มีข้อค้นพบทางประสาทวิทยาที่ยืนยันว่าสมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้โดยการมองเห็นมากกว่าการเรียนรู้แบบอื่น โดยสามารถแปรผลภาพได้เร็วกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า และสามารถจัดเก็บความทรงจำได้ถึง 72 GB ต่อวินาที ผู้ถูกวิจัยกว่า 65% สามารถจดจำภาพที่ได้เห็นแค่เพียง 10 วินาที แม้เวลาผ่านไป 1 ปีแล้วก็ตาม ส่วนการรับรู้ด้วยคำพูดและข้อความ ถูกจดจำได้เพียง 10% เท่านั้น
แผนที่ความร้อนแสดงลักษณะการใช้สายตาของคนรุ่นใหม่ในการอ่านข้อมูลในเว็บไซต์
ส่วนที่ถูกอ่านนานจะปรากฏเป็นสีแดง น้อยลงมาเป็นสีส้ม สีเหลือง และสีฟ้าตามลำดับ
เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาจะมีการทำงานของระบบประสาท การเรียนรู้ และการจดจำสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน และมีวิธีการใช้สายตาในการอ่านหนังสือที่แตกต่างออกไป โดยคนรุ่นก่อนมีรูปแบบการเคลื่อนไหวของสายตาแบบ Z-pattern จากซ้ายไปขวาซิกแซกไปมาด้วยความถี่ตามความละเอียดในการอ่าน ส่วนคนรุ่นใหม่อ่านแบบ F-pattern คือเริ่มจากการอ่านบนลงล่าง แล้วค่อยอ่านตามแนวนอน ซึ่งระยะการกวาดสายตาในแนวนอนนี้จะสั้นลงเรื่อยๆ ตามความยาวของเนื้อหา กลยุทธ์การทำหนังสือหรือตำราสำหรับคนรุ่นดิจิทัลจึงควรผสมผสานภาพในการเล่าเรื่องราว ใช้สีสันเพื่อดึงดูดความสนใจ อาจใช้ภาพเคลื่อนไหวให้อารณ์ช่วยนำสายตาไปสู่เนื้อหาที่สำคัญ และใช้เส้นขวางแบ่งหน้าเนื้อหาเพื่อพักสายตาเป็นระยะๆ
การสื่อสารและการเรียนรู้ในยุคเก่าเกิดขึ้นผ่านข้อความและถ้อยคำเป็นหลัก การสื่อสารด้วยภาพมักเป็นเรื่องของศิลปิน นักโฆษณา หรืองานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ แต่เทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าเป็นโลกที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ด้วยภาพและการมองเห็น (Visual Literacy) อำนาจในการสื่อสารด้วยภาพอยู่ที่ปลายนิ้วทุกคน โดยการถ่ายภาพ วิดีโอ หรือวาดภาพ แล้วเผยแพร่ทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค
เว็บไซต์ Youtube ที่ให้ผู้ใช้งานอัพโหลดและแลกเปลี่ยนคลิปวิดีโอเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 มีอัตราการใช้งานที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2557 มียอดการเข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 329% เทียบกับปีก่อนหน้า คือมีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน มีการเข้าชมเฉลี่ย 4 พันล้านครั้งต่อวัน ส่วน Instagram สื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นการแบ่งปันภาพถ่ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนเช่นกัน มีอัตราการเติบโตในปี 2556 สูงถึง 900%
Interactive e-book เรื่อง Our Choice หรือ ปฏิบัติการกู้โลกร้อน
นิยามและขอบเขตของการอ่านในยุคใหม่จึงเปลี่ยนไปอย่างไม่ต้องสงสัย การหาความรู้ไม่ได้มาจากการอ่านตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภูมิประเทศ สัญลักษณ์ วัตถุ ผู้คน ฯลฯ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ ตีความ ค้นหาความหมาย ตัดสินประเมินค่าตามแต่พื้นฐานประสบการณ์และสติปัญญาของแต่ละคน
