10 ห้องสมุดเก่าแก่ทั่วโลก ‘ที่ยังให้บริการอยู่’
หนังสือบนชั้นวางไม่ใช่สิ่งเดียวที่ดึงดูดความสนใจให้เราเดินเข้าห้องสมุด สถาปัตยกรรมอันตระการตา ของสะสมอันน่าทึ่ง และประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของห้องสมุดล้วนน่าหลงไหลไม่แพ้กัน โดยเฉพาะห้องสมุดเก่าแก่หลายร้อยปีทั่วโลกที่เราจะพาไปชมกันดังต่อไปนี้
ห้องสมุดอัลคาราวีน (Al Qarawiyyin Library)
©Aziza Chaouni
ห้องสมุดอัลาคาราวีนตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยชื่อเดียวในเมืองแฟ็ส ทางตอนเหนือของโมร็อกโก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลกด้วย ตัวห้องสมุดถูกสร้างพร้อมกับมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 859 ทำให้มันเป็นห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงให้บริการอยู่ ห้องสมุดอัลคาราวีนเป็นแหล่งเก็บเอกสารโบราณล้ำค่าเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมากมาย ภัณฑารักษ์ของห้องสมุดแห่งนี้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่าห้องเก็บเอกสารโบราณที่นี่นี้มีประตูที่ล็อกถึงสี่ชั้น โดยกุญแจของล็อกแต่ละอันจะถูกเก็บไว้กับบุคคลสี่คน การจะเปิดประตูห้องได้คือคนทั้งสี่จำเป็นต้องมารวมตัวกัน
ก่อนหน้านี้ อัลคาราวีนเป็นที่รู้จักอยู่ในวงแคบมากๆ จนกระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมโมร็อกโกจะประกาศแผนบูรณะห้องสมุดแห่งนี้เมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้แล้ว
ลิไบรเย (Librije)
ลิไบรเยถูกสร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ในโบสถ์เซนต์วัลเบอร์คา เมืองซุตเฟน จังหวัดเกลเดอร์ลันด์ ทางตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ โดยตัวโบสถ์เองนั้นก็มีอายุเก่าแก่ไปถึงราวศตวรรษที่ 11 เลยทีเดียว การตกแต่งภายในและภายนอกของลิไบรเยถือว่าถูกเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยหนังสือส่วนใหญ่ยังถูกล็อกติดไว้กับโต๊ะอ่านเหมือนกับห้องสมุดส่วนใหญ่ในสมัยก่อน
ห้องสมุดมหาวิหารแฮเรอเฟิร์ด (Hereford Cathedral Library)
ห้องสมุดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในศาสนสถาน ห้องสมุดมหาวิหารแฮเรอเฟิร์ดตั้งอยู่ทางตะวันตกของอังกฤษ โดยเป็นห้องสมุดแบบล่ามโซ่หนังสือเพียงแห่งเดียวที่โซ่ คาน และล็อกยังคงใช้งานได้ตามปกติ หนังสือส่วนใหญ่ที่นี่เป็นแนวเทววิทยาและหนังสืออ้างอิงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1100 เป็นต้นมา แฮเรอเฟิร์ดมีตัวอย่างงานเขียนด้วยลายมือในสมัยโบราณที่ยังคงสภาพดี นอกจากนี้ ยังมีบทเพลงที่ร้องโต้ตอบกันคล้ายลำตัด (antiphon) ในศตววรษที่ 13 และสถูปที่ทำจากไม้โอ๊คเก็บรักษาไว้ด้วย
ห้องสมุดล่ามโซ่ฟรานซิส ทริกก์ (Francis Trigge Chained Library)
เมืองกรานธัม มณฑลลิงคอล์นเชอร์ ทางตะวันออกของอังกฤษ คือที่ตั้งของห้องสมุดฟรานซิส ทริกก์ ห้องสมุดแบบล่ามโซ่เก่าแก่ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1598 โดยชื่อห้องสมุดตั้งตามชื่อของ “ฟรานซิส ทริกก์” นักบวชกลุ่มพิวริตันและอธิการบดีของชุมชนบริเวณนี้ในสมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 โดยทริกก์ตั้งใจให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นแหล่งเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านเทววิทยาและวิทยาศาสตร์สำหรับเพื่อนนักบวชด้วยกันและประชาชนทั่วไป ห้องสมุดล่ามโซ่ฟรานซิส ทริกก์ยังถือเป็นห้องสมุดแบบสืบค้นข้อมูลสำหรับสาธารณะ (public reference library) แห่งแรกของอังกฤษอีกด้วย
ห้องสมุดโรงเรียนชายล้วนรอยัลแกรมมา (The Chained Library - Royal Grammar School)
ห้องสมุดเก่าแก่แห่งนี้เป็นห้องสมุดแบบล่ามโซ่อีกเช่นเดียวกัน ตั้งอยู่ในโรงเรียนชายล้วนรอยัลแกรมมา เมืองกิลด์ฟอร์ด ทางตอนใต้ของอังกฤษ ห้องสมุดนี้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1575 โดยมีชั้นหนังสือที่สืบค้นย้อนหลังไปได้ถึงปี 1897 และมีหนังสือชุดเก่าแก่ที่สุดซึ่งถูกพิมพ์ในปี 1480 ที่เมืองเวนิสของอิตาลี
ห้องสมุดล่ามโซ่มหาวิหารเวลส์ (The Chained Library - Wells Cathedral)
