สิบปีก่อน สังคมโลกต่างพากันวิตกกังวลเรื่อง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Divide) หรือช่องว่างระหว่างประชาชนกลุ่มที่สามารถเข้าถึงกับกลุ่มที่มีข้อจำกัดและไม่มีโอกาสในการเข้าถึง ซึ่งเกิดจากความขาดแคลนหรือไม่ทั่วถึงของเทคโนโลยี และระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของประชากรที่ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น เพศ รายได้ การศึกษา ความเป็นเมืองกับชนบท วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ความบกพร่องหรือพิการทางร่างกาย
ผ่านไปสิบปี แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะยังไม่หมดสิ้นไป แต่ก็มีความพยายามอย่างชัดเจนในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ ส่งผลให้ความรุนแรงของปัญหาไม่มากอย่างที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหม่ที่ไม่ได้มีการพูดถึงในอดีตกำลังก่อตัวขึ้น เช่น การขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันของชนสองรุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมแบบดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชนรุ่นดิจิทัลที่เรียกว่าเป็น Digital Native และคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็น Digital Immigrant
นี่คือรูปการณ์ใหม่ของปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับคนรุ่นสงครามโลกกับพวกที่เกิดยุคหลังสงครามหรือช่วงเบบี้บูม ซึ่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นบุปผาชนนักแสวงหาที่ขบถท้าทายต่อจารีตค่านิยมดั้งเดิม แม้แต่กับพ่อแม่และครอบครัวของตัวเอง และในทำนองเดียวกันเมื่อเหล่านักแสวงหาเติบโตขึ้น สร้างครอบครัวมีลูกหลานที่กลายมาเป็นคนรุ่นเอ็กซ์ (Generation X) ก็เป็นกลุ่มที่มีความคิดความเชื่อและการใช้ชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่อย่างชัดเจน
ชนรุ่นดิจิทัลเป็นคนที่เกิดในยุคมิลเลนเนียมหรือ ค.ศ 2000 โดยประมาณ เด็กยุคดิจิทัลถูกพัฒนาความคิดจิตใจแบบเชื่อมโยงหลายมิติ และสมองสามารถจัดการกับข้อมูลหลากหลายไปพร้อมกันได้แบบคู่ขนาน เด็กเหล่านี้ถูกกระหน่ำด้วยสรรพสิ่งจากระบบดิจิทัล สมองพวกเขาจึงปรับเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่รายล้อมอยู่รอบตัว คุ้นเคยกับเมาส์และการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านหน้าจอ เป็น “สมองด้านวัฒนธรรมดิจิทัล” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับวิธีคิดของชนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา
สังคมที่เคลื่อนตัวเข้าสู่การกลายเป็นดิจิทัล (Digitalization) กำลังก่อให้เกิดคลื่นของการปะทะกันระหว่างสองฟากฝั่ง นอกจากปรากฏการณ์ของชนสองรุ่นดังกล่าวแล้ว เรายังจะต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาที่ยากต่อการตัดสินใจแบบเด็ดขาดทางใดทางหนึ่ง หรือดีชั่วถูกผิดแบบตายตัว เนื่องจากเส้นแบ่งที่เริ่มไม่ชัดเจนอันเนื่องมาจากความซับซ้อนของปัญหาซึ่งยากจะหาเหตุผลหักล้างจนเกิดข้อยุติ ทำให้เกิดการปะทะขัดแย้งกันทางมุมมองและวิถีปฏิบัติทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความจริง อาทิ เสรีภาพกับการควบคุม สิทธิส่วนบุคคลกับพื้นที่สาธารณะ อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะลงเอยอย่างไร คงทำได้เพียงการเรียนรู้และปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้เทคโนโลยี การตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและความทันสมัย การยอมรับความหลากหลายแตกต่างทางความคิด แม้กระทั่งกติกามารยาทหรือประเด็นทางจริยธรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
แหล่งข้อมูล
เอียน จูคส์ “ลักษณะการเรียนรู้ของชนยุคดิจิทัล” ในรวมมิตร คิด เรื่อง การเรียนรู้ หนังสือประกอบการประชุมวิชาการ TK Forum 2014, สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, มิถุนายน 2557 สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ทางเว็บไซต์ http://www.tkpark.or.th/tha/academic_books_detail/6/
แหล่งภาพ
www.pixabay.com