บุงโกะ ห้องสมุดบ้านๆ หยั่งรากการอ่านในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
บุงโกะ หมายถึงห้องสมุดเอกชนที่เน้นการให้บริการแก่เด็กซึ่งมีอยู่ทั่วญี่ปุ่นราว 4 พันแห่ง ห้องสมุดสำหรับเด็กที่เกิดขึ้นและดำเนินไปเองอย่างไม่เป็นทางการนี้สืบย้อนไปได้ว่ามีมานานไม่น้อยกว่าร้อยปี และเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงฟื้นฟูสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ห้องสมุดบุงโกะตั้งอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ศูนย์ประชาคมในชุมชน วัด โบสถ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต บางแห่งอาจมีหนังสือมากกว่า 10,000 เล่ม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดในบุงโกะก็มีความคล้ายคลึงกับห้องสมุดสำหรับเด็กในห้องสมุดสาธารณะโดยทั่วไป เช่น การให้ยืมหนังสือ กิจกรรมเล่านิทาน การพูดคุยเรื่องหนังสือ การแสดงหุ่นกระบอก และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก ดำเนินการโดยอาสาสมัครซึ่งร้อยละ 90 เป็นสตรี
ในต้นทศวรรษที่ 1980 ห้องสมุดบุงโกะมีจำนวนมากกว่าห้องสมุดสาธารณะถึงเกือบสองเท่า สำหรับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก บุงโกะเป็นแหล่งเดียวที่พวกเขาจะได้พบงานเขียนดีๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก เนื่องจากในสมัยนั้นห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดโรงเรียนยังด้อยพัฒนาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในชุมชนขนาดใหญ่อาจมีเด็กๆ มาใช้บริการมากเกินกว่าห้องสมุดเล็กๆ ในชุมชนจะรองรับไหว จึงเกิดการรวมกลุ่มเรียกร้องให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะหรือปรับปรุงบริการห้องสมุดในชุมชน ซึ่งมีทั้งกรณีที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
ห้องสมุดเด็กโตเกียว
ห้องสมุดเด็กโตเกียว (Tokyo Children's Library) เป็นหนึ่งในกรณีที่ประสบความสำเร็จ เกิดขึ้นมาจากบุงโกะ 4 แห่งผลักดันให้มีศูนย์การศึกษาห้องสมุดในบ้านขึ้นในปี 1957 และได้พัฒนากลายเป็นห้องสมุดเด็กโตเกียวในปี 1974 ที่นี่มีกิจกรรมและการบรรยายหลากหลาย เช่น หลักสูตรการเล่านิทาน และการบรรยายพิเศษโดยนักเขียนสำหรับเด็กและบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุด วรรณกรรมสำหรับเด็ก การศึกษา ฯลฯ ภายในห้องสมุดมีห้องสำหรับเด็ก ห้องเล่านิทาน และห้องสำหรับการศึกษาวิจัยของผู้ใหญ่ ห้องสมุดนี้จัดพิมพ์เผยแพร่วารสาร และหนังสือชุดที่มีชื่อเสียงที่เรียกว่า โอฮานาชิ โนะ โรโซกุ (Ohanashi No Rousoku ) ซึ่งเป็นหนังสือรวมนิทานที่เหมาะสำหรับการอ่านหรือเล่าให้เด็กฟัง
ปัจจุบันแม้ว่าห้องสมุดประชาชนของญี่ปุ่นจะมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้การเข้าถึงความรู้และหนังสือสะดวกรวดเร็ว แต่จำนวนห้องสมุดบุงโกะก็ลดลงเพียงเล็กน้อย คงเหลืออยู่ประมาณ 3,000 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าห้องสมุดสาธารณะเสียอีก คุณค่าของห้องสมุดบุงโกะที่มิอาจมีสิ่งใดมาทดแทนก็คือ บรรยากาศซึ่งเสมือนประหนึ่งบ้านและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างแม่บ้านและพวกเด็กๆ อาสาสมัครสตรีของบุงโกะไม่ได้เป็นเพียงแค่บรรณารักษ์ แต่ยังเป็นบุคคลพิเศษที่เด็กๆ ได้พบและพูดคุยด้วยอย่างสม่ำเสมอนอกเหนือไปจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่และครูของตน
ILCL ห้องสมุดนานาชาติด้านวรรณกรรมเด็ก
งานส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กของประเทศญี่ปุ่นรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2000 มีการก่อตั้งห้องสมุดนานาชาติด้านวรรณกรรมเด็ก หรือ International Library of Children's Literature (ILCL) โดยได้ปรับปรุงอาคารซึ่งแต่เดิมเป็นห้องสมุดสมเด็จพระจักรพรรดิ (Imperial Library) หรือหอสมุดกลางกรุงโตเกียว โดยใช้พื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของอาคารเดิม ก่อนการก่อตั้ง ILCL นั้นกฎหมายระบุให้หนังสือที่มีการตีพิมพ์ทุกเล่มจะต้องถูกส่งมาเก็บไว้ที่ห้องสมุดรัฐสภาแห่งชาติ (National Diet Library-NDL ซึ่งก็คือหอสมุดแห่งชาติดังที่เราคุ้นเคยกัน) มีผลตั้งแต่ปี 1948 แต่หนังสือที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่สมัยเมจิ ไทโช และโชวะตอนต้น ยังไม่ได้ถูกรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารสำหรับเด็กได้สูญหายไปจำนวนมาก
เมื่อ ILCL เข้ามารับช่วงการดำเนินงานต่อจาก NDL เฉพาะในส่วนของวรรณกรรมสำหรับเด็ก จึงมีบทบาทในการรวบรวมและอนุรักษ์หนังสือสำหรับเด็กของญี่ปุ่น ซึ่งมีนิยามครอบคลุมหนังสือสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 18 ปีลงมา ทั้งนิทาน หนังสืออ่านเล่น การ์ตูน ตำราเรียน และคู่มือการจัดการเรียนการสอน ILCL ได้ สำเนาไมโครฟิล์มกว่า 8,000 รายการมาจากห้องสมุดแมรี่แลนด์ ซึ่งได้รวบรวมสิ่งพิมพ์เหล่านี้ไว้เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังจัดซื้อหนังสือเด็กของต่างประเทศเอาไว้เป็นจำนวนมาก ในทศวรรษที่ผ่านมาสามารถรวบรวมได้ถึง 4 แสนรายการจาก 12 ประเทศ
ILCL ดำเนินการแปลงสิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2000 หนังสือที่ตีพิมพ์ก่อนปี 1950 ไม่มีอุปสรรคในการดัดแปลงและเผยแพร่เนื่องจากพ้นกำหนดถือครองลิขสิทธิ์ ระยะแรกห้องสมุดให้บริการอีบุ๊คและการสืบค้นเฉพาะผู้ที่ใช้บริการในพื้นที่ จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาห้องสมุดดิจิทัลด้านวรรณกรรมเด็กที่สามารถสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
ILCL ส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานด้านเด็กเข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนและบรรณารักษ์ของห้องสมุดโรงเรียนซึ่งมีกว่า 40,000 แห่ง ILCL ได้จัดทำชุดหนังสือแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ชุดละ 50 เล่มกระจายออกไปให้บริการยังโรงเรียนนับพันแห่ง โดยมีระยะเวลาการยืม 1 เดือน และเมื่อความต้องการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ILCL ก็ได้พัฒนาโมเดลความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชนกับห้องสมุดโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนหนังสือ
ด้านการให้บริการสำหรับเด็ก ILCL ได้จัดทำห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็ก ห้องเปิดโลกกว้าง และห้องโมงยามแห่งเรื่องเล่า ไว้ที่บริเวณชั้น 1 แยกออกจากห้องอ่านหนังสือและค้นคว้าวิจัยของผู้ใหญ่ซึ่งอยู่บนชั้น 2 เฉพาะที่ชั้น 1 มีหนังสือให้บริการสำหรับเด็กนับหมื่นเล่มและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กเป็นประจำทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังจัดทำพิพิธภัณฑ์หนังสือสำหรับเด็ก มีแกลเลอรี่จัดแสดงหนังสือที่เป็นมาสเตอร์พีซของญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป และจัดทำนิทรรศการหมุนเวียนบริเวณโถงห้องสมุดเป็นประจำ
ปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถรองรับการให้บริการได้เพียงพอ จึงมีการต่อเติมอาคารหลังใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทยอยเปิดให้บริการบางส่วนแล้วในปี 2015-2016
ที่มาเนื้อหา
บุงโกะ: ห้องสมุดเอกชนสำหรับเด็กในประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลเบื้องต้น โดย คิชิโร ทากาฮาชิ
ILCL เว็บไซต์ http://www.kodomo.go.jp/
ที่มาภาพ
https://www.stroll-tips.com/international-library-of-childrens-literature/
https://www.facebook.com/kaido.tokyo/
https://www.facebook.com/ichitoplus/