เมื่อปี 2003 คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เคยจัดทำสำรวจ พบว่าชาวสิงคโปร์จำนวนมากอ่านเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับการทำงานและการเรียนเท่านั้น จึงเกิดแคมเปญการอ่านครั้งใหญ่ระดับชาติ READ! Singapore ขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่มีชีวิตชีวา แน่นอนว่าการปลูกฝังนิสัยการอ่านอย่างยั่งยืนนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็ก สิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับการสร้างห้องสมุดสำหรับเด็กและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง
kidsREAD เด็กอ่านทั้งเกาะ
โครงการการอ่านสำหรับเด็กทั่วประเทศเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2004 โดยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติ (National Library Board Singapore - NLB) สมาคมประชาชน (People’s Association - PA) และกลุ่มชุมชนพึ่งพาตนเอง 5 แห่ง เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี ที่มาจากครอบครัวของผู้มีรายได้น้อย จนเกิดชมรมการอ่านสำหรับเด็กหรือ kidsREAD 12 แห่ง เข้าถึงเด็กมากกว่า 10,500 คน
NLB ได้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งชมรมการอ่านในสโมสรชุมชน ห้องสมุดสาธารณะ และศูนย์บริการที่ให้ความร่วมมือกับชุมชนที่พึ่งพาตนเอง แต่ต่อมาในช่วงการดำเนินการมีหน่วยงานอื่นๆ ได้เข้ามาให้ความร่วมมือหลายหน่วยงาน อาทิ โรงเรียนมัธยม ศูนย์บริการครอบครัว ศูนย์ดูแลนักศึกษา ห้องสมุดสำหรับเด็กในชุมชน โรงเรียนอนุบาล องค์กรสำหรับกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ และบ้านพักสงเคราะห์เด็ก
สิ่งที่น่าสนใจคือ kidsREAD บริหารจัดการโดยอาสาสมัคร ซึ่งถูกสรรหาผ่านการติดต่อของเครือข่ายกลุ่มชุมชนที่พึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังมีการสรรหานักเรียนจากโรงเรียนระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และสถาบันโพลิเทคนิคมาเป็นอาสาสมัครของโครงการนี้ด้วย ที่น่าสนใจคือผู้ปกครองเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่สำคัญ NLB จึงได้จัดอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครก่อนปฏิบัติงาน ได้แก่ ทักษะการอ่านหนังสือแบบออกเสียงและการใช้ทรัพยากรทั้งจากห้องสมุดของ NLB และแหล่งอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
ห้องสมุดเพื่อการเริ่มต้นอ่านออกเขียนได้
สิงคโปร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศเล็กที่มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาห้องสมุดในระดับมาตรฐานสากล ทั้งยังมีหน่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับแรงบันดาลใจและแนวทางการพัฒนาห้องสมุดมาจากสิงคโปร์ ห้องสมุดประชาชนเกือบทุกแห่งมักจะมีบริการสำหรับเด็กและเยาวชน ยกเว้นห้องสมุดที่ออร์ชาร์ดและเอสพลานาดซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบและศิลปะ
ห้องสมุดเพื่อการเริ่มต้นอ่านออกเขียนได้ (Early Literacy Library - ELL) แห่งแรกของสิงคโปร์ตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของห้องสมุดจูร่ง เปิดตัวเมื่อต้นปี 2014 มีภารกิจมุ่งเน้นปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กปฐมวัยอายุไม่เกิน 6 ขวบโดยเฉพาะ ที่นี่เต็มไปด้วยตุ๊กตา หุ่นมือ มีเสื้อผ้าให้เด็กได้แปลงโฉมเป็นตัวละครในนิทาน มีมุมพัฒนาประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ซึ่งเด็กๆ ได้ใกล้ชิดกับหนังสือป๊อปอัพ ใช้เท้าวาดภาพ ลองเขียนและส่งจดหมาย ส่วนในมุมพัฒนาปัญญา มีเกมปริศนาให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องจำนวน รูปร่าง และขนาด ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยถึงกว่า 6 หมื่นเล่ม และภายในห้องสมุดยังให้บริการตู้คีออสหนังสือภาพอิเล็กทรอนิกส์และเกมจากห้องสมุดทัมเบิ้ลบุ๊ค (Tumblebook Library)
ที่มาเนื้อหา
เอกสารประกอบ การประชุมวิชาการประจำปี 2554 (Thailand Conference on Reading 2011) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ห้องสมุดเพื่อชีวิต ประสบการณ์ของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ โดย เกียง โก๊ะ ไล ลิน (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบที่นี่)
http://www.littledayout.com
http://www.nlb.gov.sg/kidsread
ที่มาภาพ
https://www.facebook.com/nlbsg/
http://www.nlb.gov.sg/kidsread