หากจะเอ่ยถึงศาสตร์ศิลปะที่มีความเป็นสากล ไม่ว่าผู้คนจากชาติไหนก็สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องผ่านภาษาพูด ‘ศาสตร์การแสดง’ ในลักษณะของ ‘Physical Theater’ ที่สื่อสารผ่านภาษากาย มักจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมความเข้าใจระหว่างประเทศอยู่เสมอ
โดยในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม “ASEAN Plays” ทาง อุทยานการเรียนรู้ TK park นำเสนอเรื่องราวของบุคคลผู้มีความสามารถ และเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการถ่ายทอดผลงานด้านต่างๆ ทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างแรงบรรดาลใจ อีกทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในอาเซียน ให้กับทุกท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลง ทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน ในหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในอาเซียน” โดยคุณธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือ คาเงะ ผู้กำกับและนักแสดงผู้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มาร่วมถ่ายทอดถึงประสบการณ์ในการทำงานด้านศิลปะการแสดงที่มีความเป็นสากล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ นิทรรศการพิพิธอาเซียน A journey through ASEAN ภาค 3 ตอน หลากความเหมือน หลายความต่าง ASEAN…Unity in Diversity ที่เปิดประตูสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้และเข้าใจมุมมองความแตกต่างที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศสมาชิก ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ
คุณคาเงะเริ่มต้นการเสวนาด้วยการเล่าถึงช่วงแรกเริ่มที่สนใจศาสตร์การแสดง ว่าตนเองไม่ได้ศึกษาด้านการแสดงมาโดยตรง แต่อาศัยความสนใจส่วนตัวศึกษาละครใบ้ ระหว่างที่กำลังศึกษาด้านวิจิตรศิลป์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอเรียนจบมาจึงเข้าร่วมกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร และได้ฝึกฝนร่างกายในด้านการแสดงอย่างจริงจัง ก่อนที่จะก่อตั้ง คณะละคร B-Floor Theater ขึ้นมา ซึ่งจนถึงวันนี้ก่อตั้งมาได้กว่า 14 ปีแล้ว สร้างผลงานอันน่าจดจำขึ้นมามากมาย ด้วยความสนใจด้านทัศนศิลป์ จึงนำมาผสมผสานกับงานด้านออกแบบเวที ทุกอย่างจึงมารวมกันได้อย่างลงตัว ในลักษณะงานที่เรียกว่า Physical Theater
ปัจจุบันคุณคาเงะเป็นอาจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เร็วๆ นี้จะมีโปรเจกต์ร่วมกับภาควิชาศิลปกรรม เกี่ยวกับวันครบรอบ 14 ตุลา 2516 จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเดือนกันยายน และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในเดือนตุลาคมนี้ และตอนนี้ยังทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวและเพศสภาพในวัยรุ่น ออกออกอากาศในช่องเคเบิล รามา แชนแนล และในปีหน้าจะมีละครเกี่ยวกับ ซุนวู ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินชาวเดนมาร์กอีกด้วย
“เนื่องจากผมไม่ได้เรียนในลักษณะที่เป็นละครโดยตรง ซึ่งถ้าเรียนตามระบบก็ต้องผ่านบทเรียนจากเมืองนอกหรือบทละครต่างประเทศ ผมได้เรียนรู้การสร้างสรรค์งานที่ไม่ได้เริ่มจากบท แต่เริ่มจากการคิดคอนเซปต์แบบการระดมสมองด้วยกัน ซึ่งปกติละครทั่วไปจะเรียงเป็นเส้นตรง หัว กลาง ท้าย แต่ละครของเราเป็นแบบโยนไอเดียลงมา ดังนั้นใครที่เคยดูงานละครของ B-Floor ในช่วงแรก อาจจะงง แต่ภายหลังก็จะเข้าใจการนำเสนอได้”
นอกจากนั้นคุณคาเงะยังสนใจศิลปะการแสดงร่วมสมัยของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘บูโต’ อีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงที่ค้นหาความเฉพาะของร่างกาย ดูว่าร่างกายของแต่ละคนจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร ทำให้เราสามารถสร้างเอกลักษณ์ในการเคลื่อนไหวของเราเองได้ บูโตเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทำให้มีผู้ที่พิการจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า ลักษณะการเคลี่อนไหวของผู้พิการเหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะ ซึ่งปกติศิลปะต้องสวยงาม แต่บูโตกลับมองความสวยงามในมุมตรงข้าม
เมื่อเอ่ยถึงความหมายของคำว่า ‘ศิลปะร่วมสมัย’ คุณคาเงะได้อธิบายในมุมมองส่วนตัวไว้ว่า “ผมคิดว่าความร่วมสมัยคือเนื้อหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วคนดูคิดอย่างไร อาจจะไม่ใช่ความเก่าโบราณ แต่สะท้อนสังคมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในส่วนของรูปแบบต่างๆ ก็หยิบยืมนำมาผสมผสานกันได้ เพื่อสนับสนุนการเล่าเรื่อง สุดท้ายแล้วการเล่าเรื่องก็สำคัญที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน แต่สำหรับการแสดงของผมจะไม่นำความคลาสสิกอย่าง รำไทย หรือศิลปะทางตะวันตกมาใช้ แต่จะค้นหาจากร่างกายของเราเองมากกว่า”
