ท้องถิ่นหลายแห่งในประเทศไทยประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเมืองในภูมิภาคกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแต่การวางแผนการพัฒนากลับไร้ทิศทาง ในขณะที่การจัดสรรงบประมาณจากรัฐก็ไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน
เมืองขอนแก่น เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อนักธุรกิจชั้นนำในจังหวัดได้ร่วมกันลงขันเป็นเงินทุนตั้งต้น 200 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) แล้วจับมือกับเทศบาล 5 แห่ง เตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา มุ่งแก้ปัญหารถติด และพัฒนาเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชนแบบไม่รอพึ่งรัฐบาล เป้าหมายคือการสร้างเมืองจากขนส่งมวลชนไปสู่เมืองอัจฉริยะ (smart city)
เหล่าผู้บุกเบิกกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า การคิดนอกกรอบและเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นจากทุกฝ่ายคือกุญแจไขปัญหาที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องรอคอยการพัฒนาที่รัฐหยิบยื่นให้เพียงอย่างเดียว ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาตั้งเป้าว่าจะกระจายหุ้นและระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินมาพัฒนาเมืองขอนแก่นให้ทันสมัย น่าอยู่ มีเศรษฐกิจที่ดี นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนจะได้เป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของเมืองอย่างแท้จริง
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนถึงความสำเร็จของเมืองขอนแก่นที่มิได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่อาศัยทั้งจิตสำนึกรักบ้านเกิด พลังความสามัคคี ทัศนคติที่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา รวมทั้งการใช้สติปัญญาในการมองหาหนทางใหม่ๆ ที่ท้าทายภายใต้ข้อจำกัด จนกระทั่งกลายเป็น ‘ขอนแก่นโมเดล’ ต้นแบบการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเมืองสำหรับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
ความคิดเบื้องหลัง ‘ขอนแก่นโมเดล’
ปัญหาใหญ่ของขอนแก่นไม่ต่างจากปัญหาของประเทศคือเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีการวิเคราะห์ว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาแล้วกว่า 40 ปี และน่าจะยังคงอยู่ในสถานะนี้ไปอีกกว่า 30 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีขอบเขตจำกัดหรือโตต่ำกว่าศักยภาพ
“เราต้องหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ให้ได้ เพราะจีดีพี (ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ) เป็นดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความยากจน คนที่ยากจนก็คือพี่น้องเรา ดังนั้น KKTT จึงมีเป้าหมายสำคัญเพียงข้อเดียวคือการทำให้จีพีพี (Gross Provincial Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ของขอนแก่นใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 12 ข้างหน้า ไม่รอจนถึง 30 ปี เพราะผมคิดว่าวันนั้นรัฐก็อาจยังทำไม่สำเร็จ
“ที่สำคัญคือเราจะต้องหลุดออกจากอีกกับดักหนึ่ง ก็คือกับดักความคิด ที่มองการพัฒนาเป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์ ประเทศที่เจริญแล้วเขาพัฒนาจากท้องถิ่น ไม่ได้พัฒนาไปจากรัฐบาลกลางเหมือนที่ประเทศไทยทำอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาของภาคอีสานเป็นโจทย์ยาก ไม่มีรัฐบาลไหนอยากทำโจทย์ยาก ไม่มีใครมาช่วยเราหรอก เพราะฉะนั้นคนอีสานต้องปากกัดตีนถีบช่วยเหลือตัวเอง เพียงแต่เราต้องการสองอย่าง คือความเข้าใจจากรัฐบาลและใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้โครงการของขอนแก่นเดินหน้าและสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้”
