ปัจจุบันห้องสมุดมิได้เป็นเพียงแหล่งรวบรวมหนังสือและสื่อต่างๆ เพื่อให้บริการกับสาธารณชนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ห้องสมุดหลายแห่งกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความโดดเด่นสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรม ด้วยการออกแบบก่อสร้างอาคารที่ไม่เหมือนใคร และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ มาใช้ในการให้บริการ รวมถึงสาระกิจกรรมต่างๆ อันหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
TK park ได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจของห้องสมุดทั่วโลก คัดเฉพาะที่เป็นห้องสมุดประชาชน (Public Library) ที่มีจุดเด่นน่าศึกษา เป็นข้อมูลเบื้องต้นโดยย่อ สำหรับผู้สนใจใช้สืบค้นต่อ ห้องสมุดประชาชนที่คัดสรรมานี้มีทั้งที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการมาไม่นาน รวมถึงห้องสมุดที่ก่อสร้างและให้บริการมานับศตวรรษ แต่มีการปรับปรุงให้คงความร่วมสมัยอยู่ตลอดเวลา จัดเป็น “26 ห้องสมุดสุดเดิ้นของโลก” โดยไม่ได้เรียงลำดับตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
ห้องสมุดทั้ง 26 แห่ง ประกอบไปด้วยห้องสมุดที่อยู่ในยุโรป 9 แห่ง (สวีเดน 3 แห่ง เนเธอร์แลนด์ 2 แห่ง นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 แห่ง) อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา 9 แห่ง แคนาดา 2 แห่ง อยู่ในเอเชีย 4 แห่ง (ญี่ปุ่น 3 แห่ง และไต้หวัน 1 แห่ง) แอฟริกา 1 แห่ง (อียิปต์) และอเมริกาใต้ 1 แห่ง (โคลอมเบีย)
ขอเชิญทุกท่านเที่ยวท่องห้องสมุดไปกับเราได้โดยพลัน !
1. ห้องสมุดและศูนย์วัฒนธรรม Vennesla (Vennesla Library and Culture House) ประเทศนอร์เวย์
ที่มาภาพ : http://www.ramboll.no
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้เปิดให้บริการสำหรับประชาชนชาว Vennesla ในเขต Vest-Agder ของนอร์เวย์ ตั้งแต่ปี 2554 ได้รับรางวัลด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ รางวัล Statens byggeskikkpris 2012
อาคารหลักของห้องสมุดทำด้วยไม้ และมีไม้ลามิเนตทรงโค้ง 27 ชิ้นรองรับหลังคาอาคารห้องสมุดที่มีพื้นที่ใช้สอยราว 1,900 ตารางเมตร ถึงแม้อาคารห้องสมุดแห่งนี้จะมีความงดงามและได้รับรางวัลหลากหลาย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยได้ติติงถึงประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับงานห้องสมุด อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมือง Vennesla คาดหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการเป็นห้องสมุดและศูนย์วัฒนธรรม โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงชุมชนกับศูนย์กลางการเรียนรู้ไปสู่ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเมือง
2. ห้องสมุดเมืองมัลโม (Malmo City Library) ประเทศสวีเดน
ที่มาภาพ : http://bonjour.co/tag/library/
ห้องสมุดเมืองมัลโม (Malmo City Library) หรือ Malmö Stadsbibliotek ในภาษาถิ่น ถือว่าเป็นห้องสมุดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความงดงาม เป็นแหล่งรวมรวมรู้และกิจกรรมบันเทิงในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างมัลโม ห้องสมุดได้รับรางวัลมากมาย อาทิ Library of the Year in Sweden, the Swedish National Encyclopedia’s Knowledge Award และ Malmö City’s Integration Prize เป็นต้น
ห้องสมุดแห่งนี้ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการในปี 2542 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า Calendar of Light คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่เปิดทางด้านทิศตะวันตกของอาคารกระจกขนาดใหญ่ ส่วนที่สอง คือ Castle อยู่ทางด้านตะวันออก เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ของห้องสมุดที่ปรับปรุงใหม่จากห้องสมุดเดิมที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2489 ส่วนที่สาม คือ Cylinder เป็นส่วนเชื่อมต่อของอาคารทั้งสามหลัง และเป็นทางเข้าหลักของห้องสมุดแห่งนี้
ห้องสมุดเมืองมัลโมมีหนังสือและสื่อต่างๆ มากกว่า 600,000 รายการ เป็นหนังสือภาษาต่างๆ กว่า 60 ภาษา มุ่งให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชน และยังมีการให้บริการข้อมูลเฉพาะด้าน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการออกแบบ โดยเป็นศูนย์กลางการบริการข้อมูลที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหภาพยุโรป
(ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.malmo.stadsbibliotek.org)
3. ห้องสมุด Halmstad (Halmstad Library) ประเทศสวีเดน
ที่มาภาพ : http://openbuildings.com/buildings/halmstad-library-profile-2472/media และ