บางครั้งคนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ศิลปะจึงสามารถสะท้อนสังคมได้ ประเด็นของการสร้างงานศิลปะของคุณคาเงะคือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งสิ่งนี้สำคัญกว่ารูปแบบของการแสดงใดๆ คุณคาเงะจึงได้เปิดผลงานการแสดงที่สะท้อนสังคมให้ได้ชมกัน ประกอบไปด้วย ผลงานชื่อว่า เมื่อฮิตเลอร์ขโมยลูกหมูสีชมพูของหนูไป Well, Hitler stole my pink piggy doll. การแสดงที่ใช้การเล่าเรื่องสไตล์หนังเงียบ และมีนักแสดงละครใบ้ชาวญี่ปุ่นมาร่วมแสดงด้วย กล่าวถึงคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ แล้วต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรน และอีกผลงานมีชื่อว่า ศตวรรษโศก Crying Century การแสดงเล่าเรื่องด้วยภาพจริงประกอบการแสดง สะท้อนถึงความรุนแรงที่มนุษย์สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จนมาถึงยุคสมัยของเทคโนโลยี ความรุนแรงเหล่านี้ก็ได้กลับมาทำร้ายมนุษย์ การแสดงนี้ได้ไปแสดงที่ญี่ปุ่นอีกด้วย
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ความเป็นสากลมักได้รับการเล่าผ่านศาสตร์การแสดงอยู่เสมอ ซึ่งคุณคาเงะเองก็ได้มีโอกาสทำงานในระดับเอเชีย เป็นการร่วมงานกับเครือข่ายละครจากนิวยอร์กในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘แม่โขงโปรเจกต์’ มีศิลปินจากจีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเวิร์กช็อปกันเพื่อทำ Show Case ขึ้นมา จึงเกิดการแลกเปลี่ยนศาสตร์ที่หลากหลาย คุณคาเงะไปในฐานะของ Performance Art และศิลปินท่านอื่นมาทั้งในลักษณะ Visual Art, Contemporary Dance หรือแม้กระทั่งบทกวี
“ในช่วงที่ผมไป ได้มีโอกาสเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ The Tuol Sleng Genocide Museum ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสถานที่กักขังผู้ที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลเขมรแดงในปี พ.ศ. 2518 - 2522 พอเข้าไปก็เห็นบรรยากาศของความสูญเสียเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำศิลปะที่พูดถึงเรื่องนี้ มีการร่วมมือกันระหว่างผมและศิลปินจีน พม่า เวียดนาม ลาว แต่ศิลปินกัมพูชาไม่มาร่วม เพราะว่าคนที่เกิดมาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นี้ จะไม่ไปพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพราะความฝังใจ แต่เขาเขียนความรู้สึกเป็นบทกวีมาให้ เราจึงนำบทกวีมาทำในลักษณะ Video Dance แล้วไปถ่ายทำบริเวณนั้นเลย ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมาก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความเป็นสากล ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าศิลปะสามารถนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เพื่อไม่สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ก็เป็นสิ่งที่ดี”
และล่าสุดสิ่งที่คุณคาเงะกำลังทำและจะทำต่อไปคือเรื่องของประเทศเพื่อนบ้าน คือการสร้างความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ในการสร้างผลงานศิลปะของศิลปินในอาเซียน “ตอนนี้ผมได้รับทุนจาก Art Network Asia เกี่ยวกับ Censorship and Performing Arts ว่าด้วยการเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ซึ่งในประเทศพม่าและลาวยังคงมีปัญหานี้อยู่ ผมได้ข่าวมาว่ามีศิลปินพม่าอยู่ในคุกเยอะมาก เพราะว่าไปเขียนงานต่อต้านรัฐบาล แต่ยังมีศิลปินบางคนยังเขียนอยู่ เพราะว่ารู้วิธีในการสื่อสารเกี่ยวกับเสรีภาพที่ต่างออกไป ส่วนในประเทศลาวยังไม่ค่อยมีปัญหา เพราะรู้ว่าทำแล้วจะเกิดโทษศิลปินจึงเลือกที่จะไม่ทำเลย แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจในวงการภาพยนตร์ของลาว คือมีกลุ่มที่ชื่อว่า Laos New Wave ทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความรุนแรง แต่สามารถอธิบายถึงเหตุและผลได้ จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร”
ในช่วงที่ประชาคมอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้น ทุกประเทศต่างเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในระหว่างนี้อาจเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นตามมาก็เป็นได้ คุณคาเงะจึงได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “ช่วงเวลาที่เรากำลังจะเปิดประชาคมอาเซียน เราจะนึกถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่จริงๆ แล้วปัญหาในเชิงโครงสร้างอาจจะเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ที่บาดหมางยังคงมีอยู่ งานศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมหรือพูดถึงในทางสร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต”
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ได้ จำเป็นต้องมี ‘ศิลปะ’ เป็นสื่อกลางสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย