ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่นับวันจะทำให้เราคาดการณ์อนาคตได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ แซม โอ เห็นว่า จะยังคงอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ต่อไปอีกนาน ก็คือพฤติกรรมการอ่าน ซึ่งการอ่านที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ที่ถูกจำกัดแค่หนังสือและคนอ่าน แต่ ศาสตราจารย์ แซม โอ ยกเรื่องราวของห้องสมุดประชาชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้อย่าง Neutinamu Library เพื่อชี้ให้เราเห็นว่า ตราบใดที่การอ่านยังคงอยู่ มันจะสามารถพาเราไปได้ไกลกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวของ “ผู้อ่าน” เพราะที่สุดแล้ว การอ่านคือเรื่องของทุกคน
“สิ่งที่บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ เราไม่ใช่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาทางเทคนิค หรือแค่คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ามาใช้บริการ แต่เราคือตัวกลาง เป็นทั้งผู้นำทางและทำให้สังคมการอ่านเติบโตขึ้นในเวลาเดียวกัน”
ซึ่งนี่คือหนึ่งในแนวคิดหลายๆ อย่างของ Neutinamu Library ที่พยายามทำให้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่เป็นมากกว่าแหล่งรวมตัวของคนชอบอ่านหนังสือ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ห้องสมุดแห่งนี้เริ่มต้นจากอุดมการณ์เล็กๆ ของ Jang Suk Park นักสังคมสงเคราะห์ผู้ต้องการเห็นห้องสมุดกลายเป็นหัวใจของชุมชนชาวคังนัม “การก่อสร้างครั้งใหญ่ของเขตคังนัมเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1999 ตอนนั้นคังนัมค่อนข้างเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่ค่อยมีอะไร Jang Suk Park จึงเริ่มแนวคิดห้องสมุดชุมชนด้วยการเปิดบ้านของตัวเองนี่แหละเป็นห้องสมุด แล้วให้เด็กๆ เข้ามายืมหนังสือไปอ่าน ก่อนจะพัฒนามาเป็น Neutinamu Library อย่างทุกวันนี้ โดยตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก ว่าจะเป็นห้องสมุดเอกชนแนวทดลอง ที่ไม่พึ่งเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้น Neutinamu Library ก็ต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย เพราะจุดยืนและอุดมการณ์ที่จะเป็นมากกว่าห้องสมุด ย่อมไม่มีทางลัด แต่ต้องอาศัยการสื่อสารระหว่างห้องสมุดและสมาชิกในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะค่อยๆ สร้างรากฐานแห่งความไว้ใจ และทำให้พวกเขารู้สึกว่า ห้องสมุดแห่งนี้สามารถเป็นมากกว่าแหล่งความรู้ได้จริงๆ
“การจัดการเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างห้องประชาชนกับชุมชนมีหลายอย่าง เช่น ส่วนชั้นวางหนังสือ เจ้าหน้าที่จะมีการจัดชั้นวางที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้จริงๆ คือไม่ได้เป็นการเรียงหนังสือตามระบบดิวอี้ แต่จะแบ่งเป็นหมวดของปัญหา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่สำรวจกันแบบจริงๆ จังๆ อย่างเช่น ถ้าคนที่นี่มีปัญหาเรื่องการใช้ชีวิต บรรณารักษ์ก็จะดำเนินการ โดยเอาหนังสือที่ตอบโจทย์ปัญหานี้วางไว้ด้านหน้า ก่อนที่จะตามมาด้วยหนังสือหมวดอื่น"
นอกจากนี้ บรรณารักษ์ของ Neutinamu Library ก็มีหน้าที่มากกว่าการหาหนังสือให้ผู้ใช้ โดยเป็นนักจัดกรรมอีกด้วย กิจกรรมที่เรียกว่า ‘อ่านออกเสียง’ เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีโอกาสหาเวลานั่งอ่านหนังสือให้จบเล่มได้จริงๆ แล้วต่อยอดไปเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น ให้แต่ละคนนั่งอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือ การทำแบบนี้ คือการมองผู้ใช้เป็นคนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน (co-worker) มากกว่าที่จะเป็นลูกค้า และส่งเสริมการสื่อสาร การอยู่ร่วมกันระหว่างสมาชิกในชุมชนด้วย”
จากรูปแบบ และวิธีการของห้องสมุด Neutinamu Library ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ถ้าเป็นในประเทศไทย เราจะสามารถห้องสมุดในลักษณะนี้ได้บ้างไหม ความจริงแล้ว หลายพื้นที่ในต่างจังหวัด ก็มีการนำโมเดลห้องสมุดแบบนี้ไปใช้บ้างเหมือนกัน อาทิ ห้องสมุดที่อำเภอเจ๊ะหัน จังหวัดยะลา ที่ใช้กิจกรรมอ่านออกเสียง เพื่อให้เยาวชนมีความสนใจ และเข้ามาร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นมากขึ้น
ศาสตราจารย์ แซม โอ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากอยู่ในที่ที่ไม่มีใครสนใจจะอ่านหนังสือเลย วิธีเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ประจำ Neutinamu Library คือเดินถือหนังสือเอาไปให้อ่าน เพราะที่ Neutinamu Library เชื่อว่า ยิ่งคนเข้าถึงหนังสือมาก ก็จะยิ่งดี