http://shldesign.dk/interiors/halmstad-library-sweden-8/
ห้องสมุด Halmstad ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับแม่น้ำนิสสัน ของประเทศสวีเดน รูปทรงของอาคารมีความโดดเด่นเฉพาะ โดยสถาปนิกได้แรงบันดาลใจจากบรรดาต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นเชสนัทที่อยู่ใกล้เคียง อาคารออกแบบเน้นความโปร่ง สว่าง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก รูปทรงของประตูทางเข้าห้องสมุดเน้นออกแบบเพื่อให้เกิดความรู้สึกกระฉับกระเฉง มีความเคลื่อนไหว เปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์
ห้องสมุดแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2549 มีพื้นที่ใช้สอยราว 8,065 ตารางเมตร มีหนังสือและสื่อประมาณ 260,000 รายการ จาก 50 ภาษาทั่วโลก (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.halmstad.se/bibliotek)
4. ห้องสมุดประชาชนสต็อกโฮล์ม (Stockholm Public Library) ประเทศสวีเดน
ที่มาภาพ : http://susansummersweden.blogspot.com/2012/05/my-favorite-corners-of-stockholm.html
ห้องสมุดประชาชนสต็อกโฮล์มเปิดให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2471 นับเป็นห้องสมุดประชาชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีจำนวนสาขามากถึง 40 แห่ง แม้ว่าทรัพยากรส่วนใหญ่ของห้องสมุดจะเป็นภาษาท้องถิ่น แต่ก็จัดพื้นที่บริเวณชั้นสองของอาคารหลักให้เป็นห้องสมุดนานาชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือภาษาต่างประเทศมากกว่า 100 ภาษา (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://biblioteket.stockholm.se)
5. ห้องสมุดประชาชนอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Public Library หรือ Openbare Bibliotheek Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มาภาพ : http://www.momondo.com และ https://www.behance.net/gallery/dutch-INTERIORS/683503
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ Oosterdokseiland ห่างจากสถานีชุมทาง (Central Station) เพียง 5 นาที มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 28,000 ตารางเมตร ถือเป็นห้องประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองอัมสเตอร์ดัมและเป็นห้องสมุดประชาชนที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของสหภาพยุโรป เปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ปี 2550
อาคารห้องสมุดแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 7 ชั้น ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพทางนิเวศวิทยา และได้รับรางวัลอาคารสาธารณะที่ยั่งยืนที่สุดในอัมสเตอร์ดัม (Most Sustainable Public Building in Amsterdam) นอกจากการให้บริการในเชิงห้องสมุดแล้ว อาคารแห่งนี้ยังประกอบไปด้วย โรงภาพยนตร์ สถานี-วิทยุ ห้องจัดสัมมนา พื้นที่จัดนิทรรรศการ ส่วนการแสดงดนตรี ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของเมือง นอกจากนี้ ห้องสมุดยังเป็น 1 ใน 13 ศูนย์ข้อมูลด้านกฎหมายและสถิติด้านต่างๆ ประจำสหภาพยุโรป (Europe Direction Information Point) ที่ตั้งอยู่ในเนเธอร์แลนด์อีกด้วย (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.oba.nl)
6. DOK หรือ ห้องสมุดประชาชน Delft (Delft Public Library) ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มาภาพ : http://www.schaatsbaandelft.nl/sponsor/dok และ http://viewpictures.co.uk/Details.aspx?ID=177997&TypeID=1
ห้องสมุดแห่งนี้ปรับปรุงมาจากอาคาร Hoogovenpand ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ยุค 1970’s ซึ่งกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นห้องสมุด ได้รับการขนานนามว่าเป็นห้องสมุดต้นแบบ ( Library Concept Center) มากกว่าที่จะเป็นห้องสมุดในแบบดั้งเดิมทั่วไป ตัวอาคารห้องสมุดมีสีสันสดใส เพิ่มความเก๋ไก๋ด้วยกราฟฟิกต่างๆ เฟอร์นิเจอร์และชั้นต่างๆ ทำจากวัสดุใช้แล้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ แนวคิดสำคัญในการออกแบบคือการสร้างห้องสมุดที่สามารถอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ของเมือง Delft ในขณะเดียวกันต้องเป็นห้องสมุดที่มีฟังก์ชันหรือรูปแบบการใช้งานที่มีความทันสมัย จุดเด่นของการออกแบบอาคารห้องสมุดแห่งนี้ คือ การใช้แสงจากธรรมชาติผ่านกระจกบานใหญ่ให้ความสว่างกับพื้นที่ด้านใน ส่วนด้านนอกของอาคารใช้สีสันสดใสในโทนสีส้มตัดกับสีดำ ช่วยให้ห้องสมุดดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2550 มีพื้นที่รวม 4,300 ตารางเมตร และส่วนสำนักงานราว 600 ตารางเมตร ภายในประกอบไปด้วยหนังสือ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีวิดีโอเกม เครื่องเล่นสำหรับเด็ก หนังสือการ์ตูน เปียโน รวมถึงงานศิลปะคอลเล็กชั่นต่างๆ ไว้ให้บริการอีกด้วย
