สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับ สมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ จัดงานการประชุมย่อย IFLA Satellite Meeting 2013 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ “Creating the future: preserving, digitizing and accessing all forms of children's and young adults’ cultural heritage” ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ มีนักวิชาการ และ บรรณารักษ์จากทั่วโลกกว่า 200 คนจาก 14 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม งานนี้จัดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นประเด็นการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเด็กและเยาวชนก่อนงานประชุมใหญ่ครั้งที่ 79 ของสมาพันธ์ห้องสมุดโลก ณ ประเทศ สิงคโปร์ ในระหว่างวันที่ 17-23 สิงหาคม2556
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) และกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ (IFLA หรือ International Federation of Library Associations and Institutions) คือชื่อของหน่วยงานนานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิกระดับบุคคลวิชาชีพบรรณารักษ์และหน่วยงานห้องสมุดต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 1,500 แห่งกระจายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก รวมทั้งสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ก็เป็นสมาชิกของหน่วยงานแห่งนี้ด้วย
สมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเมื่อปีพ.ศ. 2470 ที่กรุงเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นที่กรุงเฮกในปี พ.ศ. 2514 สหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุดจัดการประชุมวิชาการขึ้นทุกปีโดยเปลี่ยนสถานที่ไปตามประเทศต่างๆ เพื่อให้บรรณารักษ์จากทั่วโลกได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาการและสร้างมิตรภาพระหว่างกัน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างห้องสมุดจากทุกๆประเทศในโลก
ประเทศไทยเคยเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปีพ.ศ. 2542 โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ เป็นเจ้าภาพครั้งนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์การประชุมทำให้การประชุมประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งและประเทศไทยสร้างความประทับใจให้บรรณารักษ์ต่างชาติเป็นอย่างสูง
ในปีนี้การประชุมวิชาการของสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุดได้เวียนมาจัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพหลัก มีกำหนดการจัดงาน IFLA World Library and Information Congress ครั้งที่ 79 ขึ้นในวันที่ 17-23 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติซันเทค สิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ “Future Libraries: Infinite Possibilities”
โดยในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสร่วมจัดงานการประชุมย่อย IFLA Satellite Meeting 2013 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ “Creating the future: preserving, digitizing and accessing all forms of children's and young adults’ cultural heritage” ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพ งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ ส่วนงานห้องสมุดเด็ก (IFLA Section Libraries for Children and Young Adults) และ ฝ่ายกิจกรรมการอนุรักษ์ (IFLA Core Activity on Preservation and Conservation - PAC) โดยมีสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานในฝ่ายประเทศไทย
ส่วนของการประชุมย่อย จะมีกล่าวเปิดงานโดย ศจ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย วิเวียน่า ควิโนส ประธานส่วนงานห้องสมุดเด็ก คริสเตียเน่ บารีล่า ประธานฝ่ายกิจกรรมการอนุรักษ์ สมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ และการบรรยายพิเศษเพื่อเปิดการประชุมโดย ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการ อุทยานการเรียนรู้ และ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนายกสมาคมห้องสมุดอเมริกันคนปัจจุบัน คุณบาร์บาร่า สไตปล์พิ่ง ร่วมเป็นองค์ปาฐกพิเศษ ในหัวข้อ “Creating the Future by Empowering Youth to Tell Their Stories” และ ดร.โฮเวิร์ด เบสเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์ศึกษาและผู้อำนวยการโปรแกรมการอนุรักษ์และเก็บรักษาภาพเคลื่อนไหว แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ในหัวข้อ “Important issues in Preservation and Access of Digital Content for Children”
“สำหรับการจัดประชุมวิชาการ IFLA Satellite Meeting 2013 ณ กรุงเทพครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ ด้านการอนุรักษ์และการเก็บรักษารูปแบบต่างๆ ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนผ่านการดัดแปลงให้เป็นเอกสารทางดิจิตอล นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรและนักวิจัยด้านสารสนเทศและห้องสมุดจากทั่วโลกร่วมนำเสนอผลงานการศึกษาและวิจัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาในการทำงานอนุรักษ์และการเก็บรักษารูปแบบต่างๆ ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนผ่านการดัดแปลงให้เป็นเอกสารทางดิจิตอล สนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในเวทีวิชาการระดับโลก เพื่อการพัฒนาด้านบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศ เพื่อสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของบุคลากรและหน่วยงานด้านนี้และพัฒนาไปสู่ความร่วมมืออื่นๆในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทยเพื่อก้าวสู่ความเป็นแห่งการเรียนรู้ และสุดท้าย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยในด้านต่างๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อการเรียนรู้ของ สอร. อีกด้วย” ประธานสอร. กล่าวในที่สุด