มัลติมีเดียที่มาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัลได้เพิ่มอรรถรสให้แก่โลกการอ่าน เพราะบางกรณีภาพและวิดีโอก็สื่อสารได้ชัดเจนกว่าการบรรยายด้วยข้อความและช่วยยกระดับความเข้าใจเนื้อหาสาระได้เป็นอย่างดี ในปี 2554 แอพพลิเคชั่น Interactive e-book เรื่อง Our Choice หรือ ปฏิบัติการกู้โลกร้อน ได้สร้างความฮือฮาให้แก่โลกหนังสือดิจิทัล เมื่อ Kimon Tsinteris และ Mike Matas อดีตวิศวกรของบริษัทแอปเปิ้ลได้สร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า Push Pop Press ที่ผู้อ่านสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา ภาพ วิดีโอ เสียง ภาพโมเดลจำลอง แผนที่ตามพิกัดดาวเทียม อินโฟกราฟิก และกราฟข้อมูล อีบุ๊คนี้ดัดแปลงเนื้อหามาจากหนังสือธรรมดาๆ จนเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แบบพหุวิถี (multimodal literacy) ซึ่งบูรณาการการสื่อสารและการบรรยายด้วยวิธีการที่หลากหลายทั้งทางการเห็น การได้ยิน และการสัมผัส
ในเมืองไทยก็เริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมทางสายตาของผู้อ่านรุ่นใหม่ เว็บไซต์ต่างๆ มีภาพและวิดีโอมากขึ้น และยิ่งผู้อ่านมีพฤติกรรมใช้อุปกรณ์โมบายในการอ่านและการสื่อสาร ผู้พัฒนาเว็บไซต์ก็ต้องเริ่มลดทอนรายละเอียดให้หน้าเว็บไซต์มีความเรียบง่ายมากขึ้น สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอีแมกกาซีนสามารถแทรกกล่องข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสปอนเซอร์ของนิตยสาร หรือแทรกวิดีโอสัมภาษณ์ดาราเพิ่มลงไปในสกู๊ป
ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D.com วิเคราะห์ว่า “เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน เพราะแม้แต่เฟซบุ๊คเองก็ออกแบบมาให้การนำเสนอด้วยรูปภาพดูได้เปรียบกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า ให้รูปดูใหญ่ ข้อความตัวอักษรอยู่หลบๆ คนก็เลยเอารูปมาใส่ text แล้วเน้นเฉพาะจุดสำคัญ กลายเป็นอินโฟกราฟิก”
ในอนาคต ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมทางสายตาจะเริ่มเข้ามาเบียดพื้นที่ของวัฒนธรรมการอ่าน นักอนาคตนิยมยังวิเคราะห์ไว้ว่า เทคโนโลยีจะยังคงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนคอมพิวเตอร์มีทักษะในการอ่านใกล้เคียงกับมนุษย์ หรือที่เรียกว่า VIVO (Voice-In-Voice-Out) คาดว่าในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 ความสามารถในการอ่านและเขียนของมนุษย์จะถดถอยจนหายไป โลกจะพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการพูด และเราจะฟังและสนทนากับคอมพิวเตอร์แทนการอ่านหนังสือ
แหล่งข้อมูล
- The End of Written Language? จากวารสาร The Futurist เว็บไซต์ www.wfs.org
- A next-generation digital book จากเว็บไซต์ www.ted.com
- By the number: 60 Amazing Youtube Statistics จากเว็บไซต์ expandedramblings.com
- Instagram Statistics จากเว็บไซต์ totems.co/instagram-statistics
- การบรรยายเรื่อง Understanding the Digital Generation: Strategies for Teaching Digital Learners in Today’s Classroomsและเรื่องLiteracy is not Enoughโดย เอียน จูคส์ (Ian Jukes)ในการประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2014เว็บไซต์ www.tkpark.or.th
แหล่งภาพ