ในด้านเทคโนโลยีและความทันสมัย ห้องสมุดจะมีระบบส่งข้อความต้อนรับไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการเมื่อเดินผ่านประตูเข้ามา การยืมคืนและบัตรยืมหนังสือใช้ระบบ RFID นอกจากนี้ยังมีจอ LCD ติดตั้งรอบอาคารซึ่งจะบอกถึงข้อมูล ข่าวสารและบริการต่างๆ ของห้องสมุด (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.dok.info)
7. ห้องสมุดเมือง Turku (Turku City Library) ประเทศฟินแลนด์
ที่มาภาพ : http://www.turku.fi/library
ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่าของ Turku เป็นอาคารที่สร้างขึ้นต่อจากอาคารห้องสมุดเดิมที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2446 อาคารห้องสมุดแห่งใหม่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2550 มีขนาดพื้นที่ราว 6,900 ตารางเมตร เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ดังเช่นห้องสมุดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ ดีวีดี ซีดี และนิตยสารต่างๆ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ห้องสมุดเมือง Turku จะจัดเรียงทรัพยากรต่างๆ แยกตามรายการหรือหัวเรื่องและวางทรัพยากรทุกประเภท (หนังสือ ซีดี ดีวีดี) ไว้ในที่เดียวกัน บรรณารักษ์ที่ดูแลทรัพยากรห้องสมุดด้านใดด้านหนึ่งก็จะเชี่ยวชาญเฉพาะหัวข้อนั้นๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถตรวจสอบรายการหนังสือด้วยเครื่องมืออันทันสมัยได้ด้วยตนเอง (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.turku.fi/library)
8. ห้องสมุดเมืองสตุทการ์ท (Stuttgart City Library) ประเทศเยอรมนี
ห้องสมุดเมืองสตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี ออกแบบเป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ประกอบด้วยสี่เหลี่ยมทรงลูกบาศก์จำนวน 9 ลูกในแนวตั้งและแนวนอนมาวางต่อกัน หากมองจากภายนอกจะดูเรียบง่าย เคร่งขรึม แต่ภายในห้องสมุดนั้น ผู้ใช้บริการจะตื่นตาตื่นใจไปกับอาณาจักรหนังสือนับแสนเล่ม นอกจากจะเป็นห้องสมุดแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงปลายปี 2554 ห้องสมุดเมืองสตุทการ์ทยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตใหม่ในเมืองนี้อีกด้วย
ตัวอาคารของห้องสมุดทั้งด้านในและด้านนอกทาด้วยสีขาว พื้นที่แต่ละชั้นจะมีบันไดที่สามารถเชื่อมให้เดินไปมาหากันได้อย่างทั่วถึง ด้านนอกอาคารจะมีคำว่า ห้องสมุด (Library) ที่เขียนขึ้นด้วยภาษาต่างๆ จำนวน 4 ภาษาอยู่ด้านบนของประตูทั้ง 4 ด้านของอาคาร คือ ทิศเหนือ เขียนด้วยภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นภาษาถิ่น ทิศตะวันตก เขียนด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในระดับสากล ทิศใต้เขียนด้วยภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในกรุงไคโร โดยถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องของเมืองสตุทการ์ท และทิศตะวันออกเขียนด้วยภาษาเกาหลี เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบชาวเกาหลีใต้ คือ อึนยองอี (Eun Young Yi)
ห้องสมุดแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอย 11,500 ตารางเมตร จัดแบ่งพื้นที่ให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ได้อย่างลงตัว อาทิ ส่วนห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดศิลปะ และห้องสมุดแอนิเมชั่นออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและมัลติมีเดียเข้ามาสนับสนุนการให้บริการแก่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นระบบสืบค้นหนังสือในพื้นที่ รวมถึงการให้บริการหนังสือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Paper) ผ่านระบบห้องสมุดออนไลน์ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.stuttgart.de)
9. Bow Idea Store สหราชอาณาจักร
ที่มาภาพ : http://www.ideastore.co.uk
Bow Idea Store เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2545 สถานที่แห่งนี้ไม่ใช้คำว่าห้องสมุด (Library) และชอบให้คนทั่วไปเรียกว่า Idea Store มากกว่า สถานที่แห่งนี้คือตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างการเป็นห้องสมุดที่ทันสมัยตามแบบฉบับทั่วไปและเป็นสถานที่เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องการเป็นเพียงแหล่งรวบรวมทรัพยากรแต่ยังเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของชุมชน เพิ่มทักษะด้านอาชีพ จัดประชุมสัมมนา หรือใช้เป็นที่สถานที่นั่งพักผ่อนสบายๆ จิบกาแฟ นัดเจอเพื่อนๆ ก็ได้เช่นกัน (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.ideastore.co.uk)
10. ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ประเทศอียิปต์
ที่มาภาพ : http://www.e-architect.co.uk/images/jpgs/egypt/alexandria_library_sno080808_15.jpg และ
http://historyoftheancientworld.org/2012/09/21/the-great-library-of-alexandria/comment-page-1/
ห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งใหม่เปิดให้บริการตั้งแต่ ปี 2545 เป็นห้องสมุดหลักและศูนย์กลางทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์ เพื่อรำลึกถึงห้องสมุดอเล็กซานเดรียเดิม ห้องสมุดแห่งนี้สามารถรองรับหนังสือได้กว่า 8 ล้านเล่ม และมีห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ราว 70,000 ตารางเมตร
อาคารของห้องสมุดแห่งนี้ยังเป็นทั้งที่ตั้งของศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังแบ่งส่วนเป็นพิเศษสำหรับห้องแผนที่ ห้องมัลติมีเดีย ส่วนบริการสำหรับคนพิการ ห้องเด็กและเยาวชน มีพิพิธภัณฑ์ 4 ห้อง ห้องจัดแสดงศิลปะที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ 4 ห้อง และส่วนจัดนิทรรศการถาวร 15 เรื่อง หนังสือและสื่อต่างๆ ของห้องสมุดส่วนใหญ่ได้รับบริจาคและสนับสนุนจากทั่วโลก (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.bibalex.org)
11. ห้องสมุดประชาชนซีแอทเทิล (Seattle Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ :http://phaidonatlas.com/building/seattle-central-library/563 และ http://www.architectureweekend.com/seattle/highlights/seattle-central-library/
ห้องสมุดแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เป็นอาคารที่มีการออกแบบภายในที่เน้นสีสันสร้างความสวยงาม และมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การเรียนรู้ โครงสร้างของอาคารประกอบด้วยเหล็กและกระจกเป็นหลัก ภายในอาคารแบ่งเป็น 11 ชั้น ความสูงประมาณ 56 เมตร สถาปนิกเน้นออกแบบอาคารห้องสมุดแห่งนี้เพื่อให้สามารถรองรับหนังสือได้เป็นจำนวนมาก การตกแต่งภายในใช้วัสดุที่สามารถทดแทนได้และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Materials) มีการวางระบบหมุนเวียนหนังสือด้วยเครื่องอ่านบาร์โคด เป็นเครื่องจักรจัดหนังสือขนาดใหญ่ ผนังภายนอกอาคารส่วนใหญ่ทำจาก Mesh Glass ที่ปกป้องความร้อนจากแสงธรรมชาติ โครงสร้างอาคารออกแบบพิเศษ เป็นระบบผสมทั้งโครงสร้างเสาคอนกรีตที่มีการหักมุม (Bended Column) และโครงถักเหล็ก (Steel Trusses) ที่รับน้ำหนักเฉพาะที่และมีขนาดไม่เท่ากัน โดยสามารถรับแรงกระทำด้านข้างจากแผ่นดินไหวได้ด้วย
แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกอาคารห้องสมุดจะมีรูปร่างแปลกประหลาด แต่ห้องสมุดออกแบบภายใต้แนวคิดให้ฟังก์ชันการใช้งานเป็นตัวกำหนดลักษณะโครงสร้าง ดังนั้น โครงสร้างทุกส่วนจึงถูกใช้สอยอย่างเต็มที่ตามความต้องการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ระบบการจัดหนังสือที่เป็นทางเดินเวียน (Spiral) โดยรูปแบบของตู้หนังสือใช้วิธีการนำพื้นที่ชั้นต่างๆ มาปรับให้เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินเวียน ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นอย่างน้อย 2 ประการ คือการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร และมีความยืดหยุ่นในการลดหรือขยายหมวดหนังสือต่างๆ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่แต่ละชั้นอีกต่อไป
ห้องสมุดใช้ระบบ RFID ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นรายชื่อและจองหนังสือที่สนใจได้ด้วยตนเอง รวมถึงทรัพยากรสารสนเทศออนไลน์ และการบริการ podcast เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.spl.org)
12. ห้องสมุด Cerritos (Cerritos Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ :http://www.cerritos.us/VISITORS/photo_gallery.php และ http://www.ceilingsplus.com/projects/gallery/C2630_CerritosMillenniumLibrary/
ห้องสมุด Cerritos แห่งนี้ บางครั้งอาจเรียกว่า New Cerritos Library หรือ Cerritos Public Library ได้รับการปรับปรุงจากห้องสมุดเดิมและเปิดให้บริการใหม่นับตั้งแต่ปี 2545 ให้บริการกับประชาชนชาวเมือง Cerritos รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดแห่งนี้ออกแบบให้เป็นเสมือนพื้นที่เปิดที่ทำหน้าที่มากกว่าห้องสมุด เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งรวมหนังสือและการให้บริการยืมคืนเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย เนื่องจากภายในยังมีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเค็มที่ออกแบบโดย Dale Chihuly และซากไดโนเสาร์ทีเร็กซ์จำลอง นอกจากนี้ ยังมีสถานีข้อมูล (Info Station) ตั้งอยู่ภายในห้องสมุดเพื่อให้ผู้ใช้บริการค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการด้วยตนเอง รวมถึงห้องปฏิบัติการมัลติมีเดียขนาดใหญ่ มีเครื่องคอมพิวเตอร์นับพันเครื่องไว้ให้บริการ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://menu.ci.cerritos.ca.us)
13. ห้องสมุดประชาชน Cuyahoga (Cuyahoga County Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2465 มีห้องสมุดสาขารวมทั้งหมด 28 แห่ง ให้บริการกับประชาชน 47 ชุมชนในเขต Cuyahoga ของรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ถือเป็นห้องสมุดที่มีความทันสมัยไล่ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอ โดยเป็นห้องสมุดแห่งแรกของประเทศที่พัฒนาระบบให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดสามารถจัดการบัญชีของตนเอง และซื้อตั๋วเข้าชมเทศกาลต่างๆ ได้ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่าโปรแกรม OhioLink เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลให้กับสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งเป็นแม่ข่ายให้กับห้องสมุดในรัฐโอไฮโอ อีกด้วย (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.cuyahogalibrary.org)
14. ห้องสมุดประชาชนคลีฟแลนด์ (Cleveland Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://content-conversion.com/?p=2431&lang=en และ
http://blog.cleveland.com/metro/2011/01/cleveland_public_library_plans.html
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ของสหรัฐอเมริกา เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2412 และมีห้องสมุดสาขาอีก 28 แห่ง ทำงานเป็นเครือข่ายกับห้องสมุดในภูมิภาคและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหนังสือและสื่อในคอลเล็กชั่นต่างๆ สมาชิกห้องสมุดยังสามารถเข้าถึงระบบ CLEVNET ซึ่งสามารถสั่งจองหนังสือและรอรับได้ที่ห้องสมุดสาขาใกล้บ้าน นอกจากนี้ยังให้บริการดาวน์โหลดทรัพยากรบนเว็บไซต์ รวมถึงหนังสือเสียง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ดนตรี วิดีโอ และบริการออนไลน์อื่นๆ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.cpl.org)
15. ห้องสมุดประชาชนเดนเวอร์ (Denver Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://denverlibrary.org
ห้องสมุดประชาชนเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2498 โดยสำนักงานห้องสมุดกลางอยู่ในตัวเมืองเดนเวอร์ มีห้องสมุดสาขาอีก 23 แห่ง และห้องสมุดเคลื่อนที่ 2 แห่ง เน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพทั้งสถานที่จริงที่เพรียบพร้อมไปด้วยหนังสือและสื่อต่างๆ รวมถึงการให้บริการผ่านเว็บไซต์ podcast และระบบการดาวน์โหลดผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดหนังสือเสียง ภาพยนตร์ออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือเครื่องเล่น MP3 ได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://denverlibrary.org)
16. ห้องสมุดประชาชนซานดิเอโก (San Diego Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://www.turnerconstruction.com/experience/project/22C5/san-diego-new-central-library
ห้องสมุดประชาชนซานดิเอโก ประกอบด้วยสำนักงานส่วนกลางซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2425 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงฤดูร้อนของปี 2556 และมีห้องสมุดสาขาอีก 35 แห่ง ห้องสมุดมีโครงการ/กิจกรรมเด่น คือ READ/San Diego เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของคนวัยผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ โดยใช้การอบรมให้อาสาสมัครและสอนให้กับกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ ทั้งนี้ ในเขตเมือง ซานดิเอโกเพียงเขตเดียวมีคนในวัยผู้ใหญ่/ วัยทำงานมากกว่า 4.5 แสนคนที่ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้นำระบบเทคโนโลยีไร้สายมาใช้ในห้องสมุด โดยให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายฟรีในพื้นที่บริการ เว็บไซต์ห้องสมุดให้บริการออนไลน์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และระบบการช่วยเหลือออนไลน์ ฯลฯ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.sandiego.gov/public-library)
17. ห้องสมุดคาร์เนกี (Carnegie Library of Pittsburgh) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://www.carnegielibrary.org
