"กวีสามบรรทัด" คือการเขียนบทกวีในรูปแบบที่แตกต่างไปจากการเขียนบทกวีแบบเดิมๆ เป็นการเขียนบทกวีสั้นๆ แบ่งเป็นสามบรรทัด เป็นการเปิดกว้างทางความคิดในการสร้างสรรค์เนื้อหา โดยไม่มีขนบเรื่องการสัมผัสและข้อบังคับ แต่เน้นความเรียบง่าย กระชับ และสื่อสารได้รวดเร็ว ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้กวีสามบรรทัดเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ภายใต้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ‘ไฮกุ’ ของญี่ปุ่น และ ‘แคนโต้’ ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ หรือ ‘อุนนุน’ ของ นิ้วกลม เป็นต้น
บุ๊คโมบี้และอุทยานการเรียนรู้ TK park จึงร่วมมือกันเพื่อเผยแพร่การเขียนกวีสามบรรทัดให้กับคนรุ่นใหม่ กับกิจกรรม“โครงการอบรมเขียนและออกแบบกวีสามบรรทัด Poet-Three A Three-Line Poetry Workshop” ที่ไม่ได้เพียงแต่ให้ความรู้เรื่องการเขียนเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างภาพประกอบให้ลงตัวกับบทกวีอีกด้วย
นอกเหนือจากการเขียนบทกวีแล้ว ปัจจัยในการออกแบบและการสร้างภาพประกอบ เป็นการกระตุ้นให้ผู้เขียนมีการสร้างสรรค์ทั้งด้านวรรณกรรมและทัศนศิลป์ไปพร้อมๆ กัน ให้ความรู้โดยนักเขียนและนักออกแบบมืออาชีพอย่าง นิ้วกลม - สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, ตุล ไวฑูรเกียรติ, เป้ อารักษ์, ศุภชัย เกศการุณกุล, สำนักออกแบบกราฟิก Wrongdesign House ดูแลโครงการโดย ปราบดา หยุ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 16-23 ปีเข้าร่วมอบรมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ถึง 16 มีนาคม 2556
โดยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการอบรมในสัปดาห์ที่สองแล้ว มีการอบรมให้หัวข้อ “ความสมดุลในการออกแบบภาพกับเนื้อหา” โดย คุณเบิ้ม - กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล นักออกแบบจาก Wrongdesign House ที่ออกแบบปกหนังสือขายดีมาแล้วมากมาย ที่วันนี้จะมาให้แนวคิดในการออกแบบภาพประกอบให้ลงตัวกับเนื้อหาของกวีสามบรรทัดที่แต่งขึ้นมา
คุณเบิ้มเริ่มต้นเล่าประสบการณ์ตอนไปเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ที่ต่างประเทศ ทำให้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น เพราะก่อนหน้านี้การทำงานในเมืองไทยทำให้มุมมองการออกแบบเริ่มแคบลง การเรียนจึงสามารถช่วยเปิดโลกกว้างได้ ได้เห็นผลงานแปลกใหม่ ซึ่งบางทีอาจไม่ได้มีผลต่องานของเราโดยตรง แต่ทำให้เห็นกระบวนการในการคิดงานให้กว้างขึ้นมากกว่าโจทย์ที่ได้รับ
ใครที่เป็นแฟนหนังสือของ นิ้วกลม คงจะคุ้นเคยกับปกหนังสือเล่มต่างๆ เป็นอย่างดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการออกแบบของคุณเบิ้มเกือบทั้งหมด
การทำงานร่วมกันเล่มแรกคือหนังสือที่ชื่อว่า ฝนกล้วยให้เป็นเข็ม เล่มนี้คุณเบิ้มอธิบายว่าได้เลือกการใช้ฟอร์มของพื้นไม้ซ้อนทับเข้าไปกับภาพกล้วยอีกที โดยมีการคิดซ้อนกันระหว่างภาพจริงกับภาพที่ออกแบบมา ซึ่งเวลาที่ได้ภาพมาจะต้องมีกระบวนการคิดต่อ ทำให้เกิดความท้าทายในการคิดให้สื่อสารได้มากขึ้น
งานที่ทำนอกจากจะต้องสื่อสารกับเนื้อหาที่ทำแล้ว ต้องทำให้เหลือพื้นที่บางอย่างให้คนอ่านได้นำไปคิดต่อเองด้วย จึงไม่พยายามบอกหมดว่าหนังสือมีเนื้อหาอะไร ถ้าทำให้เกิดจินตนาการร่วมกันระหว่างคนอ่านกับคนเขียนได้ จึงจะเป็นการออกแบบที่น่าสนใจมากกว่า ส่วนเล่มภาคต่ออย่าง ปลอกกล้วยในมหาสมุทร ที่เป็นเล่มต่อก็ยังคงรักษาฟอร์มเดิมไว้อยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างออกไป
