Photo © www.lightzoomlumiere.fr
หากกล่าวถึงสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานโดดเด่นในการออกแบบพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ คงหนีไม่พ้นชื่อของโตโย อิโตะ (Toyo Ito) ซึ่งเคยฝากผลงานชิ้นเอกไว้ที่เซ็นไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque) ผู้ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ประจำปี 2013 แนวคิดการออกแบบ “สถาปัตยกรรมแห่งอนาคต” ของเขาคือการท้าทายและทำให้ขอบเขตนิยามการจัดแบ่งพื้นที่ตามแบบแผนเกิดความพร่าเลือน เขาพิถีพิถันกับการเลือกใช้วัสดุและแหล่งพลังงานที่เหมาะสม และนำเสนอรูปลักษณ์อาคารที่แตกต่างไปจากขนบดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้สะท้อนอยู่อย่างเต็มเปี่ยมใน ‘กิฟุมีเดียคอสมอส’ (Gifu Media Cosmos)
กิฟุมีเดียคอสมอสตั้งอยู่ในเมืองกิฟุ จังหวัดใจกลางประเทศญี่ปุ่นที่รายล้อมด้วยภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม สามารถเดินทางได้สะดวกเนื่องจากอยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง ในวันแรกของการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 ลูกค้ากว่า 300 คนยืนกลางสายฝนเพื่อรอชื่นชมความงดงามสร้างสรรค์ของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้
Photo © Iwan Baan
กิฟุมีเดียคอสมอสเป็นที่รู้จักในนาม “minna no mori” ซึ่งมีความหมายว่า “ป่าของทุกคน” เป็นสถาปัตยกรรมที่ปรากฏตัวอย่างอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ลักษณะเหมือนกล่องไม้ผสมกระจกขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่หรือสูงจนเกินไป เรียบง่ายไม่ฉูดฉาด หลังคามีรูปทรงคดโค้งยั่วล้อกับภูเขาคินกะ มโนทัศน์ในการออกแบบภาพรวมของโครงการนี้คือ “จากรากสู่กิ่งก้าน” ประดุจการปลูกเมล็ดพันธุ์ใหม่สำหรับอนาคต เพื่อให้ความรู้งอกงามและผลิดอกออกผล
Photo © Iwan Baan
ที่นี่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นห้องสมุดก็ไม่เชิง เพราะมีทั้งทรัพยากรหนังสือ คาเฟ่ แกลเลอรี่ นิทรรศการ และพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ อิโตะตั้งใจออกแบบให้กิฟุมีเดียคอสมอสเป็นพื้นที่สำหรับ “ความวุ่นวายแบบเงียบๆ” ซึ่งผู้คนในชุมชนสามารถมารวมตัวกัน หล่อหลอมความสัมพันธ์ ทำงาน และเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองกิฟุหรือนักท่องเที่ยวก็ไม่ควรมองข้ามสถานที่แห่งนี้
Photo © Iwan Baan
ตัวอาคารมีจุดเด่นที่เป็นไฮไลต์คือ หลังคาที่ทำจากไม้เนื้อแข็งสานกันคล้ายตาข่าย และโดมผ้าใบทรงครึ่งวงกลมขนาดยักษ์ภายในอาคาร ซึ่งถูกเรียนขานว่า “globes” หรือลูกโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะจากไม้ กิฟุมีเดียคอสมอสจึงมีส่วนในการสานต่อภูมิปัญญานี้ ช่างไม้ท้องถิ่นกว่า 150 คนเป็นผู้ร่วมกันถักถอชิ้นไม้ขนาด 120× 20 มิลลิเมตรจนกลายเป็นผืนหลังคา ส่วน “ลูกโลก” หรือโดมทรงครึ่งวงกลมขนาดมหึมาจำนวน 11 ใบทำจากผ้าสังเคราะห์พิมพ์เป็นลวดลายเรขาคณิต ใจกลางมีดวงไฟให้แสงสว่าง หากเปิดด้านบนของ “ลูกโลก” ออก จะช่วยนำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาในอาคาร ความแข็งแกร่งของไม้ผนวกกับความนุ่มนวลของ “ลูกโลก” สอดประสานกันอย่างลงตัวก่อเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เงียบสงบ มีพลัง เปิดเผย เปี่ยมด้วยอรรถประโยชน์ และมีอัตลักษณ์
