TK Park ชวนผู้สนใจร่วมฟังบรรยายเพื่อเปิดโลกจินตนาการแห่งนิทานภาพสำหรับเด็ก ในงานบรรยายระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ “Open World through Children’s Picturebooks” ที่จะมานำเสนอแง่มุมหลากหลายเกี่ยวกับนิทานภาพสำหรับเด็กในยุคสมัยใหม่จากนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชั้นนำจากหลายประเทศ เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในพลังของนิทานและศิลปะแห่งภาพประกอบว่าสามารถสร้างสรรค์จินตนาการและการเรียนรู้ได้ยิ่งใหญ่เพียงใดในหัวใจของเด็ก ๆ
ในงานนี้จะมีนักเขียนระดับโลกเข้าร่วมบรรยายออนไลน์ อาทิ ศจ.มาร์ติน ซาลิสเบอรี นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และนักวิชาการด้านหนังสือเด็ก จากเคมบริดจ์สคูลออฟอาร์ท จากประเทศอังกฤษ เอมิลี่ วาส ศิลปิน นักเขียนและนักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศส คาซูมะ อาเนะซากิ นักเขียนและช่างภาพธรรมชาติจากประเทศญี่ปุ่น ผู้นำภาพถ่ายมาสร้างสรรค์เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก และกัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นาวา ผู้นำหนังสือเด็กจากฟินแลนด์มาสู่มือเด็กไทย
งานนี้เหมาะกับทุกคนที่หลงใหลในเสน่ห์หนังสือภาพสำหรับเด็ก นักสร้างสรรค์นิทาน นักเล่านิทาน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่รักในเรื่องราวของหนังสือ มาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเขียนระดับโลก อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ และการใช้ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อสื่อสารกับเด็กในโลกยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
ติดตามชม Live ได้ระหว่างวันที่ 11-25 เดือนสิงหาคม 2563 ผ่านช่องทางFacebook ในเพจ TKpark อุทยานการเรียนรู้ และช่อง Youtube ของ TKparkchannel
วันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2563 เวลา 15.30 น.
“Opening Eyes through Children’s Picturebooks” เปิดตาเปิดใจในโลกนิทานภาพ
ศจ. มาร์ติน ซาลิสเบอรี Prof. Martin Salisbury นักเขียน นักวาดภาพ และผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมเด็ก เคมบริดจ์สคูลออฟอาร์ท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน ประเทศอังกฤษ
ดำเนินรายการและแปลภาษา โดย ครูใบปอ อ้อมขวัญ เวชยชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนิทานภาพและ ผู้ก่อตั้ง CREAM BANGKOK
นิทานภาพมีหลากหลาย มากด้วยคุณค่าในการส่งเสริมพัฒนาการและการก่อรูปทักษะชีวิตของเด็กๆ ในขณะเดียวกันเนื้อหาของนิทานก็เปลี่ยนแปลงตามสภาวะของโลกที่เปลี่ยนไป ศจ. มาร์ติน ซาลิสเบอรี นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมเด็ก เคมบริดจ์สคูลออฟอาร์ท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน ประเทศอังกฤษ จะชวนทุกคนมาเปิดตาและเปิดใจดูสิว่า นิทานภาพกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดปรากฏการณ์ของนิทานในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือผู้อพยพ ได้เข้ามาสอดแทรกมุมมองต่อชีวิตและโลกที่ไม่ใช่เทพนิยายให้เด็ก ๆ สมัยนี้ได้อย่างไร
วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 น.
“Rhythm of Nature in Picturebooks” ท่วงทำนองธรรมชาติในนิทานภาพ
โดย เอมิลี่ วาส Emilie Vast ศิลปิน นักเขียน และนักวาดภาพประกอบ ประเทศฝรั่งเศส
ดำเนินรายการและแปลภาษาโดย เยาวนันท์ เส็นติระ อดีตผู้ช่วยทูตวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย
ความรักและความหลงใหลในธรรมชาติคือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของเอมิลี่ วาส ศิลปิน นักเขียน และนักวาดภาพประกอบชาวฝรั่งเศส มาเรียนรู้การสร้างสรรค์นิทานภาพที่นำรูปแบบของลายเส้นกราฟิกและสีสันสดใสหนักแน่น มากระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ ในเรื่องราวของพืชและสัตว์ในธรรมชาติที่แสนเรียบง่าย ผ่านแง่มุมที่สร้างสรรค์ อ่อนหวาน นุ่มนวลและเต็มไปด้วยจินตนาการ
วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 น.
“Creating Children Stories through Photographs” เรื่องเล่าจากภาพถ่ายสู่นิทานภาพ
โดย คาซูมะ อาเนะซากิ Kazuma Anezaki นักเขียนและช่างภาพธรรมชาติ ประเทศญี่ปุ่น
ดำเนินรายการและแปลภาษาโดย ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม นักแปลอิสระ
มาร่วมฟังและเรียนรู้การสร้างสรรค์นิทานภาพด้วยวิธีการที่แตกต่างจาก คาซูมะ อาเนะซากิ นักเขียนและช่างภาพผู้มากด้วยประสบการณ์ชาวญี่ปุ่น ดินแดนแห่งการเคารพธรรมชาติ ที่จะมานำเสนอแนวทางการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ตัวละครหลักเป็นพืชพรรณธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า นำเสนอความงามและความเรียบง่ายผ่านภาพถ่ายในมุมมองต่างๆ ได้อย่างทรงพลัง ที่สำคัญสามารถดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 น.
“Children’s Books Outside the Box” นิทานเด็กนอกกรอบ
โดย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ Kanchala Navanugraha ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นาวา
ดำเนินรายการโดย ครูเจ อุษา ศรีนวล นักออกแบบกิจกรรมนิทาน จาก TK Park
คุณก้อย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ นักเขียน และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นาวา จะมาแบ่งปันประสบการณ์และความประทับใจที่มีกับนิทานภาพสายแปลกแบบหลุดกรอบ ที่เป็นที่นิยมในหมู่เด็ก ๆ ของประเทศฟินแลนด์ ประเทศต้นแบบด้านการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แม้เรื่องราวในนิทานจะหลุดโลกแค่ไหน ฟินแลนด์ก็สามารถใช้นิทานในการสร้างเด็กให้รักการอ่าน รักหนังสือได้ วงการนิทานภาพสำหรับเด็กในประเทศไทยจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง ชวนกันมาแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้กัน