ห้องสมุดคาร์เนกี เมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นจากแนวคิดและการสนับสนุนจากอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ คือ นายแอนดรูว์ คาร์เนกี ที่บริจาคเงินราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างห้องสมุดกลางและห้องสมุดสาขาอีก 7 แห่ง เปิดให้บริการกับประชาชนตั้งแต่ปี 2438 ด้วยความมุ่งหวังที่จะนำหนังสือและความรู้ไปสู่สาธารณชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ปัจจุบันห้องสมุดคาร์เนกีมีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 19 แห่ง รวมถึงห้องสมุดสำหรับผู้พิการ ปัจจุบันสามารถให้บริการกับชุมชนในทั้งในเรื่องการค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูล รวมถึงความบันเทิง โดยสามารถดาวน์โหลดสื่อต่างๆ ผ่านบริการออนไลน์ได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.carnegielibrary.org)
18. ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://nycpano.com/2011/03/10/new-york-public-library/ และ
http://commons.wikimedia.org/wiki/File:NYC_Public_Library_Research_Room_Jan_2006.jpg
ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2438 ปัจจุบันมีสำนักงานสาขาอีก 87 แห่งถือเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นแหล่งรวมหนังสือ สื่อต่างๆ นับล้านรายการ รวมถึงสื่อดิจิทัลจำนวนมาก ห้องสมุดแห่งนี้ประสานความร่วมมือกับ Google ในการสร้างและให้บริการหนังสือ สื่อดิจิทัล ผ่านระบบออนไลน์ ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วีดิทัศน์ ไฟล์เสียง ผ่านเว็บไซต์ของห้องสมุด (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nypl.org)
19. ห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลีส (Los Angeles Public Library) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ : http://en.wikipedia.org/wiki/Los_Angeles_Public_Library#mediaviewer/File:Los-angeles-central-library.jpg และ
http://www.pfeifferpartners.com/project_detail.php?id=569
ห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลีส (Los Angeles Central Public Library) หรืออีกชื่อคือ Richard Riordan Central Library (ตั้งชื่อตามชื่อนายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลีสในอดีต) เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2515 ถือเป็นห้องสมุดประชาชนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ในแง่ของจำนวนหนังสือและสื่อต่างๆ ที่ให้บริการ
ห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลีสก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมในสไตล์อียิปต์โบราณและเมดิเตอร์เรเนียน ด้านบนสุดของตึกกลางตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสครูปทรงพีระมิดที่มีพระอาทิตย์ส่องแสงจากด้านบนสุด เปรียบเสมือน “แสงสว่างแห่งการเรียนรู้ (Light of Learning)” ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับการบูรณะและขยายพื้นที่เพิ่มเติมในช่วงปี 2531-2536 (ค.ศ. 1988-1993) ปัจจุบันมีสาขาต่างๆ มากถึง 72 แห่ง (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.lapl.org)
20. ห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์ (Vancouver Public Library) ประเทศแคนาดา
ที่มาภาพ : http://alcuinsociety.com/the-new-library-in-halifax-to-open-december-13/ และ
http://jaybanks.ca/vancouver-blog/photo-essays/2014/05/29/vancouver-libraries/
ห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์เป็นห้องสมุดประชาชนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของแคนาดา ในแง่ของจำนวนหนังสือและสื่อที่มีจำนวนมากกว่า 2.8 ล้านรายการ ปัจจุบันมีสาขา 22 แห่ง
อาคารห้องสมุดกลางตั้งอยู่ในย่านธุรกิจที่พลุกพล่านของแวนคูเวอร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2538 ตัวอาคารมีรูปทรงคล้ายโรงละครขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ แต่แฝงไว้ด้วยความทันสมัย โดยอาคารเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของส่วนราชการของรัฐ ร้านจำหน่ายสินค้า และร้านกาแฟ เป็นต้น
ห้องสมุดยังมีบริการผ่านระบบห้องสมุดออนไลน์ ซึ่งมีทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบฐานข้อมูล และบริการด้านดิจิทัลอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการอ่านและเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในเมืองแวนคูเวอร์ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.vpl.ca)
21. ห้องสมุดประชาชนริชมอนด์ (Richmond Public Library) ประเทศแคนาดา
ที่มาภาพ : http://www.acornsign.com/our-work/details/all/all/richmond-public-library-1 และ
http://www.richmondpubliclibrary.org
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2516 โดยห้องสมุดกลางตั้งอยู่ที่ Brighouse และมีสาขาอีก 3 แห่ง คือ Cambie, Ironwood และ Steveston ห้องสมุดกลางที่ Brighouse มีขนาดใหญ่ที่สุดถึง 50,000 ตารางฟุต หรือประมาณ 4,645.15 ตารางเมตร ส่วนสาขา Steveston มีขนาดเล็กสุดคือ 4,000 ตารางฟุต (ประมาณ 371.61 ตารางเมตร) สำหรับห้องสมุดสาขา Ironwood นั้นมีขนาดราว 12,000 ตารางฟุต (ตาราง 1,114.84 ตารางเมตร) ในปี 2541 เคยได้รับการขนานนามว่า “ห้องสมุดแห่งอนาคต (library of the future)” เพราะเน้นการออกแบบที่ผสมผสานกลมกลืนระหว่างเทคโนโลยีอันทันสมัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ภายในห้องสมุดมีศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ศูนย์รวมสื่อดิจิทัล สถานีเพลง ห้องเงียบ ห้องเด็ก ห้องเก็บหนังสือและสื่อภาษาจีนเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการที่เป็นชาวเอเซีย มีระบบการยืมคืนและบริการออนไลน์ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.richmondpubliclibrary.org)
22. ห้องสมุดประชาชน Villanueva (Villanueva Public Library) ประเทศโคลอมเบีย
ที่มาภาพ : http://www.dezeen.com/2008/04/13/villanueva-public-library-colombia/
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2550 มีพื้นที่ใช้สอยราว 2,500 ตารางเมตร จุดเด่นด้านกายภาพของห้องสมุดแห่งนี้ คือ วัสดุที่ใช้นำมาจากท้องถิ่น อาทิ หินจากแม่น้ำ ไม้สนจากป่าปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น โดยผสมผสานเข้ากับวัสดุก่อสร้างทั่วไป อาคารห้องสมุดแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องสมุด ชั้นสองเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ ห้องสมุดเด็ก และส่วนสำนักงานของห้องสมุด นอกจากนี้ พื้นที่โล่งด้านนอกอาคารยังเตรียมไว้สำหรับสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน การจัดตั้งห้องสมุดประชาชนแห่งนี้มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การเป็นสถานที่เยียวยาทางจิตใจของประชาชนใน Villanueva ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ซึ่งเคยเกิดสงครามกลางเมืองของโคลอมเบีย
23. เซ็นไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque) ประเทศญี่ปุ่น
ที่มาภาพ : http://www.smt.jp/en และ http://www.archdaily.com/118627/ad-classics-sendai-mediatheque-toyo-ito/sendai12/
เซ็นไดมีเดียเทค ประเทศญี่ปุ่น มิใช่เพียงห้องสมุด แต่เป็นศูนย์การแสดงศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย และเป็นสิ่งก่อสร้างที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย เนื่องจากมีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ และความครบครันในด้านการให้บริการ เซ็นไดมีเดียเทคตั้งอยู่ ณ ย่านใจกลางเมืองเซ็นไดของประเทศญี่ปุ่น ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 เป็นอาคารที่สะท้อนให้เห็นความนุ่มนวลของโครงสร้างต่างๆ แทนลักษณะของความหนักแน่น กระด้าง บึกบึน ในแบบเดิมๆ หากมองจากด้านหน้าอาคารที่มีลักษณะคล้ายกล่องกระจกใส มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นกระจก 2 ชั้น โดยช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกทั้งสองชั้นนั้นจะทำหน้าที่ระบายความร้อน ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาวได้ด้วย เมื่อเข้าสู่ภายในอาคารจะพบว่าท่อเหล็กกลมต่างๆ ถูกนำมาเชื่อมต่อเป็นท่อโครงสร้างถักทอให้มีความโปร่งเบาจำนวน 13 ท่อ ทำหน้าที่รองรับแผ่นพื้นอาคารแทนเสาโครงสร้างและใช้ติดตั้งงานระบบ และยังเป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่กระจายแสงธรรมชาติจากหลังคาสู่พื้นที่ใช้สอยในแต่ละชั้นอีกด้วย
ในปี 2549 อาคารเซ็นไดมีเดียเทค ได้รับการพิจารณาให้รับรางวัลเหรียญทอง จาก The Royal Institute of British Architects (RIBA) และได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้รับความสนใจแทบจะทั่วโลกผ่านสื่อทุกแขนงทั้งในและนอกวงการสถาปัตยกรรม(ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.smt.city.sendai.jp)
24. ห้องสมุด Kanazawa Umimirai ประเทศญี่ปุ่น
ที่มาภาพ : http://www.archdaily.com
ห้องสมุดรูปทรงรูปทรงแปลกตาคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบระบุว่าเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมกล่องขนมเค้ก ภายในอาคารพื้นที่หลักแบ่งการใช้สอยออกเป็น 3 ชั้น สิ่งที่โดดเด่นสำหรับอาคารห้องสมุดแห่งนี้ คือ การเจาะคอนกรีตเป็นช่องราว 6,000 ช่อง ปิดด้วยแผ่นแก้วใสในแต่ละช่อง เพื่อให้แสงจากธรรมชาติสามารถเข้ามายังห้องสมุดแห่งนี้ได้ ช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการอ่านหนังสือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างความอบอุ่นให้กับผู้ใช้บริการในช่วงฤดูหนาว สำหรับในฤดูร้อนก็จะมีช่องเปิดขนาดใหญ่บนหลังคาเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2554 มีพื้นที่ราว 2,311.91 ตารางเมตร (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.lib.kanazawa.ishikawa.jp/umimirai)
25. ห้องสมุดหนังสือภาพในเมืองอิวากิ จังหวัดฟูกูชิมา (Library of Picture Books in Iwaki City of Fukushima Prefecture) ประเทศญี่ปุ่น
ที่มาภาพ : http://www.east-asia-architecture.org/aotm/
ห้องสมุดแห่งนี้อาจเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือภาพ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 โดยทาดาโอะ อันโด (Tadao Ando) ได้ออกแบบและสร้างห้องสมุดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สำหรับโรงเรียนระดับประถมจำนวน 3 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดแห่งนี้สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมการออกแบบและสัมผัสกับหนังสือเด็กจากนานาประเทศอย่างไม่ขาดสาย
ห้องสมุดแห่งนี้มีขนาดเพียง 492.07 ตารางเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร Ando ที่มีพื้นที่ราว 634.05 ตารางเมตร รูปแบบการตกแต่งห้องสมุดอาจจะไม่โดดเด่นมากนัก เพียงเน้นให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการอ่านหนังสือในห้องสมุดท่ามกลางทัศนียภาพงดงามที่อยู่รายรอบ ภายในมีความโปร่ง สว่าง เต็มไปด้วยหนังสือเด็ก โดยเฉพาะหนังสือภาพจำนวนมาก ที่เน้นการโชว์หน้าปกสีสันสดใสซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ให้เข้ามาหยิบจับและเลือกอ่านได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการพลิกโฉมห้องเรียนหรือสถานที่อันเงียบสงบ มาสู่พื้นที่อิสระที่ทำให้ห้องสมุดแลดูทันสมัยและยังส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กและเยาวชนตั้งแต่วัยเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี
26. ห้องสมุดประชาชนไทเป สาขา Beitou (Taipei Public Library, Beitou Branch) ไต้หวัน
ที่มาภาพ : http://www.mofa.gov.tw/en และ http://michellechiang-design.com/2012/06/01/beitou-library/
ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในสวน Beitou ของเมืองไทเป เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2549 ห้องสมุดได้รับการออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก โดยตัวอาคารทำด้วยไม้จากป่าปลูก มีหน้าต่างขนาดใหญ่ช่วยให้แสงจากธรรมชาติส่องสว่างมายังห้องสมุด และทำให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพัดลมและเครื่องปรับอากาศ บนหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อรับแสงอาทิตย์แล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ามาใช้งาน วัสดุหลังคาบุด้วยดินหนา 20 เซนติเมตร เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน
ด้วยความที่มีสถาปัตยกรรมเฉพาะและงดงาม ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนิยมเข้าเยี่ยมชมความสวยงามของสถานที่แห่งนี้เป็นจำนวนไม่น้อย (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://english.tpml.edu.tw)
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า “ห้องสมุดสุดเดิ้น” ในระดับนานาชาตินั้น มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งมีความงดงามทางกายภาพ บางแห่งก่อสร้างด้วยแนวคิดและเทคนิคอันทันสมัย บางแห่งออกแบบโดยคำนึงถึงการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความงดงามและโดดเด่นด้านกายภาพภายนอกนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ แต่ปัจจัยที่สำคัญนอกจากความงามด้านกายภาพหรือการออกแบบ ก็คือ การเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยหนังสือและสื่อ บรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่านและการแสวงหาความรู้ กิจกรรมและการบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบถ้วน เป็นเสน่ห์ของห้องสมุดที่ยากจะหาสิ่งอื่นใดมาเปรียบได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
“The 25 Most Modern Libraries in the World”. http://www.bestcollegesonline.com/blog/2008/07/02/the-25-most-modern-libraries-in-the-world, July 2, 2008, Accessed on November 13, 2012.
“The 25 Most Beautiful Public Libraries in the World”. http://www.flavorwire.com/280318/the-25-most-beautiful-public-libraries-in-the-world, July 4, 2012. Accessed on November 13, 2012. (ในรายงานชิ้นนี้ ห้องสมุดตลาดเก่า (Old Market) เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ติดอันดับเป็น 1 ใน 25 ห้องสมุดที่สวยที่สุดในโลกกับเขาด้วย)
ที่มาภาพหัวข้อบทความ : http://openbuildings.com/buildings/sendai-mediatheque-profile-2580/media/334005/show
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางสาวนฤมล ดอกพิกุล ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พฤศจิกายน 2555