Photo © Iwan Baan
พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน ได้แก่ ฟูมุฟูมุ (Fumu Fumu) เป็นเสมือนห้องสมุดเมือง โดกิโดกิ (Doki Doki) เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและนิทรรศการ วาอิวาอิ (Wai Wai) เป็นศูนย์กลางชุมชนสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนและการส่งเสริมเรื่องพหุวัฒนธรรม สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายทั้งห้องเรียนสอนภาษา (ตากาล็อก โปรตุกีส จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น) และกิจกรรมอื่นๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนนอกระเบียงเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งผู้ใช้บริการนิยมมานั่งชมวิวปราสาทกิฟุที่ตั้งอยู่บนภูเขา
ชั้นบนของอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 15,200 ตารางเมตร ออกแบบให้เป็นห้องสมุดในโถงเปิดโล่ง เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานอย่างอิสระ ทั้งยังสามารถเข้าถึงได้จากหลายทาง มีเส้นทางสัญจรไหลเวียน (circulation route) ที่ยืดหยุ่น และมองเห็น “ลูกโลก” ใบยักษ์ส่องแสงสว่างสบายตา ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้กับการพักผ่อน การศึกษาค้นคว้า และการเล่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถูกจัดไว้หลวมๆ ชั้นหนังสือตั้งวางเรียงเป็นแนวโค้งบนพรมวงกลมซึ่งอยู่ภายใต้ “ลูกโลก” ยักษ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยสร้างขอบเขตและแบ่งพื้นที่กิจกรรมออกเป็นส่วนๆ อย่างนุ่มนวลและชาญฉลาด ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกราวกับอยู่บนเกาะที่มีความเป็นส่วนตัวโดยไม่จำเป็นต้องมีผนังกั้น
Photo © Iwan Baan
กลยุทธ์ในการออกแบบที่ทำให้พื้นส่วนต่างๆ ภายในอาคารดูเหมือนแยกจากกันแต่ยังคงเชื่อมโยงถึงกันช่วยสรรค์สร้างจิตวิญญาณแห่งการเปิดรับ ที่น่าสนใจก็คือกิฟุมีเดียคอสมอสไม่มีการแบ่งแยกโซนเด็กเหมือนห้องสมุดอื่นๆ อิโตะให้เหตุผลว่า “เวลาอยู่ในสวนสาธารณะแล้วมีเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ที่นั่น คุณยังไม่เห็นว่าอะไร แล้วทำไมถึงจะไปแบ่งแยกเด็กๆ ที่เข้ามาในห้องสมุดล่ะ?”
ชมวีดิทัศน์ [Japanese Collection]
Episode 8: Gifu Media Cosmos by Toyo Ito - 2015
ติดตามฟัง TK Podcast ตอน GIFU MEDIA COSMOS แหล่งเรียนรู้อันวุ่นวายที่แสนสงบ ที่นี่
ที่มาข้อมูล
http://indianexpress.com/article/lifestyle/art-and-culture/india-design-2016-toyo-ito-never-want-to-be-satisfied/
https://arcspace.com/feature/gifu-media-cosmos/
https://www.designboom.com/architecture/toyo-ito-gifu-city-library-minna-no-mori-media-cosmos-06-17-2015/
ที่มาภาพ
https://www.lightzoomlumiere.fr/realisation/bibliotheque-minna-no-mori-de-gifu-de-toyo-ito-japon
https://iwan.com/portfolio/gifu-media-cosmos-gifu-japan-toyo-ito