ห้องสมุดเทยยิน (Biblo Tøyen) เป็นหนึ่งใน 24 สาขาของห้องสมุดออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่เพิ่งได้รับการบูรณะล่าสุด พร้อมกับกฎใหม่คือการสงวนห้องสมุดนี้ไว้เป็นพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-15 ปีเท่านั้น
บรรณารักษ์กล่าวว่า ระบบการศึกษาของนอร์เวย์กำหนดให้นักเรียนตั้งแต่เกรด 1-4 สามารถอยู่ในโรงเรียนได้จนถึง 5 โมงเย็น เพื่อเล่น ทำการบ้าน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ห้องสมุดเทยยินจึงคิดที่จะสร้างทางออกให้กับเด็กที่เริ่มเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ให้ยังคงมีสถานที่เรียนรู้สนุกๆ หลังเลิกเรียน (โรงเรียนในนอร์เวย์ เลิกเรียนเวลาบ่ายสอง ช้าสุดไม่เกินบ่ายสาม)
ทีมออกแบบรื้อวิธีคิดวิธีออกแบบทั้งหมด โดยมุ่งไปที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นตอนต้นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของห้องสมุด เด็กๆ บอกว่าพวกเขาต้องการสถานที่สำหรับ “แฮงก์เอาท์” ที่ผ่อนคลาย ห่างจากสายตาพ่อแม่ และคุยเล่นกันได้ ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการพบปะทางสังคม ซึ่งควรจะเป็นที่ที่สามารถได้สร้างสรรค์หรือทำอะไรบางอย่างด้วยกัน ห้องสมุดเทยยินจึงสร้าง “แหล่งพักพิงที่สาม” (third place) นอกเหนือไปจากบ้านและโรงเรียน ซึ่งเยาวชนสามารถเรียนรู้ ค้นคว้า และเป็นตัวของตัวเอง
เจ้าหน้าที่ของห้องสมุดมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังและสร้างแรงจูงใจด้านการอ่านและการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมการศึกษาสนุกๆ เช่น การละคร ดนตรี การทำอาหาร การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และตัวต่อเลโก้ ตรงกลางห้องสมุดเป็นที่ตั้งของ “เท็ดดี้” รถบรรทุกเก่ายี่ห้อวอลโว่ซึ่งด้านท้ายถูกปรับเป็นครัวจำลอง ส่วนด้านหน้าเป็นโซฟานุ่มสบาย สมาชิกสามารถนั่งอ่านหนังสือในรถเข็น ทำการบ้านในรถตุ๊กๆ หรืออภิปรายเป็นกลุ่มในเรือกอนโดล่าที่แขวนอยู่กลางอากาศ การมาห้องสมุดจึงช่วยเติมเต็มจินตนาการและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ
ห้องสมุดตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาลและเทาทำให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน เปลี่ยนจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟที่ให้แสงสีอบอุ่นและสปอตไลท์ ยั่วล้อไปกับพื้นผิวและรูปทรงหลากหลายลักษณะของพรม ม่าน และเฟอร์นิเจอร์ ห้องสมุดแห่งนี้ทำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อวัสดุใหม่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็ได้
หนังสือที่นี่ถูกจัดกลุ่มตามธีมของเนื้อหาเช่น “สัตว์” “สั้นและดี” “กีฬา” หนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ถูกวางไว้ใกล้กับหนังสือเกี่ยวกับหุ่นยนต์และการสำรวจธรรมชาติ แนวทางการจัดหนังสือเช่นนี้ ทำให้หนังสือเล่มหนึ่งๆ ไม่ถูกจำกัดให้วางอยู่ตำแหน่งใดตายตัว แต่สามารถสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามธีมที่บรรณารักษ์ริเริ่มขึ้น ห้องสมุดหลีกเลี่ยงการทำชั้นหนังสือสูงๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเอื้อมหยิบได้ถึง ชั้นหนังสือถูกแขวนไว้บนรางหรือสลิง ทำให้ง่ายต่อการจัดพื้นที่ใหม่ตามลักษณะการใช้งานหรือกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้น
ปลายปี 2016 ห้องสมุดเทยยินได้นำโดรนมาประยุกต์ใช้กับระบบการจัดการห้องสมุด ทุกๆ คืนโดรนจะบินวนบนชั้นหนังสือเพื่อสแกนและระบุตำแหน่งหนังสือแต่ละเล่มซึ่งติดแท็ก RFID เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการหนังสือในวันถัดไป ส่วนระบบยืมคืนหนังสือก็ใช้การ์ดไมโครชิปซึ่งทำให้การยืมคืนเป็นไปด้วยความง่ายดายและรวดเร็ว
เวลาเปิดปิดห้องสมุดที่นี่ก็ไม่เหมือนใคร สอดคล้องกับกลุ่มผู้ใช้บริการหลักคือเด็กวัยรุ่นตอนต้น ในวันจันทร์ถึงศุกร์เปิดให้บริการตั้งแต่บ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็น ส่วนวันเสาร์อาทิตย์เปิดให้บริการเที่ยงถึงสี่โมงเย็น
แหล่งข้อมูลและภาพ
http://theoslobook.no/2016/05/28/biblo-toyen
https://aatvos.com/project/biblo-toyen/