การถือกำเนิดขึ้นของห้องสมุดสำหรับเด็กมีแรงบันดาลใจมาจากความเคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปสังคมและการศึกษาที่มีความก้าวหน้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 บรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ริเริ่มการให้บริการสำหรับเด็กขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นการเข้าถึงกลุ่มเด็กและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งการเลือกสรรหนังสือสำหรับนักอ่านรุ่นเยาว์ หนังสือและบริการต่างๆ เหล่านี้มีเป้าหมายที่จะเติมเต็มห้องสมุดโรงเรียนซึ่งมุ่งสนับสนุนการเรียนรู้ในหลักสูตร ถึงแม้ว่าหนังสือสำหรับเด็กในห้องสมุดประชาชนพยายามที่จะสนองความต้องการด้านการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันบรรณารักษ์ก็ให้ความสำคัญกับการอ่านอย่างมีความสุขและการส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ไปพร้อมๆ กัน
มีการวิเคราะห์ว่าในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 บรรณารักษ์ที่ทำงานด้านเด็กในอเมริกาได้พัฒนา “ความเชื่อ” ต่างๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งได้แก่ความเชื่อเกี่ยวกับตัวตนที่แตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน ความเชื่อถึงความสำคัญของการเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กเป็นรายบุคคล ความเชื่อว่าห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็กคืออาณาจักรแห่งความเสมอภาค และความเชื่อในพลังแห่งวรรณกรรมซึ่งส่งผลต่อความเข้าใจเชิงบวกของเด็ก ประเทศอังกฤษก็มีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือคำนึงถึงความสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทางภาษา พัฒนาการด้านสังคม และพัฒนาการด้านการศึกษา
ช่วงทศวรรษที่ 1890 ห้องสมุดประชาชนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้จัดมุมหนังสือสำหรับเด็ก จนเมื่อปี 1895 จึงมีห้องสมุดแห่งแรกที่ออกแบบและสร้างห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบรรทัดฐานของห้องสมุดแห่งอื่นที่พัฒนาขึ้นในทศวรรษที่ 1900 ช่วงเวลาดังกล่าวมีการเสวนาของบรรณารักษ์ที่ทำงานกับเด็กเป็นครั้งแรกในสมาคมห้องสมุดอเมริกัน และมีกิจกรรมอบรมบรรณารักษ์ที่ทำงานกับเด็กเกิดขึ้นที่พิตสเบิร์ก โดยทั่วไปขนบของบรรณารักษ์อเมริกันนิยมเดินสายเยี่ยมเยียนโรงเรียน เล่านิทาน เสวนาเรื่องหนังสือ และจัดกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการทำงานส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กในพื้นที่อื่นๆ ของโลก
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรณารักษ์จากยุโรปเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมการอบรมพิเศษ ความสนใจที่มีต่อแนวปฏิบัติแบบอเมริกันเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามเมื่อเกิดห้องสมุดสำหรับเด็กขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม (1920) และปารีส ประเทศฝรั่งเศส (1923) โดยการสนับสนุนของกลุ่มสตรีผู้มั่งคั่งชาวอเมริกันที่ปรารถนาจะส่งเสริม “การรื้อสร้างด้านการศึกษา” ภายหลังสงคราม พวกเขาให้การอุปถัมภ์โดยเลือกรูปแบบห้องสมุดสำหรับเด็กเพราะเชื่อว่า “การสร้างสรรค์แบบอเมริกันที่แท้จริง คือการสนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ห้องสมุดอนุสรณ์อเมริกา (Amerika-Gedenkbibliothek) ในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นห้องสมุดอีกแห่งหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากอเมริกาอย่างชัดเจน
บริการห้องสมุดสำหรับเด็กของแต่ละประเทศมีการพัฒนาที่แตกต่างหลากหลายกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการจัดลำดับความสำคัญทางการศึกษา งบประมาณ และกฎหมาย ส่วนใหญ่บริหารจัดการโดยอาศัยโครงสร้างของห้องสมุดประชาชน แต่ก็ยังมีโมเดลอื่นที่แตกต่างออกไป ในอินเดียพื้นที่การอ่านสำหรับเด็กมีอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ประเทศที่กำลังพัฒนาบางแห่งอย่างเช่นไอวอรี่โคสต์การส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กเป็นบทบาทของหอสมุดแห่งชาติ ในทางตรงกันข้ามอิหร่านเต็มไปด้วยห้องสมุดสำหรับเด็กที่เป็นของเอกชน ส่วนฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น จอร์แดน และรัสเซีย ให้บริการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กผ่านห้องสมุดประชาชนควบคู่ไปกับห้องสมุดของเอกชน บรรณารักษ์ชาวญี่ปุ่นถึงกับมีสโลแกนว่า “เราต้องการห้องสมุดสำหรับเด็กทุกหัวมุมถนนเช่นเดียวกับเสาไฟ”
ห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีความโดดเด่น ได้แก่ ห้องสมุดสำหรับเยาวชนนานาชาติ (Internationale Jugendbibliothek, IJB) ที่มิวนิค เยอรมนี ซึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีหนังสือภาพที่รวบรวมจากทั่วโลก สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1983 ห้องสมุดอนุสรณ์ด็อกเตอร์ บี.ซี. รอย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนห้องสมุดหนังสือสำหรับเด็ก(Library of the Children's Book Trust) ที่นิวเดลี อินเดีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1967 โดยนักเขียนการ์ตูนและหนังสือภาพชื่อดังของอินเดียซึ่งนอกจากจะมีห้องสมุดแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตานานาชาติและตีพิมพ์นิตยสารสำหรับเด็กด้วย และ ห้องสมุด L'Heure Joyeuse ที่ปารีส ฝรั่งเศส
การพัฒนาบริการห้องสมุดสำหรับเด็กได้รับการส่งเสริมจากองค์การสหประชาชาติ ด้วยการสร้างห้องสมุดสาธารณะต้นแบบในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งมีการผลิตสิ่งพิมพ์และจัดประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA) ซึ่งมีฝ่ายงานห้องสมุดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา บริการห้องสมุดสำหรับเด็กเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ควบคู่ไปกับการขยายตัวของระบบการศึกษาและการเติบโตของการตีพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก ถึงกระนั้นห้องสมุดเด็กก็กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มาพร้อมกับสื่อมัลติมีเดียและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และบรรณารักษ์ก็ต้องทบทวนเรื่องการคุ้มครองสิทธิของเด็กในการเข้าถึงสารสนเทศ และปรับใช้เทคในโลยีในการให้บริการภายใต้เงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
เวอร์จิเนีย วอลเตอร์ อดีตผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการให้บริการห้องสมุดสำหรับเด็ก (Association for Library Service to Children) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าถึงเด็กเป็นรายบุคคล เขาเรียกร้องให้บรรณารักษ์ออกแบบการให้บริการเพื่อเด็กที่อยู่ในชุมชน และจัดหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อสร้าง “ความสำคัญ ความสัมพันธ์ และความน่าตื่นเต้นของการอ่าน”
ที่มาภาพ :
http://joeherringjr.blogspot.com/2017/08/a-brief-history-of-libraries-in.html#.WsCYb4jFJPY
https://www.facebook.com/pg/IntBib/photos/?ref=page_internal
https://www.ifla.org/files/assets/libraries-for-children-and-ya/publications/BLACK%20&%20RANKIN.pdf
ที่มาเนื้อหา ห้องสมุดเด็ก Encyclopedia of Children and Childhood in History and Society จาก
http://www.faqs.org/childhood/Ch-Co/Children-s-Libraries.html