ภาพ Viktor Kiryanov on Unsplash
One Book One City เป็นกิจกรรมรณรงค์การอ่านที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในต่างประเทศ ริเริ่มขึ้นครั้งแรกโดย แนนซี เพิร์ล (Nancy Pearl) บรรณารักษ์แห่งห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล เมื่อปี ค.ศ.1998 จากนั้นสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association หรือ ALA) ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้กับห้องสมุดแห่งอื่นจนแพร่หลายไปถึง 48 เมืองทั่วสหรัฐ (นับถึงปี 2017) พร้อมกันนั้นยังจัดทำคู่มืออธิบายขั้นตอนการจัดกิจกรรมในพื้นที่และการคัดเลือกหนังสือ โดยมีห้องสมุดรัฐสภา (Library of Congress) ติดตามผลลัพธ์ของกิจกรรมที่เกิดขึ้น
One Book One City ข้ามฝั่งไปยังทวีปยุโรปเป็นแห่งแรกที่เมืองเอดินบะระ สก็อตแลนด์ ในปี ค.ศ.2006 เนื่องจากได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรม แล้วจึงแพร่ไปยังดับลิน (ไอร์แลนด์) ออสเวสทรี (อังกฤษ) และเมืองต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป
แนวคิดหลักของโครงการคือการคัดเลือกหนังสือ 1 เรื่อง เพื่อให้อ่านพร้อมกันทั้งเมือง สร้างกระแสจนเมืองทั้งเมืองเกิดความตื่นตัวและเปิดเวทีการสนทนาพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือในมิติแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย
ตัวอย่างกรณี One Book One Chicago ของเมืองชิคาโก มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่านจากหนังสือเรื่องเดียวกันมานานกว่า 10 ปี โดยกำหนดเรื่องที่จะอ่านพร้อมกันปีละ 2 เรื่อง ซึ่งในแต่ละปีบรรดาโรงเรียนและห้องสมุดต่างๆ จะจัดกิจกรรมมากมายให้สอดรับกับการรณรงค์นี้ หนังสือที่คัดเลือกมาอ่านจะเป็นเรื่องที่มีประเด็นให้ขบคิดวิพากษ์วิจารณ์ ตัวอย่างเช่น To Kill A Mocking Bird นวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ แต่งโดยนักเขียนหญิง ฮาร์เปอร์ ลี (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ ผู้บริสุทธิ์ แปลโดย ศาสนิก และอีกสำนวนแปลในชื่อ ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด แปลโดย นาลันทา คุปต์) เนื้อหาว่าด้วยการเหยียดผิวในรัฐตอนใต้ของสหรัฐ เป็นต้น
One Book One City มิใช่แค่การประกาศชื่อหนังสือ บอกให้ทุกคนอ่าน แล้วจบแค่นั้น แต่
“หนังสือนั้นต้องนำมาซึ่งการเรียนรู้ของประชาชน เราเลือกเรื่องที่มีประเด็นให้พูดคุยได้มาก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในเมืองเรา ถ้าทำให้คนทั้งเมืองชอบหนังสือที่เลือกได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้เกิดข้อคิดเห็นในการโต้แย้งขึ้นมา แต่การที่จะโต้แย้งได้ก็ต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นด้วยเหมือนกัน”
กระบวนการสำคัญของโครงการคนทั้งเมืองอ่านเรื่องเดียวกัน คือ อ่าน-คิด-คุยกัน-ฟังกันและกัน-เติบโตไปด้วยกัน1
การอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันเป็นกลวิธีที่ช่วยให้การอ่านและการสนทนาถกเถียงมีจุดศูนย์รวมความสนใจร่วมกัน ดังนั้นกิจกรรมสำคัญของโครงการนี้คือการกระตุ้นส่งเสริมการอ่านและสนับสนุนให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่ออภิปรายพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบมีจุดมุ่งหมาย และสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือที่ถูกคัดเลือก
การดำเนินกิจกรรม One Book One City ให้ประสบความสำเร็จ ควรเน้นให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 4 ประการต่อไปนี้
1. การตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนถึงผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นต่อผู้ร่วมกิจกรรม ห้องสมุด หรือชุมชน
2. มีคณะดำเนินงานซึ่งประกอบด้วยผู้มีความเชี่ยวชาญและทักษะที่หลากหลาย เช่น แกนนำชุมชนในพื้นที่ ครู บุคลากรทางการศึกษาหรือวิชาการ บุคลากรจากห้องสมุด ร้านหนังสือ ทั้งร้านอิสระและเชนสโตร์
3. การคัดเลือกหนังสือประจำเมือง หากได้หนังสือซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบริบทของเมืองนั้น หรือประพันธ์โดยนักเขียนของเมืองนั้น จะยิ่งทำให้การรณรงค์การอ่านหนังสือเรื่องนั้นมีความดึงดูดน่าสนใจยิ่งขึ้น
4. การพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชิญนักเขียนมาบรรยาย จัดอภิปรายวงใหญ่ จัดตั้งชมรมการอ่าน จัดฉายภาพยนตร์ นิทรรศการ คอนเสิร์ต ทัวร์เดินเท้า ฯลฯ ซึ่งห้องสมุดสามารถดำเนินงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน
การตั้งเป้าหมายของโครงการที่ชัดเจน ช่วยให้การคัดเลือกหนังสือเป็นไปได้ง่ายขึ้น การพัฒนาแผนมีความเป็นไปได้จริง และนำไปสู่การอ่านอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน
เป้าหมายของกิจกรรม : ต้องการให้เกิดผลสำเร็จอะไร, ห้องสมุดจะได้รับประโยชน์อย่างไร, จะสร้างความต่อเนื่องได้อย่างไร
เป้าหมายของผู้ร่วมกิจกรรม : กลุ่มเป้าหมายคือใคร, ทำไมจึงเลือกกลุ่มนี้, ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมคืออะไร
เป้าหมายของเนื้อหา : มีธีม (theme) ที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดหรือชุมชนหรือไม่, มีคอลเลกชั่นหนังสือธีมใดที่ต้องการเน้นหรือไม่
เป้าหมายของชุมชน : อะไรคือวาระที่สำคัญของชุมชน, มีชุมชนใดที่ต้องการแบ่งปันเป้าหมายร่วมกัน
คณะดำเนินงานมีบทบาทในการช่วยวางแผน ส่งเสริม และดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง ควรประกอบด้วยผู้มีความเชี่ยวชาญและทักษะที่หลากหลายประมาณ 5-10 คน เช่น แกนนำชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ครู บุคลากรทางการศึกษาหรือวิชาการ บุคลากรจากห้องสมุด ร้านหนังสือ ทั้งร้านอิสระและเชนสโตร์ ทั้งนี้ หากคณะดำเนินงานมีภาระงานมากกินไป อาจตั้งคณะดำเนินงานย่อยเพื่อช่วยแบ่งเบา
โครงการอาจเป็นไปตามกรอบปีงบประมาณ หรือกินระยะเวลายาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของของหน่วยงานที่ให้งบประมาณ ผู้รับผิดชอบโครงการจำเป็นต้องกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน เวลาสิ้นสุด และระบุผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
โครงการ One Book One City ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วน (partner) โดยนำเสนอความคิดริเริ่มกับผู้นำหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการมีส่วนร่วม และชี้ให้เห็นคุณค่าในการสนับสนุนโครงการ ตัวอย่างหุ้นส่วน เช่น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านศิลปะ/วัฒนธรรมระดับชาติ ระดับจังหวัด และท้องถิ่น บริษัทเอกชนในท้องถิ่น โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา และกลุ่มที่ดำเนินงานด้านกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
ใครเลือกหนังสือ : เลือกโดยคณะดำเนินงาน, คณะดำเนินงานเลือกร่วมกับสาธารณชน, สาธารณชนเลือกจาก shortlist
หนังสือประเภทไหน :
- หนังสือที่เขียนโดยคนประเทศ/จังหวัด/เมืองนั้น
- หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเมืองนั้น
- หนังสือร่วมสมัย หรือ วรรณกรรมคลาสสิค
- เรื่องแต่ง (Fiction) หรือสารคดี (Non-fiction)
- จะต้องเป็นหนังสือที่เข้าถึงได้ ทั้งรูปแบบกระดาษหรือแพลตฟอร์มอื่น