เปลี่ยนขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ
การขับเคลื่อน ‘ขอนแก่นโมเดล’ ใช้กรอบคิด smart city ซึ่งครอบคลุมการพัฒนามนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การปกครอง ความเป็นอยู่ และระบบขนส่ง ประกอบกับหลักการพื้นฐานด้านความยั่งยืน
ที่ผ่านมา KKTT ได้ศึกษากรณีตัวอย่างในการพัฒนาเมืองใหญ่หลายแห่ง เช่น เมืองพอร์ตแลนด์ (Portland) สหรัฐอเมริกา และเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่ผู้คนใช้รถยนต์เป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นเมืองกระชับ ผู้คนสามารถสัญจรด้วยการเดิน ขี่จักรยาน และใช้บริการขนส่งมวลชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เมืองน่าอยู่แล้วยังส่งผลกระทบต่อการยกระดับเศรษฐกิจของเมือง
องค์ประกอบขอนแก่นโมเดล และการพัฒนา 6 ด้านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city)
องค์ประกอบขอนแก่นโมเดล และการพัฒนา 6 ด้านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city)
“ครัวเรือนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงดัชนีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการเดินทาง (Housing + Transport หรือ H+T) เพราะต้องซื้อรถยนต์เพื่อใช้ไปทำงาน ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนอยู่ในข่ายที่ H+T สูงเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ ซึ่งถือว่าแย่มาก ดังนั้น การเริ่มต้นพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยให้ H+T ของขอนแก่นลดลง และเมื่อระบบขนส่งมวลชนดีขึ้น เอกชนก็จะมีการลงทุนสูงขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีท้องถิ่นและอัตราการจ้างงานสูงขึ้นด้วย”
สุรเดช กล่าวว่า การพัฒนาระบบการขนส่ง (mobility) เป็นด้านที่ยากที่สุดในบรรดาการพัฒนา smart city ทั้ง 6 ด้าน แต่ KKTT เลือกพัฒนาด้านดังกล่าวเป็นอันดับแรก เพราะตระหนักว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาด้านอื่นๆ เกิดตามมาได้ง่ายขึ้น “ผมไม่คิดว่ามีอะไรยากเกินกว่าจะทำได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องทัศนคติ ประเทศไทยทุกวันนี้เราไม่ได้ติดข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี เราไม่ได้ติดข้อจำกัดเรื่องเงิน เราติดข้อจำกัดเรื่องวิธีคิด ข้าราชการทุกคนกลัวความล้มเหลว ฉะนั้นจึงไม่อยากทำอะไรใหม่จะได้ไม่ล้มเหลว พออยู่ใน comfort zone แล้วทุกคนก็สบาย แต่ถ้าข้าราชการรุ่นพี่บอกรุ่นน้องว่า ทำไปเลยสำเร็จแน่ อาจมีปัญหานิดหน่อยแต่ไม่เป็นไรหรอก คนรุ่นใหม่ก็จะกล้าคิดกล้าทำมากกว่านี้
“วันนี้ KKTT ทำเรื่องขนส่งมวลชนซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดใกล้เสร็จแล้ว เราจึงกล้าเปิดผัง smart city ให้ทุกคนรับทราบ เพราะถ้าออกมาพูดเรื่องทั้งหมดนี้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันที่เป็นไปไม่ได้ เลิกทำเถอะ”
ปัจจุบัน เมืองขอนแก่นมี Smart Bus จำนวน 6 สาย 20 คัน ให้บริการภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งกำลังวางโครงสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจำนวน 21 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 5 เทศบาลเป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร โดยจะใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลิตในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
“พื้นที่ที่เราพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ (common area) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนจน คนชั้นกลาง หรือคนรวยก็มาใช้สอยร่วมกัน มีข่าวนำเสนอออกไปว่าขอนแก่นทันสมัย จริงๆ แล้วพวกเรากำลังทำในสิ่งที่ประเทศไทยควรมีเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่รัฐทำไม่ได้เท่านั้นเอง”
สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
ขอนแก่นโมเดลเป็นการขับเคลื่อนเมืองในสเกลใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพร้อมใจมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนตามแนวคิด ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ได้แก่ การเคลื่อนไหวทางสังคม การสนับสนุนองค์ความรู้ และการเชื่อมต่อทางนโยบายกับภาครัฐ
สุรเดชเล่าถึงบทบาทในระยะแรกของ KKTT ที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานและสร้างความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ “กลุ่มแรกที่เข้าไปคุยคือเอ็นจีโอ ผมเข้าไปในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่อีกด้านหนึ่งผมก็เป็นเจ้าของบริษัทด้วย หลักการของเอ็นจีโอคือห้ามสนับสนุนนายทุน ผมก็เลยบอกว่า จะเชื่อผมหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ตอนเด็กๆ พวกเราล้วนฟังเพลงเดียวกันคือเพลงที่แต่งมาจากในป่า แต่พวกเขาเติบโตไปเป็นเอ็นจีโอ ส่วนผมโตมาเป็นพ่อค้า ถ้าวิธีเดิมๆ ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำให้ปากท้องของพี่น้องเราดีขึ้น ผมก็อยากขอให้ทุกคนสนับสนุน อยากให้เราร่วมมือกันจนผ่านจุดนี้กันไปก่อน ถ้าผมคดโกงหรือทำไม่ดีแล้วค่อยมาคัดค้านผม”
จากนั้น มีการจัดสานเสวนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานต่างๆ เข้าใจแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นและสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน จนพร้อมใจขับเคลื่อนงานตามบทบาทและศักยภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่นวางรากฐานความรู้เรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมมานับ 10 ปี รวมทั้งศึกษาการออกแบบเมืองเพื่อให้การพัฒนาในอนาคตเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เทศบาล 5 แห่งร่วมกันจัดตั้งบริษัท พัฒนานคร จำกัด เพื่อดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนแบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ และมีการจดทะเบียนบริษัท ขอนแก่นทรานซิตซิสเทม จำกัด (KKTS) ในรูปแบบวิสาหกิจของกลุ่มเทศบาล เพื่อกำกับนโยบายในระยะยาวและทำหน้าที่บริหารจัดการรายได้จากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในอนาคต ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ นอกพื้นที่อีกหลายแห่ง เช่น ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสนับสนุนแผน smart city ความร่วมมือกับ CAT เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่ทันสมัย ความร่วมมือกับเครือข่ายไอโอทีแห่งประเทศไทย (Thailand IoT Consortium) เพื่อวางแนวทางให้เมืองขอนแก่นใช้ระบบ Internet of Things เพื่อบริหารจัดการ 3 โครงการ คือ การจอดรถอัจฉริยะ การติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดมลภาวะทางอากาศของรถบัส และการป้องกันแก้ไขน้ำท่วม รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
“ขอนแก่นโชคดีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันดีมาก ทั้งมหาวิทยาลัย เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่างมีความสามัคคีกันและสนุกกับการร่วมกันพัฒนาเมือง โดย KKTT มีจุดยืนที่จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะสุดท้ายแล้วเหลืองแดงไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย ฝ่ายการเมืองท้องถิ่นก็ไม่ต้องกังวลว่าคนใน KKTT จะไปลงเลือกตั้งแข่ง เพราะพวกเราจงใจไม่ไปเลือกตั้งเพื่อให้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง”
