Podcast คือไฟล์เสียงดิจิทัลสำหรับอุปกรณ์พกพา เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2004 โดยมีบริษัทแอปเปิ้ลเป็นผู้บุกเบิกอุปกรณ์ในยุคแรกๆ นั่นก็คือเครื่อง iPod และนับจากนั้นเครื่องเล่นคาสเซ็ตแบบพกพาหรือซาวด์อเบาท์ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากยุคสมัย
ถ้าไม่นับสื่อประเภทเพลง ดิจิทัลคอนเทนท์ในรูปแบบไฟล์เสียงเติบโตอย่างช้าๆ ต่างจากสื่อที่เป็นรูปภาพหรือวิดีโอ แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น วรรณกรรม สารคดี รายการทอล์ค บทสัมภาษณ์ รายการตอบคำถามหรือเคล็ดลับต่างๆ หรือแม้กระทั่งโฆษณา มีการวิเคราะห์ว่า Podcast เป็นสื่อที่ควรค่าแก่การลงทุนสำหรับองค์กรต่างๆ เพราะมีต้นทุนไม่สูงนักแต่มีจุดแข็งมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ
พกพาได้ อุปกรณ์สำหรับฟัง podcast มีขนาดเล็ก สามารถนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินทาง ออกกำลังกาย หรือทำงานบ้าน และเป็นสื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ฟังจนกลายเป็น “เพื่อน” หรือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
สร้างความผูกพัน เมื่อเสียงพูดใน podcast ถูกส่งเข้าไปถึงโสตประสาทของผู้ฟัง ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับการสนทนากันโดยตรง ผู้ฟังมีโอกาส “เสพติด” เนื้อหา กลายเป็นแฟนคลับผู้ดำเนินรายการ หรือมีความผูกพันกับแบรนด์ขององค์กรที่ผลิต podcast
มีแพลตฟอร์มที่หลากหลาย podcastสามารถนำไปใช้กับสื่อเกือบทุกช่องทางที่องค์กรมีอยู่ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อีเมล บล็อก สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เป็นแบบมีผู้ดำเนินรายการคนเดียว มีแขกร่วมรายการ อัดรายการไว้ล่วงหน้า หรือเป็นรายการสดที่เปิดให้ผู้ฟังร่วมมีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็ได้
มีการคัดสรรเนื้อหา ผู้ฟัง podcast มักใส่ใจกับการเลือกดาวน์โหลดเนื้อหาที่ต้องการจะฟัง เพราะเป็นสื่อที่จะต้องฟังไปตั้งแต่ต้นจนจบไฟล์ ต่างจากการอ่านเนื้อหาดิจิทัลที่สามารถสแกนสายตาหรือเปลี่ยนหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อเลือกอ่านเฉพาะจุดที่สนใจ
ปัจจุบัน ห้องสมุดหลายแห่งได้รวบรวมไฟล์เสียง podcast เพื่อเป็นคอลเลกชั่นสำหรับให้บริการประหนึ่งเป็นหนังสือเสียง (audio book) โดยจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานผ่านอุปกรณ์โมบาย หรือทำเป็นจุดบริการในห้องสมุดสำหรับดาวน์โหลดไฟล์ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดหลายแห่งที่ได้พัฒนาเนื้อหาขึ้นเอง โดยใช้แอพพลิเคชั่นที่เผยแพร่และใช้งานได้อย่างสะดวก เช่น Soundcloud เป็นการสร้างช่องทางให้บรรณารักษ์ได้สื่อสารเรื่องหนังสือและการอ่านกับผู้ใช้บริการได้อย่างกว้างขวาง นอกเหนือไปจากการพบปะลูกค้าที่เคาน์เตอร์ให้บริการ
เบื้องหลัง cardiCast ของกลุ่ม newCardigan
ซึ่งเป็นชุมชนวิชาชีพที่ริเริ่มโดยบรรณารักษ์รุ่นใหม่ของประเทศออสเตรเลีย
ติดตามรับฟังรายการพอดคาสต์ของทีเคพาร์คได้ที่ http://podcast.tkpark.or.th
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางทัศนีย์ แซ่ลิ้ม ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, กรกฏาคม 2560
ที่มาเนื้อหา
http://www.whypodcasts.org/
ที่มาภาพ
https://newcardigan.org/projects/
http://www.learningtimes.com/what-we-do/podcast-production/benefits/