ทุกคนทราบกันดีว่า ‘ครอบครัว’ เป็นสถาบันหลักที่สำคัญมากที่สุด เป็นสถาบันพื้นฐานและมีอิทธิพลมากที่สุดต่อเราทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เด็ก’ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นครอบครัวคือปัจจัยหลักที่หล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ทว่าในปัจจุบันด้วยค่านิยมและสภาพแวดล้อมของสังคมทำให้สถาบันครอบครัวถูกลดบทบาทลง หลายครอบครัวพ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรืออยู่ด้วยกันแต่ไม่มีเวลาให้กัน เด็กจึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ไม่ได้คัดกรองหรือจัดสรรให้ กลับเป็นสภาพแวดล้อมที่เด็กเลือกเข้าหาด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีนัก
‘ภาพยนตร์’ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมค่อนข้างมาก เห็นได้จากธุรกิจภาพยนตร์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทางธุรกิจ และภาพยนตร์ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคมได้ทางหนึ่งอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงได้ร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ TK park, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และ บริษัท จี เอ็ม เอ็ม ไท หับ จำกัด (GTH) จัดกิจกรรม เทศกาลภาพยนตร์แห่งครอบครัว ครั้งที่ 1 ภายใต้ โครงการรณรงค์ ทุกวัน...เป็นวันของครอบครัว Everyday…We Love Family เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ชีวิตครอบครัวผ่านสื่อภาพยนตร์ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณค่า และร่วมกันทำให้ทุกวันเป็นวันของครอบครัว โดยจัดขึ้นตลอดเดือนเมษายน 2556 และมีการจัดฉายภาพยนตร์ครอบครัวชั้นดีให้ทุกครอบครัวได้มาชมร่วมกันทุกวันอาทิตย์ตลอดเดือน อาทิเรื่อง วัยอลวน 4 ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น, บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้), น้ำเซาะทราย และ ลัดดาแลนด์
ในกิจกรรมวันแรก วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา มีการเสวนาในหัวข้อ “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูครอบครัวเรา” โดยมีผู้ร่วมเสวนาอย่าง คุณสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.), อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์,คุณเอส - คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับภาพยนตร์จาก GTH, คุณสายป่าน - อภิญญา สกุลเจริญสุข นักแสดง และ คุณโน้ต -
ธวัช ทัศนาพลพินิจ นักแสดงและพิธีกร ดำเนินการเสวนาโดย คุณวันชัย บุญประชา เลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิ
เครือข่ายครอบครัว และ คุณชาลิสา บุญครองทรัพย์ นักแสดง
เริ่มต้นการเสวนาด้วยประเด็นแรก ถึงเหตุผลที่นำภาพยนตร์มาเป็นสื่อกลางในการสานสัมพันธ์ของครอบครัว คุณสมชายก็ได้ให้คำตอบไว้ว่า “ในการจะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง เหตุผลคือเราพิจารณาว่าคนไทยดูหนังดูละครเยอะ ซึ่งภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมามีทั้งเพื่อความบันเทิง เพื่อความรู้ เพื่อรางวัล หรือเพื่อให้ได้เงินเยอะๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ได้เงิน หลายเรื่องมีความรุนแรงสูงมากแต่ได้เงิน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นำมาให้ความรู้กับคนดูได้ตลอด แนวคิดของเราคือภาพยนตร์ที่ดีสำหรับครอบครัวต้องเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความรู้ได้ เหมือนอย่างที่บอกว่า ดูละครแล้วย้อนดูตัว เราก็อยากให้ ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ฉายออกไปแล้วทำให้ครอบครัวได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ว่ามีเหตุผลจากอะไร และให้เด็กเยาวชนเรียนรู้ได้ว่าโลกมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่งได้ทั้งผลดีและผลร้าย กรณีที่ภาพยนตร์มีสิ่งที่ไม่เหมาะสมนำเสนอ พ่อแม่ต้องให้ความรู้แก่ลูกได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ ลูกก็บอกพ่อแม่ได้ ปัจจุบันจากการศึกษา เด็กดูละครและภาพยนตร์กับครอบครัวน้อยมาก เราจึงอยากส่งเสริมให้ดูร่วมกันทั้งครอบครัว”
จากแนวคิดว่าภาพยนตร์เป็นสื่อกลางที่ทำให้ครอบครัวได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น อ.อิทธิพลจึงได้เสนอแนะทฤษฎีเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ด้วย “ถ้าพูดถึงรายการโทรทัศน์ก็จะใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด การวิจัยบอกว่าเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบไม่แนะนำให้ดูทีวี ซึ่งในต่างประเทศจะมีรายการสำหรับเด็กเล็ก แต่ในเมืองไทยหายาก สำคัญคือเนื้อหาที่นำเสนอที่ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ในวัยนั้นๆ ด้วย การเรียนรู้ของเด็กมีอยู่สามเรื่องคือ อย่างแรกเด็กเห็นอย่างไรจะรับรู้อย่างนั้น ไม่รู้ว่าเป็นการแสดง สองคือความถี่ ถ้าดูบ่อยๆ จะคุ้นชิน และสามคือการพูดคุยกันในครอบครัว สมัยนี้ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างดู ต้องอธิบายว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร คิดว่าอย่างไร ทำให้ลูกเข้าใจถึงที่มาได้ เราต้องแยกก่อนว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับเด็กไหม สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการที่ทำให้เกิดการพูดคุยกันภายในครอบครัว”
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญคือทางผู้ใหญ่ที่ผลิตสื่อภาพยนตร์และละครออกมา ต้องมีส่วนร่วมในการคัดกรองและแนะนำให้กับเด็กด้วย ยกตัวอย่างเช่น พรบ.ภาพยนตร์ที่ออกมาเพื่อจัดเรตการชมให้กับเด็กและเยาวชน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก “พรบ.ภาพยนตร์สมัยก่อนเป็นการตัดหรือห้ามไปเลย ซึ่งเรื่องการแบ่งเรตตอนนี้ก็ยังเป็นสิ่งใหม่มากและยังมีปัญหาอยู่ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเรต ส จะไมบ่งบอกว่าส่งเสริมอะไรแล้ว เรต ท ทั่วไป ถึง 13 มีช่องว่างที่ใหญ่มาก ตอนที่เราเถียงกันเรื่องพรบ.ว่ามันไปจำกัดสิทธิ์ห้ามไม่ให้เด็กดู แต่พอกฎหมายออกมาจริงๆ กลับไม่ได้สนใจตรงนี้ สำคัญที่สุดคือต้องคิดถึงเด็กและต้องอธิบายให้เด็กฟังด้วย มีประสบการณ์ตรงคือมีหลานที่บ้านดูการ์ตูนเรื่องสโนว์ไวท์ อยู่ดีๆ หลานก็ร้องกรี้ดขึ้นมาบอกว่ากลัวฉากที่นายพรานพาสโนว์ไวท์เข้าไปฆ่าในป่า มันเป็นปฏิกิริยาที่แปลก เราก็ไม่คิดว่าขนาดนั้น เขาอาจจะเด็กไปนิดหนึ่ง พอมีเรตจัดขึ้นมาจริงๆ ก็เป็น เรต 13 15 18 20 ซึ่งช่องว่างมันถี่เกินไป” คุณชลิดาให้ความเห็นเรื่องการจัดเรตของพรบ.ภาพยนตร์ในปัจจุบันที่ยังมีปัญหา
ส่วนทางด้านผู้กำกับภาพยนตร์อย่างคุณเอสก็ยืนยันว่า ผู้สร้างหนังทุกคนล้วนแล้วแต่มีเจตนาดีในการสร้างหนังเพื่ออยากให้อะไรกับสังคม “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าศิลปะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินและต้องการเงิน ผมเชื่อว่าคนทำหนังทุกคนไม่อยากทำหนังเพื่อทำลายสังคม แต่พอมีเรื่องเงินทุนและรายได้ก็ต้องคิด ผมทำหนังก็ไม่อยากทำให้มันดูดีไปทุกอย่าง มีคนดีทั้งเรื่องก็ไม่มีอะไรจะเล่า ไม่มีปัญหาให้ตัวละครแก้ไข จีทีเอชเองก็พยายามทำหนังให้ดีและก็ได้เงินด้วย มันเป็นความฝันของคนทำหนังทั่วโลกเลย เราจะต้องทำยังไงให้คนมาดูหนังและเข้าใจสิ่งดีๆ ที่เราอยากจะบอกไปในแง่มุมที่เขารับได้ ผมรู้สึกว่าการจะห้ามเด็กไม่ดูอะไร มันยากมาก ถึงแม้จะมีเรตติ้งก็ตาม เพราะมีทั้งแผ่นทั้งการโหลดในเน็ต สิ่งที่ทำได้คือไม่ว่าเขาจะโตขึ้นแค่ไหน พ่อแม่ต้องใกล้ชิดกับเขามากๆ แล้วลูกจะไว้ใจที่จะคุยด้วยได้ทุกเรื่อง และต้องสั่งสอนด้วยเหตุผล ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้”