เล่มต่อมาที่คุณเบิ้มออกแบบคือ สิ่งมหัศจรรย์ธรรมดา เล่มนี้คุณเอ๋ นิ้วกลม ต้องการให้เป็นเหมือนสมุดจดบันทึกของสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน ตามเนื้อหาที่เล่าเรื่องของสิ่งของชนิดต่างๆ และเล่มถัดมาคือ อาจารย์ในร้านคุกกี้ เล่มนี้คุณเบิ้มออกแบบในฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ ที่แตกต่างจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ก่อน โดยมีแนวคิดว่าไม่ได้ต้องการทำให้แปลกไม่ซ้ำใคร แต่ไม่อยากทำตามแบบเดิมที่เคยทำมาก่อนแล้ว ครั้งนี้จึงหยิบบรรยากาศในร้านคุกกี้ขึ้นมา นำเสนอผ่านลักษณะของแก้วนมที่ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ ซึ่งให้ความรู้สึกของภาพที่ไม่สมบูรณ์
มาถึงหนังสือบทกวี อุนนุน ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้เข้าอบรมทุกคนจะได้ทำ คุณเอ๋ นิ้วกลมเล่าให้คุณเบิ้มฟังว่า อุนนุน คือบทกวีสามบรรทัดว่าด้วยความรู้สึกแบบอุ่นๆ ทำให้คุณเบิ้มคิดถึงการใช้หมึกวาดเป็นภาพตามแบบศาสนาเซนของญี่ปุ่น จึงออกแบบโดยใช้ใช้พู่กันจีนวาด ซึ่งคุณเบิ้มออกตัวว่าไม่ค่อยถนัดในการใช้พู่กันวาดภาพเท่าไร แต่ก็ให้แง่คิดแก่ผู้เข้าอบรมว่า ยิ่งเราเจอข้อจำกัดในการทำงานมากเท่าไร ทำให้เรายิ่งพยายามหาทางเลือกในงานออกแบบมากเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดมีกันทุกคนอยู่แล้ว
และเล่มถัดมาคือหนังสือที่ชื่อว่า ความสุขโดยสังเกต เล่มนี้คุณเอ๋ นิ้วกลมต้องการความคลาสสิกเหมือนปกหนังสือ Winnie and The Pooh ฉบับวรรณกรรม ทำให้เบิ้มคิดถึงภาพกระดาษเก่าๆ ขึ้นมา เพราะต้องการเก็บพื้นผิวกระดาษเก่าๆ ไว้ จึงเป็นการออกแบบที่ง่ายไม่มีความซับซ้อน แบบอักษรที่เลือกใช้ก็ธรรมดา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณเอ๋ นิ้วกลมต้องการ ซึ่งการเขียนกวีสามบรรทัด คนส่วนใหญ่จะติดภาพการใช้ภาพวิว ภาพคน แต่ภาพพื้นผิวหรือสิ่งของก็สามารถนำมาสื่อเนื้อหาได้หมด
คุณเบิ้มให้แง่คิดว่าการออกแบบบางอย่างก็ทำไปเพราะความสวยงาม อาจไม่ได้มีความหมายทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบทุกครั้งก็ได้ผ่านการทดลองทำมากกว่าหนึ่งครั้งเสมอ คุณเบิ้มเน้นย้ำให้ผู้เข้าอบรมทุกคนทดลองทำมากๆ
หลังจากเสร็จสิ้นจากเนื้อหาการบรรยาย คุณคุ่น ปราบดา หยุ่น ผู้ดูแลโครงการจึงให้การบ้านผู้เข้าอบรมออกไปถ่ายรูปภายในบริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ และนำรูปภาพกลับมาแต่งบทกวีสามบรรทัด พร้อมเล่าที่มาที่ไปของภาพและบทกวีที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งผู้เข้าอบรมแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ก็ตาม
ผู้เข้าอบรมทุกคนนำเสนอผลงานของตนเองแล้วผ่าน write.bookmoby.com ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์ในการเผยแพร่ผลงานให้คนทั่วไปได้เข้ามาสัมผัสบทกวีของตนเอง รวมไปถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาสนใจเขียนบทกวีสามบรรทัดของตนเองอีกด้วย
โครงการอบรมเขียนและออกแบบกวีสามบรรทัด Poet-Three A Three-Line Poetry Workshop ยังมีการอบรมต่อเนื่องอีกหลายสัปดาห์ ในหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป ลองติดตามดูว่าจะมีเนื้อหาอันเป็นประโยชน์อื่นๆ ในการสร้างสรรค์บทกวีสามบรรทัดอย่างไรต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย