Maker Space ในฮ่องกง เรียนรู้ด้วยการสร้าง(สรรค์)
ดูเหมือนว่าเวิร์คช็อปการเรียนรู้ภายในงาน เมกเกอร์แคมป์ (MakerCamp) ที่ฮ่องกง จะแปลกประหลาดแหกคอกไปจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่คุ้นเคย กิจกรรมในงานที่นั่นจะเห็นเด็กอายุสัก 10 ขวบกำลังง่วนอยู่กับการนั่งเล่นท่ามกลางถ่านแบตเตอรี่ หลอด LED และเทปพันสายไฟ ขณะที่ ไบรอัน สมิธ ยืนอธิบายว่าวงจรไฟฟ้าทำงานอย่างไร แต่ก็ไม่มีใครสนใจฟังเขาเท่าไรนัก ...นั่นแหละคือประเด็น! เพราะกิจกรรมทั้งหลายในงานนี้คือการขยายความรับรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเมกเกอร์ เพื่อที่จะทำให้เด็กๆ ได้รู้จักว่าการเรียนรู้ด้วยการลงมือประดิษฐ์สร้างสรรค์นั้นเป็นอย่างไร
เวิร์คช็อปนี้จัดต่อเนื่องตลอดช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายคือเด็กๆ ได้เข้ามาสัมผัสกับรูปแบบการเรียนที่แตกต่างจากห้องเรียน สมิธ เป็นครูจากโรงเรียนนานาชาติฮ่องกงและมาเป็นอาสาสมัครกิจกรรม กล่าวกันว่ามันเป็นการเรียนรู้โดยปล่อยให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบด้วยการลงมือทำ แทนที่จะใช้เวลามากมายไปกับการสอนทางวิชาการหรืออธิบายในชั้นเรียน แล้วเป็นผู้ตั้งคำถามฝ่ายเดียวโดยให้นักเรียนตอบ
ไบรอัน ตัง ผู้ร่วมจัดงาน เมกเกอร์แคมป์ กล่าวว่า “แนวคิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำหรือสร้างสรรค์ด้วยตนเอง มันคือการแนะนำเครื่องมือ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีใหม่และการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) โดยให้โรงเรียนหรือครูถอยกลับออกมาเป็นฝ่ายยืนดูว่าเมื่อเด็กๆ ได้รับโอกาสพร้อมกับเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว พวกเขาจะลงมือทำอะไร”
นับจากริเริ่มจัดเวิร์คช็อปนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2014 ก็มีมูลนิธิและสถาบันการศึกษาหลายแห่งแสดงความสนใจขอให้เขาช่วยพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับ “เมกเกอร์” เข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียน ขณะที่บรรดาอาสาสมัครกิจกรรมต่างก็อยากให้มีการจัดเวิร์คช็อปแบบนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตามห้องสมุดประชาชน เพื่อเป็นช่องทางให้เด็กสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน makerspace หรือ hackerspace ของฮ่องกงกำลังเติบโต หลังจากที่ ติ่มซำแล็บ ซึ่งเป็นเมกเกอร์สเปซแห่งแรกของฮ่องกงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2012 ชุมชนเมกเกอร์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างเช่น เมกเกอร์ไฮฟ์ และ เมกเกอร์เบย์ กลายเป็นแหล่งรวมผู้คนที่สนใจเรื่องของการประดิษฐ์คิดสร้างสิ่งของต่างๆ ได้มาพบปะกัน สิ่งของที่สร้างก็มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็น gadget หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระจุกกระจิก โดรน หรือแม้แต่การประดิษฐ์รูปสลักด้วยกระดาษแข็ง
พ่อแม่ชาวฮ่องกงเริ่มมีทัศนะว่าการเรียนรู้แบบนี้คือทักษะจำเป็นของศตวรรษที่ 21 เพราะได้รวมเอาการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การร่วมมือ การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และความสามารถในการสร้างนวัตกรรม เข้าไว้ด้วยกัน และก็ขึ้นอยู่กับตัวของเด็กเองด้วยที่จะต้องมีใจรัก (passion) มีความพยายามและความอยากที่จะลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตนเอง
อีกไม่นานเกณฑ์การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำก็อาจจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อปี 2013 สถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) เสนอให้เพิ่ม “ผลงานการประดิษฐ์สร้างสรรค์” (maker portfolios) ไว้ในใบสมัครเข้าเรียน นอกเหนือจากความสามารถพิเศษอย่างเช่น ดนตรีและศิลปะ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพผู้สมัคร สำหรับในฮ่องกงก็เป็นไปได้ว่าการสมัครงานในอีก 15 ปีข้างหน้า อาจจะมีคำถามว่า ‘เมื่อตอนอายุ 12-13 ขวบ คุณเคยไปร่วมกิจกรรมที่ เมกเกอร์แคมป์ รึเปล่า?’
Enjoy Maker Space สนุกคิด ลงมือทำ
ใจกลางกรุงเทพฯ ภายในห้องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เด็กๆ ส่งเสียงเจื้อยแจ้วตื่นเต้นกับกิจกรรมแปลกใหม่ บ้างยกมือถามครู บ้างหยิบยืมแบ่งปันข้าวของ บ้างชะโงกดูผลงานของเพื่อนหรืออวดผลงานของตน นี่คือบรรยากาศการเรียนรู้ซึ่งมีอิสระและมีชีวิตชีวาใน Enjoy Maker Space พื้นที่การเรียนรู้ซึ่งส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ด้วยจุดเน้นเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) ซึ่งมีกระบวนการให้เด็กๆ ได้ออกแบบ คิด และทำ รวมทั้งฝึกการแก้ไขปัญหาและเรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21
พื้นที่ของ Enjoy Maker Space ประกอบด้วย ห้องทำงานซึ่งผู้ที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ผ่านผนังกระจก ออกแบบด้วยวัสดุที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงช่าง โต๊ะทำจากไม้อัดแข็งซึ่งสามารถใช้คัตเตอร์ตัดวัสดุบนผิวโต๊ะได้เลย มีลักษณะเหมาะสมสำหรับนั่งทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มประมาณ 8-10 คน โดยมีช่องตรงกลางสำหรับใส่อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กาว กรรไกร กระดาษ คัตเตอร์ ไม้บรรทัด ดินสอ ยางลบ ด้านหลังห้องเป็นชั้นแขวนอุปกรณ์ช่างทำจากกระดานเพ็กบอร์ด หน้าทางเข้าเมกเกอร์สเปซเป็นชั้นโชว์ผลงานสร้างสรรค์ของเด็กๆ ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนอื่นๆ ที่เข้ามาใหม่ นอกจากนี้ยังมีมุมหนังสือ และอุปกรณ์การผลิตชิ้นงานที่ซับซ้อน เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ และเครื่องตัดเลเซอร์
ทุกๆ วัน Enjoy Maker Space จัดตารางกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ เลือกเข้าร่วมตามความสนใจ เช่น กังหันชัยพัฒนา ตุ๊กตามือหมุน หุ่นยนต์วาดรูป ปะติดปะต่อ พาหนะเคลื่อนที่ ฯลฯ เหมาะสำหรับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไปและอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองหรือครู พื้นที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประมาณ 12 ครอบครัวหรือ 35-40 คนต่อรอบ ทั้งนี้ ครูพี่เลี้ยงซึ่งทำหน้าที่จัดกิจกรรมและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการฝึกอบรมจาก New York Hall of Science ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
Enjoy Maker Space เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในความดูแลขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตั้งอยู่ในจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ แยกสามย่าน ในอนาคต อพวช. มีแนวทางที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแบบเมกเกอร์ให้กว้างขวางขึ้น โดยจัดทำเมกเกอร์สเปซเพิ่มในแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่นที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่โตขึ้นและใช้เครื่องมือสำหรับผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมองถึงการยกระดับการให้บริการเพื่อตอบสนองทุกไอเดียสร้างสรรค์ อันได้แก่ผู้ที่ต้องการทำโครงงานหรือผลิตชิ้นงานต่างๆ สามารถเข้ามาใช้อุปกรณ์ รวมทั้งขอคำปรึกษาเพื่อให้จินตนาการเหล่านั้นกลายเป็นจริง มิได้จำกัดเพียงกิจกรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วตามตารางกิจกรรม
หมายเหตุ
Maker Space ในฮ่องกง เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าว readWORLD เดือนธันวาคม 2559
(แปลและเรียบเรียงจาก http://www.scmp.com/lifestyle/families/article/1852146/hong-kong-hackerspace-movement-lets-children-learn-creating, 25 August 2015)
Enjoy Maker Space เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าว readWORLD เดือนกันยายน 2560
ที่มาภาพ
https://www.facebook.com/HongKongMiniMakerFaire
https://www.facebook.com/YoungMakers.ChangeMakers