องค์ความรู้ห้องสมุดยุคใหม่ของสหราชอาณาจักร: ประสบการณ์จากการพัฒนา
5 พฤศจิกายน 2562
381
Photo : Facebook @TheHiveWorcs
ทุกวันนี้ ห้องสมุดประชาชนทั่วโลกกำลังกลายเป็นพื้นที่ร้อนแรงในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ หรือกระทั่งสอนทำอาหาร การสนับสนุนสตาร์ทอัพหรือธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงการประดิษฐ์เครื่องยืมหนังสืออัตโนมัติสำหรับตั้งวางไว้ที่โรงพยาบาล ห้องสมุดบางแห่งจัดวางตนเองอยู่กับโอกาสใหม่ในด้านการงานอาชีพ ดังนั้นประเด็นที่ห้องสมุดเข้าไปข้องเกี่ยวจึงมีทั้งเรื่องการศึกษา การจ้างงาน การส่งเสริมวัฒนธรรม และการส่งเสริมสุขภาพ
การปรับมุมมองที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นนี้นับว่าเป็นจุดแข็งสำคัญ เพราะทำให้ห้องสมุดมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานภาคีที่ทำงานด้านบริการสาธารณะแทบทุกแห่ง ห้องสมุดจึงไม่เพียงแต่จะหลุดทะลุออกจากกรอบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ๆ ในปริมณฑลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกด้วย
จุดประสงค์ที่แตกต่าง พื้นที่ที่กลมกลืน
ที่เมืองวอร์เชสเตอร์ (Worcester) ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 216 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ The Hive อาคารหลังใหม่มูลค่า 60 ล้านปอนด์ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์และความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งวอร์เชสเตอร์และสภาเมืองวอร์เชสเตอร์
เอกลักษณ์ของ เดอะไฮฟว์ คือการนำบริการด้านห้องสมุดมาอยู่รวมกันกับบริการภาครัฐของสภาเมืองไว้ในอาคารเดียวกันได้อย่างผสมกลมกลืน พื้นที่ส่วนใหญ่เปิดโล่ง ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผนังกำแพงสีขาวสลับด้วยกระจก ชั้นหนังสือเรียบๆ สีเดียวกับผนัง บันไดและเพดานหุ้มและกรุผิวด้วยไม้ ประดับด้วยงานศิลปะชั้นสูง ช่วยกระตุ้นความสบายตาและความสนใจ
Photo : Website fcbstudios.com
อาคาร เดอะไฮฟว์ มี 5 ชั้น ชั้นที่ 1 ถึง 3 เชื่อมถึงกันโดยบันไดที่วางตำแหน่งไว้ตรงกลาง ส่วนชั้น 0 อยู่ระดับพื้นดิน สำหรับให้หนุ่มสาวได้พบปะ เล่นเกม ชมภาพยนตร์ ฟังดนตรี ชั้นที่ 4 เป็นห้องเก็บหนังสือหมวดหมู่พิเศษและชั้นวารสาร เป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้แบบไม่ใช้เสียง จึงไม่ใช่ชั้นเปิดโล่ง แต่มีลิฟต์และบันไดสำหรับขึ้นลงแยกต่างหากจากชั้นอื่น
การออกแบบโดยแยกพื้นที่กิจกรรมที่ใช้เสียงกับพื้นที่ที่ต้องการความสงบ นับว่าโดดเด่นเป็นพิเศษเพราะสถาปนิกออกแบบให้ผนังและเพดานมีความลาดเอียง เพื่อให้เสียงกิจกรรมจากชั้นล่างถูกดูดซับลดความดังลงทีละชั้นจนกระทั่งแทบจะไม่ได้ยินเมื่อถึงชั้นบนสุด
พื้นที่ชั้นล่างระดับพื้นดิน จัดที่นั่งแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการ สามารถนั่งคุย ทำงานหรือเล่นเกมเป็นกลุ่ม เพดานสูงและเจาะเป็นช่องกระจกทำให้พื้นที่ดูโล่งและกว้างขวาง แต่ก็ยังรู้สึกมีความเป็นส่วนตัวไปพร้อมกัน
ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่เปิด มีทั้งมุมมกาแฟ ห้องสมุดเด็ก และจุดให้บริการขององค์กรบริหารท้องถิ่นแบบครบวงจรหรือ Worcester Hub ชาวเมืองที่ต้องติดต่องานกับภาครัฐสามารถเข้าถึงบริการได้ครบทุกประเภท ห้องสมุดใช้พื้นที่บริเวณชั้นนี้เป็นจุดบริการตนเองสำหรับสมาชิกที่มาสืบค้นหนังสือหรือนำหนังสือมาคืน
ชั้น 2 สภาเมืองใช้สำหรับให้บริการข้อมูลด้านโบราณคดีของเมือง มีห้องประชุม ศูนย์ธุรกิจ ส่วนที่เป็นห้องสมุดจะมีคอลเลกชั่นที่มีเนื้อหาค่อนข้างเป็นทางการ อีกด้านหนึ่งของชั้นนี้จัดเป็นโซนนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวด้วยเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมือง โดยจัดทำอุปกรณ์ฟังแบบครอบเต็มศีรษะ (sound dome) ซึ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหว มีแท่นฝังจอระบบสัมผัสสำหรับค้นหาข้อมูลที่สนใจ
ชั้น 3 เป็นหนังสือและสื่อการเรียนรู้ทั้งแบบที่เป็นทางการและตามอัธยาศัย ผนังกำแพงชั้นนี้เป็นกระจกโดยรอบ จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของเมือง
ผู้ใช้บริการมีทั้งที่มาใช้งานห้องสมุดและกิจธุระกับองค์การบริหารท้องถิ่น ทำให้ได้เห็นความหลากหลายของบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก สะท้อนถึงแนวคิดที่มุ่งเปิดกว้างเพื่อคนทุกคน ไม่แบ่งแยกกีดกัน ที่สำคัญคือการใช้พื้นที่ที่มีจุดประสงค์แตกต่างกันกลับสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ
Photo : Website fcbstudios.com
หลักการออกแบบ ข้อเสนอแนะ และคำถามชวนคิด
เจมมา จอห์น (Gemma John) นักวิจัยและพัฒนาห้องสมุดทำการศึกษาสำรวจจุดเด่นจุดแข็งของห้องสมุดยุคใหม่จำนวน 34 แห่งจาก 11 เมืองใน 5 ประเทศ (ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) และนำมาถอดบทเรียนเขียนเป็นรายงานเรื่อง Designing Libraries in 21st Century: Lessons for the UK (2016) เขาชี้ว่า ไม่มีการออกแบบที่เป็นรูปแบบตายตัว ห้องสมุดแต่ละแห่งต้องสนับสนุนความต้องการที่ไม่เหมือนกันของผู้ใช้ในชุมชนของตน สถาปนิกและนักออกแบบตกแต่งภายในต้องมอบทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วยการจัดวางองค์ประกอบสิ่งของต่างๆ ให้ยืดหยุ่น (ไม่ใช่จัดวางเฟอร์นิเจอร์ห้องสมุดแบบตายตัวดังที่เคยทำมาเมื่อ 10 ปีก่อน) การจัดให้มีพื้นที่เปิดโล่งช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถปรับใช้พื้นที่ตามที่เขาต้องการได้หลากหลายแบบ และสามารถสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ขณะที่การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่ดีจะช่วยให้เกิดความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ใช้ห้องสมุด ณ พื้นที่ที่ให้บริการ
“ผู้ใช้บริการเข้ามาห้องสมุดพร้อมกับคาดหวังว่าพวกเขาสามารถเลือกหาหนังสือหรือวารสารได้ทุกตู้ทุกชั้นวาง แล้วก็หาที่เงียบๆ สักแห่งนั่งอ่าน พวกเขายังต้องการประสบการณ์ใหม่จากประเด็นที่ตนเองสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการออกแบบพื้นที่ให้โล่ง เปิดกว้าง เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย ตกแต่งแบบเรียบๆ และเน้นการมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุด เพื่อจะได้เข้าถึง สร้างสรรค์ และแบ่งปันความรู้ในรูปแบบวิธีการเฉพาะของตัวเขาเอง” (หน้า 53)
หลักการออกแบบห้องสมุดยุคใหม่ คือ ‘เข้าถึงง่าย’ (accessible) ‘มองเห็นถึงกัน’ (visible) และ ‘ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่าย’ (flexible) แม้จะฟังดูดีแต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ห้องสมุดที่เปิดโล่ง จัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่าย แต่ก็อาจเผชิญปัญหาเสียงรบกวนจากการใช้งานตามปกติหรือเมื่อมีการจัดกิจกรรมพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนการใช้งานอย่างระมัดระวัง
เจมมา สรุปว่าห้องสมุดประชาชนกำลังวิวัฒน์จากพื้นที่เก็บหนังสือ (collection) มาเป็นพื้นที่เพื่อการเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์ (connection) เป็นสถานที่ปลดปล่อยชีวิตของเมือง การออกแบบห้องสมุดที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือความเรียบง่ายที่สุด นั่นคือสร้างพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้มองเห็นกันได้ง่ายข้ามชั้นข้ามพื้นที่ และเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน
เขาได้ให้ข้อแนะนำสำหรับการออกแบบและพัฒนาห้องสมุด สรุปเป็นวลีไว้จดจำสั้นๆ 3 ประการ คือ
Keep it real เก็บข้อมูลความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง สังเกตว่าพวกเขาใช้งานบริการอะไรบ้าง ในพื้นที่ใด และวิเคราะห์ให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ ข้อมูลนี้จะช่วยในการตัดสินใจลงทุนหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
Keep it interesting สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับห้องสมุดเพื่อสนองตอบรูปแบบการใช้งานหรือความสนใจของผู้ใช้ การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็สร้างความแตกต่างได้ เช่น การติดไฟ LED เหนือชั้นหนังสือแบบเปิด ช่วยขับเน้นปกหนังสือให้ดูน่าสนใจมากขึ้น หรือการเปลี่ยนรูปแบบจัดวางเฟอร์นิเจอร์บริเวณโถงทางเข้าเพื่อสร้างความรู้สึกเชื้อเชิญมากขึ้น
Keep it simple ไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตก็ได้ อันที่จริงพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการสร้างผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง (ที่ผู้เขียนได้พบ) คือห้องสมุดสาขาซึ่งออกแบบเรียบๆ วางแปลนง่ายๆ และใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ซึ่งทุกวันนี้หาได้ง่ายมากในท้องตลาด เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สต๊าฟห้องสมุดสามารถสร้างสรรค์พื้นที่ได้สารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันไปจนถึงพื้นที่นั่งอ่านแบบเงียบๆ คนเดียว
สุดท้าย เจมมาทิ้งคำถามสำคัญไว้ให้ขบคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนในวิชาชีพห้องสมุด สถาปนิกและนักออกแบบ สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อที่ทุกฝ่ายจะมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะให้อาคารห้องสมุดมีส่วนในการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้คนที่เข้ามาใช้งาน และทำอย่างไรพวกเขาจึงจะมั่นใจได้ว่าการปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดประชาชนในวันนี้เกี่ยวข้องกับอนาคตของผู้คนในวันพรุ่งนี้
แน่นอนว่าเราไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้องเสมอไป แต่การออกแบบพื้นที่ห้องสมุดไม่ควรมองเพียงความเหมาะสมกับจุดประสงค์ของวันนี้เท่านั้น แต่จะต้องเหมาะสมกับอนาคตที่เราไม่มีทางรู้ได้อีกด้วย ประการหลังนี้เองที่เป็นความท้าทายที่สุดของทั้งบรรณารักษ์และผู้ออกแบบ มีผู้รู้กล่าวว่า “การคาดการณ์อนาคตนั้นมักจะผิดเสมอ” ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบใดที่มั่นใจได้ว่าจะถูกต้องเสมอไป ณ วันนี้ เราจึงทำได้เพียงแค่ทดลองทำ และค่อยๆ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาให้มากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาห้องสมุดนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ
นวัตกรรมของห้องสมุดและพื้นที่สร้างสรรค์ยุคดิจิทัล: กรณีตัวอย่างในสหราชอาณาจักร
ตัวอย่างห้องสมุด 4 แห่งและพื้นที่การเรียนรู้ 1 แห่งดังต่อไปนี้ ชี้ให้เห็นถึงการปรับบทบาทห้องสมุดและการใช้พื้นที่ทำงาน โดยประสานความร่วมมือกับภาคีหุ้นส่วน จนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่างให้เป็นที่ประจักษ์
เทคโนคลับ, ห้องสมุดนีธ พอร์ต ทัลบอต, เวลส์
เด็กๆ สามารถช่วยกันสร้างและเขียนโปรแกรม Lego Robots ได้เองที่ห้องสมุดในเวลส์
Photo : Neath Port Talbot Libraries
เป้าหมายของเทคโนคลับ (Technoclubs) คือการทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกตื่นเต้นกับวิชาสะเต็มศึกษา (STEM – Science, Technology, Engineering and Math) และเชื่อมโยงบทบาทห้องสมุดเข้ากับการเรียนการสอนวิชานี้ จึงได้ริเริ่มโครงการขนาดเล็กที่ใช้งบประมาณไม่มาก ดำเนินการโดยให้หน่วยงานภาคีหุ้นส่วนทำงานร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่น มีการจัดตั้งคลับหรือชมรมขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะต้องมีบทบาทช่วยเหลือสมาชิกของชมรมในการสร้างและเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์เลโก้มายด์สตอร์ม (Lego Mindstorm) โดยใช้ซอฟต์แวร์สแครตช์ (Scratch)
ซุปตัวอักษร, ห้องสมุดอินเวอร์ไคลด์, สก็อตแลนด์
ห้องสมุดเมืองอินเวอร์ไคลด์ (Inverclyde) จัดกิจกรรมสอนทำอาหารและแทรกด้วยกิจกรรมเพนท์สีบนใบหน้าเพื่อสร้างความสนุกสนาน
Photo : Inverclyde Libraries