ห้องสมุดล่ามโซ่มหาวิหารเวลส์ มณฑลซัมเมอร์เซ็ท ตอนใต้ของอังกฤษ เป็นที่อยู่ของหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์ก่อนปี 1800 หนังสือของที่นี่สะท้อนองค์ความรู้ที่หลากหลาย โดยหนังสือชุดหลักเป็นการรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับเทววิทยามากถึง 2,800 เล่ม แต่ขณะเดียวกันหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ประวัติศาสตร์ การสำรวจ และภาษา ก็ถูกรวบรวมไว้มากมาย ห้องสมุดแห่งนี้ยังมีตัวอย่างเอกสารโบราณที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งด้วย แม้ว่าเอกสารในยุคกลางจำนวนมากจะสูญหายไปในยุคปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ก็ตาม
จุดเด่นอีกอย่างของห้องสมุดที่มหาวิหารเวลส์แห่งนี้คือหนังสือยุคโบราณที่ผลิตโดยการพิมพ์ ไม่ใช่การเขียนด้วยลายมือ เล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือ ‘Pliny Naturalis Historiae’ โดย ‘นิโคลัส เจนสัน’ พิมพ์ที่เวนิสเมื่อปี 1472 หรือจะเป็นหนังสือแผนที่โลกฉบับสมบูรณ์เล่มแรกของโลกของ ‘อับราฮัม ออร์ทีเลียส’ ซึ่งถูกพิมพ์เมื่อปี 1606 นอกจากนี้ ยังมีหนังสือชุดรวบรวมงานเขียนของอริสโตเติลที่พิมพ์เมื่อปี 1497 ด้วย
ห้องสมุดลอเรนเทียน (Laurentian Library)
ห้องสมุดแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในมหาวิหารซันโลเรนโซแห่งตระกูลเมดีซี เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ลอเรนเทียนเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1571 มีเอกสารโบราณมากกว่า 11,000 ฉบับ และหนังสืออีกเกือบ 5,000 เล่มด้วยกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของห้องสมุดระบุว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันยั่งยื่นยาวนานของตระกูลเมดีซีซึ่งถูกส่งต่อมาให้คนรุ่นหลังได้สนใจ ชื่นชม และร่วมกันดูแลรักษา นอกจากนี้ ศิลปินยุคแรเนอซ็องส์ชื่อก้องโลกอย่าง ‘มีเกลันเจโล’ ยังมีส่วนในการออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ด้วย
ห้องสมุดมาลาเตสติอานา (Malatestiana Library)
ห้องสมุดมาลาเตสติอานาตั้งอยู่ในเมืองเซเซนา ทางตอนเหนือของอิตาลี โดยถือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในยุโรปที่ไม่ได้เป็นห้องสมุดของศาสนสถาน มาลาเตสติอานาเปิดให้บริการเมื่อปี 1452 มีหนังสือในห้องสมุดมากถึง 40,000 เล่ม ห้องอ่านหนังสือของที่นี่ให้อารมณ์คล้ายกับนั่งอยู่ในโบสถ์ ที่สำคัญ มาลาเตสติอานาได้รับการขนานนามว่าเป็นห้องสมุดแห่งเดียวของโลกที่มีความยึดโยงกับบรรพบุรุษในอดีต เนื่องจากส่วนประกอบของอาคารหลายอย่างที่ถูกรังสรรค์โดยศิลปินเลื่องชื่อหลายคนในยุคนั้นยังคงถูกรักษาให้คงสภาพเดิมมานานกว่า 550 ปีแล้ว
ห้องสมุดโบสถ์วิมเบิร์น (Wimborne Minster)
บนชั้นบนของโบสถ์วิมเบิร์น ทางตอนใต้ของอังกฤษ คือที่ตั้งของห้องสมุดเก่าแก่ของโลกอีกแห่งหนึ่งซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1686 ที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดแห่งแรกๆ และเป็นห้องสมุดแบบล่ามโซ่ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอังกฤษ จุดเริ่มต้นของห้องสมุดแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยก่อนยุคปฏิรูปศาสนา ชั้นบนของโบสถ์เป็นเพียงที่ตั้งสำนักงานการคลังเท่านั้น แต่เมื่อการปฏิรูปศาสนามาถึง ทางการไล่เผาหนังสือทางศาสนาจำนวนมาก ทำให้บาทหลวงวิลเลียม สโตน นำหนังสือของเขามาฝากไว้ที่โบสถ์แห่งนี้ หนังสือของเขาเป็นหนังสือเกี่ยวกับเทววิทยาทั้งในภาษาละติน กรีก และฮีบรู โดยในตอนนั้นหนังสือยังไม่ถูกล่ามโซ่ ต่อมาชาวเมืองอีกคนได้บริจาคหนังสืออีก 90 เล่ม โดยมีข้อแม้ว่าห้องสมุดต้องล่ามโซ่หนังสือทั้งหมดและเปิดให้บริการแก่ประชาชนในเมือง
บิบลิโอเตกา มาร์เซียนา (Biblioteca Marciana)
©Maciej Brzeźniak
‘บิบลิโอเตกา มาร์เซียนา’ แปลว่าห้องสมุดมาร์ก ตั้งขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 ตามชื่อของ ‘เซนต์มาร์ก’ นักบุญอุปถัมภ์เมืองเวนิสในยุคนั้น ตัวห้องสมุดตั้งอยู่สุดทางของจตุรัสเซนต์มาร์กอันโด่งดัง ตรงข้ามทางเข้าพระราชวังของดอจหรือนายกเทศมนตรีเวนิส (Doge's Palace) ภายในห้องอ่านหนังสือของห้องสมุดแห่งนี้ตกแต่งด้วยประติมากรรมและภาพวาดสีปูนเปียกที่สวยงามมากมาย
แหล่งที่มาและภาพ: http://flavorwire.com/573078/the-oldest-libraries-around-the-world