เบื้องหลังความคิดและจินตนาการ
ของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21
ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
ซีรี่ส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานของนักออกแบบเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ แร็ม โกลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)
Photograph : Heiss
อึน ยัง ยี เป็นสถาปนิกชาวตะวันออกที่ได้ฝากชื่อเสียงไว้ในงานออกแบบห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาเกิดที่เกาหลีใต้แต่เติบโตในเยอรมนี หลังจากก่อตั้งบริษัทออกแบบชื่อ Yi Architects ในเมืองโคโลญ เขาตัดสินใจไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮันยางถึง 10 ปี ก่อนที่จะกลับไปปักหลักทำงานอยู่ในเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง
ห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ท
Stuttgart Library, เยอรมนี
การพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ในโลกตะวันตกมักจะวางแนวทางให้ห้องสมุดเป็นไอคอนสำคัญ ที่มีบทบาทเป็นมันสมองขับเคลื่อนเมืองให้เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับเมืองชตุทท์การ์ทซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของเยอรมนี บริษัทของ อึน ยัง ยี ชนะการประกวดออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 12 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 79 ล้านยูโร จนกระทั่งเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการในปี 2011
Photo : wikipedia
ห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ทมีรูปทรงแบบลูกเต๋ากว้างด้านละ 45 เมตร มีช่องเหมือนประตูจำนวน 80 ช่อง ห้องสมุดวางแนวตรงกับทิศทั้งสี่ ส่วนบนสุดของแต่ละด้านจารึกคำว่า “ห้องสมุด” เป็นภาษาต่างๆ โดยสามด้านเป็นอักษรภาษาเยอรมัน อังกฤษ และอารบิก สื่อถึงวัฒนธรรมหลักของภูมิภาคนี้ ส่วนอีกด้านจารึกเป็นอักษรฮันกึลเพื่อเป็นตัวแทนของโลกเอเชีย ด้วยเหตุที่ อึน ยัง ยี ต้องการประกาศเกียรติภูมิแก่ชาวเกาหลี จึงจงใจไม่เลือกใช้อักษรจีนหรือญี่ปุ่น
หากไม่นับรวมตัวอักษรดังกล่าว ทุกกระเบียดนิ้วของห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ทล้วนแสดงออกถึงการเชิดชูศิลปะแบบยุโรปในสไตล์มินิมอล ห้องสมุดมีสีขาวทั้งด้านนอกและด้านใน ยีอธิบายว่ามันเป็นสีของ “หนังสือ” และ “คน” เขาเลี่ยงที่จะประดับตกแต่งห้องสมุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตั้งใจจะให้ห้องสมุดดูคล้ายโมเดลปูนปลาสเตอร์ กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่ห้องสมุดเพิ่งสร้างเสร็จชาวเมืองชตุทท์การ์ทไม่ค่อยรู้สึกถูกตาต้องใจมากนัก เพราะมันดูเหมือนก้อนสี่เหลี่ยมขาวๆ ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมของเมืองที่มักถูกปกคลุมด้วยหมอก บ้างก็เสียดสีว่าดูเหมือนกับ “คุกหนังสือ” แต่ต่อมาพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะในยามเช้าที่ท้องฟ้าเปิด ตึกสีขาวได้หยอกล้อกับสีสันของดวงอาทิตย์ส่องเป็นประกายน่าชม ส่วนในเวลากลางคืนมันก็ได้กลายเป็นลูกเต๋าเรืองแสงสีฟ้าระยิบระยับ
Photo : chosun.com
ห้องสมุดมีพื้นที่ใช้งานถึง 11,500 ตารางเมตร อาคารแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็น “หัวใจ” ใช้พื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 สถาปนิกจงใจออกแบบให้โถงที่ใหญ่โตนี้ว่างเปล่า เพื่อให้ผู้ที่เดินเข้ามาได้ปลดปล่อยตัวเองจากโลกที่ยุ่งเหยิงภายนอก ด้านบนติดตั้งระบบไฟซึ่งสามารถใช้สำหรับจัดกิจกรรมตามโอกาสต่างๆ พื้นที่นี้ออกแบบโดยการตีความถึงวิหารแพนธีออนของโรมันด้วยแนวคิดแบบสมัยใหม่
จากชั้น 5 จนถึงชั้น 9 เป็นที่นั่งอ่านหนังสือทรงพีระมิดหัวกลับ โจทย์ที่นักออกแบบได้รับก็คือการทำให้ห้องสมุดไม่ใช่แค่เพียงสถานที่อ่านหนังสือ แต่เป็นสถานที่สำหรับไขว่คว้าหาความรู้และนำพาให้ผู้คนมารวมตัวกัน ยีจึงเกิดไอเดียที่จะสร้างพื้นที่ที่ดูคล้าย “เมือง” ไว้ในห้องสมุด ที่นี่มีทรัพยากรทั้งหนังสือและสื่ออื่นๆ กว่า 5 แสนรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมชั้นเลิศซึ่งมีมากกว่า 25 ภาษา เพื่อรองรับผู้ใช้บริการซึ่งเป็นแรงงานต่างเชื้อชาติหรือผู้อพยพ
ห้องสมุดยังมีห้องแกลลอรี่ซึ่งอยู่รายรอบโถงหัวใจ มีห้องสมุดดนตรีอยู่บริเวณชั้น 1 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตั้งอยู่ในอาคารหลังอื่น มีห้องสมุดเด็กสีสันสดใสขนาด 900 ตารางเมตรให้บริการทรัพยากรกว่า 6 หมื่นรายการทั้งยังมีเตียงและเครื่องนอนสำหรับเด็กอย่างครบครัน มีห้องประชุมซึ่งจุได้ประมาณ 300 คนและห้องขนาดเล็กสำหรับจัดกิจกรรมหรือเรียนเป็นกลุ่ม
แม้ว่าห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ทจะมีจุดยืนที่ชัดเจนถึงความศรัทธาที่มีต่อหนังสือกระดาษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิทัล ในทางตรงกันข้ามห้องสมุดได้รับการออกแบบไว้เป็นอย่างดีเพื่อที่จะรับมือกับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป ล็อบบี้บริเวณทางเข้าห้องสมุดเป็นที่ตั้งของจอสัมผัสขนาดใหญ่และมีคอมพิวเตอร์ให้บริการจำนวน 60 เครื่อง ส่วนผู้ที่ต้องการนั่งทำงานในห้องสมุดสามารถเดินตัวเปล่าเข้ามา แล้วขอยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่มีให้บริการนับร้อยเครื่อง
ที่มาเนื้อหา
Korean Architect Builds Prominent Library in Germany
yi architects: new stuttgart library
เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2559