ซุปตัวอักษร (Alphabet Soup) เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพและการอ่านออกเขียนได้ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) โดยได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสก็อตแลนด์ผ่านหน่วยงานชื่อ ‘สภาสารสนเทศและห้องสมุดสก็อตช์’ กิจกรรมในโครงการ อาทิเช่น แข่งขันทำกับข้าว สาธิตการทำอาหาร การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพและการทำอาหาร โดยเชื่อมโยงเนื้อหาของกิจกรรมเหล่านี้เข้ากับความรู้ในหนังสือและสื่อออนไลน์ซึ่งมีให้บริการอยู่ในห้องสมุด
Fab Lab, ห้องสมุดเอ็กซีเตอร์, อังกฤษ
Fab Lab ที่ห้องสมุดเอ็กซีเตอร์จัดอบรมวิธีการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติและจักรเย็บผ้าดิจิทัล
Photo : Exeter Library
Fab Lab หรือชื่อเต็มคือ Fabrication Laboratory เป็นพื้นที่เรียนรู้ดิจิทัลที่เกิดขึ้นในห้องสมุดประชาชนของสหราชอาณาจักรเป็นแห่งแรก เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในพื้นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เครื่องพิมพ์สามมิติ ซีเอ็นซีเราเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือ Raspberry Pi เครื่องสแกนสามมิติ จักรเย็บผ้าดิจิทัล เครื่องบัดกรี ตู้ไฟ (Lightbox) ผู้คนสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างอิสระ โดยห้องสมุดจะจัดคอร์สอบรมสอนวิธีการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีไว้ให้บริการ ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และเปลี่ยนผู้ใช้บริการจากที่เคยเป็นแค่ผู้บริโภคมาสู่การเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์
ชมรมหางาน, ห้องสมุดไอร์แลนด์เหนือ, ไอร์แลนด์เหนือ
ชมรมหางานเป็นโครงการนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในห้องสมุดประชาชนทั่วทุกแห่งในไอร์แลนด์เหนือ
Photo : Libraries NI
ห้องสมุดประชาชนทั่วไอร์แลนด์เหนือเป็นเสมือนบ้านของชมรมหางาน (Job Clubs) เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรจัดหางานเพื่อช่วยจับคู่คนที่มีคุณสมบัติเหมาะกับงานหรือตรงกับความต้องการของนายจ้าง มีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะมาให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังหางานทำเพื่อให้ได้พบกับงานที่เหมาะสม ชมรมหางานซึ่งเกิดขึ้นและตั้งอยู่ภายในห้องสมุดของไอร์แลนด์เหนือจัดเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอันเกิดขึ้นจากการริเริ่มของห้องสมุดไอร์แลนด์เหนือและกรมการจ้างงานและการเรียนรู้ (Department of Employment and Learning)
กองทุนคาร์เนกียูเค (Carnegie UK Trust) ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ห้องสมุดไอร์แลนด์เหนือผ่านโครงการชื่อ the Carnegie Library Lab เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงการจ้างพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และส่งเสริมความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของห้องสมุด เพื่อให้ห้องสมุดไอร์แลนด์เหนือสามารถคงความเป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมเช่นนี้ต่อไปได้อีกในอนาคต
The Hive, เบลฟาสต์, สหราชอาณาจักร
ออกจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ชื่อ “เดอะไฮฟว์” ซึ่งเกิดขึ้นจากการลงทุนร่วมระหว่างไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ หรือ พีดับบลิวซี (PricewaterhouseCoopers: PwC)[1] และกูเกิล ไปพ้องตรงกันกับชื่อของห้องสมุดที่เมืองวอร์เชสเตอร์
แต่การลงทุนร่วมกันของยักษ์ใหญ่สองบริษัทนี้เป็นไปเพื่อสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันแนวใหม่ หรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการร่วมคิดร่วมทำงาน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เป็นการต่อยอดพื้นที่ “กูเกิลแล็บ” (Google Lab) ที่มีอยู่เดิม และเป็นที่แรกของ PwC ในยุโรป โดยหวังจะให้เป็นศูนย์รวมสุดยอดผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งสอง ได้เข้ามาทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับจากบรรดาหัวกะทิที่มาทำงานร่วมกันก็คือ แนวทางการพลิกโฉมองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Digital Transformation ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในทุกภาคส่วนของธุรกิจ หรือช่วยแก้ปัญหา ตั้งแต่ขั้นเตรียมดำเนินงาน การออกแบบหรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การตลาด การวางเป้าหมายธุรกิจในอนาคต รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ธุรกิจปรับตัวในยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น[2]
Photo : www.belfasttelegraph.co.uk
พื้นที่ Google Lab ในเดอะไฮฟว์เป็นพื้นที่ซึ่งรวบรวมคนจากหลายฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการค้นคว้า สร้างสรรค์และจินตนาการ และมีการส่งมอบผลงานจริง
พื้นที่ Workshop เป็นส่วนที่ใช้ทดลองหาวิธีการใช้งานอุปกรณ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง โดยเป็นการทำงานร่วมกับทีมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่
พื้นที่ Impact Zone สำหรับแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้และจัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัพ นวัตกร และผู้ประกอบการ ได้พบปะกันและเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
Hive Labs เป็นทั้งพื้นที่และกระบวนการจัดอบรมหรือบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรม เน้นเรื่องของการเสาะหากลยุทธ์ที่มีลักษณะ disruptive (การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ลบล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม โดยผู้ใช้หรือสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์สูงขึ้น) การเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม และการสร้างต้นแบบ
การอบรมหัวข้อต่างๆ ในไฮฟว์แล็บส์มีทั้งแบบระยะสั้นประมาณ 2 ชั่วโมง และแบบยาวต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ อาทิเรื่อง “สร้างแอพได้ง่ายนิดเดียว” “รู้ทันสารพันวิธีเจาะข้อมูล” “วิธีเอาชนะในโลกโซเชียลมีเดีย” “ใส่จินตนาการใหม่ให้กับงาน” และ “การส่งมอบผลงาน 2.0” จุดเด่นของการอบรมคือเป็นกระบวนการที่เน้นผสมผสานองค์ประกอบ 3 ประการไว้ด้วยกัน ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ (ความรู้และทักษะ) ความร่วมมือ (การลงมือปฏิบัติ) และความสร้างสรรค์ (ความคิดหรือจินตนาการ) โดยครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องของเทคโนโลยีและการสร้างกลยุทธ์ดิจิทัลแบบเจาะลึก รวมทั้งการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจในยุคดิจิทัล
ที่มาเนื้อหา:
Les Watson and Jan Howden, UK Projects and Trends (Chapter 1), Better Library and Learning Space, Facet Publishing, 2013.
Gemma John, Designing Libraries in 21st Century: Lessons for the UK, British Council, Winston Churchill Memorial Trust, 2016.
Four of the UK's most innovative libraries เขียนโดย Jenny Peachey ใน https://www.theguardian.com/public-leaders-network/2014/sep/01/four-of-the-uks-most-innovative-libraries
The Hive: The creative space for the digital age ใน https://www.pwc.co.uk/services/consulting/the-hive.html
[1] หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกควบคู่กับ ดีลอยต์ทูชโทมัตสุ เอินส์ท แอนด์ ยัง และ เคพีเอ็มจี นอกจากการตรวจสอบบัญชีแล้ว ยังมีอีกหลากหลายธุรกิจบริการตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษาภาษีอากร การจัด ซื้อ การจัดหาทรัพยากรบุคคล การให้บริการด้านเทคโนโลยี และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการให้บริการในลักษณะการจัดหาจากภายนอก (outsourcing) ให้แก่ลูกค้าองค์กร นอกจากนี้ ยังให้บริการที่ปรึกษาการเงินและการบริหารการประกันภัยอีกด้วย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ สหราชอาณาจักร