ถึงเวลาแนะ ให้ได้“ศัพท์” ต่อจากนี้ต้องเจออะไร นี่คือคำที่ควรรู้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย !!!
มั่นใจเลยว่าน้องๆ บางคนคงพร้อมกับการสอบเป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าคงยังมีหลายคนสับสน ได้ยินคุณครูพูดถึง เพื่อนๆ คุยกันถึงคำบางคำแล้วไม่เข้าใจ เอ๊ะ! เพื่อนเขาพูดถึงอะไรกันนะ? ต่อจากนี้เราควรทำอย่างไรดีนะ? นี่คือ 10 คำศัพท์ ที่หากรู้แล้วชีวิตการเตรียมตัวของน้องๆ จะง่ายขึ้นอีกเป็นกอง
ADMISSION
ระบบกลางในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมเอาหลายคณะ หลายสาขา หลายสถาบันมาไว้ด้วยกัน โดยแต่ละคณะหรือสาขาจะมีคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกแตกต่างกัน แต่คะแนนที่ใช้แน่ๆ คือ GPAX, O-NET, A-NET, GAT, PAT (ถ้างงว่าคืออะไร อ่านคำศัพท์ถัดไปนะ)
GAT PAT
ข้อสอบกลางที่ใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ใช้ได้ทั้งรอบรับตรงและแอดมิชชั่น GAT (General Aptitude Test)คือสอบความถนัดทั่วไปและภาษาอังกฤษ ส่วน PAT (Professional and Academic Aptitude Test)มีทั้งหมด 7 ตัว หมายถึงความถนัดในสาขาต่างๆ อาทิ วิศวะ สถาปัตย์ วิชาชีพครู ศิลปกรรม เป็นต้น แต่น้องไม่ต้องสอบหมดทุกตัวนะ แต่ละคณะเขาจะบอกไว้ว่าใช้ตัวไหนบ้าง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ใช้ GAT, PAT1, PAT2
O-NET
ย่อมาจาก Ordinary National Educational Testคือการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการสอบวัดความรู้และความคิด 5 วิชาหลักที่เรียนกันในชั้นเรียน ไทย คณิต วิทย์ สังคม และภาษาอังกฤษ โดยน้องๆ ทุกคนจะถูกโรงเรียนบังคับให้สอบโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่แล้วใช้เป็นสัดส่วน 30% ของคะแนนแอดมิชชั่นกลาง
A-NET
ย่อมาจาก Advanced National Educational Testหรือการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง เป็นการวัดความรู้ และความคิดเชิงวิเคราะห์ โดยเน้นทักษะการคิดมากกว่า O-NET คิดเป็น 0-35% ของคะแนนรวมทั้งหมด คณะไหนใช้คะแนนเท่าไรก็ต้องไปตรวจสอบกันอีกทีนะ
Clearing - House
น้องๆ หลายคนอาจจะงงว่าเกี่ยวอะไรกับการทำความสะอาดบ้าน แต่จริงๆ แล้วคือระบบที่ให้น้องมายืนยันอีกครั้งหลังจากสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยว่าจะเข้าที่ไหน เมื่อน้องๆ เลือกจะถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลางทันที เช่น พี่สอบตรงติดโครงการ A,B,C 3 โครงการ พอถึงวันที่กำหนด พี่ก็ต้องเลือกว่าจะเรียนโครงการไหน สมมุติว่าเลือก A ก็จะหมดสิทธิ์ในโครงการ B,C และแอดมิชชั่นกลางทันที ถ้าไม่เลือกก็ลุยต่อในศึก Admissionได้เลย
กสพท.
สำคัญมากสำหรับน้องที่อยากเรียนคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ เป็นการรับตรงร่วมหลายสถาบันที่เปิดสอน ถือว่าเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดที่สอบได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขทางการเรียนหรือเกรดเลย ใช้ 7 วิชาสามัญ และความถนัดแพทย์ พร้อมการันตีคะแนน O-NET ขั้นต่ำ 60% (ถ้าต่ำกว่านี้ ถึงคะแนนอื่นๆจะสูง ก็เข้าไม่ได้นะ!)
สทศ.
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดูแลเรื่องการสอบของน้องๆ ไม่ว่าจะเป็น O-NET, GAT PAT หรือ 7 วิชาสามัญ มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการสอบ ก็ติดต่อที่สถาบันนี้ได้โดยตรงทาง www.niets.or.th
สอท.
สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดูแลเรื่องของการแอดมิชชั่นกลาง และเคลียริ่งเฮ้าส์ไม่ว่าเราจะสมัครแอดมิชชั่นหรือจะยืนยันสิทธิ์เคลียริ่งเฮ้าส์ เราก็สามารถเข้าไปได้เลยที่ www.cuas.or.th
GPAX / GPA
น้องๆ หลายคนสับสนกับสองคำนี้กันมาก ขอเคลียร์เลยว่า GPAX เป็นเกรดเฉลี่ยรวมทุกเทอม ทุกวิชา ถ้าเป็นโครงการโควตา หรือรับตรง จะกำหนดมาว่าจะใช้ GPAX 4 เทอม 5 เทอม หรือว่า 6 เทอมส่วน GPA จะเป็นเกรดรายวิชา เช่น GPA วิชาภาษาไทย GPA วิชาวิทยาศาสตร์ คือถ้าเอา GPA มารวมกันก็จะเป็น GPAX นั่นเอง
เกณฑ์ขั้นต่ำ
มีทั้งในรอบแอดมิชชั่นกลางและรับตรง คือการกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมในการเลือก โดยใช้คำว่า “ไม่ต่ำกว่า” , “ต้องมากกว่า” , “ไม่น้อยกว่า” ต้องดูดีๆ นะน้อง ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีคะแนน GAT ไม่น้อยกว่า150 คะแนน หมายถึง GAT 150 ก็สมัครได้ แต่ 149 สมัครไม่ได้
แหล่งข้อมูล: www.dek-d.com