เหนือกว่าภูมิทัศน์แห่งการเรียนรู้ การสร้างชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง

2 มีนาคม 2561
275

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย โดย Andrew Harrison

 
draw_andrew_fe.jpg
 
เหนือกว่าภูมิทัศน์แห่งการเรียนรู้ การสร้างชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง
แอนดรูว์ แฮร์ริสัน ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ
มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ทรินิตี้ เซนต์ เดวิด
กรรมการบริษัท Spaces That Work

บทนำ

            แนวทางการเรียนรู้ในบริบทการศึกษากำลังแปรเปลี่ยนจาก ‘กระบวนทัศน์การสอน’ (instruction paradigm) ไปสู่ ‘กระบวนทัศน์การเรียนรู้’ (learning paradigm) ได้เปลี่ยนบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาต่อเนื่องจาก ‘สถานที่สำหรับการสอน’ เป็น ‘สถานที่สำหรับการสร้างการเรียนรู้’ ปรากฏการณ์นี้ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัวสูงขึ้น ความรู้เชิงข้อเท็จจริงมีความสำคัญลดลง ส่วนความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนกลับทวีความสำคัญขึ้น ในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่เป็นประโยชน์ทางสังคมสูงสุดคือกระบวนการเรียนรู้

            โมเดลใหม่ของพื้นที่ในมหาวิทยาลัยอาจให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเท่าๆ กับการสนับสนุนประสบการณ์เรียนรู้ แนวคิด ‘ภูมิทัศน์แห่งการเรียนรู้’ (learning landscape) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโมเดลเชิงพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัย เกิดความตระหนักว่าการเรียนรู้มิได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่การสอนอย่างเป็นทางการเท่านั้น และสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพมีผลต่อประสบการณ์ของผู้เรียน สถาบันการศึกษาหลายแห่งพยายามลดขนาดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เฉพาะทางให้เล็กที่สุด และหันไปสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ซึ่งคณะและสาขาวิชาต่างๆ สามารถใช้ร่วมกันได้

            เทคโนโลยีสารสนเทศก็เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานวิธีการเรียนรู้ การรวบรวม การวิเคราะห์ และการเผยแพร่ความรู้ล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้เรียนมักจะมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นจักรวาลแห่งสารสนเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้เรียนและผู้สอนก็ต้องพึ่งพาเครือข่ายเพื่อนและฐานข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการบูรณาการกิจกรรมแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการในสภาพแวดล้อมที่ไร้รอยต่อ ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในพื้นที่เชิงกายภาพหรือพื้นที่เสมือน

            ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมก็มีความสำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน เช่นบทบาทด้านการเป็นหน่วยพัฒนาธุรกิจอิสระซึ่งสร้างรายได้ให้กับสถาบันการศึกษา ด้านการให้บริการพื้นที่สำหรับประยุกต์การวิจัยและการประกอบการ รวมทั้งการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาในโลกความเป็นจริงร่วมกับผู้คนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ห้องสมุดวิชาการและห้องสมุดสาธารณะ: พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของชุมชน

            สารสนเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือกำเนิดในรูปดิจิทัล ผู้เรียนและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่าชนรุ่นอินเทอร์เน็ต (Net Gen) ตั้งความคาดหวังไว้สูง พวกเขาต้องการเข้าถึงเนื้อหาได้ทันทีทันใด ทุกที่ทุกเวลา พวกเขาต้องการเก็บ ดัดแปลง ควบคุม และแบ่งปันสารสนเทศกับเพื่อนโดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่

            ห้องสมุดมหาวิทยาลัยพยายามเปลี่ยนผ่านจากบทบาทดั้งเดิมในฐานะคลังสารสนเทศและทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของปัจเจก เป็นสถานที่เพื่อพบปะ ร่วมมือ และมีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ที่มีพลวัต นอกจากนี้สถาบันการศึกษาจะเพิ่มพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ไม่ถูกจำกัดโดยโครงสร้างและวัตถุประสงค์แบบเฉพาะเจาะจง เส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างพื้นที่เชิงวิชาการและพื้นที่เพื่อพบปะสังสรรค์จะชัดเจนน้อยลง

            มีการวิจัยพบว่า ระหว่างปี 2009 และ 2015 การยืมคืนทรัพยากรห้องสมุดเพื่อการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงเกือบกึ่งหนึ่ง (จาก 36 ล้านครั้งเหลือเพียง 19 ล้านครั้ง) และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การยืมคืนเฉลี่ยของทรัพยากรต่อนักศึกษาหนึ่งคนลดลงจาก 25 ครั้งเหลือเพียง 7 ครั้ง หรือคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อัตราการยืมคืนทรัพยากรที่ลดลงมิได้บ่งชี้ว่า ภาพรวมของการใช้งานทรัพยากรห้องสมุดลดลง หรือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการห้องสมุดลดลง แต่เนื่องจากห้องสมุดมุ่งเน้นทรัพยากรรูปแบบดิจิทัลและออนไลน์มากขึ้น การลดลงของการยืมคืนหนังสือตีพิมพ์จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติ ห้องสมุดใดก็ตามที่ประสบภาวะเช่นนี้ ควรนำแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาใช้ตรวจสอบการจัดสรรพื้นที่และงบประมาณอย่างจริงจัง

            สถาบันการศึกษาหลายแห่งกำลังบูรณะห้องสมุดให้กลายเป็นสถานที่เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมอย่างมีพลวัต หรือที่เรียกว่า learning common พื้นที่นี้ลดความชัดเจนระหว่างอาณาเขตระหว่างพื้นที่ห้องสมุด พื้นที่สำหรับเทคโนโลยี และพื้นที่เพื่อการพบปะสังสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาและกิจกรรมวิจัย

            ศูนย์แซลเทียร์ (Saltire Centre) ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ คาลีโดเนียน (Glasgow Caledonian) ใน สหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างของ learning common ที่ตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้บริการห้องสมุด ได้แก่ การสนับสนุนด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโปรแกรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับงานกราฟิกและสื่อผสม

            เดอะไฮฟ์ (The Hive) ในเมืองวุร์สเตอร์ (Worcester) สหราชอาณาจักร ไม่เพียงแค่เป็นห้องสมุดสำหรับการอ้างอิงและมีการให้บริการยืมหนังสือที่บูรณาการระหว่างห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดมหาวิทยาลัย แต่ยังเชื่อมโยงกับสำนักบริการด้านจดหมายเหตุและโบราณคดีแห่งมณฑลวุร์สเตอร์ นอกจากนั้น เดอะไฮฟ์ยังเป็นศูนย์สารสนเทศแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้งานห้องสมุดร่วมกับชุมชนกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป

            ห้องสมุดดิจิทัลโดยครอบครัวเทเลอร์ (Taylor Family Digital Library) ในเมืองแคลกะรี (Calgary) ประเทศแคนาดา ได้รับการพิจารณาว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้และวิจัยแบบล้ำสมัย ซึ่งเป็นทั้งโมเดลต้นแบบของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 และเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์แห่งใหม่สำหรับนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่าและชุมชนเมืองแคลกะรี ห้องสมุดมีหนังสือถึง 600,000 เล่ม หอศิลป์ หอจดหมายเหตุ และทรัพยากรหายาก รวมทั้งเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และการวิจัยรูปแบบดิจิทัลหลากหลายประเภท

            หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องสมุดวิจัยชั้นนำของโลก ผสานความร่วมมือกับโรงเรียนทั่วมหานครลอนดอนในการจัดโครงการหลากหลายประเภทตามทรัพยากรที่แต่ละโรงเรียนมี โดยให้ห้องสมุดโรงเรียนเหล่านั้นมีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานร่วมกันแบบไม่เป็นทางการระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพและนักวิชาการ และให้บริการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านสารสนเทศและการวิจัยให้กับภาคธุรกิจ รวมทั้งให้บริการที่ปรึกษาพี่เลี้ยง และสนับสนุนผู้ชำนาญพิเศษในประเด็นที่เกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ดิจิทัล

            ห้องสมุดสาธารณะยังกำลังวิวัฒน์เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจถูกพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นฉากหลังของสังคมที่ค่อยๆ ทวีความหลากหลาย และเป็นสายใยสำคัญที่เชื่อมโยงสู่โลกดิจิทัล ในอนาคตห้องสมุดแต่ละแห่งจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมและบริการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนตามความต้องการเฉพาะของผู้ใช้บริการ โดยผสานความร่วมมือกับบริการประเภทอื่นๆ เช่น การศึกษาต่อ บริการหน่วยงานของรัฐระดับท้องถิ่น บริการสถานรับเลี้ยงเด็ก สำนักงานเคหะ และหน่วยงานด้านวัฒนธรรมต่างๆ เช่น หอศิลป์และพื้นที่จัดการแสดง ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยกระจายต้นทุนการลงทุน และสามารถจัดกิจกรรมที่มาจากการประเมินความจำเป็นพื้นฐาน

            สารสนเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็นโภคภัณฑ์หายากกลายเป็นโภคภัณฑ์ที่มีท่วมท้น เป็นปัจจัยผลักดันให้กระบวนทัศน์การออกแบบพื้นที่ห้องสมุดแบบเน้นผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง (reader-centered paradigm) และกระบวนทัศน์แบบเน้นหนังสือเป็นศูนย์กลาง (book-centered paradigm) คลี่คลายมาสู่กระบวนทัศน์แบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner-centered paradigm) ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ (ด้วยตนเอง) อย่างมีเป้าหมาย กระบวนทัศน์นี้ปลดแอกการเรียนรู้ซึ่งแต่เดิมผูกติดอยู่กับพื้นที่สถานศึกษา ความท้าทายด้านการออกแบบในอนาคตเป็นเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และการเรียนรู้ มากกว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านและหนังสือ

            อุทยานการเรียนรู้ (TK park) ในกรุงเทพมหานคร เป็นต้นแบบชั้นนำของโลกด้านการออกแบบเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาว โดยไม่ได้มองห้องสมุดในฐานะ ‘คลังหนังสือ’ เพราะมีความเชื่อตั้งต้นว่า ห้องสมุดไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่บรรจุหนังสือ ห้องสมุดสาธารณะจึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทหลักด้านการสร้างทักษะการรู้สารสนเทศ ซึ่งส่งเสริมการทำงานระหว่างหลายแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และสื่อ

            ห้องสมุดแห่งเมืองฟาเยตต์วิลล์ (Fayetteville Free Library) ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก เป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มการให้บริการ Fab Lab (fabrication laboratory) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีและการสร้างสรรค์โครงงานใหม่ๆ ของชุมชน โอกาสพบปะเรียนรู้ อภิปราย แสวงหา ทดลอง และสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเข้าถึงสารสนเทศที่มีคุณค่าและเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ ได้อย่างเสรี และที่สำคัญคือการมีบรรณารักษ์ช่วยค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการและสร้างการเชื่อมโยงทักษะต่างๆ ให้มาบรรจบกันที่ห้องสมุด

            ห้องสมุดเครื่องมือเพื่อการสร้างสรรค์ร่วมกันแห่งโอไฮโอตอนกลาง (Rebuilding Together Central Ohio Tool Library หรือ RTCO Tool Library)ห้บริการเครื่องมือกว่า 4,500 ชิ้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แฮกเกอร์สเปซดำเนินการโดยชุมชน เป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนสามารถมาพบปะและทำโครงงานของตนเองได้ ประกอบไปด้วยห้องฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เครื่องมือ และบุคคลซึ่งนิยมชมชอบการประดิษฐ์

การสร้างชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง

            มีความตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากิจกรรมการเรียนรู้นั้นขยายออกไปไกลกว่าอาณาเขตของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ทั้งเชิงกายภาพและเชิงเสมือน นำไปสู่การผสมผสานพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์อันไร้รอยต่อ ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือกันในรูปแบบเครือข่ายของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้าง “ชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง” (learning-centered communities)

            เมื่อไม่กี่ปีมานี้เกิดการแปรเปลี่ยนที่ชัดเจน กล่าวคือพื้นที่มหาวิทยาลัยซึ่งเคยอยู่อย่างเอกเทศภายในรั้วรอบขอบชิดมีความเปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น มีการบูรณาการสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ดีขึ้น อาณาเขตและพื้นที่ของมหาวิทยาลัยกลมกลืนไปกับเมือง ก่อให้เกิดส่วนผสมที่ต่างกันไปของผู้เรียน บุคลากร นักวิจัย และผู้ใช้บริการหลายประเภท

            ปรากฏการณ์ดังกล่าวเอื้อต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัยและเมืองให้มีชีวิตชีวา กิจกรรมที่เดิมเคยอยู่ในอาคารก็เริ่มขยายออกมาอยู่บริเวณระเบียง สวน และจตุรัส และในทางกลับกันสิ่งที่เคยอยู่นอกอาคารก็จะกลับปรากฏเป็นองค์ประกอบภายในอาคาร เช่น ลานขนาดใหญ่ สนาม หรือทางเดินกว้างๆ ซึ่งมีร้านค้าตั้งอยู่

            นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังตอบรับการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนขยายออกไปในหลายรูปแบบ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวกอปรกับปัจจัยอื่น ทำให้ผู้ใช้บริการมีความคาดหวังสูงขึ้นในด้านคุณภาพประสบการณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก

            ผลที่ตามมาก็คือ พื้นที่ผสม (hybrid spaces) ในพื้นที่มหาวิทยาลัยกำลังเพิ่มขึ้น โดยสภาพแวดล้อมสำหรับการพบปะสังสรรค์/การเรียนรู้/การปฏิบัติงาน เกิดความทับซ้อนกันและมีการจัดองค์ประกอบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการอันแตกต่างและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากร นักศึกษา และนักวิจัยจากต่างสาขาวิชา รวมทั้งหน่วยงานเอกชน และชุมชน

            กิจกรรมดังกล่าวโดยมากมักเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ชั้นล่างของอาคาร ลานขนาดใหญ่ภายในอาคารและบันได ทางลาดและลิฟต์ ทางสัญจร หรือเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการไหลเวียนในแนวตั้ง (vertical circulation routes) ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ และเพื่อกิจกรรมการสอนและการวิจัยอย่างเป็นทางการ พื้นที่เชื่อมต่อที่มีพลวัตเหล่านี้ มักถูกใช้งานเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัย ผ่านการจัดแสดงผลงานความสำเร็จด้านวิชาการและงานวิจัย เช่น นิทรรศการ แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล การแสดงสด การแสดงผลงานนักศึกษา หรือพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก

            ภายใต้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ห้องสมุดเชิงนวัตกรรมสามารถให้บริการเสริมในด้านต่างๆ ตั้งแต่ทรัพยากรเสมือนในรูปแบบสามมิติ/ดิจิทัล ไปจนถึงวัตถุ เครื่องมือ และวัสดุที่สนับสนุนสาขาวิชาวิชาต่างๆ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับพื้นที่เพื่อการสร้างงานวิชาการหรือวิจัยและพื้นที่เพื่อการประดิษฐ์ (maker spaces) ซึ่งเปิดกว้างสำหรับสาธารณชนในวงกว้างด้วย อาทิ การพิมพ์และเข้าเล่มหนังสือตามสั่ง การพิมพ์สามมิติ และการทำสำเนาเอกสารแบบพิเศษ บางส่วนอาจได้รับการสนับสนุนจากเอกชน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และบริการสนับสนุนอื่นๆ

            การออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ยังมีแนวโน้มบูรณาการกับมิติด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬาหรือจัดกิจกรรม รวมทั้งพื้นที่สำหรับการสร้างความสงบให้กับจิตใจ ในภาพรวมแล้ว พื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลา และมีบริการที่หลากหลาย พื้นที่อาจอยู่ในอาคารชั่วคราวหรือรถเคลื่อนที่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม

            ณ ตอนนี้ มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องก้าวพ้นอาณาเขตของตัวเองและพิจารณาถึงทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ (ผ่านการซื้อ การเช่า การสร้างหุ้นส่วน หรือการใช้ประโยชน์สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะร่วมกัน) วิธีการนี้จะนำไปสู่การใช้งานทรัพย์สินเพื่อการเรียนรู้ที่มีอยู่เดิมอย่างเข้มข้นมากขึ้น และจำเป็นต้องตระหนักถึงบทบาทอันทรงคุณค่าขององค์กรด้านวัฒนธรรม ดังเช่น ห้องสมุดชุมชน พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ ที่มีต่อการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

            เมื่ออาณาเขตระหว่างการเรียนรู้ การทำงาน การดำเนินชีวิต และกิจกรรมสันทนาการ กำลังพร่าเลือนจางลง ก็จะมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่และพื้นที่ประเภทใหม่เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบผสมผสานในความหมายที่กว้างที่สุด นั่นคือ ‘อุปสงค์’ ในการเรียนรู้ซึ่งทับซ้อนอย่างพอดีกับ ‘อุปทาน’ ด้านทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างชุมชนที่มีการเรียนรู้เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

เอกสารวิชาการอื่นๆ