คุณเอสได้ยกตัวอย่างหนังของค่าย GTH เอง ที่หลายเรื่องก็มีประเด็นเรื่องครอบครัวแฝงอยู่ อย่างเรื่อง แฟนฉัน จะพูดถึงครอบครัวด้วยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูการสอนลูก และอีกเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนมากคือเรื่อง บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) เล่าถึงครอบครัวที่สมาชิกทุกคนในบ้านเป็นตลก แต่ลูกไม่สามารถเล่นตลกได้ ก็กลัวพ่อจะไม่รัก จึงพยายามทำทุกอย่างให้ตลก ซึ่งเล่าผ่านมองทั้งเด็กและพ่อแม่ด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่อง ลัดดาแลนด์ ก็พูดถึงครอบครัว กล่าวถึงความกดดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้พ่อต้องรักษาความเป็นหัวหน้าครอบครัวเอาไว้ด้วยการรักษาบ้าน ญาติทางฝั่งแม่ก็พยายามดูถูกเขาตลอดเวลา กระทั่งมีผีอยู่ข้างบ้าน ก็ยังไม่ยอมย้ายไปไหน หนังจะบอกว่าเขาต้องอยู่ตรงนี้ให้ได้ ซึ่งสอนให้เด็กที่ไปดูว่าพ่อแม่ลำบากมากในการหาเงิน ทำให้เด็กรู้จักประหยัดมากขึ้น
กลับมาที่ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในการชมภาพยนตร์กับครอบครัวอย่างคุณสายป่านที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ว่า “ป่านกับแม่สนิทกันมาก ทุกวันนั้นก็ยังดูหนังกับแม่อยู่ รวมไปถึงกิจกรรมทุกๆ อย่างด้วย เวลาดูหนังออกมาก็จะมาถกเถียงกัน เพราะป่านเองก็เรียนภาพยนตร์ด้วย มีการวิเคราะห์กัน อย่างน้อยความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ยังได้พูดคุยกัน ป่านโชคดีมากที่แม่เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งเพื่อน เป็นทุกอย่าง เวลาไปไหนแม่จะไปด้วยตลอด เวลามีอะไรแม่สามารถตัดสินใจแทนป่านได้เลย ยอมรับว่าติดแม่มาก และไม่เคยมีความลับกับแม่เลย แม่ป่านไม่ยอมแก่ เลยทำให้ไม่ลำบากใจที่จะบอกเขาในทุกๆ เรื่อง ซึ่งพ่อแม่อาจจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการสร้างความไว้ใจกับลูกวัยรุ่น”
ปิดท้ายที่มุมมองของคุณโน้ต ที่ให้คำแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ต้องให้เหตุผลแก่ลูกและรู้จักมองต่างมุมบ้าง “อยากให้ย้อนถามถึงผู้อำนวยการสร้างว่า ความหมายของหนังครอบครัวคืออะไร เพราะส่วนใหญ่จะมองไม่ตรงกับผู้กำกับ ในความหมายของผมคือหนังที่คอยแก้ปัญหาของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งก็ต้องมีเนื้อหาที่ทั้งดีและไม่ดี มันจึงเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกซื้อแผ่นดีวีดีใส่ลงไปในเครื่อง ว่าคุณมีมุมมองแบบไหนที่จะให้ลูกคุณ ส่วนใหญ่จะมีแต่สั่งสอนบอกว่า ถ้าเห็นว่าตัวละครตบกัน ก็บอกว่าอย่าไปทำ มันไม่ดี แต่เคยบอกไหมว่าเหตุผลที่เขาตบกันเพราะอะไร พ่อแม่บางคนชอบไปสรุปคนในสังคมว่าดีหรือไม่ดี แต่จริงๆ แล้วเขาต้องยอมรับในความไม่ดีด้วย กระบวนการจึงย้อนกลับไปว่าการทำหนังที่ดีเป็นอย่างไร เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกของทุนนิยม ผู้กำกับและนักแสดงทุกคนก็กลัวตกงาน เพราะฉะนั้นเราจะทำทุกอย่างตามคำสั่ง การเสริมสร้างให้ลูกรู้จักมองมุมต่างๆ หลายมุมจนเป็นนิสัยทำให้เขารู้จักมองอีกมุมเสมอ การดูหนังเป็นสิ่งพิเศษ เราสามารถจัดบรรยากาศภายในบ้านได้ ปิดไฟ ทุกคนแต่งตัวเป็นตัวละครในเรื่องแล้วนั่งดูด้วยกัน เด็กจะรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกันกับเขา ความเชื่อของเด็กที่มีต่อเราก็จะมา ทัศนคติที่ดีจากครอบครัวก็จะมา”
จากการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ครอบครัวมีอิทธิพลต่อการเติบโตของเด็กมากที่สุด พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องสละเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งการชมภาพยนตร์ร่วมกันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าคือคำแนะนำและการปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวระหว่างการชมภาพยนตร์ร่วมกัน ครอบครัวจึงจะเป็นครอบครัวโดยสมบูรณ์
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย