร์ Undo ไม่ได้ 30 ปีมีหนเดียว 60 ปีก็มีหนเดียว ชีวิตเขามอบให้กับองค์กรแล้วเพราะฉะนั้นคุณต้องมอบสิ่งที่มีค่าให้กับการเสียสละของเขา ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินนะครับ แต่ท่านเชื่อไหมครับคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจตรงนี้ จึงขอฝากไว้ว่าความเป็นมนุษย์เป็นพฤติกรรมที่สำคัญมากๆ สำหรับสังคมไทยที่พึงปรารถนา
พฤติกรรมอีกอันหนึ่งคือความเป็นพลเมือง ทุกวันนี้เราจะพบกับความแตกต่างของผู้คนในบ้านเรามากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาจากสังคมอื่นประเทศอื่น ถ้าใครบอกว่าเรายังไม่มีประชาคมอาเซียน ลองไปดูในซอยบ้านผมครับ ร้านก๋วยเตี๋ยวก็อาเซียน บ้านผมก็อาเซียน ข้างบ้านผมก็อาเซียน บ้านถัดไปเอาอาเซียนจากเกาะมาเลี้ยงลูกเงินเดือนหมื่นกว่าบาทเพราะว่าพูดภาษาอังกฤษได้มาจากฟิลิปปินส์ แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ครับ เขาไม่กลับบ้านเขาแน่นอน พม่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 50 บาท กัมพูชาประมาณ 100 บาท แต่ประเทศไทย 300 บาท โอกาสมีมากมาย แล้วคนไทยก็ไม่สนใจด้วยว่ามาจากชาติไหน ตราบใดที่ไม่สร้างปัญหา ตราบใดที่กินน้ำพริก ยิ่งพูดภาษาไทยได้ยิ่งดีใหญ่เลย เราสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ถ้าเรายอมรับว่าความเป็นไทยไม่ได้มาจากเชื้อชาติ แต่มาจากการที่มีค่านิยมร่วมกันในสังคม และยอมรับพื้นฐานของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่หลากหลายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเกิดบนแผ่นดินไทยหรืออพยพเข้ามา แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกลมกลืนกัน เราก็มองเขาเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกันทุกคน อันนี้คือความเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองที่ถูกต้อง
คนไทยเราเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักอุดมการณ์ ผมเชื่อว่าถ้าเราปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของความรู้ ทักษะ พฤติกรรม ค่านิยม ทัศนคติ แล้วเพิ่มมิติความเป็นมนุษย์กับความเป็นพลเมืองเข้าไป จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะต้องมาทำ ไม่ใช่กระทรวงศึกษา ไม่ใช่ คสช. ไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันคิดและร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดสังคมที่พึงปรารถนาขึ้นมาได้จริง
ปรับปรุงและเรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูประบบการเรียนรู้คือการปฏิรูปสังคมที่แท้จริง” โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ตำแหน่งในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์) ในงาน TK Forum 2014 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
เผยแพร่และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “เต็มสิบ” (มกราคม 2558) เรื่อง “ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อปฏิรูปสังคมไทย”
จัดทำเป็น online content ทาง TK Podcast (มกราคม 2562)
เรื่อง “ปฏิรูประบบการเรียนรู้คือการปฏิรูปสังคมที่แท้จริง” (คลิกฟังที่นี่)