Photo : ©Shannon McGrath
การแทรกแซงของดิจิทัล (Digital Disruption) ซึ่งเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และจะยิ่งเกิดในอัตราที่เร็วขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่า 65% ของเด็กที่กำลังเข้าโรงเรียนอนุบาลในวันนี้ สุดท้ายแล้วจะต้องประกอบอาชีพการงานที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ อาทิ คอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ของ IBM กลายเป็นสิ่งล้าสมัยและถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รวมถึงแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน โมเดลธุรกิจของโกดัก (Kodak) ล้มเหลวเพราะขาดการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบดิจิทัล ร้านหนังสือทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเกิดขึ้นของ Amazon และคลังข้อมูลดิจิทัล ยังมีอีกหลายธุรกิจที่มิได้ล้มหายตายจากไปแต่ก็ซบเซาลงมาก
ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ห้องสมุดจะต้องทบทวนตัวเองว่าจะสูญหายไปหรือไม่ หรือจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งใด และจะทำอย่างไรให้ห้องสมุดยังคงเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน หน้าตาของห้องสมุดเมื่อ 10 ปีที่แล้วย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากห้องสมุดในปัจจุบัน และเป็นเรื่องยากที่บรรณารักษ์จะคาดการณ์ได้ตรงกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง ทว่าบทบาทของบรรณารักษ์คือการจินตนาการว่า อยากจะให้อนาคตของห้องสมุดเป็นอย่างไร แล้ววางแผนเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายนั้น โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแนวทางในอดีตที่ผ่านมา
การรับรู้ “ห้องสมุด = หนังสือ”
รายงานของศูนย์ห้องสมุดคอมพิวเตอร์ออนไลน์ (Online Computer Library Center หรือ OCLC) ระบุว่า ในปี 2005 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (69%) กล่าวว่าหนังสือเป็นสิ่งแรกที่พวกเขานึกถึงเมื่อคิดถึงห้องสมุด ต่อมาในปี 2010 ชาวอเมริกันจำนวนมากกว่าเดิม (75%) เชื่อว่าแบรนด์ของห้องสมุดคือหนังสือ ทั้งๆ ที่มีการลงทุนและใช้งานทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์อย่างมหาศาล แต่มโนทัศน์ดังกล่าวกลับเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ เคลย์ตัน คริสเตนสัน (Clayton Christenson) นักวิชาการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำเสนอเรื่อง “ปรากฏการณ์ Disruptive Technology” ไว้อย่างชัดเจนว่า โลกแห่งห้องสมุดกำลังได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากปรากฏการณ์ดังกล่าว การดำเนินงานของห้องสมุดปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากสองประการ ประการแรกคือผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเนื้อหาส่วนใหญ่ของห้องสมุดในรูปดิจิทัล ประการที่สองคือห้องสมุดมิได้เป็นเจ้าของเนื้อหาเหล่านั้น
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การจัดสรรพื้นที่สำหรับทรัพยากรห้องสมุดและผู้ใช้บริการกำลังมีอัตราส่วนที่กลับกัน จากเดิมอัตราส่วนของพื้นที่สำหรับทรัพยากรอยู่ที่ 50% พื้นที่สำหรับผู้ใช้บริการ 40% ณ ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่า พื้นที่สำหรับทรัพยากรจะลดลงเหลือ 20-30% และพื้นที่สำหรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 60-70%
ห้องสมุด Raheen Library ,ประเทศออสเตรเลีย มีการปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่นั่งอ่านสำหรับผู้ใช้บริการมากขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในปัจจุบันPhoto : ©Shannon McGrath
โมเดลธุรกิจเดิมของห้องสมุดถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า เนื้อหาทั้งหมดของห้องสมุดถูกเก็บรักษาไว้ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้ใช้บริการจะต้องเดินทางไปยังห้องสมุดเมื่อพวกเขาต้องการรับบริการด้านเนื้อหาหรือสารสนเทศ แต่โมเดลธุรกิจดังกล่าวกำลังถูกแทรกแซงรื้อถอนโดย “ดิจิทัล” อย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้บริการของห้องสมุดได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของดิจิทัลในทุกด้าน ทุกคนมีสมาร์ทโฟนซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการเข้าถึงสื่อสังคม การค้นคว้าบนอินเทอร์เน็ต และห้องสมุดมีจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่เคยถูก “พบเห็น” หรือ “สัมผัส” เพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ มีการทำนายว่าในปี 2020 เรื่องการถือครองลิขสิทธิ์จะหมดไป ดังจะเห็นได้ว่างานเขียนหลายชิ้นระบุสัญลักษณ์ CC (Creative Common) เพื่อแสดงถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานของตนไปใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องทำสัญญากับเจ้าของผลงาน เพียงแต่มีการอ้างอิงที่มาของเนื้อหาเท่านั้น โมเดลธุรกิจของห้องสมุดสมัยก่อนคือการซื้อหนังสือมาจากสำนักพิมพ์ แต่ในบริบทปัจจุบันห้องสมุดสามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ โดยนำเนื้อหาจากผู้เขียนเผยแพร่โดยตรงให้กับผู้อ่าน
ปัจจุบันเกิดแนวคิดสำคัญสำหรับห้องสมุดอนาคต โดยมีตัวย่อว่า GLAM (Gallery Library Archives and Museum) ซึ่งในอังกฤษและอเมริกานิยมใช้คำนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งเรียนรู้มีแนวโน้มที่จะเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมทั้งหอศิลป์ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการทุกด้านของผู้ใช้บริการ สามารถทำงานข้ามพื้นที่กันได้ เพราะฉะนั้นห้องสมุดในอนาคตจะมีบทบาทกว้างขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ห้องสมุดจะเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางดิจิทัล จะต้องมีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และมีผู้ที่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย
แม้จะอยู่ในยุคของการแทรกแซงทางเทคโนโลยี การพึ่งพาลูกค้าก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญขององค์กร ห้องสมุดจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างและความต้องการของผู้ใช้บริการ ผู้คนในยุคมิลเลนเนียมย่อมมีมุมมองต่อห้องสมุดแตกต่างจากคนรุ่นเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ หากห้องสมุดมองว่าองค์กรของตนรู้ทุกอย่างแล้วและลืมเรื่องของผู้ใช้บริการไป วันหนึ่งห้องสมุดก็จะค่อยๆ สูญหายไป ดังที่นักวิเคราะห์หลายท่านทำนายไว้
การวางแผนด้วยสถานการณ์จำลอง (scenario building process)
การวางแผนด้วยสถานการณ์จำลอง คือการวิเคราะห์ขอบข่ายทางเลือกสถานการณ์อนาคตซึ่งเราแต่ละคนประสบอยู่เสมอ เป็นศิลปะแห่งการแยกตนเองจากปัจจุบันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับอนาคต ด้วยความตระหนักว่าอนาคตจะมาถึงเร็วกว่าที่เราคนใดคนหนึ่งจะคาดถึง
ดังกรณีของห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค (Hong Kong Polytechnic University Library) ซึ่งเดิมมีการบริหารจัดการ คัดสรรบุคลากร และรักษาทรัพยากรได้เป็นอย่างดีภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อน กระนั้นก็ตาม ยังจำเป็นต้องวางแนวทางใหม่และกำหนดอนาคตของตนเองอย่างชัดเจนด้วยการใช้สถานการณ์จำลอง
VIDEO วีดิทัศน์แนะนำการบริการของห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค (Hong Kong Polytechnic University Library)
หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เกิดสถานการณ์จำลองขึ้น 3 ประเภท สถานการณ์จำลองที่หนึ่งคือ ‘ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้’ (Learning Hub) สถานการณ์จำลองที่สองถูกขนานนามว่า ‘สถานที่พบปะแบบมังกาบูรีน่า’ (Mungabooreena Meeting Place) [1] และสถานการณ์จำลองที่สามเรียกว่า ‘จากวอล-มาร์ทสู่สแตนลีย์’[2] (From Wal-Mart to Stanley) สถานการณ์จำลองห้องสมุดที่พึงประสงค์ (Preferred Library Scenario) ถูกเผยแพร่ไปยังทุกภาควิชารวมทั้งห้องสมุดมหาวิทยาลัยฯ เพื่ออภิปรายถึงผลกระทบต่อความต้องการและการวางแผนของหน่วยงานวิชาการ
ผลลัพธ์จากการนำสถานการณ์จำลองห้องสมุดที่พึงประสงค์ไปใช้ ทำให้มีผู้ใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการบูรณะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์งานร่วมกันแห่งใหม่ ห้องสมุดได้รับเงินทุนสำหรับสร้างร้านกาแฟ ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่พบปะที่สำคัญของมหาวิทยาลัยฯ และอธิการบดีก็แวะมาที่นี่บ่อยครั้งเพื่อพบปะกับนักศึกษา บุคลากรห้องสมุดต่างก็รู้สึกว่าตนเองมีบทบาทสำคัญและตื่นเต้นไปกับอนาคต
สรุป
ทุกวิชาชีพต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของห้องสมุด คือการก้าวผ่านจากบทบาทผู้รักษาหนังสือและวารสาร สู่บทบาทการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการสร้างเสริมการรู้หนังสือ สิ่งที่ขาดเสียมิได้คือ ทัศนะใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง การบริหารการเปลี่ยนแปลง ทักษะความเป็นผู้นำ และการสร้างสมรรถนะหลักที่ไม่เหมือนเดิม
ที่มาเนื้อหา
สรุปประเด็นจากบทความเรื่อง “เรามีอนาคตกี่รูปแบบในยุคแห่ง Disruption?: อนาคตมิได้เป็นดั่งที่เคยเป็น!” และวีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง “Library Management in Disruptive Times: Skill and Knowledge for an Uncertain Future” โดย สตีฟ โอคอนเนอร์ (Steve O'Connor) ในการประชุมวิชาการ TK Forum 2018 หัวข้อ Creating Better Library: The Unfinished Knowledge
รับชมวีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง Library Management in Disruptive Times: Skill and Knowledge for an Uncertain Future โดย สตีฟ โอคอนเนอร์ ในการประชุมวิชาการ TK Forum 2018 ได้ ที่นี่
อ่านบทความฉบับเต็ม ที่นี่
[1] เป็นภาษาของชาวพื้นเมืองอะบอริจิน หมายถึง สถานที่พบปะสำหรับผู้คนและความคิด
[2] เป็นการอ้างอิงชื่อ วอลมาร์ท (Walmart) ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่ขายสินค้าสารพัด ในขณะที่ สแตนลีย์ (Stanley) เป็นตลาดนัดในฮ่องกง ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะประเภทและผลิตภัณฑ์ที่เป็นของท้องถิ่น