แรงกระเพื่อมจากขอนแก่นโมเดล
สุรเดชวิเคราะห์ว่า การพัฒนาในรูปแบบ ‘ขอนแก่นโมเดล’ สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจที่สังคมไทยพูดถึงกันมายาวนาน “ปัจจุบันรัฐบาลอาจไม่ชอบคำว่ากระจายอำนาจ เหมือนไม่ชอบคำว่า ‘ก๋วยเตี๋ยว’ เราก็อย่าไปพูดให้ได้ยิน แต่เขาอนุญาตให้ต้มน้ำซุปใส่เส้นกับลูกชิ้นแล้วเอาตะเกียบคีบกินได้ เราก็รีบๆ ทำ ไม่มีประเทศไหนที่สามารถกระจายอำนาจได้พร้อมกันทั้งประเทศ แม้แต่ออสเตรเลียก็ทำได้เพียงบางเมือง เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ไม่สามารถกระจายอำนาจทีเดียวได้พร้อมกัน 76 จังหวัด แต่เป็นเรื่องที่ใครพร้อมก็ทำก่อน ซึ่งวันนี้ขอนแก่นพร้อมแล้ว”
ความสำเร็จของ ‘ขอนแก่นโมเดล’ มิได้เกิดคุณูปการแก่ชาวขอนแก่นเท่านั้น แต่แนวทางที่ชาวขอนแก่นได้บุกเบิกไว้จะเป็นขุมทรัพย์ความรู้ เพื่อท้องถิ่นแห่งอื่นๆ ที่ต้องการลุกขึ้นมาพัฒนาบ้านเมืองของตนเองไม่ต้องเริ่มต้นด้วยการนับหนึ่งใหม่
“ผมต้องการนวัตกรรม (innovation) ที่เป็นกระบวนการ (process) สิ่งที่ขอนแก่นคิดอาจไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว เพราะพวกเราก็นำบทเรียนประสบการณ์จาก กทม. ซึ่งเคยจัดตั้งบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์แล้วเอามาเปลี่ยนวัตถุประสงค์และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกรุงเทพธนาคม แต่ขอนแก่นแตกต่างออกไปตรงที่มีการจดทะเบียนบริษัทเพื่อทำระบบขนส่งมวลชนโดยตรง และเราทำโดยคำนึงถึงความเผื่อแผ่เพราะอยากให้ประเทศไทยทั้งประเทศดีขึ้น ศาสตร์การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นเหมือนตาบอดคลำช้าง แต่ละคนต่างก็คิดว่าความรู้ของตนยิ่งใหญ่และเป็นคำตอบของการพัฒนาประเทศ แต่วันนี้ศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ต้องเป็นการบูรณาการแบบข้ามศาสตร์วิชา (transdiscipline)
“สังคมเรามีวิธีคิดแบบ ‘ลิงเห็นลิงเชื่อ’ (monkey see monkey believe) คือต้องมีอะไรที่สำเร็จแล้วมาให้เห็น แล้วจะบอกว่าอยากได้แบบนี้อีก เพราะฉะนั้นขอนแก่นต้องทำ smart city ให้สำเร็จ ถ้าขอนแก่นเปลี่ยนได้จังหวัดอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ประชาชนที่รับรู้อาจจะเรียกร้องให้นักการเมืองหรือข้าราชการในท้องถิ่นทำบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่ากระแสวันนี้แรงพอ”
นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงของขอนแก่นยังส่งผลในระดับนโยบาย โดยในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ระบุถึงจังหวัดขอนแก่นด้านที่เป็นจังหวัดนำร่องระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแบบรางเบา และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งมีบทบาทด้านการสร้างสนามทดลองทดสอบโมเดลและนวัตกรรมต่างๆ (regulatory sandbox & experiment platform) ได้ยกกรณีศึกษาของขอนแก่นในด้านการลงทุนระบบขนส่งมวลชนโดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐ
ปัจจุบัน ‘ขอนแก่นโมเดล’ ได้จุดประกายให้ท้องถิ่นหลายแห่งจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง โดยแต่ละแห่งมีจุดเน้นในการพัฒนาที่แตกต่างไปตามบริบทของชุมชน สิ่งสำคัญคือมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิด
“ผมบอกทุกคนว่า When it doesn’t go right, go left หมายความว่า ถ้าทิศทางที่ประเทศไทยเดินอยู่มันยังไม่ใช่ (right = ถูก, ใช่, ขวา) เราเลี้ยวซ้ายดีกว่า ฉะนั้นวันนี้ขอนแก่นเลี้ยวซ้าย มีอีก 7-8 เมืองเริ่มเลี้ยวตามแล้ว แต่ละจังหวัดก็เหมือนกล้ามเนื้อแต่ละมัด ถ้าแต่ละจังหวัดไม่แข็งแรง ประเทศไทยก็ไม่มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศใดได้”