- คำนึงถึงระดับการอ่านและระดับความสนใจของผู้เข้าร่วม
- มีประเด็นอ่อนไหวหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงหรือให้คำแนะนำผู้อ่านอย่างไรให้เหมาะสม รวมถึงสื่อสารให้สังคมรับรู้เกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหวเพื่อให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ
หนังสือที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ One Book One City ของเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา3
เมื่อได้หนังสือที่จะอ่านพร้อมกันทั้งเมืองแล้ว ผู้รับผิดชอบโครงการต้องประสานไปยังสำนักพิมพ์และนักเขียน อย่างน้อย 4-6 เดือน ก่อนเปิดตัวแคมเปญ เพื่อเชิญนักเขียนมาร่วมกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน หารือเรื่องการตีพิมพ์หรือจัดซื้อหนังสือให้มีจำนวนเพียงพอกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ขออนุญาตนักเขียนและสำนักพิมพ์เรื่องการคัดลอกเนื้อหาบางส่วนไปใช้ (เช่นการนำไปทำสื่อโฆษณา หรือการนำไปลงโซเชียลมีเดีย) ขอรับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ในด้านการจัดอีเวนต์ การโปรโมทงาน และการกระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือในชุมชน ฯลฯ
กิจกรรมที่มีนักเขียน :การพบปะนักเขียนนับว่าเป็นกิจกรรมไฮไลท์ของโครงการ เช่น การเชิญนักเขียนมาบรรยาย วงอภิปรายขนาดใหญ่ การสัมภาษณ์นักเขียน เวิร์คช็อปการเขียน ฯลฯ
กิจกรรมที่ไม่มีนักเขียน : แม้นักเขียนจะมิได้เข้าร่วมโครงการ ก็สามารถพัฒนากิจกรรมต่างๆ ให้น่าสนใจ เช่น ชมรมการอ่าน การจัดฉายภาพยนตร์ นิทรรศการ คอนเสิร์ต ทัวร์เดินเท้า ฯลฯ
สร้างความรับรู้เกี่ยวกับโครงการผ่านสื่อช่องทางต่างๆ :เช่น จัดทำโปสเตอร์ ที่คั่นหนังสือ และวีดิทัศน์ โดยขอรับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์จากสื่อมวลชน พื้นที่สาธารณะ งานเทศกาลในท้องถิ่น กลุ่มส่งเสริมการอ่านในท้องถิ่น หน่วยงานด้านส่งเสริมการอ่านและวัฒนธรรมระดับชาติ ฯลฯ
จัดทำคู่มือกิจกรรมและชุดข้อมูลโดยสังเขป : เช่น รายละเอียดกิจกรรม บรรณนิทัศน์หนังสือ ข้อความบางส่วนจากหนังสือ บทวิจารณ์ กลุ่มการอ่าน ประวัตินักเขียน ตารางกิจกรรม แผนที่ห้องสมุดในท้องถิ่นและพื้นที่จัดกิจกรรม หมายเหตุจากนักเขียน ฯลฯ
อื่นๆ : สร้างการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนและกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น จัดทำบูธหรือจุดบริการให้ข้อมูล จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ และอาจแจกจ่ายหนังสือที่ถูกเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ช่วยสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการอ่านซึ่งเป็นวาระระดับชาติ
- เกิดผู้ใช้บริการหน้าใหม่จำนวนมากที่ไปใช้บริการห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์
- ดึงดูดคนเข้ามาร่วมกิจกรรม ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา
- เกิดชมรมการอ่าน (book club) ในชุมชน ซึ่งมีแนวทางการทำงานใหม่ๆ เช่น มีการนำหนังสือไปเป็นเครื่องมือการเยียวยาในโรงพยาบาล ศูนย์พักพิงคนชราและศูนย์เยาวชน และเกิดกิจกรรมพบปะข้ามวัย
- ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนในชุมชนที่มักมองเรื่อง “การอภิปรายหนังสือ” ว่าเป็นเรื่องเครียดๆ ให้กลายเป็นเรื่องไม่เป็นทางการ และเกิดได้ในวงกาแฟ
- ยกระดับนักอ่าน จากผู้ที่เคยอ่านหนังสือทั่วไป ให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่ดี และคิดวิเคราะห์ต่อยอดเนื้อหาที่อ่าน
- สามารถดึงผู้คนหลากหลายมาเข้าร่วมโครงการ เช่น ผู้ขาดโอกาส กลุ่มคนชายขอบ ฯลฯ
- ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากประเด็นในหนังสือ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ภาวะออทิสติก ผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ
- ทำให้สถิติผู้ใช้บริการและยืมหนังสือเพิ่มขึ้น
- เปลี่ยนบรรยากาศห้องสมุดให้มีชีวิตชีวา และผู้ใช้บริการมองว่าห้องสมุดเป็น “สถานที่แห่งประสบการณ์”
- ทำให้บุคลากรของห้องสมุดรู้สึกมีพลัง มีแรงบันดาลใจ และพยายามคิดอย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
- เกิดเครือข่ายพันธมิตรอย่างคิดไม่ถึง เช่น เรือนจำ ศูนย์พักพิงคนชรา หน่วยงานเอกชนที่สามารถสนับสนุนด้านการอบรมคอมพิวเตอร์ สถานีขนส่ง วงซิมโฟนี ฯลฯ
ใช่ว่าโครงการ One Book One City จะมีแต่คนเห็นด้วย มุมมองเชิงวิพากษ์ต่อการอ่านภายใต้โครงการนี้มีประเด็นที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย อาทิ ข้อวิจารณ์ต่อการอ่านในฐานะที่เป็นกิจกรรมของชุมชน โดย แฮโรลด์ บลูม (Harold Bloom) นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกัน กล่าวว่า
“ผมไม่ชอบการอ่านแบบมีคนเยอะๆ เหมือนฝูงผึ้ง ไอเดียผุดออกมาอย่างลวกๆ เหมือนการกินแม็คนักเก็ตหรืออะไรที่น่าสะอิดสะเอียด”
ขณะที่ ฟิลิป โลเพท (Phillip Lopate) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ แสดงความกังวลว่ากิจกรรมนี้จะเป็นการปลูกฝังค่านิยมทางสังคมโดยให้คนคิดเหมือนๆ กัน
“มันมีส่วนคล้ายพล็อตนวนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง ‘Invasion of the Body Snatchers’” เขากล่าว
แม้แต่ แนนซี เพิร์ล (Nancy Pearl) จากห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้เองก็ตาม ยังแสดงความห่วงใยในประเด็นเนื้อหาของหนังสือที่มีประเด็นอ่อนไหว ซึ่งถ้านำไปใช้ในทางที่ถูก คือก่อให้เกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ หาคำตอบที่เหมาะสม คงจะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากทุกคนเลือกพูดคุยเฉพาะเรื่องที่เจาะจงและมีความอ่อนไหวจนกลายเป็นการปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดชัง การอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันคงจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้
“มันกลายเป็นเรื่องที่มากกว่าวรรณกรรม แต่เป็นเรื่องของการเยียวยาความป่วยไข้ทางสังคมด้วย”
เนื้อหาหนังสือที่มีความอ่อนไหวกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เมื่อมีการเซ็นเซอร์โดยหน่วยงานของรัฐ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในมลรัฐเท็กซัส เมื่อคณะดำเนินงานได้คัดเลือกหนังสือแนวลึกลับเรื่อง The Curious Incident of the Dog in the Night-Time แต่นายกเทศมนตรีเมืองเฟรนด์สวูด (Friendswood) กลับคัดค้านเพราะมีถ้อยคำหยาบโลน และไม่ยินยอมให้ใช้หนังสือเรื่องนี้ในการรณรงค์การอ่าน
ในประเทศไทย มีโครงการกิจกรรมอย่างน้อย 2 กรณีตัวอย่างซึ่งมีเค้าความคิดที่คล้ายคลึงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจาก One Book One City ได้แก่
กรุงเทพมหานครเคยจัดทำโครงการคัดเลือกวรรณกรรมประจำแต่ละเขตของกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในพันธกิจที่กรุงเทพมหานครได้เสนอแก่ยูเนสโก เมื่อครั้งที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ปี พ.ศ.2556 เพื่อกระตุ้นให้คนในเขตสนใจหรือสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกี่ยวข้องกับเขตของเขา เกี่ยวอย่างไร และทำให้อยากค้นหาคำตอบด้วยการแสวงหาหนังสือเรื่องนั้นมาอ่าน
กระนั้นก็ดี ถ้าจะกล่าวอย่างถึงที่สุด “1 เขต 1 วรรณกรรม” ก็เป็นเพียงกิจกรรมแนะนำหนังสือเท่านั้น แต่ยังก้าวไปไม่ถึงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน จุดอ่อนประการหนึ่งน่าจะมาจากกระบวนการได้มาของรายชื่อหนังสือแต่ละเขตยังไม่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนอย่างหลากหลายเท่าไรนัก แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสานต่อกิจกรรมการอ่านหรือสร้างให้เกิดแคมเปญของเขตนั้นๆ โดยการนำเอาแนวคิด องค์ประกอบ และแนวทางขั้นตอนของ One Book One City มาปรับใช้ ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้คนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นในวงกว้างต่อไป
รายชื่อวรรณกรรมประจำเขต 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร
เขต |
ชื่อหนังสือ |
ชื่อผู้เขียน |
พระนคร |
กลางใจราษฎร์ |
คริส เบเคอร์, เดวิค สตรีคฟัส, พอพันธ์ อุยยานนท์, จูเลียน เกียริง, พอล วีเดล, ริชาร์ด เออห์ลิค, โรเบิร์ต ฮอร์น, โจ คัมมิงส์, โรเบิร์ต วู้ดโรว์ / ผู้แปล : มนันยา, จงจิต อรรถยุกติ, พรรษพร ชโลธร |
วังทองหลาง |
พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช |
ดุสิต |
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระปิยมเหสีในรัชกาลที่ 5 |
ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ |
ป้อมปราบศัตรูพ่าย |
กุหลาบแห่งแผ่นดิน |
ชมัยภร แสงกระจ่าง |
สัมพันธวงศ์ |
จดหมายจากเมืองไทย |
โบตั๋น |
ดินแดง |
ฟ้ากระจ่างดาว |
กิ่งฉัตร |
พญาไท |
อาม่าบนคอนโด |
ชมัยภร แสงกระจ่าง |
ราชเทวี |
ชาวกรง |
กฤษณา อโศกสิน |
ห้วยขวาง |
สามเกลอ |
ป.อินทรปาลิต |
ปทุมวัน |
ซอย 3 สยามสแควร์ |
กนกวลี พจนปกรณ์ |
บางรัก |
ผู้ดี |
ดอกไม้สด |
สาทร |
ยิ่งฟ้ามหานที |
กนกวลี พจนปกรณ์ |
บางคอแหลม |
ลอดลายมังกร |
ประภัสสร เสวิกุล |
ยานนาวา |
เวลาในขวดแก้ว |
ประภัสสร เสวิกุล |
คลองเตย |
ข้างหลังภาพ |
ศรีบูรพา |
วัฒนา |
ขอหมอนใบนั้น...ที่เธอฝันยามหนุน |
ประภัสสร เสวิกุล |
พระโขนง |
เปิดตำนานแม่นากพระโขนง |
เอนก นาวิกมูล |
สวนหลวง |
ข้ามสีทันดร |
กฤษณา อโศกสิน |
บางนา |
ฟ้าสางที่กลางใจ |
นราวดี |
จตุจักร |
จิตตนคร นครหลวงของโลก |
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก |
ดอนเมือง |
สายแดง |
ส. บุญเสนอ |
บางเขน |
จักรยานแดงในรั้วสีเขียว |
ดำรงค์ อารีกุล |
บางซื่อ |
เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก |
ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ |
ลาดพร้าว |
จากฝัน...สู่นิรันดร |
แก้วเก้า |
หลักสี่ |
คุณชายรณพีร์ |
แพรณัฐ |
สายไหม |
เด็กชายมะลิวัลย์ |
ประภัสสร เสวิกุล |
บางกะปิ |
แผลเก่า |
ไม้ เมืองเดิม |
มีนบุรี |
แสนแสบ |
ไม้ เมืองเดิม |
บึงกุ่ม |
ตำนานเสรีไทย |
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร |
ลาดกระบัง |
พระจันทร์สีน้ำเงิน |
สุวรรณี สุคนธา |
ประเวศ |
สวัสดี...ข้างถนน |
ชมัยภร แสงกระจ่าง |
สะพานสูง |
เงาราหู |
โสภาค สุวรรณ |
คันนายาว |
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน |
วินทร์ เลียววาริณ |
หนองจอก |
ร่มฉัตร |
ทมยันตี |
คลองสามวา |
จดหมายถึงดวงดาว |
ชมัยภร แสงกระจ่าง |
บางกอกใหญ่ |
สี่แผ่นดิน |
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช |
บางกอกน้อย |
คู่กรรม |
ทมยันตี |
คลองสาน |
สองฝั่งคลอง |
ว. วินิจฉัยกุล |
ธนบุรี |
บูรพา |
ว. วินิจฉัยกุล |
จอมทอง |
ปริศนา |
ว.ณ ประมวญมารค |
บางพลัด |
หน้าต่างบานแรก |
กฤษณา อโศกสิน |
ตลิ่งชัน |
พระนิพนธ์ แก้วจอมแก่น |
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี - แว่นแก้ว |
ทวีวัฒนา |
พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ราษฎร์บูรณะ |
เขียนฝันด้วยชีวิต |
ประชาคม ลุนาชัย |
บางขุนเทียน |
แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ |
ภาษีเจริญ |
ลมที่เปลี่ยนทาง |
กฤษณา อโศกสิน |
บางแค |
แวววัน |
โบตั๋น |
หนองแขม |
ชีวิตในวัง |
ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ |
ทุ่งครุ |
พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช |
บางบอน |
ชีวิตไทย |
เอนก นาวิกมูล |
เครือข่ายเชียงใหม่อ่าน เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลและองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนงานพัฒนาสื่อ หนังสือและการอ่าน ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อปี 2561 คนทำงานในเครือข่ายเล็งเห็นว่าการสื่อสารรณรงค์กระตุ้นให้เกิดการอ่านทั่วบ้านทั่วเมือง สามารถทำได้โดยผ่านการสร้างประเด็นหรือเนื้อหาการอ่านร่วมกันในเรื่องเดียวกัน จึงได้นำเอาสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่มาสร้างเป็นแนวคิด “อ่านดอยสุเทพ” ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน”
กิจกรรมสำคัญของโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” อ่านดอยสุเทพ คือการผลิตหนังสือนิทานดอยสุเทพสำหรับเด็กปฐมวัยจำนวน 3 เรื่อง ด้วยความเชื่อว่าการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้ลงลึกจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กและสร้างสิ่งแวดล้อมการอ่านในครอบครัว โดยนิทานทั้งสามเรื่องได้แจกจ่ายให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 633 แห่ง พร้อมกับจัดอบรมครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็กเล็ก ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งเรื่องการวิเคราะห์นิทาน การเล่านิทาน การผลิตสื่อหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย (หนังสือ pop-up) เพื่อนำไปต่อยอดจัดกิจกรรม
ผลงานหนังสือนิทานชุด "อ่านดอยสุเทพ" สำหรับเด็กปฐมวัย
จากนั้นก็ขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยนำหนังสืออ่านดอยสุเทพไปใช้เป็นสื่อในการจัดอบรมให้กับครู บรรณารักษ์ และอาสาสมัครการอ่านทั่วทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีทักษะในการนำหนังสือชุดนี้ไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งสื่อสารไปยังกลุ่มเยาวชนให้เกิดความสนใจ “อ่านดอยสุเทพ” ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งนอกเหนือจากกลุ่มเด็กปฐมวัย เพื่อให้เกิดการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” อย่างแท้จริง
ปฏิบัติการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” อ่านดอยสุเทพ ขยายตัวไปสู่การส่งเสริมแกนนำและนักสื่อสารส่งเสริมการอ่านเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน การพัฒนาพื้นที่อ่านสร้างสรรค์ในชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ มีการผลักดันและเผยแพร่ปฏิบัติการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การผลิตคลิปส่งเสริมการอ่าน การประกวดหนังสือเล่มเล็ก หนังสือทำมือ การพัฒนาคู่มือการเรียนรู้ การจัดนิทรรศการ และการจัดงานมหกรรมนิทานสร้างเมือง เป็นต้น
อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน โดยเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน แตกต่างจาก One Book One City จนแทบไม่เหลือเค้าเดิมให้เห็น แต่ถูกบิด ดัด ปรับให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น แทนที่จะเลือกหนังสือ 1 เรื่องมาอ่านพร้อมกันทั้งเมือง ก็ประยุกต์มาเป็นการเลือกหัวข้อที่เกิดจากความเห็นพ้องร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนของเมืองหรือจังหวัดเพียง 1 หัวข้อ แล้วนำมาสร้างเป็นสื่อหรือออกแบบกิจกรรมและกระบวนการที่ทำให้ทุกๆ คนสามารถอ่าน “เรื่องเดียวกัน” ตามหัวข้อนั้น
ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่กิจกรรมหรืออีเวนต์ที่จัดแล้วจบ แต่มีลักษณะเป็นกิจกรรมรณรงค์ที่ส่งผลกระทบตกค้างไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ขบคิดพัฒนาและต่อยอดต่อเนื่องต่อไป
จุดเด่นของเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน นอกจากระบบคิดและวิธีการทำงานที่มุ่งสร้างสานเครือข่ายน้อยใหญ่ให้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำโดยให้คุณค่าทุกคนทุกองค์กรอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดการองค์ความรู้และการถอดบทเรียนอย่างจริงจัง จึงทำให้มีการปรับปรุงขั้นตอนวิธีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
One Book One City หรือกิจกรรมอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน คือความพยายามส่งเสริมให้ทุกคนอ่านและอภิปรายหนังสือเล่มเดียวกัน ซึ่งผ่านกระบวนการคัดสรรแล้วว่ามีคุณค่าและสะท้อนถึงผู้คน ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรืออนาคตของเมือง กระบวนการนี้เสมือนกุศโลบายที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่าน ด้วยการอภิปรายถกเถียงเรื่องหนังสือในทุกแง่มุม กระตุ้นให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ รวมทั้งวัฒนธรรมการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย
การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจจะนำไปสู่การร่วมคิดร่วมสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ นอกเหนือไปจากการอ่าน ซึ่งจะกลายเป็นปฏิบัติการพลเมือง (Civic Action) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมืองให้น่าอยู่ ผลลัพธ์ของโครงการจึงไม่เพียงเป็นการส่งเสริมการอ่านและกระตุ้นการเรียนรู้ของประชาชน ซึ่งช่วยสนับสนุนงานด้านการศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังอาจนำไปสู่การสร้างสรรค์อัตลักษณ์ของเมือง (หรือจังหวัด) ซึ่งช่วยส่งเสริมงานด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น One Book One City ตามแบบต้นฉบับดั้งเดิมในต่างประเทศ หรือการทดลองปรับประยุกต์ใช้ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการอ่านหนังสือกับเมืองหรือจังหวัดของประเทศไทย ดังกรณีของ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” อ่านดอยสุเทพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมซึ่งสนับสนุนให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบมีจุดมุ่งหมาย ที่มุ่งให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์หรือกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั่วทั้งเมือง
ในประเทศไทยนั้นอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปผลลัพธ์ความสำเร็จดังเช่นหลายเมืองทั่วโลก ทั้งนี้เพราะขั้นตอนกระบวนการยังมีความแตกต่างกัน และนอกเหนือจากกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังไม่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ที่มีลักษณะต่อเนื่องแบบเดียวกันนี้ในพื้นที่จังหวัดอื่น5
สุดท้าย หากจะถามว่า แล้วทำไมถึงต้องอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน คำตอบนี้คงไม่มีถ้อยคำใดจะเหมาะสมเท่ากับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในสหรัฐ...
