รายงานการจัดงานแถลงข่าว ผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556 วันที่ 22 เมษายน 2557 รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน อาทิ ภาพข่าว นิทรรศการ สไลด์ประกอบการบรรยาย ข่าวประชาสัมพันธ์จากสื่อมวลชน ฯลฯ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากผลการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรฯ ปี 2556 ได้แก่
1. คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือร้อยละ 81.8 แม้จะเพิ่มสูงขึ้นมากเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (พ.ศ. 2554) แต่ก็ยังมีผู้ไม่อ่านอยู่อีกร้อยละ 18.2 หรือคิดเป็นจำนวนสูงถึง 11.3 ล้านคน
2. ความแตกต่างของปริมาณคนอ่านหนังสือ เปรียบเทียบระหว่างในเขตและนอกเขตเทศบาล ยังแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในทุกกลุ่มอายุ สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย
3. จากนี้เป็นต้นไป ตัวชี้วัดการอ่านในรูปของเวลาที่ใช้ในการอ่าน (นาทีต่อวัน) และร้อยละของผู้อ่าน ควรจะเป็นเกณฑ์ที่ใช้ติดตามและวัดผลสัมฤทธิ์การส่งเสริมการอ่าน แทนที่คำกล่าวต่อๆ กันโดยไม่มีที่มาว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด
4. ผลสำรวจชี้ว่าคนไทยนิยมอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุด แต่เวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านคือวันละ 37 นาที สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการอ่านที่ค่อนข้างฉาบฉวย หรือไม่? เป็นประเด็นที่น่าจะมีการสำรวจหรือศึกษาเจาะลึกต่อไปว่าอ่านเนื้อหาอะไร และอ่านอย่างมีวิจารณญาณมากน้อยเพียงไร
5. ผลสำรวจชี้ว่าคนไทยอ่านหนังสือที่ห้องสมุดประชาชนเพียงร้อยละ 1.6 (ข้อมูลการสำรวจย้อนหลังพบว่า อัตราการยืมคืนหนังสือจากห้องสมุด จะสูงกว่าการอ่านหนังสือที่ห้องสมุดประมาณหนึ่งเท่าตัว หมายความว่ามีการใช้บริการยืมคืนหนังสือเพื่อไปอ่านยังสถานที่อื่น เช่น บ้าน ที่ทำงาน มากกว่าการอ่านและค้นคว้าอยู่ภายในห้องสมุด) หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 8 แสนคนเศษ ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีผู้ใช้อ่านหนังสือที่ห้องสมุดประชาชนประมาณ 1 ล้านคน การลดลงของปริมาณการใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งการอ่านเช่นนี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่ห้องสมุดประชาชนของไทยจะต้องเร่งปรับตัวรองรับพฤติกรรมผู้อ่านที่กำลังเปลี่ยนไป
6. แม้ว่าการอ่านผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนจากการสำรวจครั้งนี้ยังมีปริมาณน้อย แต่อัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว จากร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 1.8 เทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (พ.ศ. 2554) นั้นมีนัยสำคัญ หากอัตราการเพิ่มนี้คงที่และร้อยละของคนอ่านหนังสือยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่าในอีกสองปีข้างหน้าจะมีผู้อ่านผ่านอุปกรณ์ mobile เพิ่มเป็นร้อยละ 10.8 หรือมากกว่า 5 ล้านคน ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากการอ่านจากอินเทอร์เน็ต (จากแบบสอบถามในการสำรวจ) หมายถึงการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์พีซี แสดงว่ามีผู้อ่านผ่านจอเพิ่มจากการสำรวจครั้งก่อนประมาณ 2.5 เท่า ขณะที่การอ่านจากหนังสือหรือกระดาษลดลงเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 0.1) ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ไอทีมิได้ส่งผลกระทบต่อการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษแต่อย่างใด แต่มีแนวโน้มที่คนจะอ่านผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นหนังสือกระดาษ อุปกรณ์ไอที และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
7. คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปที่ไม่อ่านหนังสือ ให้เหตุผลที่ไม่อ่านว่าเป็นเพราะอ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 27.5 หรือประมาณ 3.1 ล้านคน เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับการสำรวจของหลายหน่วยงาน และเป็นภารกิจที่หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องรับผิดชอบหาแนวทางแก้ไข ส่วนเหตุผลว่าไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่าน มีร้อยละ 18.1 หรือประมาณ 2 ล้านคน นี่คือด้านกลับของกลุ่มซึ่งควรได้รับการส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน (ซึ่งสอดคล้องตรงตามภารกิจของ สอร.) นอกเหนือจากกลุ่มที่รักการอ่านอยู่แล้ว หากเจาะลึกข้อมูลลงไปที่กลุ่มเยาวชนหรือวัยรุ่น (อายุระหว่าง 15-24 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ สอร. จะพบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ไม่อ่านหนังสือ มีอยู่ร้อยละ 9.9 หรือประมาณ 950,000 คน ในจำนวนนี้ไม่ชอบหรือไม่สนใจอ่านร้อยละ 26.4 หรือประมาณ 250,000 คน วัยรุ่นกลุ่มนี้ควรได้รับการส่งเสริมการอ่านที่เข้มข้นยิ่งกว่าวัยรุ่นที่ชอบอ่านหนังสือหรือเดินเข้าห้องสมุดเป็นประจำ แต่คำถามก็คือเยาวชนกลุ่มนี้อยู่ที่ไหน และจะมีวิธีการดึงให้เข้าถึงหนังสือหรือการอ่านได้อย่างไร
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร
รายงานการจัดงานแถลงข่าว ผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556