แนนซี เพิร์ล (Nancy Pearl) ผู้อำนวยการศูนย์หนังสือ ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล บอกว่า
“มีโอกาสน้อยมากที่ปัจเจกชนซึ่งแตกต่างกันด้านชาติพันธุ์ ฐานะ หรืออายุ จะได้มานั่งถกเถียงความคิดร่วมกัน แต่โครงการนี้สามารถสร้างโอกาสนั้นให้เกิดขึ้นได้”
ส่วนบิลล์ โบการ์ด (Bill Bogaard) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย บอกว่า
“กิจกรรมนี้เป็นโอกาสอันเยี่ยมยอดที่นำพาผู้คนในชุมชนให้มารวมกัน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่านซึ่งช่วยทำให้ชีวิตของเรานั้นมีคุณค่ายิ่งขึ้น”
ที่มา
บทความเรื่อง 8 Steps to Planning a Successful One Book One Community Program ใน https://www.penguinrandomhouse.ca/program/487/8-steps-planning-successful-one-book-one-community-program
The Big Read: Case Study จัดทำโดย National Endowment for the Arts, Washington, 2009.
พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ และ ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์, เปิดประตูสู่ ‘อ่านกันทั้งเมือง อ่านกันทั่วโลก’ ใน อ่านสร้างสุข (กุมภาพันธ์ 2554), แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน: กระบวนการใช้หนังสือเพื่อสร้างการรับรู้และเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลัง กรณีศึกษาอ่านดอยสุเทพ, สรุปโดย ทัทยา อนุสสรราชกิจ, ไฟล์เอกสาร (ไม่ได้เผยแพร่)
[1] พิรุณ อนวัชศิริวงศ์ และ ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์, เปิดประตูสู่ ‘อ่านกันทั้งเมือง อ่านกันทั่วโลก’ ใน อ่านสร้างสุข(กุมภาพันธ์ 2554), แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
[2] บทความ 8 Steps to Planning a Successful One Book One Community Program
[3] (แถวบน จากซ้ายไปขวา) The Heart Is a Lonely Hunter หนังสือของเมืองไอโอวา, To Kill a Mockingbird หนังสือของเมืองบริดจ์พอร์ท, My Ántonia หนังสือของเมืองทัมวอเตอร์ (แถวล่าง จากซ้ายไปขวา) The Grapes of Wrath หนังสือของเมืองซาลินัส, Their Eyes Were Watching God หนังสือที่เมืองฟาเยตต์วิลล์, Fahrenheit 451 หนังสือของเมืองเรดวู้ด, The Great Gatsby หนังสือของเมืองเคลียร์วอเตอร์
[4] วิเคราะห์จาก The Big Read : Case Study จัดทำโดย National Endowment for the Arts, Washington, 2009.
[5] ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) จัดทำโครงการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน เชียงราย” โดยนำกระบวนการจากปฏิบัติการ “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน” อ่านดอยสุเทพ ของเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน มาทดลองจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องลักษณะเดียวกันเป็นเวลา 10 เดือนในจังหวัดเชียงราย ในโอกาสที่เทศบาลนครเชียงรายได้รับเลือกเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ จากองค์การยูเนสโก